28 มิ.ย. 2024 เวลา 23:04 • ปรัชญา

คำสารภาพของวิญญาณบาป

นพ. อาจินต์ บุณยเกตุ
โพสท์ในเวบธรรมจักร ลานหนังสือธรรมะ โดย TU 27-07-2547
เรื่องที่ ๘
คุณยายแม้น ผู้เสียสละ
ศิษยานุศิษย์หรือพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการหลวงพ่อที่วัดวงษ์ฆ้อง เมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จะต้องเคยเห็นสตรีชราท่านหนึ่งโกนศีรษะ ผ้านุ่งดำ เสื้อขาว ห่มขาว นั่งพับเพียบอยู่ตรงศาลากลาง ระหว่างกุฏิสงฆ์และกุฏิหลวงพ่อ
ท่านผู้นี้หลังโกงเอามากๆ เวลาเดินท่านก้มตัว เหมือนเราเดินหาของอะไรที่ตกอยู่ที่พื้น ท่านมีไม้เท้าอันหนึ่ง รู้สึกว่าจะยาวกว่าตัวท่าน ถือนำทางกันล้มและบอกทางไปในตัว ทั้งนี้เพราะตาท่านมองไม่ค่อยเห็น
ที่น่าขันก็คือ เวลาท่านเดินไปเหยียบสุนัขหรือแมวที่นอนอยู่ เสียงร้องของสัตว์ที่ท่านเหยียบนั้น ทำให้ท่านรู้ตัว ท่านจะวางไม้เท้าลงแล้วพนมมือกล่าวขอโทษ ขออภัย พร้อมกับให้ศีลให้พร สัตว์ตัวที่ท่านเดินเหยียบหรือเดินชนนั้นทุกทีไป
ที่พำนักของท่านนั้น คือ กุฏิเล็กๆ หลังโบสถ์ อายุของท่านนั้น ผมคะเนว่าแก่กว่าหลวงพ่อ พวกลูกศิษย์วัดเรียกท่านว่า คุณยายแม้น
ถึงตอนนี้ ผมต้องขออนุญาตเรียนท่านผู้อ่านเลยก่อนว่า นามของบุคคลต่างๆ ในตอนนี้ เป็นนามสมมุติทั้งสิ้น ไม่มีนามจริงเลย แม้แต่นามของคุณยายแม้น ทั้งนี้เพราะลูกหลานว่านเครือของท่านยังมีชีวิตอยู่มาก และเป็นใหญ่เป็นโตในประเทศเราก็หลายคน สมกับคำว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี”
คุณยายแม้น เป็นคนอยุธยา โดยกำเนิด แต่จะไปอย่างไร มาอย่างไรถึงได้มาจำศีลภาวนา เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ ไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าคุณยายแม้นอยู่วัดมานานแล้ว อยู่มากว่า 50 ปีแน่ๆ ท่านอยู่ที่วัด ท่านไม่ได้อาศัยข้าววัด หรือเบียดเบียนวัด
แต่จะมีสตรีอีกผู้หนึ่ง อายุราวๆ วัยกลางคนมาปรนนิบัติรับใช้ โดยนำอาหารเช้าและเพลมาให้ท่าน ซึ่งท่านก็รับประทานนิดเดียว เหลือก็ให้ทานเด็กวัด ให้ทานสุนัข แมว นก จิ้งจก ตุ๊กแก กินไปตามเรื่อง พอท่านรับประทานอาหารเสร็จ เก็บถ้วยเก็บชามแล้ว สตรีผู้นั้นก็จะถือปิ่นโตกลับไป ซึ่งก็ได้ปฏิบัติกันดังนี้เป็นประจำ
ปฏิปทาของคุณยายแม้นนั้นน่าสนใจยิ่งนัก ท่านสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น ไม่เคยขาด ถ้าเป็นวันพระมีพระเทศน์ที่โบสถ์ คุณยายจะคอยไปนั่งฟังเทศน์ก่อนใครๆ เมื่อไปถึงโบสถ์ว่าง ท่านก็จะนั่งสมาธิเงียบอยู่คนเดียว และปกติเมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้ว ท่านจะขึ้นมานั่งที่ศาลากลางคอยฟังธรรมะของหลวงพ่อ ที่ท่านจะแนะนำ หรือที่ท่านสั่งสอนแก่ผู้มาฟังธรรมจากท่าน
ใครจะเอาอะไรมาให้คุณยายแม้น แม้แต่น้อย ท่านก็ไม่รับ ท่านจะพูดว่า..... “ถวายพระเถอะจ้า ได้บุญจ้ะ.....”
คุณยายแม้นท่านนั่งครึ่งหมอบอยู่ที่วัดนั่นแหละ นั่งได้เป็นชั่วโมงๆ ปากก็ภาวนาขมุบขมิบไป คราวหนึ่งผมสงสัย จึงกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า “คุณยายแม้นขมุบขมิบปาก ท่องอะไรหรือขอรับ.....” หลวงพ่อท่านตอบว่า “แม่แม้นแกภาวนาครึ่งท่อน”
คำตอบของหลวงพ่อนี้ ผมงง ไม่ว่าใครๆ หรอกครับ แม้คุณผู้อ่านก็ต้องงง ภาวนาอะไรครึ่งท่อน
ลูกศิษย์หลวงพ่อคนหนึ่ง ชื่อ ไชโย เป็นเด็กวัยรุ่นๆ รุ่นเดียวกับผมถึงกับหัวร่อด้วยความสงสัย ผมจึงกราบเรียนถามท่านว่า
“ภาวนาครึ่งท่อนหมายความว่าอย่างไรขอรับกระผม....”
หลวงพ่อท่านเมตตา เล่าให้ฟัง ดังนี้.........
“คือว่าวันหนึ่งแม่แม้น แกมานั่งฟังหลวงพ่ออยู่ที่หน้าศาลานี่ ลูกศิษย์กลุ่มหนึ่งมาจากกรุงเทพฯ ก็มาหาอย่างเคย เขาปรารภว่า อยากจะทำมาหากินทำอะไรให้มันรุ่งเรืองถาวร อยากจะได้คาถาจากหลวงพ่อไปท่องเจริญภาวนาจะได้เจริญๆ หลวงพ่อก็ให้คาถาไป และบอกว่าคนท่องคาถานี้ต้องถือศีล 5 นะถ้าไม่ถือศีล 5 คาถาจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ว่าแล้วหลวงพ่อก็ให้พวกเขารับศีลเรียกว่า นิจศีล คือถือเป็นนิตย์ จากนั้นก็ให้คาถา
ตั้งนะโม 3 จบเสียก่อน แล้วว่า............
“อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ อิติปิโสภะคะวา นะโมพุทธายะ สัพพะลาภะ ภะวันตุ เม ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาติ”
หลวงพ่อท่านให้บูชาคาถานี้เป็นนิตย์ อย่าเว้น จะมีลาภ เจริญรุ่งเรืองท่านว่า ต่อมาทุกคนที่ไปหาท่านก็เจริญรุ่งเรืองด้วยกันทุกคน มีความสุขดังปรารถนา ผมได้ยินคาถาเข้า ผมก็ลงมือควานหาดินสอปากกาทันที นายไชโยรู้ใจ รีบฉีกกระดาษ ส่งดินสอดำมาให้ผมก็เลยจด แล้วก็ท่องมาเป็นนกแก้วนกขุนทองเรื่อยมา
จนต่อมาบวชแล้วจึงได้ เข้าใจว่าคาถาท่อนแรกนั้นระลึกถึงพระพุทธคุณ ตอน สัพพะลาภะ นั้น หมายถึงว่า อย่าให้เจ็บไข้ จะได้ทำมาหากินต่อไป เพราะความไม่ป่วยไข้นั้นเป็นลาภที่สุดแล้ว
ส่วน ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นั้น ท่านก็บอกให้รู้เหมือนคนในตอนนั้น แต่ผมจำไม่ได้ มาเข้าใจตอนบวชเหมือนกัน ว่านั่นคือสูตรสำเร็จในการงาน ที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 ผู้ใดมีอิทธิบาท 4 ประจำอยู่ในใจตลอดเวลาแล้ว ผู้นั้นไม่มียากจนและการงานใด หรือชีวิตใด ที่ปราศจากศีลแล้ว งานนั้นหรือชีวิตนั้น มีแต่ความวิบัติ หลวงพ่อท่านจึงให้รับศีลก่อนแล้วให้ถืออยู่เป็นนิตย์ การมีศีลนั้นก็เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์สมบัติอยู่แล้ว กว่าผมจะเข้าใจท่าน ก็โน่นอีกตั้งยี่สิบกว่าปี คือ ตอนที่บวชพระแล้วนั้นแหละ
ทีนี้ คุณยายแม้น นั่งฟังอยู่ด้วยท่านมีลูกหลานว่านเครือแยะ จึงอยากให้ลูกหลานรุ่งเรือง ร่ำรวย เป็นใหญ่ เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ท่านก็จำคาถาไว้ ไม่มีการจด เพราะท่านอ่านเขียนไม่ออกอยู่แล้ว ท่านก็จำหัวจำท้ายมาภาวนา คุณยายแม้นน่ะ ท่านไม่อยากจะร่ำรวยอะไรอีกแล้ว เพราะท่านอายุมาก ท่านก็เอาแต่พอจำๆ ได้ เลยเหลือเพียง “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ อิติปิโส ภะคะวา จิตตะ วิมังสา” ท่านก็ภาวนาอย่างนี้มาเป็นสิบๆ ปี มีสมาธิดีเหมือนกัน
หลวงพ่อท่านว่า แถมยังบอกอีกว่า ไม่ถึงครึ่งท่อนก็ยังทำให้สมาธิ แค่ภาวนา..... “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ” แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว..... แต่ท่านก็ยังว่าแม่แม้นแกภาวนาคาถาครึ่งท่อนอยู่ดี
จะเป็นเพราะคุณยายแม้นท่านมีเมตตา ถือศีลอยู่เป็นนิตย์ ภาวนาเป็นประจำ แม้จะครึ่งท่อนก็ยังมีสมาธิ จิตใจท่านมีกิเลสน้อยมาก เพราะไม่เห็นท่านโกรธใคร ว่าใคร ศิษย์วัดยังกล่าวว่า ถ้าคุณยายแม้นด่าว่าใครแล้ว เจ้าคนนั้นซวยตลอดชาติ ท่านไม่อยากได้ของใคร ใครมาหา มากราบไหว้ ท่านก็พูดว่า ไหว้พระเถอะจ้ะ ถวายพระเถอะจ้ะ..... ได้บุญ คุณยายแม้นเป็นใครมาแต่ไหน ไม่มีใครทราบ ที่จะทราบก็เพียงคนเดียวคือหลวงพ่อเท่านั้น และก็ไม่มีใครกราบเรียนถามท่านด้วย
จนวันหนึ่งผมไปวัด ได้รับทราบจาก ไชโย ศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อว่า คุณยายแม้นตายเสียแล้ว อีกวันเดียวก็จะได้ 90 ปีเต็ม ท่านถึงแก่กรรมในกุฏิของท่านนั่นเอง
ผมซักไซ้ไล่เลียงกับไชโยว่า คุณยายแม้นเป็นอะไรจึงได้เสีย ป่วยไข้เป็นอะไร มีญาติลูกหลานมาหาหรือเปล่า มีใครช่วยเหลือท่านบ้าง ทั้งนี้เพราะผมสงสารท่าน ไปทีไรก็เห็นท่านนั่งพนมมือหมอบที่ศาลา หน้ากุฏิหลวงพ่อเป็นประจำ ใครไหว้ท่าน ท่านก็ให้พร “จำเริญๆ เถิด พ่อคุณแม่คุณ อายุมั่นขวัญยืนจ้ะ” ท่านพูดอยู่แค่นี้ พูดจนนกขุนทองที่ศาลาจำได้ นกตัวนั้นก็ทำเสียงเหมือนท่านเสียด้วยซี
ไชโยบอกว่า ยังไงไม่ทราบก่อนที่คุณยายจะเสียสักสองสามวัน คุณยายบอกให้คนเอาปิ่นโตมาส่ง ไปเชิญลูกหลานท่านมาที่วัดมากันหลายคน นั่งกันเต็มกุฏิของคุณยาย แล้วทราบว่าคุณยายเล่าอะไรๆ ให้ลูกหลานฟังแยะ ท่านพูดจนเหนื่อย สุดท้ายท่านบอกว่า อายุท่านไม่ถึง 90 ปีหรอก เรือมันผุแล้ว มันจะจมแล้ว ลูกหลานท่านก็นั่งฟัง ก็เห็นท่านดี ๆ พูดได้สติดี ไม่เจ็บไข้อะไร
แต่รู้สึกว่าวันต่อๆ มา ลูกๆ หลานๆ ก็มาหาท่านทุกวัน ท่านก็พูดแต่ว่า ท่านน่ะไม่ถึง 90 ปีหรอก ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะอีก 4-5 วันท่านก็อายุครบ 90 ปีอยู่แล้ว เช้าวันหนึ่ง คุณยายแม้นไม่ขึ้นไปที่ศาลา แต่ฝากดอกไม้ ธูป เทียน ให้คนที่เอาอาหารมาส่ง ไปกราบหลวงพ่อว่า ฝากดอกไม้ ธูป เทียน มาขอนมัสการเป็นครั้งสุดท้าย และขอลาหลวงพ่อด้วย และขอระลึกพระคุณที่เมตตาให้มาปฏิบัติธรรม ได้อยู่อาศัยที่วัดจนบัดนี้
หลวงพ่อท่านรับดอกไม้ ธูป เทียน แล้วให้คนไปดู ก็ไชโยนั่นแหละเป็นคนวิ่งลงไป แล้วก็ขึ้นมากราบเรียนท่านว่า คุณยายนอนตะแคงหันหน้าเข้าฝา สงบนิ่งเฉยอยู่ หลวงพ่อท่านก็ไม่ว่าอะไร เป็นแต่ว่าท่านสั่งว่าเย็นนี้ให้ใครเอาข้าวที่มี มาทำเป็นข้าวต้ม ไปป้อนคุณยายที มื้อเดียวก็พอท่านสั่งอย่างนี้
พอตกเย็นวันนั้น ไชโยกับเพื่อนอีกคนก็ลงไปหาคุณยายที่หลังโบสถ์ เอาข้าวต้มไปป้อนให้ พลางก็บอกคุณยายว่า “หลวงพ่อให้เอามาให้ยายรับประทาน”
คุณยายยกมือไหว้ แล้วรับประทานข้าวต้มไปสักสามสี่ช้อน ท่านก็บอกว่า “พอแล้ว” แล้วก็ให้ศีลให้พรตามเคย แต่เสียงท่านค่อยลงไปมาก
เช้าวันรุ่งขึ้น ไชโยนึกเป็นห่วงคุณยาย ก็ลงไปดู เห็นคุณยายนอนตะแคงหันหน้าเข้าฝาตามเดิม ด้วยอาการสงบ พอขึ้นมา หลวงพ่อท่านถาม ไชโยก็ตอบท่านว่า “คุณยายยังไม่ตื่น ยังนอนอยู่”
หลวงพ่อท่านก็ตอบว่า “หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” จากนั้นท่านก็พนมมือ สวดมนต์แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลทันที
ไชโยนึกเอะใจ ก็รีบวิ่งลงไปที่เรือนคุณยายอีกที ทีนี้จับตัวท่านดูปรากฏว่า เย็นชืด ตัวแข็ง จึงรู้ว่าคุณยายเสียแล้ว จึงรีบวิ่งมากราบเรียนหลวงพ่อว่า “คุณยายแม้น เสียแล้ว”
หลวงพ่อท่านบอกว่า “แม่แม้นเสียตอนอายุจะย่างเข้า 90 ปี แสงอาทิตย์สว่างเมื่อไหร่ ก็ไปรับบุญชาติหน้าเมื่อนั้น แม่แม้นแกเสียตอนตีห้ากว่าๆ แกรู้ของแกล่วงหน้าว่า จะหมดขัยเมื่อไหร่ แกถึงได้มาลาเมื่อวานนี้”
พูดจบ หลวงพ่อท่านก็ให้เอาดอกไม้ ธูป เทียน ที่คุณยายให้มากราบลา ไปวางไว้ที่ระหว่างมือทั้งสองของคุณยาย แล้วให้เด็กที่วัดไปบอกหลานๆ ของท่านในตลาดให้ทราบ..... นี่คือคำบอกเล่าของไชโย ที่เล่าให้ผมฟัง
คุณยายแม้นเป็นใครมาแต่ไหนนั้น ต้องแบ่งเล่าออกเป็น 2 ตอน ตอนหนึ่ง ทราบจากหลวงพ่อ และตอนที่สองเป็นปริศนาธรรมที่ท่านกล่าว ซึ่งผมจะนำมาเรียบเรียงให้คุณๆ ผู้อ่านได้ทราบและพิจารณาต่อไป
เมื่อราวๆ 90 ปีเศษมาแล้ว ที่ตำบลนาโสน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีครอบครัวผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง ผู้เป็นบิดาทำมาหากินด้วยการรับซื้อพืชผลไม้ ที่ชาวบ้านนำมาขายจากไร่ จากสวนแล้วส่งขาย การทำมาหากินเจริญรุ่งเรือง ก็ร่ำรวยขึ้น ครอบครัวนี้มีบุตรชาย 2 คน ก็เจริญเติบโตดี ต่อมาอีกหลายปี ห่างกันร่วม 10 ปี ฝ่ายมารดาก็ตั้งครรภ์อีกครั้ง ในการตั้งครรภ์ครั้งนี้ ทั้งบิดาและมารดา ต่างก็ฝันเป็นนิมิตเหมือนกันทั้งคู่ ซึ่งก็แปลกประหลาดพิสดารมาก
กล่าวคือ ฝ่ายบิดาฝันว่า มีเทพยดาลอยลงมาหา แล้วบอกว่าจะเอาเด็กดีจากสวรรค์มาฝากเลี้ยง แล้วก็ยื่นมือส่งของอย่างหนึ่งให้ ฝ่ายบิดาก็ยื่นมือออกไปรับ พอจะมองดูว่าที่อยู่ในมือนั้นอะไร ก็พอดีตกใจตื่น
ส่วนทางฝ่ายมารดาก็เช่นกันฝันตอนใกล้รุ่งว่า วันหนึ่งไปทำบุญฟังเทศน์ ที่วัดใกล้ๆ บ้าน ขณะที่เดินทางกลับบ้านก็พบสตรีผู้หนึ่ง ในฝันนั้นว่า สตรีนั้นรูปร่างหน้าตาสวยงามมาก ขนาดยืนอยู่ห่างๆ ยังได้กลิ่นประทินของหอมชื่นใจ สตรีผู้นั้น ท่านเดินมาหา แต่การเดินของสตรีผู้นั้น เท้าทั้งสองหาได้สัมผัสพื้นดินไม่ เมื่อสตรีนั้นมาใกล้
ตัวก็พูดว่า “เอาดอกสาละนี้ไปบูชาพระซิ หอมมากนะ” ว่าแล้วก็ส่งดอกไม้ที่ถือมาให้ แกก็รับไว้ กลิ่นดอกไม้นั้น หอมตลบไปทั่ว พอเงยหน้าขึ้นมาอีกที สตรีท่านนั้นก็ลอยห่างออกไปเสียแล้ว แกก็ยกมือไหว้ เพราะนึกว่าอย่างไรๆ เสีย สตรีท่านนั้นก็คงเป็นเทพธิดาองค์หนึ่งแน่ๆ
พอรุ่งขึ้น ทั้งคู่ก็เล่าเรื่องที่นิมิตเล่าสู่กันฟัง จากนั้นก็พากันไปทำบุญที่วัดอย่างเคย แล้วก็เล่าความฝันของแต่ละคนให้หลวงพ่อที่วัดฟัง หลวงพ่อที่วัดนาโสมนั้นก็ยิ้มแย้ม ชื่นชมยินดีพลางกล่าวว่า
“คุณโยมจะได้บุตรหรือธิดาอีก 1 คน คนนี้เทพส่งมาจากสวรรค์ เป็นผู้ที่มีวาสนาบุญญาธิการ และมีธรรมะสูง ครอบครัวจะมีความสุข ความเจริญูรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปอีก”
บิดามารดาทั้งสองได้ฟังแล้วก็ปลื้มปิติอย่างยิ่ง และแล้วก็เป็นความจริง ต่อมาฝ่ายมารดาก็ตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ แกไม่แพ้ ไม่ป่วยไข้อย่างใด แถมยังทำมาค้าขึ้น ก็รวยขึ้นไปอีก เมื่อครบกำหนดก็คลอดออกมา เป็นเด็กหญิงผิวพรรณสะอาดสดใส หน้าตาน่ารักน่าชัง สวยงามอย่างเทพธิดาในฝัน ที่ฝันเห็น ทั้งนี้จึงพร้อมใจกันตั้งชื่อว่า “แม้น” เพราะหน้าตาเหมือนจิตในฝันนั่นเอง
เมื่อเจริญวัยขึ้น แม้นก็มีปฏิปทาในการทำบุญสุนทาน มีจิตน้อมนำในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจิตเมตตาต่อสัตว์ต่างๆ อย่างมากมายผิดกับเด็กทั่วไป อย่างครั้งหนึ่งหนูแม้นเห็นแมลงสาบตัวหนึ่งขาขาด นอนหงายดิ้นอยู่ หนูแม้นสงสารแมลงสาบตัวนั้นเป็นอย่างยิ่ง รีบไปจับแมลงพลิกคว่ำ เพื่อให้สัตว์นั้นเดินได้ แต่แมลงสาบนั้นก็ไม่สามารถจะเดินได้เหมือนปกติเพราะขาขาดไป หนูแม้นนั่งร้องไห้ สงสารแมลงสาบนั้นว่า มันคงเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน ร้อนถึงแม่ต้องมาปลอบใจ
และอีกครั้งหนึ่ง หนูแม้นเดินไปหลังบ้าน เห็นงูกำลังกินเขียดอยู่ เขียดส่งเสียงร้องอย่างดังและโหยหวนเหมือนขอชีวิต แต่งูก็กลืนลงไปๆ ทีละน้อยๆ หนูแม้นทนไม่ไหวต่อเสียงและภาพนั้น รีบวิ่งขึ้นบ้านมาบอกให้พ่อไปช่วยเอาเขียดออกจากปากงูให้ที แต่สายไปเสียแล้ว เขียดถูกกลืนไปหมด ก่อนที่พ่อจะไปถึง พ่อทำท่าจะตีงูตัวนั้น แต่หนูแม้นซึ่งมีน้ำตานองหน้าเพราะสงสารเขียตน้อยตัวนั้นก็ยึดมือพ่อไว้ แล้วร้องว่า “พ่ออย่าไปทำเขา.... พ่ออย่าไปทำเขา ปล่อยเขาไป.... ปล่อยเขาไป..... อย่าฆ่าเขาพ่อ” ดังนี้เป็นต้น
หนูแม้นจะลุกขึ้นแต่เช้ามืด มาใส่บาตรแทนพ่อแทนแม่ทุกวัน และก็หนูแม้นอีกแหละที่ชวนพ่อแม่ไปวัดไปทำบุญ ไปฟังเทศน์ ไม่ว่าจะมีผ้าป่า ทอดกฐิน ทำบุญเจดีย์ข้าวสาร เจดีย์ทราย สร้างโบสถ์ สร้างศาลา อะไรในวัด หนูแม้นซึ่งอายุเพียง 7-8 ขวบ พอรู้เรื่องการบุญเข้า จะรีบชวนพ่อแม่ไปทำบุญทันที และเวลาฟังเทศน์ หนูแม้นจะนั่งฟังนิ่งจนจบ
ที่แปลกที่สุดก็คือ ตอนที่หนูแม้นอายุเพียง 4 ขวบ พูดยังไม่ชัดดี หนูแม้นสามารถอาราธนาศีล 5 กล่าวคำถวายสังฆทาน เป็นภาษาพระคือภาษาบาลีได้อย่างฉะฉาน ไม่มีผิดพลาด เวลาพระให้ศีล หนูแม้นจะกล่าวรับด้วยเสียงดังฟังชัด
ท่านสมภาพวัดกล่าวให้ความเห็นว่า “ที่หนูแม้นเป็นดังนี้ เพราะหนูแม้นมีบุญเก่าสะสมมาแต่ชาติปางก่อน และเป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระศาสนา ถือศีลกินเพลเข้าวัดเข้าวาเป็นประจำ เมื่อสิ้นบุญแล้วกลับมาเกิดใหม่ ก็เลยเกิดเป็นคน สัญญาเก่าๆ ที่ยังไม่ทันเลือนรางไปก็กลับมา และเมื่อเกิดมาในชาติภพ ใหม่ ในภูมิที่ดีเช่นนี้อีก ก็จะเป็นโอกาสให้หนูแม้นได้สะสมบุญบารมีต่อไป แม้ว่าหนูแม้นไม่สามารถจะระลึกชาติที่แล้วได้ก็ตาม”
เมื่อเจริญวัยขึ้น หนูแม้นก็ยิ่งมีคุณธรรม ศีลธรรม มีเมตตามากขึ้นๆ ตามลำดับ หน้าตา กิริยา วาจา สวยสดงดงาม เป็นที่รักใคร่ของพ่อแม่และญาติพี่น้องทุกคน
ต่อมาหนูแม้น ได้กลายเป็นนางสาวแม้น ก็ได้มีครอบครัว โดยได้ทำวิวาห์มงคล กับชายหนุ่มลูกมีอันจะกินในเมืองลพบุรีนั่นเอง ชีวิตครอบครัวของอำแดงแม้นก็เจริญรุ่งเรืองราบรื่นเป็นลาดับ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือจะต้องไปฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรมที่วัดใกล้บ้านทุกวันพระ ถือศีล 8 ทุกวันโกนและวันพระ จากนั้นจะออกจากวัดไปกราบพ่อ
แม่ ดูแลสารทุกข์สุกดิบของบุพการีทั้งสอง เอื้อเฟื้อช่วยเหลือเจือจานแก่ท่านทั้งสองเสร็จแล้วก็ให้ทานสัตว์ ปล่อยนก ปล่อยปลา ช่วยให้อาหารสัตว์พิการ นอกเหนือจากใส่บาตรสังฆทานเป็นประจำ ก็น่าจะเจริญใจเจริญสุขดี ด้วยกุศลผลบุญผลทานอันนั้น
แต่การกระทำเช่นนี้ สามีอำแดงแม้น ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ และไม่สบายใจทุกครั้งที่แม่แม้นทำบุญให้ทาน เพราะแกหาว่าเป็นการสิ้นเปลือง เป็นรายจ่ายที่ไม่มีผล ไม่เหมือนกับจ่ายให้คนจนกู้้ มันมีดอกมีผลทุกเดือน ซื้อข้าวซื้อพืชผลกักไว้ตุนไว้ พอราคาดีก็ขายไป มันเห็นเม็ดเงินเป็นผลชัดๆ ถึงกระนั้นก็ไม่กล้าจะขัดใจแม่แม้นรุนแรงนัก เพราะแม่แม้นแกเอาทรัพย์ของแกมาทำบุญให้ทาน แต่ก็ไม่วายเสียดายอยู่ตลอดมา
การต่อมา แม่แม้นมีบุตร 1 คน เป็นชาย หน้าตาน่ารักน่าชัง เป็นที่สนิทเสน่หาของบิดาและมารดายิ่งนัก แต่บิดานั้นออกจะรักมาก ตามใจมาก ไม่เคยที่จะขัดใจหรือลงโทษเด็กเลย แม้ว่าเด็กจะซนก็ตาม แต่ทั้งคู่ก็อยู่ด้วยกันดีมาตลอด
จนกระทั่ง บิดามารดาของแม่แม้นถึงแก่กรรมลงทั้งคู่ด้วยโรคชรา ทรัพย์สมบัติของพ่อแม่จึงตกอยู่กับแม่แม้น ซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวของท่านทั้งสอง แต่แม่แม้นก็ไม่ได้มีความยินดียินร้ายอะไรกับทรัพย์สมบัติที่ได้มา มีแต่ความเศร้าโศกเสียใจระลึกถึงแต่พ่อแม่ที่ให้กำเนิด และเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จนมีหลักมีฐานเห็นปานนี้
ในเวลาต่อมา ครอบครัวของแม่แม้นก็ย้ายมาตั้งหลักทำมาค้าขายที่อยุธยา โดยขายที่ขายทางที่ลพบุรีแล้วมาหาซื้อบ้าน ซื้อที่ในตลาดอยุธยานี่ สามีแม่แม้นก็ทำมาค้าขายอย่างเดิม แต่ว่าได้ขยายกิจการให้ใหญ่โตขึ้น มีการรับ ซื้อข้าวเปลือกข้าวสารแล้วขายส่ง ทำให้กำไรมากขึ้นฐานะดีขึ้น
ยิ่งฐานะดีขึ้น แม่แม้นก็ยิ่งทำบุญหนักขึ้น มีการอุทิศเงินสร้างวัด สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโบสถ์ วิหาร บวชพระ บวชเณร ทอดผ้าป่า สังฆทาน กฐิน ทุกอย่าง แล้วก็น้อมจิตอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดามารดา ผู้มีบุญคุณเสมอมามิได้เว้น วัดต่างๆ ต่างก็ทราบกิตติศัพท์ในการทำบุญของแม่แม้นอยู่เรื่อยมา ใบฎีกาเรี่ยไรต่างๆ ก็มีมาสู่แม่แม้นเสมอ ซึ่งแม่แม้นก็ไม่ขัดสักราย
ส่วนลูกชายของแม่แม้นก็โตขึ้นเป็นหนุ่ม หน้าตาสะอาดหมดจด ช่วยพ่อทำงานทำการอย่างขยันขันแข็งเป็นที่ปลาบปลี้มยินดีแก่พ่อแม่ยิ่งนัก ซึ่งต่างก็พูดว่า “เป็นเพราะบุญแม่แม้นที่มีใจบุญสุนทาน เมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์อยู่เสมอ ตลอดจนการทำบุญในพระศาสนามาตลอด กุศลผลบุญจึงตอบแทนเห็นปานนี้”
ต่อมาบิดาได้ไปสู่ขอบุตรสาวของชาวบ้านอรัญญิกผู้หนึ่ง ซึ่งมีเชื้อมีสาย หน้าตาดี มาให้เป็นภรรยาของลูกชาย โดยปลูกเรือนหอให้อยู่ใกล้เคียงกับบ้านเดิม สตรีที่เป็นภรรยาของลูกชายนั้น นิสัยออกจะตรงกันข้ามกับรูปร่างหน้าตา เธอเป็นผู้ที่มีหน้าตาสวยงาม แต่จิตใจและมารยาทนั้นโหดร้าย ไม่มีความเคารพนบนอบต่อบิดามารดาของสามี ไม่มีความยำเกรงต่อสามีเลยแม้แต่น้อย มีแต่แง่งอน โกรธ ดุร้าย ปากกล้า
สามีไม่อยากเดือดร้อนรำคาญ ไม่อยากทะเลาะเบาะแว้ง ก็เงียบๆ ยอมๆ ภรรยาก็ได้ใจ ก้าวร้าวหนักขึ้น เห็นแก่ได้ทุกอย่างทั้งนี้โดยการชี้นำและสั่งสอนจากญาติๆ ของเธอ วันหนึ่งๆ ไม่มีการทำอะไรเลย มีแต่จะหาโอกาสกอบโกยหยิบฉวยทุกอย่าง เอา
เป็นของตัว แล้วก็ส่งเสียไปยังบ้านของตน เรื่องนี้พ่อแม่สามีก็รู้ แต่ก็เห็นว่าเล็กๆ น้อยๆ ก็ปล่อยไป ลูกสะใภ้ก็ได้ใจ กำเริบเสิบสาน ถึงกลับกล่าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรยบิดามารดาของสามีบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม่แม้นก็บ่นได้คำเดียวว่า มันกรรมของเรา แต่ว่าถ้าลูกมีความสุขแล้ว แม่ก็ไม่ว่าอะไร
เหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยมา จนแม่แม้นอายุร่วมเข้า 80 ปี ลูกชายก็อายุกว่า 50 ปี มีลูก 3 คน ซึ่งหลานๆ ก็รักใคร่ย่าแม้นทุกคน วิ่งไปมาหาสู่ย่าแม้นเสมอ ลูกสะใภ้แม่แม้นเห็นว่าบ้านแม่ของสามีใหญ่โต แต่มีคนอยู่เพียง 2 คน คือพ่อและแม่สามีเท่านั้น ส่วนของตัวนั้นเดิมเป็นเรือนหออยู่กัน 2 คน ต่อมามีลูกอีก 3 คน บ้านเรือนก็ชักจะคับ
แคบ จึงอยากจะให้บ้านของตนกว้างขวางขึ้น แต่ที่ดินที่จะขยายออกไปเพื่อสร้างบ้านใหม่นั้น ไม่กว้างขวางพอ เพราะติดบ้านเรือนใกล้เคียง ลูกสะใภ้แม่แม้นจึงให้หลานทั้ง 3 คน ไปอยู่ที่เรือนปู่ย่า ส่วนตัวนั้นอยู่กัน 2 คน แม่แม้นและสามีไม่ว่าอะไร เพราะรักหลาน
พอหลานมาอยู่ด้วยได้ไม่นานสามีแม่แม้นก็ตายลง เหลือเพียงแม่แม้นคือ ย่า อยู่คนเดียว ลูกสะใภ้จึงบอกให้สามีพูดกับย่าแม้นว่า “ให้แลกกัน คือให้ย่าแม้นไปอยู่ที่เรือนหอเดิมของเขา และเรือนใหญ่นั้นให้ครอบครัวเขามาอยู่แทน”
แม่แม้นแกไม่อยากขึ้นบันไดเพราะบ้านมี 2 ชั้น แก่แล้ว ไม่มีแรงขึ้นๆ ลงๆ แต่แล้วในที่สุดก็ต้องยอมลูกชาย โดยย้ายไปอยู่เรือนลูกชายซึ่งย่อมกว่าแยะ ข้าวของขนไปไม่หมดก็ทิ้งไว้ที่เรือนใหญ่
ต่อมากิจการต่างๆ ทรัพย์สินต่างๆ ที่มี ลูกสะใภ้ก็เสนอสามีว่า “แม่แก่แล้ว หูตาไม่ดี หลงๆ ลืมๆ ควรจะจัดการทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ แทน ไม่ควรปล่อยให้ต้องลำบากอีกต่อไป”
ฝ่ายสามีเห็นความปรารถนาดีของภรรยา ก็เห็นด้วย จึงเข้าไปพูดกับแม่ ฝ่ายแม่แม้นก็เอ่ยว่า “ก็ฉันยังไม่ตาย ขออาศัยเก็บกินไปก่อน เอาไว้ตายเมื่อไหร่ค่อยเอาไป ลูกก็มีคนเดียว พี่น้องก็ร่อยหรอไม่มีใครแล้วทรัพย์สมบัติมันจะไปไหน มันก็ตกอยู่กับลูกชายวันยังค่ำ”
สามีไปเล่าให้ภรรยาฟัง ทางภรรยานั้นก็ไม่เห็นด้วย หากว่าแม่ผัวเป็นอะไรไปจะยุ่งยากทีหลัง จึงให้สามีไปขอโอนโฉนดที่ดินที่อยู่เป็นชื่อของตนก่อน ไม่ใช่ชื่อสามี เพราะไม่ไว้ใจ เผื่อเป็นอะไรไปจะลำบากอีก
ลูกชายแม่แม้นก็ไปพูดกับแม่ ขอโอนชื่อใส่โฉนดที่ดินที่มีทั้งหมด โดยให้แม่เซ็นชื่อในหนังสือที่เอามา แม่แม้นไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แล้วตาหูก็ไม่คอยจะดี แกก็เซ็นชื่อลงไปในใบยินยอมโอนโฉนดให้แก่ลูกสะใภ้ โดยยอมยกให้ทั้งที่ดินและทรัพย์สินที่ปลูกสร้างอยู่ทั้งหมด ในที่สุดการโอนก็เรียบร้อย ทุกสิ่งทุกอย่างตกไปอยู่ในมือลูกสะใภ้จนหมดสิ้น แม่แม้นไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย”
เค้าแห่งความมืดทะมึนเริ่มขึ้น ปกติย่าแม้นจะมาอาศัยนอนเล่นที่บ้านเดิมในเวลากลางวัน ซึ่งกว้างขวางเย็นสบาย พอตกเย็นรับประทานอาหารแล้ว ก็จะเดินกลับไปยังเรือนของตน คือ เรือนหลังเล็กที่ปลูกเป็นเรือนหอให้ลูกชายแต่เดิม
วันหนึ่ง ลูกสะใภ้ก็บอกว่า “แม่แก่แล้ว เดินไปเดินมาไม่ดี อาจจะหกล้มพลาดพลั้งได้ เดี๋ยวจะให้เด็กเอาอาหารไปให้ ย่าแม้นรับประทานที่บ้านทั้ง 3 เวลา เมื่อถึงเวลาเอาอาหารไปให้ ลูกสะใภ้จะเลือกเอาอาหารที่เลวๆ ไม่มีรสไม่มีชาติอะไร คือสักแต่ว่าส่งไปก็แล้วกัน ทางลูกชายก็ไม่รู้เรื่อง เพราะต้องทำมาหากิน
หลังจากนั้นย่าแม้นจะมานั่งๆ นอนๆ ที่เรือนใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะลูกสะใภ้ไม่ค่อยเต็มใจ อ้างว่าเดี๋ยวจะมีแขกไปใครมา แม่แก่แล้ว อย่าเดินมาเลย ย่าแม้นรู้สึกเสียใจ เศร้าใจแต่ก็ยอม ยอมเสียสละ ทนอยู่ทนกินไปวันๆ ตกลงย่าแม้นไม่มีสิทธิ์ไปเรือนใหญ่ของตนแล้ว
ต่อมา ลูกสะใภ้เห็นควรแบ่งที่ดินขาย เอาเงินมาลงทุนต่อ ทั้งๆ ที่ฐานะก็ดีมากอยู่แล้ว จึงปรึกษาสามี จะขายที่ดินที่ปลูกเรือนหลังเล็ก ทีแรกสามีก็คัดค้านอยู่ แต่ในที่สุดก็ยอมตามใจภรรยา
แต่การณ์กลับตรงกันข้าม แทนที่จะขายที่ตรงที่ปลูกบ้านเล็ก เขากลับขายที่ทั้งหมด ทั้งบ้านเล็กบ้านใหญ่ ซึ่งมีที่ในทำเลดีร่วมๆ ไร่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูกสะใภ้ต้องการกำจัดแม่ผัวนั่นเอง
ในที่สุด ทั้งที่ ทั้งบ้าน ก็ขายไปให้แก่พ่อค้าต่างด้าวใกล้เคียง และเจ้าของที่เดิมก็จะต้องออกจากบ้านภายใน 30 วัน ย่าแม้นไม่รู้เรื่องนี้เลยเพราะลูกสะใภ้ปิดเงียบ
วันหนึ่ง ย่าแม้นเดินออกไปนอกบ้าน เพราะตามปกติย่าแม้นเป็นคนเอื้อเฟื้อเจือจานอยู่แล้ว บ้านใกล้เรือนเคียงได้รับของกำนัลจากย่าแม้นเสมอ บ้านละเล็กละน้อยสุดแต่มี สุดแต่ได้วาจาก็โอภาปราศรัย เป็นที่รักใคร่ของผู้คนในละแวกนั้น ชาวบ้านแถบนั้นจึงถามว่า “ย่าแม้น จะไปอยู่ที่ไหนรึ เห็นขายที่ขายทางบ้านให้เถ้าแก่เขาไปหมดแล้ว”
ย่าแม้นก็ตอบว่า “ย่าจะไปอยู่ไหน ย่าก็อยู่นี่แหละ แก่จนปานนี้แล้วจะไปสร้างบ้านสร้างเรือนที่ไหนอีก”
“อ้าว..... ย่าไม่รู้หรือว่าแม่พิศ ลูกสะใภ้ย่าน่ะ เขาขายที่ขายบ้านย่าแม้นให้เถ้าแก่เขาไปหมดแล้ว เจ้าของใหม่เขาจะให้ย้ายออกในเดือน 10 ต้นเดือน นี่แล้ว”
ย่าแม้นงง เหมือนถูกตีหัว
“ไหน ว่ายังไงนะ ที่บ้านฉันน่ะรึขายแล้ว ใครขาย ก็มันเป็นที่ของฉัน ฉันยังไม่ขาย แล้วใครจะขายได้”
“ไม่รู้สิ เห็นแม่พิศแกใส่ทองเหลืองอร่ามไปหมด แกว่าแกขายที่ได้แล้ว จะไปซื้อที่ใหม่อยู่”
ย่าแม้นค่อยๆ เดินกลับ เข้าบ้านคอยพบลูกชาย ซึ่งไปค้าขายแถบอ่างทองลพบุรีโน่น นานๆ จึงจะกลับสักที
ส่วนแม่ลูกสะใภ้ก็บอกย่าแม้นว่า “แม่ ฉันขายที่ไปหมดแล้ว เราจะไปอยู่ที่อื่น แม่จะไปอยู่ที่ไหนก็สุดแต่แม่นะ เราจะไปอยู่กันเพียงครอบครัวเราเท่านั้น”
ย่าแม้นเข่าอ่อน น้ำตาไหลซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว กำลังนั่งคิดว่า “เราก็แก่ปานนี้แล้ว จะไปอยู่ที่ไหน บ้านของของเรา เขาก็ขายไปหมดแล้ว เงินทองเขาก็เอาไปหมด มีแต่ตัวกับผ้านุ่ง ผ้าห่มสองสามผืนนี้เท่านั้น” ก็พอดีลูกชายกลับมา ย่าแม้นก็เดินเข้าไปหา สอบถามเรื่องต่างๆ ที่รู้มาจากแม่พิศ
ลูกชายก็บอกว่า “เป็นความจริง แม่พิศแกอยากขาย เพราะได้ราคาแล้วก็จะไปหาที่อื่นอยู่ใหม่ มีกำไรจากเงินเหลือ”
ย่าแม้นว่า “ก็ที่นี้เป็นของแม่ แม่บอกว่าตายเสียก่อนค่อยเอาไป นี่ยังไม่ตาย ทำไมลูกถึงทำอย่างนี้”
ลูกชายก็ตอบว่า “ที่นี่แม่โอนให้เป็นชื่อฉันนานมาแล้ว ฉันก็มีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้ ที่จริงฉันไม่อยากขายหรอก แต่แม่พิศเขาว่าทำเลมันดี ตอนนี้ได้ราคา เขาก็ขายไป แม่ไปอยู่กับฉันก็ได้ จะไปไหน” ย่าแม้นสะอื้น พลางกล่าวว่า “แม่พิศเขาให้ไปอยู่ที่อื่น จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามใจ แม่จะไปอยู่ที่ไหนก็ลำบาก ญาติพี่น้องก็อยู่ถึงลพบุรี”
ผลสุดท้าย ย่าแม้นก็ต้องออกจากบ้านไป ไปอาศัยคนรู้จักที่เคยเกื้อกูลกัน ใกล้ๆ ที่อยู่เดิมอยู่ชั่วคราว ซึ่งเขาก็ดี ให้การอุปการะย่าแม้นอย่างดีที่สุด ดีกว่าลูกในไส้เสียอีก
ย่าแม้น เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนอนาถา ยากจน หมดเงินหมดทรัพย์ ไม่มีใครเหลียวแล แต่ว่าบุญเก่ายังมีผู้คนทางบ้านใกล้เรือนเคียงยังเคารพรัก เขาให้การอุปการะย่าแม้นตลอดมา
วันหนึ่ง ย่าแม้นไปฟังเทศน์ที่วัดหลวงพ่อ ฟังจบแล้วก็นั่งเฉยอยู่ หลวงพ่อก็ถามว่า
“แม่แม้น สบายดีอยู่หรือ”
ย่าแม้น ซึ่งมีน้ำตาไหลซึม ก็เรียนตอบหลวงพ่อตั้งแต่ต้นจนจบ พลางพูดว่า
“เดี๋ยวนี้อิฉันไม่มีกำลังที่จะทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สังฆทานอะไรๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว แม้แต่ที่อยู่ก็ไม่มี ลูกเขาไม่ไล่หรอก แต่เขาไม่อยากให้อยู่ เขาเชื่อเมียเขา เงินทองก็ไม่มีเลย เหมือนคนอนาถาแล้วเจ้าค่ะ ที่อยู่ทุกวันนี้ก็อาศัยคนข้างบ้านเขาเจียดห้องให้อาศัยนอนไปคืนหนึ่งๆ เท่านั้น”
หลวงพ่อได้ทราบก็มีจิตสงสารด้วยความเมตตาของท่าน ท่านจึงให้ย่าแม้นไปอาศัยอยู่ที่กุฏิแม่ชีหลังโบสถ์ที่ว่างอยู่ 1 กุฏิ ย่าแม้นก็ดีใจ อยู่วัดจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรม
จากนั้นย่าแม้นก็เอ่ยปากลาเจ้าของบ้านผู้ใจอารี กล่าวขอบคุณที่ให้ที่อาศัย ให้ข้าวกิน ลูกหลานบ้านนั้นต่างก็รักและสงสารย่าแม้นทุกคน เด็กๆ เรียกย่าหมด เพราะเรียกตามหลานของแก พอรู้ว่าย่าแม้นจะย้ายมาอยู่วัด ก็ขอร้องไม่ให้ไปวัด ให้อยู่กับพวกเขานี่แหละ แต่ย่าแม้นเกรงใจที่ต้องรบกวนเขาตลอดเวลา ก็ได้แต่ขอบใจเด็กๆ แล้วเตรียมจัดข้าวของซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชิ้น เด็กๆ ที่บ้านนั้นก็ตามมาส่งพาย่าแม้นลงเรือ ขนของใส่เรือ พายเรือจากบ้านมาวัด แล้วช่วยขนของขึ้นไปที่กุฏิที่ย่าจะอาศัย แล้วก็พากันร้องไห้ด้วยความสงสารย่าผู้ชรา
ย่าแม้นตอนนั้นอายุร่วมๆ 80 ปีแล้ว เดินไม่ค่อยไหว ได้แต่นั่งหมอบๆ ทั้งวัน เช้าขึ้น กินอาหารเสร็จ ก็่ค่อยๆ ย่องแย่งมาศาลา หน้ากุฏิหลวงพ่อ แล้วก็นั่งหมอบคอยฟังธรรมอยู่อย่างนั้น หนักๆ เข้า หลังก็งอ งอมากขึ้นๆ ทุกวัน จนหลังโกงมาก ไปไหนก็ต้องถือไม้เท้า เพราะตาไม่ดี ยืนก็จะล้ม แต่เด็กๆ ข้างบ้านที่ย่าแม้นอาศัยอยู่ด้วยก็ยังมาหาเสมอ พร้อมทั้งพ่อแม่เด็กๆ เหล่านั้น
ส่วนลูกชายและหลานๆ นั้น ได้ข่าวว่าไปอยู่ที่ลพบุรี ไม่ได้มาเยี่ยมเยียนย่าแม้นเลย สำหรับแม่พิศนั้นไม่ต้องพูดถึง เรื่องของย่าแม้นนี้เป็นที่รู้กันทั่วไป ถึงกับพูดกันว่า “ย่าแม้นผิดเอง ผิดที่ไปโอนที่ โอนโฉนดให้ลูกก่อน ทั้งๆ ที่ตนยังไม่ตาย ถ้าลูกไม่ดี มีเมียไม่ดี มันไล่ออกจากที่ของตนที่โอนให้ เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว ไม่ใช่ไม่เคยมี"
ย่าแม้นก็ได้แต่กล่าวว่า “ฉันสละแล้ว มันเป็นเวร เป็นวิบากของฉันเอง ที่ถูกเขาไล่ที่ไล่ทางเมื่อตอนแก่ ฉันคงทำเวรทำกรรมไว้ ผลถึงได้เป็นอย่างนี้ แต่ฉันก็สละแล้วยอมแล้ว แม้ว่าคนข้างบ้านเขาจะรวมกันให้แพ่ง จัดการฟ้องร้องศาลท่านให้ก็ตาม แต่ฉันก็ไม่เอาแล้ว”
คำว่า “แพ่ง” เป็นคำที่เรียกคนที่ทำหน้าที่ฟ้องศาลในสมัยโบราณมาแล้ว ก็คือทนายนั่นแหละ ที่ช่วยว่าความให้คนที่ไม่รู้หนังสือไม่รู้กฎหมาย คำว่าแพ่งนี่ใช้เรียกนำหน้าชื่อ เช่น แพ่งอิ่ม ก็หมายความว่า ผู้ที่รับว่าความให้นั้นชื่ออิ่ม ต่อมาเมื่อวิชาทางด้านกฎหมายทันสมัยขึ้น ในปลายๆ รัชกาลที่ 5 คำว่าแพ่งนี้ก็หายไปจากกรุงเทพฯ แต่ไปใช้ทางปักษ์ใต้โน่น เมื่อสัก 40 ปี ที่แล้วก็ยังมีหากินกันอยู่ แต่เดี๋ยวนี้คำว่าแพ่งนี้ก็สูญหายไปแล้ว....... (ผู้เขียน)
ตามที่เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังตั้งแต่ต้นว่า ยายแม้น มีพี่ชาย 2 คน ท่านเป็นน้องสาวคนเล็ก พี่ชาย 2 คนอยู่ที่ลพบุรี ส่วนยายแม้นแต่งงานแล้วก็มาอยู่ที่อยุธยา เมื่อบิดามารดาสิ้นบุญแล้ว มรดกต่างๆ ก็ตกอยู่ที่ยายแม้นคนเดียว แต่ด้วยความเป็นผู้มีศีล มีธรรม ท่านได้แบ่งให้พี่ทั้ง 2 คน เท่าๆ กัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน แม้พี่ชายจะมีฐานะดี ร่ำรวยแล้ว ท่านก็ไม่ยอม สุดท้ายก็ต้องแบ่งเฉลี่ยกันไปจนได้ ซึ่งพี่ชายทั้งสอง ก็ซาบซึ้งในความเที่ยงธรรมของท่านเป็นอย่างยิ่ง
พี่ชายทั้งสองมีครอบครัว มีลูกหลานหลายคน ซึ่งหลานๆ ก็ได้รับการพามาหา มาเคารพ คุณอาแม้น ทุกคนยังติดต่อกันเสมอ จนบิดาซึ่งเป็นพี่ชายของย่าแม้นตายไป
ต่อมาลูกของพี่ชายคนโตเข้ารับราชการ ได้เป็นปลัดอำเภอที่อยุธยานี่ พอย้ายมาไม่กี่วัน ก็มาสืบหาอาแม้นทันที ไปหาที่บ้านที่อยู่เดิม ก็ไม่พบ ด้วยความเป็นปลัดอำเภอ มิช้ามินานก็สืบได้ความว่า อาแม้นมาจำศีลภาวนาที่วัดนี้ หลานชายได้พยายามจะเอาตัวไปอุปการะ หลังจากรู้เรื่องต่างๆ หมดแล้ว อาแม้นก็ไม่ไป จะขอจำศีลภาวนาอยู่ที่วัดนี้จนตาย ท่านปลัดจึงให้แม่ครัวจัดอาหารมาส่งทุกวัน ให้ลูกๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ทั้งตัวปลัดด้วย
ด้วยเหตุนี้ คุณยายแม้นจึงมีผู้มาส่งปิ่นโต มีคนมาดูแลสารทุกข์สุกดิบ เมื่อคุณยายแม้นถึงแก่กรรม ทางวัดร่วมกับหลานๆ จึงเป็นเจ้าภาพกระทำเป็นฌาปนกิจ ดังที่กล่าวแล้ว แต่หลานแท้ๆ ลูกชายและลูกสะใภ้ ไม่ได้ทราบเรื่องนี้ จึงไม่ได้ร่วมในการปลงศพ คุณยายแม้น......
หลังจากปลงศพคุณยายแม้นแล้ว หลวงพ่อท่านก็กล่าวว่า............
“แม่แม้นแกมีบุญตั้งแต่เกิดจนตาย แม้จะมีวิบากเก่าๆ มาราวีบ้าง ก็ไม่ทำให้แม่แม้นแสดงว่ามีทุกข์ หรือมีความกลัดกลุ้มอะไร ฉะนั้นทางไปของแม่แม้นมีทางเดียว คือ สุคติเท่านั้น”
ณ ที่แห่งนั้น เป็นที่ชุมนุมของวิญญาณทั้งหลายมีมาตามวิบากแห่งตน วิญญาณทั้งหลายต่างก็แลเห็นวิญญาณดวงหนึ่ง แต่งกายวิจิตรพิสดารเป็นอย่างยิ่ง ใบหน้ายิ้มละไม แสดงแววถึงเป็นวิญญาณที่มีแต่ความสงบ ไม่มีความทุกข์ใดๆ ล้อมรอบด้วยสิ่งที่แปลกประหลาด คือบริวารเหมือนเทพธิดาลอยห้อมล้อมอยู่
วิญญาณดวงนั้นลอยมาใกล้ๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวแต่ก็เคลื่อนไหว เหมือนลอยมากับเมฆบนท้องฟ้า ระยะที่ลอยอยู่ก็สูงกว่าวิญญาณทั้งหลาย ที่กำลังคอยรับวิบาก เมื่อลอยมาใกล้ กลิ่นหอมฟุ้งจากดวงวิญญาณนั้นก็ขจรขจายไปทั่ว เสียงต่างๆ สงบ มีแต่เสียงเพลงทิพย์บรรเลงเบาๆ
ทันใดนั้นมีวิญญาณ 2 ดวง อยู่ใกล้กัน ตะโกนบอกว่า “คุณแม่มา คุณแม่แม้นมา ใช่ไหม.....”
เสียงทิพย์นั้นตอบว่า “ใช่แล้ว แม่เอง..... นั่นพิศหรือลูก แล้วนั่นเพิ่มใช่ไหม”่
“ใช่แล้วคุณแม่ เราทั้งสองอยู่ที่อดๆ อยากๆ มานานแล้ว หิวเหลือเกิน”่
“หิวหรือลูก เอ้านี่แน่ะ แม่จะให้กิน” ว่าแล้วคุณยายแม้นก็ส่งอาหารทิพย์ให้แก่ดวงวิญญาณทั้งสอง ซึ่งพยายามตะเกียกตะกายจะเข้าไปรับอาหารนั้น แต่ทำอย่างไรๆ ก็เข้าไม่ถึง และพอเข้าไปใกล้ๆ กลิ่นอาหารอันหอมหวนนั้น ก็มีอันกลับกลายเป็นของเหม็น ยิ่งกว่าของเสียของเน่า ยิ่งกว่าอาจมเสียอีก
“คุณแม่ ผมรับไม่ได้ มันไกลเหลือเกิน แล้วมันเหม็นด้วย มันไม่หอมอย่างที่อยู่ในมือคุณแม่”
“ลูกเอ๋ย เจ้าบุญไม่ถึง เจ้าไม่เคยทำบุญกับพ่อแม่เลย ไม่สนใจในการทำบุญทำทาน เจ้าเชื่อแต่เมียเจ้า เนรคุณแม่บังเกิดเกล้า ผลกรรมจึงเห็นปานนี้.....วิบากนี้เห็นจะต้องอยู่กับเจ้าอีกนาน พระอรหันต์อยู่ใกล้เจ้า เจ้าไม่เคยทำบุญให้เลย มีแต่จะล้างจะผลาญ พระอรหันต์นั้นก็คือ พ่อแม่ของเจ้า”
“ผมสำนึกแล้วครับ แม่ให้อภัยผมด้วย”
“แม่น่ะให้อภัยเสมอ แต่เจ้าวิบากซิลูก ไม่เข้าใครออกใคร ใครทำอะไรไว้ ก็ได้ผลอย่างนั้น..... ทนรับวิบากแห่งกรรมไปจนกว่าจะพบอรหันต์ใหม่นะลูก”
เสียงวิญญาณอีกดวงหนึ่งกล่าวขึ้นว่า
“คุณแม่ขา พิศทราบแล้วว่า ที่พิศทำไปนั้นเพราะความอยากได้ ความทะเยอทะยานตัวเดียว ไม่ได้มีจิตจะทำร้าย จะฆ่าจะแกงคุณแม่เลย เดี๋ยวนี้พิศเข้าใจแล้ว พิศขอสารภาพทุกอย่าง ตั้งแต่ญาติของพิศมาเกลี้ยกล่อม วางอุบายให้ขายที่ของแม่ ไล่แม่ไปอยู่ที่อื่นจนต้องตกระกำลำบาก พิศขอรับกรรมรับวิบากนั้น จนกว่าจะหมดเวร”
แล้วดวงวิญญาณของคุณยายแม้นก็ลอยสูงขึ้นๆๆ เกินกว่าสายตาของเพิ่มและพิศจะแลเห็น ส่วนพิศและเพิ่มนั้นกลับลอยดิ่งลงๆๆ จนลับสายตาเช่นกัน
ก่อนที่จะจบเรื่องนี้ ผมกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า “คุณยายแม้นตายแล้วไปไหนขอรับ”
หลวงพ่อท่านอมยิ้ม แล้วก็ตอบว่า “แม่แม้นแกเดินมาตามทางที่เรียบเหมือนเดินบนถนนที่ปูด้วยพรม ในขณะเดียวกัน มีถนนอีกหลายสายที่ขนานกัน ที่แยกจากกัน เป็นถนนที่ขรุขระเต็มไปด้วยขวากหนาม ไม่สามารถจะเดินได้โดยสะดวก คนที่เดินบนหนทางที่ปูด้วยพรมอยู่แล้ว มีหรือที่จะลงไปเดินบนถนนที่มีแต่อิฐ มีแต่หิน โคลนตม ขวากหนาม อันนี้ ฉันใด ก็เมื่อแม่แม้นแกเดินอยู่อย่างสบายอย่างนั้น แกก็ต้องเดินไปอย่างสบายๆ ของแกต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด
แม้ว่าเขาจะเกิดมาอีกก็จะเกิดมาเพื่อบำเพ็ญบุญ อันประกอบด้วยทาน ที่ทำทานตลอดไป ศีล..... ที่แกถืออยู่เป็นนิตย์ ภาวนา..... ที่แกเคยภานา แม้ว่าจะเป็นการภาวนาคาถาครึ่งท่อนของแกก็ตาม แต่ก็ทำให้จิตใจสงบ เมื่อจิตสงบ ทางเดินของจิตวิญญาณหรือชีวิตนั้น ก็จะมีแต่ความสงบสุขตลอดไป”
ผมก้มลงกราบท่าน แล้วก็ภาวนาคาถาที่ท่านให้ว่า “อะระหัง พุทโธ อิติปิโส ภะคะวา นะโมพุทธายะ สัพพะ ลาภะ ภะวันตุ เม” แล้วกราบลง 3 ที
แต่ดูเหมือนท่านจะหยั่งรู้อะไรสักอย่าง ท่านก็บอกว่า “ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ติ อย่าลืมว่าให้จบ จะได้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ถ้าว่าแค่นั้นก็เป็นคาถาท่อนเดียว มากกว่าครึ่งหน่อย แต่ก็ยังดี ขอให้หมั่นภาวนาไว้จะเป็นสุข”
ผมก้มลงกราบท่านอีกที แล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้คุณยายแม้นผู้มีแต่ความดี ความเสียสละ บำเพ็ญแต่การกุศลตลอดชีวิตของท่าน ขอให้ท่านประสบแต่ทิพยสมบัติตลอดไปทุกชาติ ส่วนตัวเองนั้น กิเลสยังหนาปึก ขอเรียนต่อไปจนจบก่อน แล้วค่อยประพฤติอย่างคุณยายแม้นทีหลัง แม้ว่าจะเป็นการประพฤติอย่างครึ่งท่อน ก็ยังดี
โฆษณา