27 มิ.ย. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ย้อนจุดเริ่มต้น Robinhood จากแอปฯ เพื่อคนตัวเล็ก ถึงวันที่ต้องโบกมือลา

PPTV Wealth พาย้อนทำความรู้จักแอปพลิเคชัน Robinhood แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ชูจุดแข็งไม่คิดค่าธรรมเนียม ช่วยเหลือคนตัวเล็กฝ่าวิกฤตโควิด-19 ก่อนนับถอยหลังยุติการให้บริการ 31 ก.ค. 67 โดยครั้งนั้นใช้งบพัฒนาแอปด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563  ไทยพาณิชย์ออกมาประกาศกำลังลงทุนในแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ใหม่ในชื่อ Robinhood ภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
ในครั้งนั้น นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เปิดเผย ว่า
ปิดตัวแอปพลิเคชัน Robinhood
ตอนนี้ Food Delivery หลายเจ้าแข่งขันดุเดือด  แต่ Robinhood ไม่ได้ต้องการแข่งขัน แต่เรามาเพื่อเป็นทางเลือกที่ช่วยเหลือร้านค้า ผู้ประกอบการ โดยไม่เน้นหารายได้จากค่าธรรมเนียม โดยตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าเช้าร่วม 40,000 ร้านค้าภายในสิ้นปี แม้จะไม่รู้ว่าจะสู้กับบริษัทใหญ่ระดับโลกที่ทำแอปแบบนี้อยู่ในตลาดได้อย่างไร และทุนที่ให้มาตอนนั้น 150 ล้านบาท ในขณะที่คนอื่นใช้กันเป็นพันล้าน
เปิดตัว Robinhood แอปส่งอาหารสัญชาติไทยแห่งแรก ด้วย 4 จุดแข็ง
แอปพลิเคชัน Robinhood เปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 โดยชู 4 จุดแข็ง คือ
1.ไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP (Gross Profit)
2.ไม่เก็บค่าสมัคร
3.จ่ายเงินสู่บัญชีร้านค้าภายใน 1 ชั่วโมง
4.เพิ่มโอกาสร้านค้าเข้าถึงสินเชื่อธนาคาร
ซึ่งที่บอกว่าเป็นแอปพลิเคชันเพื่อคนตัวเล็ก เพราะ Robinhood ได้รับความสนใจจากร้านค้าขนาดเล็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม GP ร้านอาหารจะได้เงินเต็มทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งถือเป็น pain point ของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ร้านค้าขนาดเล็กหลายรายเลือกที่จะไม่อยู่บนแพลตฟอร์มใด ๆ เพราะแบกรับค่าธรรมไม่ไหว บางร้านต้องขึ้นราคาหรือลดปริมาณอาหาร
เดิมทีตั้งใจจะเปิดให้บริการ Robinhood ในวันที่ 1 กันยายน 2563 ในช่วงเดือนสิงหาคมก่อนการเปิดตัว CEO ก็ตั้งคำถามว่าทีมงานจะสามารถรับ Transaction ได้ถึงวันละหมื่นรายการได้หรือไม่? แม้ทีมงานทำการทดสอบ Stress Test ว่าสามารถทำได้ แต่ CEO ต้องการให้ทำการทดสอบด้วยการรับออเดอร์จริง ส่งอาหารจริง จึงทดลองให้พนักงานสาขาหมื่นกว่าคนกดเข้าระบบสั่งออเดอร์จริงในช่วงพีคไทม์ 11.00-13.00 น. ปรากฏว่าระบบล่มทันที
1
สิ่งนี้ทำให้รู้ว่าเราเป็นมือสมัครเล่น จึงต้องเลื่อนการเปิดตัวแอปไปถึงวันที่ 26 ตุลาคม ระหว่างนั้นก็ใช้วิธี Test จริง เจ็บจริง ให้สาขาสั่งไปเรื่อย ๆ จนระบบรองรับได้หมื่นคนจริง ๆ นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าว
1 ปีแห่งการล้ม ลุก เรียนรู้ ของ Robinhood
ผ่านไป 1 ปี Robinhood เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยยอดลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานกว่า 2.3 ล้านคน จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ให้บริการรับ-ส่งอาหารกว่า 26,000 คน ยอดสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มมูลค่ารวม 3,300 ล้านบาท และมุ่งสู่การเป็น “ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย” เป็นผู้ให้บริการในระดับภูมิภาค (Regional Player) ภายในปี 2565
นายธนา ยังกล่าวว่า ในวันที่ธุรกิจบริการทั่วโลก เข้ามาเมืองไทยหมดแล้ว ข้อเรียนรู้หลักของคนทำธุรกิจคือการจะสร้างสินค้าบริการหรือแพลตฟอร์มใด ๆ ไม่สามารถทำตามมาตรฐานในประเทศได้ต่อไปแล้ว เปรียบเหมือนธุรกิจอื่นเป็นผู้เล่นระดับโอลิมปิก ก็ไม่สามารถใช้มาตรฐานซีเกมส์ไปแข่งกับเขา ขณะเดียวกันลูกค้าก็ไม่อยากได้บริการมาตรฐานซีเกมส์อีกแล้ว
“ในการทำสินค้าบริการมาตรฐานแบบ Olympic Standard ทั้งที่เป็นมวยรอง ทั้งในแง่ของจำนวนเงินทุน ทีมงาน สเกล สิ่งที่สำคัญคือวิธีการที่ต่างออกไป ต้องไม่ทำวิธีการเหมือนเขา เช่น แอปอื่นเก็บ GP แต่เราไม่เก็บ GP เขาวิ่งพื้นที่นี้ เราก็ต้องไม่ไป เป็นวิธีการสู้แบบมวยรอง ให้เอาตัวรอดได้”
ดำเนินงานปีแรก ขาดทุนกว่า 80 ล้าน
ข้อมูลเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เปิดตัว Robinhood บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด รายงานงบกำไรขาดทุนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัทขาดทุน 87 ล้านบาท ขณะที่ Robinhood มีรายได้เพียง 81,549 บาท
อย่างไรก็ตาม Robinhood เป็นหนึ่งในผู้ชนะรางวัล Nikkei สาขา Superior Products and Services Award ประจำปี 2564 ด้วยจุดเด่นจากการไม่เก็บค่า GP พร้อมตั้งเป้าขยายธุรกิจในปี 2565 ปักหมุด 3 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี
หนีขาดทุน เปิดตัวบริการเรียกรถ ตอบโจทย์ลูกค้า 3.7 ล้านคน
หลังประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง Robinhood เปิดตัว “บริการเรียกรถ” ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน ของลูกค้ากว่า 3.7 ล้านคนบนแพลตฟอร์ม โดยตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2566 จะมียอดธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 12,000 ครั้ง และมีรถยนต์พร้อมให้บริการในระบบกว่า 10,000 คัน และขึ้น Top 3 ภายใน 3 ปี
แจ้งยุติการให้บริการ แอปพลิเคชัน Robinhood
ประกาศปิดตัว โบกมือลา Robinhood
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป หลังจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ หลังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของร้านอาหารและธุรกิจต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยวมาตลอด 4 ปี
เมื่อมาดูงบการเงินที่เปิดเผยผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า Robinhood ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยขาดทุนสะสมสูงกว่า 5,563 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้รวม 81,549.00 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ -87,829,231.00 บาท
  • ปี 2564 มีรายได้รวม 15,788,999.00 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ -1,335,375,337.00 บาท
  • ปี 2565 มีรายได้รวม 538,245,295.00 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ -1,986,837,776.00 บาท
  • ปี 2566 มีรายได้รวม 724,446,267.00 บาท กำไร (ขาดทุน) สุทธิ -2,155,727,184.00 บาท
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV บันเทิง : https://www.facebook.com/PPTVHD36Entertainment
โฆษณา