29 มิ.ย. เวลา 02:06 • ปรัชญา

การเรียนรู้ภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาแม่ ส่งผลต่อความรู้สึกและการรับรู้ของเรา

ในสมัยที่ผมเป็นเด็ก มักได้ยินผู้คนพูดประมาณว่า “เรียนรู้ภาษาที่สองไว้เป็นเหมือนประตูที่สามารถเปิดไปสู่ความสำเร็จ” ในปัจจุบันก็ยังคงได้ยินอยู่ แต่อาจจะเพิ่มจากภาษาที่สองเป็นภาษาที่สาม ภาษาที่สี่ เราทุกคนต่างรับรู้ว่าภาษาที่นอกเหนือจากภาษาแม่เป็นสิ่งที่สำคัญ แม้จะมิได้เป็นข้อได้เปรียบเหมือนกับในอดีต เพราะเด็กไทยในปัจจุบันจำนวนมากสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ดีมากขึ้นแล้ว
แต่สิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็คือ การเรียนรู้ภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาแม่มีประโยชน์อันมหาศาลทางด้านความรู้สึกของเรา เพราะมันส่งผลต่อการรับรู้คำศัพท์ และช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่ก่อนที่ผมจะไปถึงประโยชน์ทางด้านความรู้สึก ผมขอเกริ่นเกี่ยวกับประโยชน์ที่โดยทั่วไปผู้คนส่วนมากรับรู้กัน ผมขอยกตัวอย่างสามข้อดังนี้
1) เพิ่มความสามารถในการสื่อสาร เปิดโอกาสให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมได้ อีกทั้งยังพัฒนาความสามารถทางปัญญา เพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาและการคิดเชิงวิเคราะห์ได้ดีอีกด้วย
2) ส่งเสริมความเข้าใจในวัฒนธรรม เป็นการแสดงออกว่าเราเข้าใจและเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งช่วยให้เรามีมุมมองที่กว้างขวางและเปิดกว้างมากขึ้น และการรู้ภาษาต่างประเทศทำให้เรามีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งสามารถขยายโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาในด้านต่าง ๆ
3) เพิ่มโอกาสในอนาคต เพราะการสามารถสื่อสารภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาแม่ เป็นความสามารถพิเศษ และสามารถทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังได้เปรียบในแง่ของงานบริการหรืองานที่จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษานั้น ๆ เช่น งานแปล งานล่าม หรืองานท่องเที่ยว ซึ่งสามารถทำให้เรามีโอกาสได้รับงานที่ดีขึ้นและได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น
จากตัวอย่างที่ผมยกมา จะเห็นถึงประโยชน์ที่น่าสนใจ และสามารถโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านฝึกฝนภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษาแม่ได้แล้วแหละ แต่มันยังไม่พอ เราไปได้มากกว่านั้น เพราะการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือมีผลต่อความรู้สึกและการรับรู้คำศัพท์ได้เช่นกัน
ภาษาแม่เป็นภาษาที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่จำความได้ และหลายปีที่ผ่านมา คำศัพท์ต่าง ๆ ในภาษาแม่ได้บรรจุทัศนคติทั้งทางบวกและทางลบ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานและทวีความซับซ้อนมากขึ้น หากจะพูดง่าย ๆ ก็คือ ภาษาแม่ของเราบรรจุไปด้วยความทรงจำที่เต็มไปด้วยอารมณ์ (ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนใหญ่เต็มไปด้วยอารมณ์เชิงลบ) ทำให้เรารับรู้ความหมายของคำต่าง ๆ ด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลเสมอ
คนที่ฝึกใช้ภาษาที่สองอยู่ เช่น ภาษาอังกฤษ จะพบว่าตนเองไม่ค่อย มีอารมณ์ร่วมกับคำพูดของตนเอง คนอื่นที่ฟังเราอยู่ก็รู้สึกว่าเราเป็นคนไร้อารมณ์ เพราะไม่เข้าใจอารมณ์ที่แฝงมากับคำพูดหรือคำศัพท์แต่ละคำ โดยเฉพาะภาษาไทยที่มีคำสบถหรือคำสร้อยพ่วงมากับคำพูดด้วยทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ชีวิตของฉันในช่วงนี้มันเศร้าสร้อย หรือโศกเศร้ามาก ๆ เลย
หากเปรียบเทียบคำว่า “เศร้าสร้อย” หรือ “โศกเศร้า” กับคำว่า “sad" ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะเราไม่ได้มีการรับรู้ที่สะสมมาตั้งแต่ในอดีต ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่เราอกหัก ตอนนั้นเราเศร้ามาก ๆ เราคิด บอกกับตัวเอง และบอกกับคนอื่นว่าเราเศร้า แต่เราไม่ได้ใช่กับว่า ”I' am sad" ดังนั้น เราจึงไม่ค่อยเชื่อมโยงความเจ็บปวดรุนแรงกับคำว่า "sad" เท่ากับคำว่า "เศร้า" ซึ่งเป็นภาษาแม่ของเรา
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2565) ยกตัวอย่างภาษาทางการแพทย์ อย่าง แอบโดมินัลเพน (abdominal pain) ซึ่งแปลว่าปวดท้อง คำนี้เป็นทั้งภาษาแพทย์และภาษาที่สอง จึงไม่มีอารมณ์ร่วมในคำพูดนั้นเลย ในขณะที่ผู้ป่วยพูดว่า "ปวดท้อง" มักมีความหมายว่าปวดท้องจังเลย หรือปวดจะแย่อยู่แล้วติดคำพูดมาด้วย แพทย์คุยกันด้วยภาษาแพทย์จึงมักไร้อารมณ์
ดังนั้น หากเราต้องการขจัดอคติการเรียนรู้ออกบ้าง บางครั้งเราเรียนรู้ด้วยภาษาที่สองจะตรงประเด็นมากกว่า เพราะหากเราพิจารณาให้ดีจะพบว่า คนจำนวนมากมีอารมณ์ร่วมกับคำ แตกต่างกันออกไป บางคนถูกกระตุ้นให้โมโหได้ง่ายหากได้ยินคำว่า “เลว” ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกเฉย ๆ กับคำคำนี้ การรับรู้คำในหลาย ๆ ภาษาจะช่วยลดระดับอารมณ์ร่วมกับคำศัพท์ลง
จากงานวิจัยจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของการเรียนรู้ภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาแม่ในด้านของความรู้สึกและการรับรู้ (Chen & Bond 2010; Lindquist, SatPute & Gendron, 2015; Iacozza, Costa & Duñabeitia, 2017) ดังนี้
การเรียนรู้หลายภาษาเปิดโอกาสให้เราเข้าใจความหมายและความรู้สึกที่หลากหลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น คำว่า “angry” ในภาษาอังกฤษอาจมีความหมายและการใช้ที่แตกต่างจากคำที่ใช้ในภาษาอื่น ๆ เช่น “โกรธ“ ในภาษาไทย เพราะคำศัพท์ในภาษาต่าง ๆ อาจมีความหมายที่แตกต่างกันในบริบทที่แตกต่างกัน
อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น คำศัพท์ในภาษาแม่มักมีการเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่แข็งแกร่งกว่า เนื่องจากมีการใช้งานและประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องมากขึ้น แต่เมื่อเราเรียนรู้คำศัพท์ในภาษาที่สองหรือสาม ความเชื่อมโยงทางอารมณ์อาจน้อยลงในช่วงแรก
อย่างไรก็ตามความรู้สึกร่วมต่อภาษาที่สองสามารถพัฒนาได้เมื่อมีการใช้และประสบการณ์ที่มากขึ้น จึงทำให้เราได้รับพหุประสบการณ์ที่มีต่อคำ เพราะการเรียนรู้หลายภาษาอาจทำให้เราตีความและรับรู้ความรู้สึกในคำศัพท์ต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งและหลากหลายขึ้น
ตัวอย่างเช่น เราอาจเข้าใจความหมายของ “เศร้า” ในภาษาไทยในบริบทวัฒนธรรมไทย และในขณะเดียวกันก็เข้าใจ “sad” ในบริบทของวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งอาจให้มุมมองที่หลากหลายต่อความรู้สึกเศร้า
เมื่อเราเรียนรู้หลายภาษา เราอาจพบว่าคำบางคำในภาษาใหม่มีความหมายหรือความรู้สึกที่ไม่สามารถแปลตรง ๆ ได้ ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจและรู้สึกถึงความซับซ้อนของอารมณ์และความรู้สึกในคำเหล่านั้นได้ดีขึ้น
นอกจากนั้นประสบการณ์ในการใช้คำศัพท์ในสถานการณ์จริงหรือการสนทนากับผู้ใช้ภาษานั้น ๆ จะเสริมสร้างความรู้สึกต่อคำศัพท์ได้ดีขึ้น การเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดในภาษานั้นจะช่วยเพิ่มความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับคำศัพท์ได้มากขึ้น
จึงสามารถสรุปได้ว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือสามสามารถส่งผลต่อความรู้สึกและการรับรู้คำศัพท์ ทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลายและลึกซึ้งขึ้นต่อความหมายและความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์ต่าง ๆ
สิ่งที่ผมค้นพบกับตัวเองก็คือภาษาที่สอง (ผมรู้เพียงแค่สองภาษาเท่านั้น) สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจได้ เพราะภาษาใหม่ ๆ ช่วยให้เราปรับตัวและเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ ๆ กับข้อมูลเดิมอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมองมีความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ภาษาจึงเป็นสื่อที่ทำให้เราได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย และลบอคติที่ไม่จำเป็นออกไปจากคำศัพท์ได้อย่างดี
อ้างอิง
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2565). เลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: Amarin Kids.
Chen, S. X., & Bond, M. H. (2010). Two languages, two personalities? Examining language effects on the expression of personality in a bilingual context. Personality and Social Psychology Bulletin, 36(11), 1514-1528. https://doi.org/10.1177/0146167210385360
Lacozza, S., Costa, A., & Duñabeitia, J. A. (2017). What do your eyes reveal about your foreign language? Reading emotional sentences in a native and foreign language. PLoS ONE, 12(10), e0186027. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0186027
Lindquist, K. A., SatPute, A. B., & Gendron, M. (2015). Does language do more than communicate emotion? Current Directions in Psychological Science, 24(2), 99-108.
โฆษณา