28 มิ.ย. เวลา 07:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทรัมป์ 2.0 กับสงครามการค้าต่อจีน - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

ตกลงทรัมป์กับไบเดนแตกต่างกันไหมครับต่อจีน
1
บางคนบอกไม่แตกต่าง เพราะความตื่นกลัวจีนเป็นจุดร่วมกันของทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งไม่เคยเห็นตรงกันสักเรื่อง ยกเว้นเห็นตรงกันว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่ต้องจัดการให้อยู่หมัด
6
ทรัมป์กับไบเดนต่างก็มีนโยบายทำสงครามการค้ากับจีน ตั้งแต่ไบเดนเป็นประธานาธิบดีมา ยังไม่มีการยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าที่ทรัมป์ 1.0 ได้ตั้งไว้ต่อจีนเลย แถมไบเดนยังเพิ่งประกาศขึ้นกำแพงภาษีเพิ่มต่อสินค้าจีนในสินค้ารถยนต์ EV แบตเตอรี่ และเซมิคอนดักเตอร์ อีกด้วย ไบเดนจึงแรงกว่าทรัมป์ 1.0 แน่
1
แต่ตอนนี้เหมือนแข่งกันแรง เพราะทรัมป์ประกาศว่าหากเขากลับมา ทรัมป์ 2.0 จะขึ้นกำแพงภาษีต่อจีนร้อยละ 60 ซึ่งจะเป็นการทำสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การค้าโลก สูงกว่ากำแพงภาษีของทรัมป์รอบที่แล้วต่อจีนอีก 4 เท่าตัว ทรัมป์ยังประกาศจะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าจากประเทศอื่นๆ ร้อยละ 10
นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ถ้าขึ้นภาษีสินค้าสูงอย่างนั้น ต้องกระทบต่อผู้บริโภค ยิ่งจะซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
5
แต่มีคนถามว่านักเศรษฐศาสตร์เชื่อถือได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อปี 2018 นักเศรษฐศาสตร์ก็เคยเตือนมาครั้งหนึ่งแล้วว่า สงครามการค้าของทรัมป์จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อมหาศาล แต่ปริศนาคือในความเป็นจริงแล้ว เงินเฟ้อในยุคของทรัมป์ไม่ได้ย่ำแย่
แม้ว่าถ้าไม่มีสงครามการค้า ข้าวของในสหรัฐฯ จะถูกลงกว่านี้ ดังเคยมีการประเมินว่าภาษีต่อสินค้าจีน ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.3% ต่อปี (หากเอากำแพงภาษีออกไป เงินเฟ้อจะลดลง 0.3%) แต่จริงๆ แล้ว อัตราเงินเฟ้อโดยรวมในสหรัฐฯ ช่วงทรัมป์ 1.0 ลดต่ำลงจากก่อนหน้าด้วยซ้ำ ก่อนที่สงครามการค้าจะปะทุขึ้นในปี 2018 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 2.9 หนึ่งปีหลังสงครามการค้าผ่านไป อัตราเงินเฟ้อลงมาต่ำกว่าร้อยละ 2
1
งานวิจัยพบว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากกำแพงภาษีไม่ได้ไปตกอยู่กับผู้บริโภค แต่เป็นผู้นำเข้าและผู้ผลิตฝั่งสหรัฐฯ เป็นผู้แบกรับไป โดยยอมที่จะทำกำไรน้อยลงกว่าในอดีต แทนที่จะผลักภาระไปให้ผู้บริโภค
1
สาเหตุเพราะกำแพงภาษีรอบที่แล้วของทรัมป์เกิดขึ้นในยุคเทรนด์เงินเฟ้อต่ำ ทำให้คนคาดหวังว่าราคาสินค้าจะไม่เฟ้อเกินไป แรงกดดันจึงมาตกกับผู้นำเข้าและผู้ผลิตฝั่งสหรัฐฯ ที่ต้องแบกรับไปแทน
นอกจากนั้น ในช่วงแรกของการขึ้นกำแพงภาษี ผู้นำเข้าและผู้ผลิตยังใช้วิธีการสั่งสินค้าจากจีนล็อตใหญ่ก่อนที่กำแพงภาษีจะมีผลบังคับใช้ รวมทั้งเปลี่ยนไปสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศอื่นแทน ทำให้ผลกระทบต่อเงินเฟ้อจะค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้เห็นผลทันที
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ในคอนนั้นไม่พุ่ง เป็นเพราะเงินดอลล่าร์แข็งขึ้นร้อยละ 10 ต่อเงินหยวนในปี 2018 ซึ่งทำให้ราคาสินค้าจากจีนลดลง
เงินดอลลาร์ในยุคนั้นยังแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียด้วย ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ราคาถูกลงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปัจจัยต่างๆ แตกต่างมากจากช่วงสงครามการค้าในยุคทรัมป์ 1.0 ดังนั้น หากทรัมป์เอาจริงคือขึ้นกำแพงภาษีอีก 4 เท่าตัว จะส่งผลอย่างแน่นอนต่อเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แบบที่รู้สึกช็อคได้
เพราะวันนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคเทรนด์เงินเฟ้อต่ำเหมือนตอนนั้น แต่เราอยู่ในยุคเทรนด์เงินเฟ้อสูง ตั้งแต่ที่วิกฤตโควิดผลักให้เกิดรอบเงินเฟ้อขาขึ้นที่ยังยาวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ผู้นำเข้าและผู้ผลิตสหรัฐฯ อาจพร้อมที่จะผลักภาระส่งต่อให้ผู้บริโภค เพราะคนคาดหวังเงินเฟ้อว่าเป็นเรื่องปกติ
ที่สำคัญคือ ตอนนี้เงินดอลล่าร์ก็ไม่ได้แข็งโป้กในระดับเดียวกับในยุคทรัมป์ 1.0 อีกด้วย
จากการศึกษาของ Peterson Institute มีการประเมินว่าหากทรัมป์เก็บภาษีตามที่ประกาศไว้จริง ชนชั้นกลางสหรัฐฯ จะมีค่าครองชีพสูงขึ้นปีละถึง 1,700 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
เราอาจหวังไม่ได้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะประเมินผลกระทบต่อเงินเฟ้อผิดเหมือนยุคแรก เพราะนอกจากปริมาณกำแพงภาษีที่ทรัมป์ให้สัญญาจะขึ้นนั้นมหึมากว่าทรัมป์ 1.0 บริบทปัจจัยแวดล้อมที่อาจช่วยเรื่องเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็แตกต่างจากเดิมอย่างมากแล้ว
ทรัมป์กับไบเดนอาจไม่ต่างกัน แต่คำมั่นสัญญาของทรัมป์ตอนนี้แรงกว่าไบเดนมาก และกำลังพาเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนไปสู่จุดที่คาดเดาไม่ได้ เรากำลังพูดถึงสงครามการค้าในสเกลที่แตกต่างจากทรัมป์ 1.0 อย่างมาก และโลกไม่มีใครเคยทำหรือเคยเห็นมาก่อน
โฆษณา