28 มิ.ย. เวลา 02:49 • ธุรกิจ

สรุปโมเดลธุรกิจ BTS มีธุรกิจในมืออีกเยอะ มากกว่าแค่ ธุรกิจรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้า BTS คือรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ใครหลายคนคุ้นเคยซึ่งก็มีอยู่ 2 เส้นทางหลัก ๆ นั่นคือ
- รถไฟฟ้าสายสุขุมวิท (ช่วงคูคต - เคหะฯ)
- รถไฟฟ้าสายสีลม (ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า)
โดยผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่มีหุ้นอยู่ชื่อว่า BTS
รู้หรือไม่ ? ว่า BTS ไม่ได้ทำธุรกิจแค่เดินรถไฟฟ้า BTS เท่านั้น
แต่ BTS ยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีกเยอะมาก
แถมยังมีการลงทุนในบริษัทอื่น ๆ อีกหลายบริษัท เช่น
- ขนส่งไปรษณีย์ Kerry Express
- ร้านอุปกรณ์ไอที Jaymart
- ร้านของหวาน After You
นอกจาก ธุรกิจเดินรถไฟฟ้าแล้ว BTS มีธุรกิจอะไรอย่างอื่นอีก ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
BTS มีจุดเริ่มต้นจากคุณคีรี กาญจนพาสน์
โดยเขาได้ก่อตั้งบริษัทชื่อว่า ธนายง จำกัด ขึ้นในปี 2511
ก่อนที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2534
โดยวัตถุประสงค์แรกของการเข้าตลาด คือต้องการขยายธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
จนกระทั่งสมัย พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขามีแนวคิดสร้างรถไฟฟ้าขึ้นมา
ในตอนนั้น คุณคีรี หัวเรือใหญ่ของกลุ่มธนายง ก็ได้เห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงเข้าร่วมประมูลโครงการ และเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการไปได้
ซึ่งกลุ่มธนายง ที่ได้รับสัมปทานไป ก็ได้ก่อตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC
แล้วรับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร ในการก่อสร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้า ทั้งหมด 2 เส้นทาง นั่นคือ
- เส้นทางสถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช
- เส้นทางสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน
โดย BTSC ลงทุนก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเองทั้งหมด และจัดการเดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการ
หลังจากรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 2 สายสร้างเสร็จ ก็ได้เปิดให้บริการในปี 2542
แต่หลังจากที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 2 สายได้ไม่นาน กลุ่มธนายง และ BTSC ก็ได้รับผลกระทบหนัก จากวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
แถมในช่วงที่เปิดใหม่ ๆ รถไฟฟ้า BTS ทั้ง 2 สาย ก็ยังมีคนใช้บริการไม่เยอะ
จนทำให้กลุ่ม BTSC เข้าฟื้นฟูกิจการ และสามารถรอดพ้นจากวิกฤติไปได้เมื่อปี 2549
แต่หลังจากนั้นมา ธุรกิจรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย ก็มีรายได้และกำไรที่เติบโต เพราะมีคนใช้บริการเพิ่มมากขึ้นทุกปี แถมค่าโดยสารก็ปรับเพิ่มขึ้น ตามสัญญาสัมปทานที่ได้ระบุไว้
เมื่อธุรกิจเดินรถไฟฟ้าเติบโต กลุ่มธนายง จึงไม่รอช้าที่จะขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจสื่อโฆษณา
โดย BTSC เข้าซื้อกิจการของ บมจ.วีจีไอ หรือ VGI บริษัทสื่อโฆษณานอกบ้านมาทั้งหมด
และหลังจากนั้น คุณคีรี ก็เกิดไอเดียอยากนำธุรกิจเดินรถไฟฟ้า เข้าตลาดหลักทรัพย์
โดยเขาได้ตัดสินใจนำกลุ่มธนายง เข้าซื้อบริษัท BTSC
แล้วนำบริษัท BTSC เข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยวิธีการ “Backdoor Listing”
1
โดยวิธีการ Backdoor Listing หลักการก็คือ การนำบริษัทเล็กที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เข้าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเอง เพื่อที่จะนำบริษัทนั้น เข้าตลาดโดยที่ไม่ต้อง IPO
อย่างในเคสนี้ ก็คือให้ บมจ.ธนายง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
เข้าซื้อบริษัท BTSC บริษัทเดินรถไฟฟ้า และเจ้าของสื่อนอกบ้าน เข้ามาในบริษัท
เพียงเท่านี้ BTSC ก็สามารถเข้าตลาดได้ โดยที่ไม่ต้อง IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วนั่นเอง
หลังจากที่นำ BTSC เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
บมจ.ธนายง ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ โดยมีชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า BTS
และเปลี่ยนธุรกิจของบริษัท จากเดิมที่ทำธุรกิจหลักเพียงแค่อสังหาริมทรัพย์
ก็เปลี่ยนไปเป็นธุรกิจโฮลดิ้ง ที่มีรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าเป็นหลัก
โดยหลังจากที่ บีทีเอสกรุ๊ป หรือ BTS เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธี Backdoor Listing ได้สำเร็จ
BTS ก็ได้ขยายธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง นอกเหนือจากการเป็นบริษัทผู้เดินรถไฟฟ้า
แล้ว BTS มีธุรกิจอะไรบ้าง ? ปัจจุบัน BTS แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ธุรกิจกลุ่ม MOVE หรือกลุ่มธุรกิจให้บริการการเดินทางคมนาคม
โดยธุรกิจในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น
1.1 ธุรกิจระบบรถไฟฟ้า (Rail Business)
โดยให้บริการเดินรถ ภายใต้สัญญาสัมปทาน ประกอบไปด้วย
- รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนหรือสายสุขุมวิท (หมอชิต-อ่อนนุช) ระยะทาง 17 กิโลเมตร
- รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มหรือสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร
- รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว - สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร
โดยเดินรถภายใต้สัญญาสัมปทาน บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จํากัด
โดย BTS ถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ 75%
- รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย - มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร
โดยเดินรถภายใต้สัญญาสัมปทาน บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จํากัด
โดย BTS ถือหุ้นบริษัทนี้อยู่ 75%
นอกจากนี้ BTS ก็ยังมีธุรกิจรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M)
- รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว
โดยส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท
ช่วง อ่อนนุช - แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร
ช่วง แบริ่ง - เคหะฯ ระยะทาง 13 กิโลเมตร
ช่วง หมอชิต - คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร
และส่วนต่อขยายสายสีลม
ช่วง สะพานตากสิน - บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร
- รถไฟฟ้าสายสีทอง
ช่วง กรุงธนบุรี - คลองสาน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร
1.2 ธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รถไฟฟ้า (Non-Rail Business) ได้แก่
1
- ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ช่วงช่องนนทรี - ตลาดพลู ระยะทาง 15 กิโลเมตร
- โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่หลังที่ 3 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จังหวัดระยอง
โดย BTS ได้ร่วมลงทุนผ่านกิจการร่วมค้า BBS ในสัดส่วน 35%
- บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีอยู่ 2 เส้นทาง นั่นคือ
สายบางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร
สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร
โดย BTS ได้ร่วมลงทุนผ่านกิจการร่วมค้า BGSR ในสัดส่วน 40%
นอกจากนี้ BTS ก็ยังดำเนินธุรกิจรถโดยสารประจำทาง และธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยาอีกด้วย
2. ธุรกิจกลุ่ม MIX หรือกลุ่มธุรกิจให้บริการด้านสื่อ, ธุรกิจดิจิทัล, Big Data และการตลาด
โดยดำเนินธุรกิจผ่าน บมจ.วีจีไอ หรือ VGI
1
2.1 ธุรกิจสื่อโฆษณา
มี 2 กลุ่มธุรกิจคือ ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน และบริการด้านการตลาดออนไลน์ โดยแบ่งเป็น
1
- สื่อในระบบขนส่งมวลชน ประกอบด้วยสื่อโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้า และในรถไฟฟ้า BTS
- สื่อโฆษณาในอาคารสำนักงาน
ประกอบด้วยจอดิจิทัลที่ติดตั้งในลิฟต์ และในบริเวณอื่น ๆ ภายในอาคารสำนักงาน
- สื่อโฆษณากลางแจ้ง บริเวณเสาตอม่อรถไฟฟ้าในประเทศไทย
- สื่อโฆษณากลางแจ้งในต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนามและสิงคโปร์
1
- VGI Digital Lab ที่ให้บริการด้านการตลาดออนไลน์และดิจิทัล
2.2 ธุรกิจบริการดิจิทัล หรือธุรกิจกลุ่มแรบบิท ประกอบด้วย 2 ธุรกิจหลักคือ
- ธุรกิจชำระเงิน ผ่านบริการบัตร Rabbit และ e-Wallet
- ธุรกิจบริการ เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ Rabbit เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันภัย, ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
และธุรกิจกู้ยืมเงินผ่านแพลตฟอร์ม
2.3 ธุรกิจการจัดจำหน่ายและโลจิสติกส์
เป็นกลุ่มธุรกิจที่ BTS และ บริษัทลูก VGI ได้เข้าไปลงทุน ยกตัวอย่างเช่น
- TURTLE ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และบริหารจัดการพื้นที่เช่าบนรถไฟฟ้า BTS
- JMART บริษัทโฮลดิ้ง เจ้าของร้าน Jaymart, การจัดเก็บและการจัดการหนี้ และอื่น ๆ
- KEX ธุรกิจขนส่งไปรษณีย์ และพัสดุ หรือก็คือ Kerry Express ที่เรารู้จักกัน
3. ธุรกิจกลุ่ม MATCH เป็นการเข้าไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจอื่น ๆ เพื่อเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจเดิมของบริษัท
โดยบริษัทพาร์ตเนอร์ที่ BTS เข้าไปลงทุน ก็อย่างเช่น
- ธุรกิจบริการทางการเงินและการลงทุนใน บมจ.แรบบิท โฮลดิ้งส์ หรือ RABBIT ในสัดส่วน 28%
- ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น ผ่านการลงทุนใน บมจ.ธนูลักษณ์ หรือ TNL ในสัดส่วน 42%
ซึ่งหนึ่งในธุรกิจของ บมจ.ธนูลักษณ์ ก็คือเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภายใต้เครื่องหมายการค้าสากลที่บริษัทได้รับลิขสิทธิ์ เช่น ARROW, Guy Laroche
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการลงทุนใน บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ หรือ NOBLE
ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมแบรนด์ NOBLE ในสัดส่วน 9%
1
- ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านการลงทุนใน บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เจ้าของร้านขนมหวาน After You ในสัดส่วน 8%
ทีนี้เราลองมาดูโครงสร้างรายได้ของ BTS กัน ว่ามาจากทางไหนกันบ้าง
โดยในปี 2567 (รอบบัญชี 1 เมษายน 2566 - 31 มีนาคม 2567)
BTS มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจทั้งหมด 17,966 ล้านบาท
โดยแบ่งออกเป็น
- รายได้จากธุรกิจ MOVE นั่นก็คือ ธุรกิจเดินรถไฟฟ้า ซ่อมบำรุง พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
และบริการทางด่วนมอเตอร์เวย์
มีรายได้ 12,003 ล้านบาท คิดเป็น 67% ของรายได้ทั้งหมด
- รายได้จากธุรกิจ MIX นั่นก็คือ ธุรกิจให้บริการด้านสื่อ, ธุรกิจดิจิทัล, Big Data และการตลาด
มีรายได้ 5,112 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของรายได้ทั้งหมด
- รายได้จากธุรกิจ MATCH นั่นก็คือ ธุรกิจที่ BTS เข้าไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจอื่น ๆ
มีรายได้ 851 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของรายได้ทั้งหมด
และทั้งหมดนี้ก็คือ การสรุปภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดที่ BTS มีอยู่ในมือ
ซึ่งใครอ่านถึงตรงนี้ ก็จะเห็นแล้วว่า BTS มีธุรกิจอยู่ในมือเยอะมาก ๆ ในแบบที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง…
6
References
- รายงานประจำปี 2565/66 ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
--------------------------
Sponsored by JCB Thailand
#JCBสุขทุกสไตล์ได้ทุกวัน
พบกับส่วนลดและสิทธิพิเศษสำหรับทุกไลฟ์สไตล์
ทั้ง กิน เที่ยว ช็อป ให้คุณมีความสุขได้ทุก ๆ วัน
เพิ่มเติมที่ >> https://bit.ly/JCBJSOPRO
สมัครบัตรเครดิต JCB ได้ที่
#JCBThailand #JCBCard
#JCBOwnHappinessOwnStory
โฆษณา