29 มิ.ย. เวลา 02:02 • การศึกษา

เด็กทุกคนมีหน้าที่ค้นหาตัวตนหรืออัตลักษณ์ (Identity) ของตนเอง

ด้วยความเป็นครู ทำให้ผมมีความโชคดีได้พบเจอกับเด็กในทุก ๆ วัยเป็นจำนวนมาก และสิ่งหนึ่งทึ่ผมสังเกตพบในเด็กทุกคน แม้แต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษก็คือ พวกเขาทุกคนปรารถนาอยากได้รับการยอมรับ อยากเป็นคนสำคัญ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยจำนวนมาก
แม้ว่าเด็กทุกคนบนโลกใบนี้จะมีความต้องการที่เหมือนกัน แต่พวกเขาแสดงออกทางพฤติกรรมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ซึ่งจากความเห็นผมและจากการศึกษาก็พบว่า การเลี้ยงดูมีอิทธิพลมากที่สุด
มีการศึกษาประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การถูกทอดทิ้ง การถูกทำร้าย หรือความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเยาว์นั้นมีความสัมพันธ์กับ สุขภาพกายที่มีปัญหา เครียดง่ายกว่าปกติ โรคซึมเศร้า และมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูง การติดเหล้า การใช้ยาเสพติด และมีปัญหาในการเข้าสังคม (Perry, 2004 cited in Heckmen, 2008)
โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีพ่อแม่เพียงคนเดียว ที่ส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านการเงิน มีแนวโน้มซึมเศร้ามากกว่า ใช้ยาเสพติดมากกว่า สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มากกว่า ให้นมน้อยกว่า และกระตุ้นการใช้ภาษาของเด็กน้อยกว่าครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่ (Anda Fleisher and Felitti, 2004)
จะเห็นว่าการเลี้ยงดูมีผลอย่างมาก หากเราเป็นพ่อแม่นี่คือสิ่งที่เราจะต้องตระหนักถึงมากที่สุด เพราะการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นจะส่งผลไปถึงอนาคต โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่มีการเจริญเติบโตไปสู่ความมีวุฒิภาวะหรือความพร้อม โดยมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปพร้อมกัน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีความพร้อมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
ในช่วงวัยเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจนถึงวัยรุ่นจะมีหน้าที่ทางจิตวิทยาที่ต้องคำนึงอยู่ 4 ประการ (ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 2562) ประกอบไปด้วย
1) สร้างอัตลักษณ์ (identity) โดยการค้นหาตนเอง (Self) ที่ชัดเจนแข็งแรง และสร้างลักษณะนิสัยใจคอ และบุคลิกภาพของตนเองที่ไม่ซ้ำใคร
2) สัมพันธ์กับคนรัก (intimacy) นอกจากแสวงหาอัตลักษณ์แล้วยังเริ่มสนใจในเพศอื่น แต่ไม่ได้เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่แนบแน่นหรือลึกซึ้ง เป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่ไม่นิ่ง
3) สังกัดกลุ่มเพื่อน เนื่องจากวัยนี้มีความต้องการเป็นคนสำคัญ อยากได้รับการยอมรับ และมีการแสวงหาอัตลักษณ์ที่แตกต่าง การคบเพื่อนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของต่าง ๆ ลักษณะการแต่งกาย ฯลฯ
4) อนาคตทางอาชีพ ซึ่งเขาจะพยายามหาตนเองว่าจะเติบโตไปทางไหน หากเขาสามารถเข้าใจความชอบ ความหลงใหล ความถนัด ความต้องการของตน ก็จะสามารถตั้งเป้าหมายในอนาคตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือพฤติกรรมการแสดงออกของวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นมีพัฒนาการทางอารมณ์ ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย มีความสับสน อ่อนไหว และไม่มั่นคง ซึ่งเหตุผลเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกาย และการที่จะต้องเตรียมตัวเป็นวัยผู้ใหญ่ หากสามารถปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้ลูกหรือนักเรียนไม่แสดงอารมณ์ที่สับสน หรือรุนแรงออกมาอย่างเด่นชัด
นอกจากพัฒนาการทางอารมณ์แล้วพัฒนาการทางสังคมของเด็กวัยรุ่น ยังให้ความสำคัญไปกับความสัมพันธ์กับผู้อื่นรอบ ๆ ตัว ได้แก่ ครอบครัว เพื่อนทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ โดยเฉพาะกับเพื่อนนั้นจะมีอิทธิพลสูงมากที่สุดกับนักเรียนในวัยรุ่น โดยพวกเขามักจะคบกับเพื่อนที่มีความสนใจและมีค่านิยมร่วมกัน ซึ่งจะสามารถเข้าใจปัญหากันได้ดีกว่า
สิ่งที่น่าวิตกก็คือ หากเด็กนักเรียนในวัยรุ่นขัดแย้งกับครอบครัวมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งอยากใช้เวลากับเพื่อนมากกว่าครอบครัว ซึ่งจะทำให้ครอบครัวมีบทบาทน้อยลง (Huli, 2014)
การที่เด็กจะเติบโตไปเป็นวัยรุ่นที่ดีตามบริบทของสังคม จำเป็นที่พวกเขาจะต้องพึ่งพาสังคมที่สูงมาก กระบวนคิดที่ทำให้เขาสามารถยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งยั้วยุอันมหาศาลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ คือตัวกรองการรู้คิด (Cognitive filters) ที่มนุษย์ทุกคนมี มันมีหน้าที่คอยกรองความคิดให้เป็นไปตามบรรทัดฐานทางสังคม ทำให้เราสามารถยั่งคิด (Cognitive inhibition) นำไปสู่ความคิดและการแสดงออกที่เป็นไปตามแบบแผนทางสังคม
ซึ่งแบบแผนทางสังคมนี้ก็มักจะควบคุมพฤติกรรมทางธรรมชาติ (ส่วนใหญ่จะไม่เหมาะสม) ของเรา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนโดนคุณครูต่อว่า ตักเตือนอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดอารมณ์โกรธ รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถแสดงความโกรธออกมาได้ และเมื่อไม่ได้แสดงอารมณ์ดังกล่าวออกมา ก็จะทำให้เกิดความหงุดหงิดใจ จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นความรู้สึกไร้อำนาจในตนเอง จนหล่อหลอมกลายเป็นบุคลิกภาพ การขาดความมั่นใจ การไม่เป็นตัวของตัว
สิ่งนี้แหละที่เป็หนึ่งในอุปสรรคให้นักเรียนคนนั้นหาอัตลักษณ์ยากมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมันยังมีแนวโน้มทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ สอดคล้องกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ที่มองว่าอิทธิพลทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมีผลต่อ ความปรารถนาและความต้องการ จิตใจ ไปจนถึงอาการทางจิตเวช
หากเขาไม่พบเจอตัวตนหรืออัตลักษณ์ก่อนช่วงวัยรุ่น จะทำให้เขาทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่ตนเองจะรู้สึกมีคุณค่าไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่พร้อมใจกันไปมึนเมาสุราหรือยาเสพติดกับเพื่อน (ทั้งๆ ที่พ่อแม่ของทุกคนได้สั่งสอนเรื่องยาเสพติดให้แก่ลูกมาบ้างไม่มากก็น้อย) ในทางกลับกันหากครอบครัวเริ่มต้นมาดี ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยอมรับ การพยายามหาการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนก็จะน้อยลง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2564) ได้อธิบายถึงพฤติกรรมที่วัยรุ่นแสวงหาคุณค่าจากกลุ่มเพื่อนก็สะท้อน ถึงสภาพแวดล้อมที่ชวนให้หลบหนีไปจากความเป็นจริง สะท้อนถึง พัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ไม่มั่นคง สภาพแวดล้อมที่ชวนให้หลบหนี ได้แก่การศึกษาที่ไม่ตอบสนองอะไร
นักเรียนจำนวนมากไปโรงเรียนด้วยความทุกข์หรือความว่างเปล่า การศึกษาของประเทศไทยไม่มีกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กได้รับความรู้ ปัญญา หรือความสุข ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษายังมักเต็มไปด้วยระเบียบวินัยที่แข็งกระด้างและกฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินสมควร ไม่เหมาะสมกับนิสัยใฝ่รู้ของเด็ก ๆ
พัฒนาการทางบุคลิกภาพไม่มั่นคง หมายถึงเด็กไม่มีตัวตน (Self) ที่ชัดเจนและแข็งแรง จึงไม่มีตัวตนให้ต้องเป็นห่วง การไปเล่นเกมในร้านเกมหรือกินยาที่มีผู้อื่นหยิบยื่นให้สะท้อนถึงการใช้พฤติกรรมเสี่ยงเพราะไม่มีตัวตนให้เสี่ยง เหล่านี้สะท้อนถึงการเลี้ยงดูที่ไม่สมบูรณ์ในวัยเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตาม แง่มุมที่ดีนี้เป็นลักษณะปกติของพัฒนาการตามวัย กล่าวคือเด็กวัยรุ่นล้วนรักกลุ่มเพื่อนของตัวเอง รักพวกพ้องหรือหมู่คณะทั้งสิ้น หากทุกคนมีบุคลิกภาพมั่นคงและอยู่ในระบบการศึกษาที่ให้เสรีภาพทาง ปัญญา พวกเขาจะใช้จุดแข็งคือความรักพวกพ้องช่วยกันเรียนรู้ และเติบใหญ่เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพมากกว่าที่เห็นนี้อย่างแน่นอน
ดังนั้นหากปรารถนาอยากให้เด็กไทยค้นหาตัวตนหรืออัตลักษณ์ (Identity) ของตนเองให้เจอ เพื่อยั่งคิด (Cognitive inhibition) พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และมุ่งไปสู่อนาคตที่ดีงาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว การให้ความรัก ความอบอุ่น ความสัมพันธ์ที่ดี
รวมไปถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้เสรีภาพทางปัญญา การแสดงออก ที่ไม่เต็มไปด้วยระเบียบวินัยที่แข็งกระด้างและกฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินสมควร ไม่เหมาะสมกับนิสัยใฝ่รู้ของเด็ก ๆ
อ้างอิง
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2562). วัยรุ่น 4.0 ทำความเข้าใจมนุษย์วัยรุ่น. กรุงเทพฯ: แซนด์คล็อค บุ๊คส์.
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2564). โรงเรียนพ่อแม่. กรุงเทพฯ: Amarin Kids.
Anda, R. F., V, Fleisher. & V., Felitti. (2004). Childhood abuse, household dysfunction, and indicaors of impaired worker performance in adulthood." Permanente Journal, 8, 30-38.
Heckman, J. (2008). School, Skill, and Synapses. Economic Inquiry, Western Ecomic Association International, 46(3), 283-324.
Huli, P. (2014). Stress Management in Adolescence. Journal of Research in Humanities and Social Science, 2(7): 50-57.
โฆษณา