Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่าในแก้ว by Patto
•
ติดตาม
28 มิ.ย. 2024 เวลา 10:46 • ไลฟ์สไตล์
เชี่ยงชุน Rockstar ของสุราจีนในไทย
รู้มั้ยครับว่า สุราจีน “เชี่ยงชุน” ขวดดำฉลากแดงที่เราคุ้นตากันตาม 7-11 เนี่ย มันไม่ได้มีแค่แบบเดียว แถมบางตัว ราคาเกือบพัน!! เรื่องเล่าในแก้วจะเล่าให้ฟังครับ
....เรียกว่าเป็นการเดบิลด์เปิดตัวกลางเยาวราชที่อลังการมากๆสำหรับ “เชี่ยงชุน” กับป้ายขนาดใหญ่เห็นเด่นชัด โดยมีน้องตะลิด ลิซ่า มาร้องเพลงประกอบให้.... หยอก!! สลับกัน! นี่มันคือเดบิลด์เพลง Rockstar ของ Lisa ตะหาก!!
คือปฏิเสธไม่ได้จริงๆครับว่าสารพัดป้ายไฟอันเป็นเอกลักษณ์ย่านเยาวราชในตอนต้น mv Rockstar ล้วนสะดุดตาผู้ชมตั้งแต่ฉากเปิดตัว เชื่อว่ามีหลายคนถึงขั้นกดหยุดเพื่อไล่ส่องว่าแต่ละป้ายเขียนว่าอะไรบ้าง และหนึ่งในนั้นก็คือป้ายสุราชื่อคุ้นหูชาวไทย “เชี่ยงชุน”
“เชี่ยงชุน” คือชื่อเรียกสุราจีนที่มีขายมายาวนานในประเทศไทย แม้แต่ละคนอาจจะออกเสียงแตกต่างกันบ้าง ทั้ง เชียงชุน, เซียงชุน หรือเซี่ยงชุน แต่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่น่าจะตรงกันคือ “ภาพจำ” ของเหล้าจีนขวดดำฉลากแดงที่ใช้ปรุงอาหาร ดับกลิ่นคาว เพิ่มความหอมของผัดต่างๆในเมนูอาหารจีน รวมไปถึงภาพลักษณ์ของ สุราสำหรับผสมดื่มกับน้ำอัดลมที่หาซื้อง่าย ราคาถูก ขวดเดียวแบ่งกันได้หลายแก้ว แหม่ะ พูดแล้วก็น้ำลายไหล แฮ่!
แต่รู้หรือไม่ครับว่า เชี่ยงชุนขวดดำฉลากแดงที่เราเห็นขายๆกันในไทยเนี่ย จริงๆแล้ว มันไม่ได้มี “เชี่ยงชุน” แค่อันเดียวนะครับ มันมีเขี่ยงชุนหลายเจ้า! ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่หลายๆเจ้าราคาอยู่ที่ขวดละสิบบาทถึงร้อยกว่าบาท แต่อีกเจ้าหนึ่ง ราคาเกือบพัน!! ใช่ครับ ไอ้ตัวราคาเกือบพันเนี่ยแหล่ะ คือ เชี่ยงชุน ที่ปรากฏบนป้าย ในmv Rockstar ของสาวลิซ่า “เชี่ยงชุนซัวเถา”!
ว่ากันโดยตัวสุราแล้ว ”เชี่ยงชุน” ถูกนับว่าเป็น “สุรายาสมุนไพร” แบบหนึ่งของจีน สันนิษฐานว่าดั้งเดิมอาจมาจากเมือง ชางชุน(ChangChun - 長春) ในจังหวัด จิลิ่น (Jilin) ทางเหนือของจีน ที่ต่อมาก็แพร่หลายไปผลิตยังเมืองต่างๆ รวมถึงเมืองซัวเถา ที่ในอดีตก็มีคนจีนที่อพยพจากเมืองนี้มาตั้งรกรากในไทยกัน ผมคาดเดาว่า สุรายาสมุนไพรแบบจีนนี้ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักในไทยในช่วงนั้นผ่านคนจีนกลุ่มนี้ครับ (ใครมีข้อมูลเพิ่มเติมรบกวนชี้แจงได้นะครับ)
ต่อมาในยุคหนึ่งที่ สุรายาสมุนไพร หรือ “เชี่ยงชุน” นี้ ได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทยมากเข้า ก็มีหลากหลายบริษัททำ “เชี่ยงชุน” มาแย่งส่วนแบ่งกันหลายเจ้า รวมไปถึง บริษัทสุราบางยี่ขัน ผู้โด่งดังจากการผลิตสุราแม่โข่ง ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิต เชี่ยงชุนมาวางขายจนติดตลาด จนมาเป็นเชี่ยงชุนขวดดำฉลากแดงตัวที่เราพบเห็นในมินิมาร์ทและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปขวดละ ร้อยกว่าบาทนี่แหล่ะครับ
ถึงตรงนี้จึงอนุมานได้ว่า “เชี่ยงชุน” ไม่ใช่ชื่อยี่ห้อ ครับ
แล้ว “เชี่ยงชุนซัวเถา” คืออะไร?
