28 มิ.ย. เวลา 02:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ปิดโรงงานพุ่ง! 567 แห่ง เลิกจ้างงาน 1.5 หมื่นคน ใน 5 เดือนแรก

จากสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยที่ไม่สู้ดีในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ที่หดตัวต่อเนื่องทั้งปี (ม.ค. 66 - ธ.ค. 66) และจำนวนโรงงานที่ปิดกิจการในปี 2566 ไปทั้งสิ้น 1,337 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 34%
สำหรับในปีนี้ภาคการผลิต 5 เดือนแรกยังคงไม่สดใส แม้ดัชนี MPI เดือนเมษายน ปี 2567 ประกาศฟื้นตัว 3.4% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน แต่แนวโน้มจำนวนโรงงานปิดกิจการเดือนพฤษภาคม ยังคงมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน และต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 (ม.ค.-พ.ค. 2567)
1
📍 เปิดสถิติโรงงานไทย 5 เดือนแรก ปิดตัวพุ่ง 567 แห่ง
ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 มีจำนวนโรงงานปิดกิจการไปทั้งสิ้น 100 แห่ง ส่งผลให้มียอดสะสมจำนวนโรงงานปิดกิจการ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2567) มีทั้งหมด 567 แห่ง คิดเป็นเฉลี่ย 113 โรงงานต่อเดือน สูญเสียเงินลงทุนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และกระทบการจ้างงานถึง 1.53 หมื่นคน
📍 ประเภทโรงงานที่ปิดตัวมากที่สุด 5 อันดับแรก
เมื่อจำแนกโรงงานตามหมวดอุตสาหกรรมสำคัญ พบ 5 อันดับแรกที่มีจำนวนการปิดกิจการสะสมมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2567) ได้แก่
1. การผลิตอื่น ๆ (เกี่ยวกับ หิน กรวด ทราย หรือดินที่ใช้ก่อนสร้าง และอื่น ๆ) 146 โรงงาน
2. ผลิตภัณฑ์จากพืช (เมล็ดพืชหรือหัวพืช, ผลผลิตเกษตรกรรม) 53 โรงงาน
3. ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 48 โรงงาน
4. ผลิตภัณฑ์โลหะ (โลหะก่อสร้างหรือติดตั้ง, โลหะตกแต่งภายในอาคาร, เครื่องใช้เหล็กหรือเหล็กกล้า) 46 โรงงาน
5. ผลิตภัณฑ์อโลหะ (อิฐ, กระเบื้อง, ซีเมนต์, ปูน, เครื่องดินเผา) 45 โรงงาน
📍 สัญญาณเตือนโรงงานไทยน่าเป็นห่วง ยอดเฉลี่ยปิดโรงงานต่อเดือนโตต่อเนื่อง
จากสถิติจำนวนการเปิด-ปิดโรงงานไทยเฉลี่ยต่อเดือน ปี 2564 -2567 ชี้ให้เห็นจำนวนการเปิดโรงงาน ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากปี 2564 ที่เคยเฉลี่ยเปิดกิจการ 218 โรงงานต่อเดือน ลงมาอยู่ใน 169, 150 แล 165 โรงงานต่อเดือน ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะที่ค่าเฉลี่ยจำนวนโรงงานที่ปิดกิจการต่อเดือน กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และปัจจุบันปี 2567 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 113 โรงงานต่อเดือน คิดเป็น 2 เท่าจากปี 2564 ที่เคยเฉลี่ยอยู่ที่ 54 โรงงานต่อเดือนเท่านั้น
สถิติดังกล่าวสะท้อนแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของโรงงานไทยในอนาคต จากค่าเฉลี่ยโรงงานที่ปิดมีมากขึ้นนี้ อาจส่งผลทำให้ศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยถดถอยลง นำมาสู่การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ รวมทั้งกระทบภาคการจ้างงาน และการพัฒนาอื่นๆ ที่ได้จากการลงทุน ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงอย่างเลี่ยงไม่ได้
ผู้เขียน: เพ็ญพิชชา สกลวิทยานนท์ Economics Data Analytics
ภาพประกอบ : บริษัทก่อการดี
ที่มา: กรมโรงงานอุตสาหกรรม
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา