29 มิ.ย. เวลา 01:51 • ปรัชญา

กลุ่มทางจิตวิทยาหลักการ และการประยุกต์ใช้ กลุ่มที่ 5 เกสตัสท์ (Gestalt)

เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ผู้ริเริ่ม มักซ์ เวอร์ไธเมอร์ (Max Wertheimer) และคาร์ท โคฟกา (Kurt Koffka) เป็นกลุ่มทางจิตวิทยาที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้และประสบการณ์โดยมองว่าการจะเข้าใจมนุษย์จะต้องเข้าใจเป็นภาพรวม
การรับรู้ภาพรวม (Holistic Perception) มนุษย์มีแนวโน้มที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยการประมวลผลข้อมูลทั้งหมดพร้อมกัน แทนที่จะรับรู้เพียงส่วนประกอบเล็ก ๆ ที่แยกจากกันหลักการคือ แนวคิดเกสตัลท์เน้นหลักการว่า “The whole is greater than the sum of its parts” หรือ “ภาพรวมมีความสำคัญมากกว่าส่วนประกอบทั้งหมดรวมกัน”
ซึ่งหมายความว่ามนุษย์จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นโครงสร้างรวม ไม่ใช่แค่การรวมตัวของส่วนประกอบย่อย ๆ อธิบายง่าย ๆ เมื่อดูภาพใบหน้าของคน มนุษย์จะรับรู้ใบหน้าทั้งหมดเป็นภาพรวม ไม่ใช่แยกส่วนออกมาเป็นตา จมูก ปาก
ประสบการณ์ภาพรวม (Holistic Experience) ประสบการณ์ทางจิตของมนุษย์เกี่ยวข้องกับการรับรู้และการประมวลผลที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว แทนที่จะประมวลผลเป็นส่วนย่อย ๆ ที่แยกจากกัน หลักการคือประสบการณ์ทั้งหมดมีความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กัน การรับรู้ในเชิงเกสตัลท์จะมองว่าแต่ละส่วนของประสบการณ์มีการเชื่อมโยงและสร้างความหมายที่ใหญ่ขึ้น อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การรับรู้เหตุการณ์หนึ่ง ๆ มนุษย์จะประมวลผลประสบการณ์ทั้งทางอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกในภาพรวมเดียวกัน
หลักการสำคัญของการรับรู้และประสบการณ์ภาพรวมในเกสตัลท์
1) หลักการใกล้เคียง (Proximity) วัตถุที่อยู่ใกล้กันมีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน
2) หลักการความเหมือน (Similarity) วัตถุที่มีลักษณะคล้ายกันจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน
3) หลักการปิดรูปร่าง (Closure) มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเติมเต็มช่องว่างในภาพเพื่อให้เห็นเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์
4) หลักการการปรับสมดุล (Symmetry and Order) มนุษย์จะรับรู้รูปแบบที่มีความสมดุลและเป็นระเบียบ
5) หลักการความต่อเนื่อง (Continuity) มนุษย์มีแนวโน้มที่จะรับรู้รูปแบบที่ต่อเนื่องกัน
การประยุกต์ใช้แนวคิดการรับรู้และประสบการณ์ภาพรวม
1) การใช้หลักการเกสตัลท์ในการออกแบบกราฟิก เว็บไซด์ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้การรับรู้ข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจง่าย
2) การใช้แนวคิดนี้ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมของบทเรียนและความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดต่าง ๆ
3) การใช้แนวคิดเกสตัลท์ในการบำบัดเพื่อช่วยผู้ป่วยในการรับรู้ปัญหาและประสบการณ์ของตนเองในภาพรวม ไม่ใช่แค่ส่วนย่อย ๆ
ข้อจำกัดของแนวคิดเกสตัลท์มีดังนี้ 1) หลายแนวคิดไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มงวดและขาดรายละเอียดในกระบวนการรับรู้เชิงลึก เพราะยากในการปรับใช้ในงานวิจัยเชิงทดลองซับซ้อน 2) การเน้นภาพรวมมากเกินไป มองข้ามรายละเอียดสำคัญ และ 3) ขาดการเชื่อมโยงกับประสาทวิทยา ไม่อธิบายการทำงานของสมองอย่างละเอียด
อย่างไรก็ตามแนวคิดเกสตัลท์ยังมีคุณค่าในการเข้าใจการรับรู้ภาพรวมและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทฤษฎีในจิตวิทยาและการออกแบบสื่อ
แนวคิดการรับรู้และประสบการณ์ภาพรวมให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจว่าสมองมนุษย์รับรู้และประมวลผลข้อมูลอย่างไรในลักษณะภาพรวม ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ในหลายด้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร การออกแบบ และการเรียนรู้
อ้างอิง
คาลอส บุญสุภา. (2567). กลุ่มทางจิตวิทยา หลักการ และการประยุกต์ใช้ ตอน 2 (เกสตัสท์ พฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม และมนุษย์นิยม) https://sircr.blogspot.com/2024/06/2.html
โฆษณา