.....ผมโทรไปสอบถามบริษัท ดีไทย จำกัด ผู้นำเข้าสุรา “เชี่ยงชุนซัวเถา” เจ้าเดียวกับที่ปรากฏป้ายเด่นสง่าในmv ว่า “เชี่ยงชุนซัวเถา คืออะไร ต่างจากเชี่ยงชุนที่วางขายในมินิมาร์ททั่วๆไปรึเปล่า” ได้รับคำอธิบายจากปลายสายว่า “เชี่ยงชุนของเราเป็นเหล้าจีนจากเมืองซัวเถาแท้ๆ เราเป็นผู้นำเข้ามาอย่างถูกต้องแต่เพียงผู้เดียวและเป็นต้นตำรับของเหล้าเชี่ยงชุนค่ะ จึงใช้คำว่า เชี่ยงชุนซัวเถา“
ผมถามต่อว่า เป็นสุราประเภทเดียวกับเชี่ยงชุนที่ขายใน มินิมาร์ทมั้ยครับ ก็ได้คำตอบว่า “ดิฉันไม่ทราบนะคะว่า เชี่ยงชุนของใน 7-11 เป็นยังไง แต่ของเราคือของดีมีคุณภาพที่ผลิตในจีน และเรานำเข้าไทยมานานกว่า 50ปีแล้วค่ะ”
พอสรุปจากบทสนทนาได้ว่า แม้เชี่ยงชุนจะไม่ใช่ชื่อยี่ห้อ แต่การระบุว่า นี่คือเชี่ยงชุน “ซัวเถา” ก็เพื่อเน้นความแตกต่างจาก เชี่ยงชุน อื่นๆในท้องตลาด
.....หลังจากวางสายจากเชี่ยงชุนซัวเถา ผมต่อสายไปยังบริษัท “ไทยเบฟ” ผู้ถือครองโรงกลั่นสุราบางยี่ขันในปัจจุบัน เพื่อสอบถามความเป็นมาและข้อมูลต่างๆเท่าที่พอจะบอกได้ของเหล้าเชี่ยงชุนของเค้าบ้างเพื่อเปรียบเทียบกัน น่าเสียดายที่ทางคอลเซ็นเตอร์ยืนยันว่าไม่มีนโยบายให้ข้อมูลใดๆ จึงได้แต่อาศัยข้อมูลเล็กๆน้อยๆที่มีคนรวบรวมไว้มาปะติดปะต่อเรื่องราวแทน
”เชี่ยงชุน“ ของไทยเบฟนั้น ปัจจุบันมีวางขายหลายดีกรีแอลกอฮอล์ ทั้ง 28% 35% ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกัน จากประมาณ 80กว่าบาท(330 มล.) ไปจนถึง เกือบ200 บาท(625 มล.) คาดว่ามีส่วนประกอบของ ชะเอมไทย, ชะเอมเทศ, อบเชย, โสมตัวกุย, ดีปลี, เก๊กฮวยกานพลู, เกษรบัวหลวง โดยคาดว่าเป็นการนำแอลกอฮอล์กลั่นมาผสมกับน้ำตาลและคาราเมลจนได้สีเข้ม แต่ตัวแอลกลั่นจากวัตถุดิบอะไร หาไม่เจอครับ
ส่วน “เชี่ยงชุนซัวเถา” นั้น อ้างอิงจากเว็บสุราของจีนหลายเจ้า ระบุตรงกันว่า ตัวแอลกอฮอล์กลั้นจากข้าวฟ่าง แล้วบ่มกับสมุนไพร-ดอกไม้หลากหลาย เช่น ดอกคำฝอย, เบญจมาศ, กระวาน, อบเชย, ชะเอมเทศ โดยมีดีกรีแอลกอฮอล์สูง 38% ไปจนถึง“50%” และราคาอยู่ที่ 990 บาท (620 มล.)
ที่ด้านหลังกล่องมีระบุสรรพคุณไว้ว่า “สมุนไพรฉางชุนมีพืนฐานมาจากใบสั่งยาโบราณที่มีประสิทธิภาพและส่วนผสมของแท้ยาจีนที่ดีที่สุดแช่ในไวน์ข้าวฟ่างบริสุทธิ์(มีรสชาติกลมกล่อม เข้มข้น บำรุงแต่ไม่ทำให้แห้ง) สามารถรับประทานได้ในปริมาณเท่าใดก็ได้ และเหมาะสำหรับทั้งชายและหญิง ผลิตภัณฑ์นี้ทำหน้าทีเสริมสร้างเติมพลังฉีและปัดเป่าลมโดยเฉพาะร่างกายและเอวโดยเฉพาะสำหรับวัยกลางคนและผู้สูงอายุ”
... อื้อหือ บรรยายได้ฟีลหนังจีนมากๆ จริงไม่จริงไม่รู้นะครับ แต่ที่รู้ ราคาและความแรงของแอลขนาดนี้ “เชี่ยงชุนซัวเถา” ไม่น่าจะเหมาะกับเอามาทำอาหารแน่นอนครับ (นอกจากราคาสูงแล้ว กว่าแอลกอฮอล์จะระเหยหมด เมาก่อนผัดเสร็จพอดีครับ 🤣)
....
มาถึงตรงนี้ผมก็ได้คำตอบชัดเจน 2 อย่างครับ
อย่างแรกก็คือ เหล้า ”เชี่ยงชุน“ นั้น เป็นชื่อเรียก สุรายาสมุนไพรจีนแบบหนึ่ง ไม่ใช่ยี่ห้อ ที่เริ่มจากจากการนำเข้าเชี่ยงชุนที่ผลิตจากจีน แล้ววันนึงก็คงมีผู้ผลิตมาแบ่งตลาดกันตามกลไกทุนนิยม ซึ่งส่วนประกอบ, วิธีการ, วัตถุดิบก็คงปรับเปลี่ยนไปตามต้นทุนและกลุ่มเป้าหมายของยี่ห้อนั้นๆ
ถ้าดูดีๆ เชี่ยงชุนที่ราคา 80-200 บาทตามร้านทั่วไปนั้น จริงๆแล้วไม่ได้มีแต่ของไทยเบฟนะครับ ยังมีของบริษัทอื่นๆเช่น ยี่ห้อ กระเรียนทอง ของบริษัทยูไนเต็ด ไทย ดิสทิลเลอร์ส จำกัด ที่ก็ทำรูปแบบขวดและฉลากออกมาใกล้เคียงกันเช่นกัน
อย่าง ที่ 2 คือ “เชี่ยงชุน” ต้นตำรับ ที่ผลิตในจีนมักจะเป็น สุรากลั่นแอลกอฮอล์สูง ที่เน้นดื่มแบบ “จิบ” เป็นแก้วเล็กๆ โดยเน้นความเป็น “ยาตำรับโบราณ” มากกว่านำมาผสมดื่มแบบไฮบอล
ส่วนประเด็นน่าคิดว่า เชี่ยงชุนไหนมาก่อนกัน ใครเริ่มทำก่อนใคร หรือ ใครตามอย่างใคร หรืออันไหนอร่อยกว่า อันไหนดีกว่า อันนี้ไม่ทราบจริงๆครับ หากแต่ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติ่ม หรือประสบการณ์“จิบ” ขวดไหนมาแล้ว เชิญแบ่งปันข้อมูลได้เลยนะครับ
อ้อ ที่ทราบแน่ๆอีกอย่างตอนนี้ คือน้อง Lisaกับ เพลง Rockstar พาเยาวราชไทยและอีกหลายโลเคชั่นในmv ไปสู่ระดับโลก รอคนมาตามรอยแล้วเรียบร้อยครับ ขอบคุณนะครับ Hai! Hai!
ปล ทั้งหมดนี้ผมรวบรวมข้อมูลด้วยตัวเองจากการสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้า ประกอบกับข้อมูลจากเว็บไซต์ผู้ผลิจ-นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย และข้อมูลอ้างอิงจากผู้บริโภคบางท่าน หากท่านพบว่าข้อมูลในบทความนี้มีข้อผิดพลาดหรือจุดคลาดเคลื่อนใดๆ โปรดติดต่อผมให้แก้ไขได้เลยนะครับ
===========
Disclaimer: บทความนี้รวบรวมข้อมูลเรียบเรียงและเขียนขึ้นโดย แอ๊ดมินเพจ เรื่องเล่าในแก้ว ผู้เป็นเจ้าของสิทธิในงานเขียนและสามารถใช้งานหรือเผยแพร่ได้แต่เพียงผู้เดียว ห้ามมิให้ผู้ใดนำไปเผยแพร่โดยวิธีการอื่นใดโดยปราศจากคำอนุญาตินอกจากการแชร์บนจากต้นฉบับนี้ไปยังแพลทฟอร์มต่างๆเท่านั้น
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และสูตรอาหารเครื่องดื่มเท่านั้น มิได้มีจุดประสงค์เพื่อโฆษณาหรือส่งเสริมให้คนดื่มแอลกอฮอล์
#เรื่องเล่าในแก้ว
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย