27 มิ.ย. เวลา 11:14 • การตลาด

ทำไมในลิฟต์ ถึงเป็นพื้นที่โฆษณาที่เวิร์ก แต่มีคู่แข่งสำคัญ คือสมาร์ตโฟน

ถ้าพูดถึงสื่อโฆษณา หลายคนอาจจะนึกถึงโฆษณาบนโลกออนไลน์ ที่มักปรากฏขึ้นทุกครั้งที่เราเล่นโซเชียลมีเดีย หรือขณะกำลังดู YouTube อยู่
2
หรืออาจจะนึกถึงสื่อโฆษณาแบบดั้งเดิม เช่น โฆษณาในโทรทัศน์ โฆษณาในหนังสือพิมพ์ โฆษณาแบบเอาต์ดอร์ ป้ายบิลบอร์ด เสาตอม่อรถไฟฟ้า และตามขบวนรถไฟฟ้าต่าง ๆ
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ โฆษณาจะปรากฏอยู่ในหลากหลายที่ แต่ก็ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่เรามักเห็นโฆษณาอยู่บ่อย ๆ และยังเป็นสถานที่ที่ดี และเหมาะสมในการทำตลาดด้วย ซึ่งสถานที่นั้นก็คือ “ลิฟต์”
แต่ก็มีคู่แข่งคนสำคัญของโฆษณาในลิฟต์ คือสมาร์ตโฟน..
แล้วทำไมลิฟต์ถึงเป็นสถานที่ที่ดี ในการทำการตลาด ? ลองมาวิเคราะห์กัน
ก่อนอื่น อยากให้ทุกคนลองจินตนาการถึงช่วงเวลาที่เราใช้ลิฟต์กันดู ว่าตอนนั้นเราชอบทำอะไรกันบ้าง ?
บางคนอาจจะหยิบสมาร์ตโฟนออกมาเล่น บางคนอาจจะพูดคุยกับเพื่อนหรือคนรู้จัก เพื่อฆ่าเวลา
ในขณะที่บางคน อาจอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร แค่รอให้ลิฟต์ไปถึงชั้นที่ต้องการเท่านั้น
ซึ่งพอพูดถึงการรอลิฟต์ ก็ขออธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับ “จิตวิทยาของการรอ” กันสักเล็กน้อย
ตามหลัก “จิตวิทยาของการรอ” แล้ว มนุษย์ทุกคนไม่ชอบการรอคอย โดยเฉพาะการรอคอยที่ไม่มีอะไรให้ทำ เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกว่า เวลาเดินช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะ เรากำลังจดจ่อกับเวลามากเกินไป จนคิดไปเองว่าการรอคอยนั้นยาวนานกว่าปกติ
1
ดังนั้น ธุรกิจจำนวนมากจึงต้องหากลยุทธ์มาช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของลูกค้า ไม่ให้โฟกัสกับเวลามากเกินไป
เพราะการจดจ่อกับเวลามากเกินไป อาจทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่อาจทนรอการบริการได้อีกต่อไป ตัวอย่างเช่น
- การให้บัตรคิวกับลูกค้า พร้อมบอกจำนวนคิวก่อนหน้า และระยะเวลาที่ต้องรอโดยประมาณ
- การมีเลานจ์หรือห้องพักรับรอง สำหรับอำนวยความสะดวก ให้แก่ลูกค้าที่กำลังรอขึ้นเครื่องบิน
- การมีวายฟายฟรี หรือนิตยสารอ่านฆ่าเวลา ไว้ให้กับลูกค้าที่กำลังรอรับบริการบางอย่าง
- การมีเสียงรอสายสำหรับคอลเซนเตอร์ ซึ่งเสียงดนตรีจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ของลูกค้าลงได้
- ลิฟต์ในอาคารหลายแห่ง มักติดกระจกเอาไว้รอบลิฟต์ ให้คนได้ส่องกระจกและจัดแต่งทรงผมของตัวเอง
กลับมาที่พฤติกรรมของคนที่กำลังใช้ลิฟต์กัน จะเห็นว่าการขึ้น-ลงลิฟต์ ในแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาไม่นานมาก
ผู้ใช้งานลิฟต์บางคนจึงตัดสินใจไม่ทำอะไร เพียงแค่ยืนรอเฉย ๆ ให้ลิฟต์ขึ้นไปยังชั้นที่ต้องการเท่านั้น
ซึ่งช่วงเวลาที่คนยืนรออยู่เฉย ๆ ในลิฟต์ คือช่วง “เวลาทอง” ของการนำเสนอสื่อโฆษณาเลยก็ว่าได้
เหตุผลก็เป็นเพราะ เมื่อเราขึ้นลิฟต์คนเดียวและไม่ได้ทำอะไรเลย เราก็มักหาจุดโฟกัสบางอย่างเพื่อฆ่าเวลา
และนั่นก็ทำให้บ่อยครั้ง สายตาของเราจะโฟกัสไปหาสิ่งเร้า ที่ดึงดูดความสนใจโดยอัตโนมัติ
ซึ่งธุรกิจสื่อโฆษณา ก็จับพฤติกรรมนี้ได้ และเห็นโอกาสทองตรงนี้
จึงมักจะนำจอดิจิทัลที่ฉายโฆษณาสินค้าต่าง ๆ มาติดตั้งไว้ภายในลิฟต์นั่นเอง
โดยตัวอย่างของบริษัทสื่อโฆษณาในอาคารสำนักงาน ที่เรามักเห็นกันบ่อย ๆ ก็อย่างเช่น
- บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTS ที่ทุกคนรู้จักกัน
เป็นบริษัทบริหารจัดการสื่อ ทั้งสื่อนอกบ้านและสื่อออนไลน์ รวมถึงสื่อจอดิจิทัล ที่ติดตั้งภายในลิฟต์ด้วย
- บริษัท อัพ มีเดีย (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Up Media Thailand
- บริษัท โฟกัส มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด
โดยข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมของพนักงานออฟฟิศ และการบริโภคสื่อ จากการเก็บข้อมูล จำนวนกว่า 200 อาคาร ของบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) พบว่า ขณะที่เราอยู่ในลิฟต์ เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อโฆษณา สูงถึง 96%
ซึ่งตัวเลขการมีปฏิสัมพันธ์กับโฆษณากว่า 96% นี้ สามารถแบ่งเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ ได้อีก คือ
- ดูและฟังเสียงโฆษณา 63%
- ดูโฆษณาอย่างเดียว แต่ไม่ฟังเสียง 22%
- ฟังโฆษณาอย่างเดียว แต่ไม่ดู 11%
ส่วนอีก 4% ที่เหลือ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสื่อโฆษณาภายในลิฟต์ หรือก็คือไม่ฟังและไม่ดูสื่อโฆษณาในลิฟต์เลย
สถิตินี้จึงสะท้อนถึงพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดีว่า ในช่วงเวลาที่เรากำลังรอลิฟต์เคลื่อนที่ เรามักจะถูกดึงดูดความสนใจไปที่สิ่งเร้า และสื่อโฆษณาในลิฟต์ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งเร้านั้น
อีกทั้ง สื่อโฆษณาในลิฟต์ยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือ มีสิ่งที่จะเข้ามารบกวนน้อย และเป็นสื่อที่ผู้ใช้ลิฟต์ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
ทำให้การโฆษณาด้วยวิธีนี้ ช่วยสร้างการรับรู้ และดึงดูดความสนใจของผู้ใช้ลิฟต์ได้ดี
ยกเว้นคนคนนั้น จะตั้งใจก้มหน้าเล่นสมาร์ตโฟน หรืออยู่ในลิฟต์พร้อมกับเพื่อน ๆ ของตัวเอง
แตกต่างจากการโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เราสามารถปัดหรือกดข้ามโฆษณา ไปได้อย่างง่ายดาย
และถึงแม้ว่า สื่อตามชานชาลารถไฟฟ้าหรือภายในขบวนรถไฟฟ้า จะเป็นสื่อที่หลีกเลี่ยงได้ยากเหมือนกัน
แต่ปกติแล้ว เรามักจะหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเล่น ขณะใช้บริการรถไฟฟ้ากันมากกว่า
จากระยะเวลาการเดินทางที่มากกว่าการขึ้นลิฟต์มาก เราจึงมักต้องการหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเล่น เพื่อฟังเพลง ดูหนัง หรือเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อฆ่าเวลา
ทำให้ผลลัพธ์จากการโฆษณา ตามชานชาลารถไฟฟ้าหรือภายในขบวนรถไฟฟ้า อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ คนที่ใช้ลิฟต์ก็มักจะเป็นคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หรือทำงานอยู่ในอาคารสำนักงานสูง ๆ
จึงเหมือนเป็นการจำกัดกลุ่มเป้าหมาย ในการทำการตลาดให้แคบลงไปโดยอัตโนมัติ
และในจุดนี้เอง ทำให้สื่อโฆษณาในลิฟต์นั้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น การโฆษณาในลิฟต์จึงเหมาะสมกับธุรกิจที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม
หรือพนักงานออฟฟิศใจกลางเมืองที่ทำงานในอาคารสำนักงานสูง ๆ อย่างมาก
โดยตัวอย่างของสินค้าที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เหมาะสมกับการโฆษณาในลิฟต์ ก็อย่างเช่น
- สินค้าเกี่ยวกับความสวยความงาม
- อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงบัตรเครดิตที่มีโปรโมชันกับร้านอาหาร
- เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย
- ของใช้และของตกแต่งบ้านง่าย ๆ
นอกจากนี้ ยังมีสถิติอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้งานลิฟต์ด้วย ตัวอย่างเช่น
- พนักงานออฟฟิศแต่ละคน ใช้ลิฟต์เฉลี่ย 7 ครั้งต่อวัน (ขึ้นลิฟต์นับ 1 ครั้ง และลงลิฟต์นับ 1 ครั้ง)
- การใช้งานลิฟต์แต่ละครั้ง ใช้เวลาเฉลี่ย 1.5 นาที หรือประมาณ 90 วินาทีต่อครั้ง
- ใน 1 วัน พนักงานออฟฟิศที่ใช้ลิฟต์ 1 คน จะใช้เวลาอยู่ในลิฟต์เฉลี่ย 10 นาที 24 วินาที
(เท่ากับว่าใน 1 สัปดาห์ ถ้าพนักงานออฟฟิศทำงาน 5 วัน ก็จะใช้เวลาอยู่ในลิฟต์ประมาณ 52 นาที)
1
ด้วยสถิติเหล่านี้ ทำให้เราเห็นภาพรวมการใช้งานลิฟต์ ของพนักงานออฟฟิศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าความถี่ในการใช้งานลิฟต์โดยเฉลี่ย ของพนักงานออฟฟิศที่มีมากถึง 7 ครั้งต่อวัน และใช้เวลาในลิฟต์ที่ 10 กว่านาทีต่อวัน
ซึ่งเวลา 10 กว่านาทีนี้ ยังไม่รวมเวลาที่เราต้องยืนรอ อยู่ด้านหน้าประตูของลิฟต์ทุกครั้งที่จะใช้งานด้วย
ซึ่งนั่นก็ทำให้บางอาคารมีจอโฆษณาดิจิทัล ติดตั้งอยู่ที่ด้านนอกของลิฟต์ หรือมีภาพกราฟิกขนาดใหญ่แปะตามผนังอาคารและประตูลิฟต์ ให้เราได้ดูโฆษณาระหว่างยืนรอลิฟต์อีกด้วย
แต่ก็อย่างที่บอก มันก็จะมีคู่แข่งคนสำคัญคนหนึ่งสำหรับโฆษณาในลิฟต์ นั่นก็คือ “สมาร์ตโฟน”
โดยเฉพาะตอนที่เราขึ้นลิฟต์กับคนไม่รู้จัก เราก็จะยิ่งชอบก้มดู ก้มเล่น จนไม่สนใจจอโฆษณาเลย..
โฆษณา