28 มิ.ย. เวลา 05:22 • หนังสือ

ห​ นึ่​ ง​ ฟ้​ า​ ดิ​ น​ เ​ ดี​ ย​ ว

ภาคต่อจากเรื่อง "เวียงแว่นฟ้า​"
เพจขอนำเสนอนวนิยายชุดอิงประวัติศาสตร์ล้านนา​ของ กฤษณา​ อโศกสิน​ เรื่องที่สองคือ “หนึ่งฟ้าดินเดียว” ซึ่งเป็นเล่มต่อจากเรื่อง “เวียงแว่นฟ้า” ผู้อ่านสามารถคลิกอ่านเล่มแรกได้ที่นี่ค่ะ
.
.
ในเรื่อง "หนึ่งฟ้าดินเดียว” ผู้เขียนพาเราติดตามความเป็นไปของอาณาจักรล้านนา พม่า และประเทศสยามต่อ ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงเถลิงราชย์ปกครองสยามมาสักระยะหนึ่งระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๖ – ๒๔๓๐ ยุคนี้สยามเริ่มเผชิญกับการรุกคืบของฝรั่งเศสในแถบอินโดจีนและอังกฤษในพม่าหลังครอบครองอินเดียได้แล้ว
.
กษัตริย์สยามก็ทรงเริ่มสานสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนาอย่างจริงจังเพื่อความเป็นปึกแผ่นในอนาคต ก่อนที่จะทรงสามารถรวมทั้งสองแผ่นดินเป็นประเทศไทยในท้ายที่สุด และชาวล้านนาก็เริ่มเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของสยาม
.
เมืองรามยังคงเป็นตัวละครหลัก เขารอดชีวิตจากการไปตามหาคนรักเก่าคือ บัวบุรี ที่เมืองนายและมีทหารชาวเมืองหมอกใหม่ในพม่า (ม่าน) ช่วยชีวิตจากการบาดเจ็บสาหัส...เวลาผ่านไป เขาได้กลับเข้ามาที่เวียงและได้อยู่รับใช้เจ้าหลวงเชียงใหม่อีกครั้งซึ่งก็คือ เจ้าบุรีรัตน์หรือพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน สืบต่อจากเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
.
เมืองรามมีโอกาสได้พบและรู้จักกับเจ้าหญิงระยับเนตร บุตรีวัยสิบหกของเจ้าน้อยสิงห์กับหม่อมเสลา ซึ่งถือเป็นพระญาติของเจ้าเมืองเชียงใหม่ เขาเป็นคนที่เจ้านายเอ็นดูและให้ความเมตตามอบหมายหน้าที่สำคัญ ๆ ให้เสมอ เมืองรามตั้งใจทำงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายและมีความรู้อ่านออกเขียนได้ด้วย จนได้รับตำแหน่งนายเหล้มฉางหรือผู้ดูแลไร่นาของเจ้าหลวง
.
ความสามารถของเมืองรามยังทำให้เขาก้าวหน้าต่อไป อาจารย์แก่นตา ผู้ที่เขารักและเคารพที่ลำปางก็ยังกล่าวกับเมืองรามเป็นนัยเมื่อเขาแวะไปเยี่ยมท่านที่ละคอน (ลำปาง)​ ท่านเอ่ยว่า “ว่าง ๆ ก็มาอีกเน้อ จะมาม้ามาจ๊าง มาเรือก็มาเต๊อะ มาสองคนก็มาได้...แต่ถ้ามาคานหามก็ควรลงจากคาน แถวหน้าวัดก่อนปะข้า จะชั่วจะดีก็ให้ข้าจำสูได้” (น.๓๓๙)
.
เจ้าหญิงระยับเนตรเป็นผู้ที่เจ้าน้อยสิงห์รักและสนิทสนมกว่าบุตรธิดาคนอื่น ๆ เจ้าหญิงเป็นคนที่ถือตัว แรก ๆ ก็ดูถูกดูแคลนเขาในฐานะไพร่ แต่เมืองรามมิได้ทะเยอทะยาน และยังคงทำหน้าที่ในเวียงรับใช้เจ้าอย่างเต็มที่ เมื่อเจ้าหลวงและพระชายารู้เรื่องก็พยายามช่วยไกล่เกลี่ย
 
.
ต่อมาเมืองรามได้มีโอกาสช่วยชีวิตเจ้าหญิงไว้โดยบังเอิญ เจ้าหญิงก็เริ่มพึ่งพอใจเมืองราม เขาเองก็แอบพอใจเจ้าหญิงแต่ก็รู้จักประมาณตน เนื่องจากสามัญชนมิอาจฝ่าฝืนประเพณีที่จะแต่งงานหรือกินแขกกับเจ้านายได้
.
.
เจ้าหญิงระยับเนตรไม่สนใจประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานโดยเฉพาะเรื่องการกินแขกกับคนต่างวรรณะ แม้เจ้าพ่อและเจ้าแม่จะชื่นชอบเมืองราม แต่ทั้งคู่ก็ต่างทุกข์ใจยิ่งที่เจ้าหญิงจะต้องฝ่าฝืนประเพณี เจ้าน้อยสิงห์รักธิดาคนเล็ก และห่วงกังวลสารพัด เจ้าพ่อ “...มีทั้งจิตโสมนัสแลโทมนัสพร้อมกัน ความต่างของชนชั้นมิอาจยั้งลูกน้อยให้หยุดคิดหยุดฟังรวมทั้งหยุดชั่งใจว่าหล่อนและเขาไกลกันราวแผ่นฟ้าและผืนดิน” (น.๓๔๐)
.
ทั้งสองต่างสัมผัสความรู้สึกที่มีต่อกันได้เมืองรามเคยบอกต่อเจ้าหญิงตรง ๆ ว่า เขากลัวจะทำให้เจ้าหญิงเสียหายถูกติฉินนินทา "ข้าเจ้าฮักเจ้าเท่าชีวิต... แม้มิอาจอยู่ร่วมกะเจ้า ข้าเจ้าก็ขอเพียงฮักเจ้า รับใช้เจ้าจนกว่าจะถึงวันตาย" (น. ๓๙๐) ขณะที่เจ้าหญิงตอบเขาอย่างหนักแน่นมั่นใจว่า "ข้าบ่กลัวใด ๆ นายเมือง... บ่มีวันเปลี่ยนไป บ่มีวันผันแปร เมื่อสูเป็นไพร่ ข้าก็ลดตัวลงเป็นไพร่ตามสู มิจะนั้น ข้าก็จักดึงสูขึ้นมาเป็นเจ้ากะข้า... " (น.๓๙๑)​
.
เจ้าหญิงระยับเนตรและเมืองรามจะฝ่าฟันอุปสรรคเรื่องชั้นวรรณะได้อย่างไร ผู้เขียนก็สร้างพล็อตได้อย่างน่าติดตาม นอกจากเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสองแล้ว ผู้เขียนยังพาเราไปสัมผัสประวัติศาสตร์ของการสร้างบ้านแปงเมืองเชียงแสนที่เป็นเมืองร้างมาหลายปี
.
เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้รับพระราชบัญชาจากกษัตริย์สยามให้ส่งคนไปสังเกตการณ์และคอยระวังแนวชายแดน จึงให้เกณฑ์คนจากเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ไปช่วยกันสร้างเชียงแสน วัดวาอารามที่มีศิลปะล้านนาที่ถูกทิ้งร้างมานานก็ได้รับการบูรณะ เชียงแสนเป็นเสมือนเมืองหน้าด่านของล้านนาติดกับพม่า ต่อมาจึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ ผู้เขียนได้ถ่ายทอดประเพณีต่าง ๆ ของล้านนา เช่นพิธีแต่งงาน การสร้างบ้านที่มีเสามงคลและเสานาง การเลี้ยงดูทารก พิธีอื่น ๆ ให้เรารู้จักอย่างน่าประทับใจ
.
ช่วงท้ายของ “หนึ่งฟ้าดินเดียว” กฤษณา อโศกสิน ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในพม่าสมัยพระเจ้าสีป้อขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเจ้ามินดุง และได้จับพระญาติทั้งหมดขังและฆ่ามากกว่า ๘๐ คน ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง “พม่าเสียเมือง” ก็จะพอนึกออกว่าประวัติศาสตร์นี้เป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่ง และมีผลต่อเมืองอื่น ๆ ของพม่า รวมทั้งไตใหญ่ที่เจ้าม่อนฟ้าและครอบครัวอยู่ในช่วงนั้น
.
ตอนท้ายเรื่อง เราจะได้เห็นการดำเนินการของสยามจากการบูรณะเชียงแสนให้กลายเป็นเมืองสำคัญ เริ่มมีการแบ่งเขตการปกครองล้านนาแบบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางให้เมืองลำพูน ลำปาง น่านและหัวเมืองสำคัญ ๆ รวมตัวกันเป็นมณฑลพายัพ
 
.
แอดชอบนวนิยายเรื่อง “หนึ่งฟ้าดินเดียว" ไม่น้อยกว่าเรื่อง "เวียงแว่นฟ้า" ที่ผู้เขียนสร้างพล็อตเรื่องอย่างละเอียดลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ความเป็นมาของล้านนาผ่านชีวิตชาวบ้านเช่นเมืองราม ผู้มาจากลำปางจนเติบใหญ่ในเชียงใหม่ นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนภาพประวัติศาสตร์สังคมความเป็นอยู่ของชาวล้านนาได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งเรื่องภาษา อาหาร การดำเนินชีวิต ประเพณีความเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งความเป็นอยู่ที่แทรกเรื่องชนชั้น และความขัดแย้งทางการเมืองของเชียงใหม่และสยามไว้ด้วย
.
ความเป็นไปหลังจากนี้เราก็จะไปตามอ่านกันต่อในเรื่อง “ขุนหอคำ” ซึ่งเป็นเล่มจบของนิยายอิงประวัติศาสตร์ล้านนาที่จะเอ่ยถึงรุ่นลูกของเมืองรามต่อไป
.
นิยายเรื่อง "หนึ่งฟ้าดินเดียว" ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๕ ในนิตยสารสกุลไทยก่อนรวมเป็นเล่ม แอดมินดีใจที่สำนักพิมพ์แสงดาวได้นำนวนิยายชุดนี้กลับมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง นิยายชุดนี้ผู้เขียนใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียด จึงคุ้มค่ากับการอ่านทั้งเพื่อความรู้และความบันเทิงอย่างยิ่ง ผู้ที่ชอบอ่านนิยายไทยอิงประวัติศาสตร์ควรได้อ่านสักครั้งค่ะ
.
หมายเหตุ
- บทความวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทีมแอดมินเพจ
- หนังสือนี้มิได้รับแจกเป็นบรรณาการจากสำนักพิมพ์ และเพจมิได้รับค่าตอบแทนในบทวิจารณ์แต่อย่างใด
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #กฤษณาอโศกสิน #เวียงแว่นฟ้า #หนึ่งฟ้าดินเดียว #นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ #อาณาจักรล้านนา #ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน #เจ้าเมืองเชียงใหม่ #รัชกาลที่๕ #อาณาจักรสยาม #ประเทศไทย
โฆษณา