1 ก.ค. เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

• จริงไหมที่โรมันลงโทษชาวคริสต์ โดยการให้สิงโตกิน?

• สรุปย่อสำหรับคนที่ขี้เกียจอ่าน
[การกวาดล้างและกดขี่ชาวคริสต์ของโรมันในช่วงแรก ไม่ได้เป็นนโยบายจากเบื้องบนแต่เกิดจากผู้คนในระดับท้องถิ่น ก่อนที่จะเป็นนโยบายของจักรพรรดิหลายองค์ในภายหลัง
ส่วนเรื่องที่จับชาวคริสต์ไปให้สิงโตกิน ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้มีแค่ชาวคริสต์เท่านั้น เพราะอาชญากรในความผิดอื่นก็ถูกลงโทษด้วยวิธีการนี้ได้เช่นกัน และวิธีการลงโทษแบบนี้ ก็เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 3 ถึงต้นศตวรรษที่ 4 ในช่วงที่จักรพรรดิโรมันพยายามรื้อฟื้นความเชื่อดั้งเดิม ที่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ]
ในยุคที่ศาสนาคริสต์ยังถูกมองว่าเป็นความเชื่อนอกรีตและเต็มไปด้วยอันตราย จักรวรรดิโรมันจึงได้กวาดล้างและกดขี่ชาวคริสต์อย่างทุกข์ทรมาน
หนึ่งในวิธีที่โรมันใช้จัดการกับชาวคริสต์ ก็คือจับชาวคริสต์ไปที่สนามกีฬา และปล่อยให้พวกเขาถูกสิงโตกัดกินจนตาย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องชอบใจของผู้ชมในสนาม
1
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าที่ว่า จักรวรรดิโรมันมีวิธีการลงโทษชาวคริสต์โดยการจับไปให้สิงโตกิน จนกลายเป็นภาพจำทุกครั้ง เวลาที่นึกถึงนโยบายกวาดล้างชาวคริสต์ของโรมัน
แต่ในประวัติศาสตร์จริงเคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นหรือเปล่านะ?
ต้นตอเรื่องที่ชาวคริสต์ถูกจับให้สิงโตกินรวมถึงเรื่องการกดขี่ชาวคริสต์ของโรมัน มาจากผลงานของนักเขียนคริสเตียนสองคนในต้นศตวรรษที่ 4 คือแลคทันทิอุส (Lactantius) และยูเซบิอุส บิชอปแห่งซีซาเรีย (Eusebius, Bishop of Caesarea)
นักเขียนสองคนนี้มีชีวิตอยู่ในยุคของจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช (Constantine the Great) ผู้เป็นจักรพรรดิคริสเตียนพระองค์แรกของโรมัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศาสนาคริสต์ได้รับการยอมรับจนเป็นศาสนาประจำชาติของโรมันในปลายศตวรรษที่ 4
แลคทันทิอุสและยูเซบิอุสจึงเขียนหนังสือที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวคริสต์ภายใต้การปกครองของโรมัน เพื่ออธิบายว่า กว่าที่ชาวคริสต์จะเข้าสู่ยุคที่รุ่งโรจน์ได้นั้น พวกเขาต้องเคยทุกข์ทรมานมากแค่ไหนมาก่อน
หลายคนอาจจะคิดว่า การกดขี่ชาวคริสต์ของโรมันมาจากการสั่งการของจักรพรรดิหรือเป็นนโยบายจากเบื้องบน แต่ความเป็นจริงแล้ว การกดขี่ชาวคริสต์ในช่วงแรก ๆ มีลักษณะแบบสุ่ม และไม่ได้เป็นนโยบายโดยตรงจากเบื้องบน
2
ในงานเขียนของแลคทันทิอุสระบุว่า การกดขี่ชาวคริสต์ของโรมันเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคจักรพรรดิเนโร (Nero) หลังเกิดเพลิงไหม้ในกรุงโรมในปี 64 ท่ามกลางข่าวลือที่ว่า ชาวคริสต์เป็นคนวางเพลิง จึงนำไปสู่การกวาดล้างชาวคริสต์ ทาชิตุส (Tacitus) นักประวัติศาสตร์อีกคนบันทึกว่า ชาวคริสต์ถูกคลุมด้วยหนังสัตว์ ก่อนให้สุนัขฉีกร่างพวกเขาจนตาย
อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์โรมันคนอื่น ๆ ที่บันทึกเรื่องนี้เช่นกันกลับบอกว่า เหตุผลที่ทำให้ชาวคริสต์ถูกกวาดล้าง มาจากข้อหาวางเพลิงไม่ใช่ความศรัทธาของพวกเขา
ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 2 ในจดหมายของพลินีผู้เยาว์ (Pilny the Younger) ผู้ว่าการมณฑลบิธีเนีย (Bithynia ตอนเหนือของตุรกีปัจจุบัน) ที่เขียนไปถึงจักรพรรดิทราจัน (Trajan) เพื่อขอความคิดเห็น กรณีที่ชาวบิธีเนียส่งรายชื่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นชาวคริสต์เพื่อขอให้พลินีลงโทษ
โดยจักรพรรดิทราจันก็ตอบกลับว่า ไม่ต้องไปตามหาพวกเขา แต่ถ้าพวกเขามีความผิดจริงก็ต้องลงโทษ แต่ถ้าชาวคริสต์เหล่านี้ยอมละทิ้งความเชื่อของตนและกลับมาบูชาเทพเจ้าโรมัน จักรพรรดิก็พร้อมให้อภัย จดหมายนี้จึงเป็นหลักฐานที่บอกว่า มีการต่อต้านชาวคริสต์ในโรมันจริง แต่มีต้นตอจากคนในท้องถิ่น
2
เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับอีกหลายเหตุการณ์ อย่างเช่นกรณีมรณสักขีของนักบุญโพลีคาร์ปแห่งสเมอร์นา (Polycarp of Smyrna) และการกวาดล้างชาวคริสต์ที่ลียง (Lyon) และเวียน (Vienne) ในแคว้นกอล (ฝรั่งเศส) ที่เป็นการกระทำจากฝีมือคนท้องถิ่นในภูมิภาคนั้น ๆ
ถ้าถามว่ามีวิธีการใดที่ใช้ลงโทษชาวคริสต์บ้าง ในช่วงศตวรรษที่ 1 ถึงต้นศตวรรษที่ 2 การลงโทษที่ได้รับความนิยมก็คือการตัดหัว แต่ในเวลาต่อมา การตัดหัวถูกสงวนไว้สำหรับพลเมืองโรมันระดับสูงเท่านั้น ดังนั้นจึงมีวิธีการใหม่อย่างจับตรึงกางเขน เผาทั้งเป็น และให้สัตว์ร้ายฆ่า แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือให้สิงโตทำร้ายจนตาย
แต่สิ่งน่าสนใจคือ การลงโทษโดยการจับไปให้สิงโตฆ่า ไม่ได้ใช้กับชาวคริสต์เท่านั้น เพราะนักโทษที่ก่ออาชญกรรมในคดีอื่น ก็มีสิทธิ์ถูกลงโทษด้วยวิธีการนี้เช่นกัน นอกจากสิงโต ก็ยังมีสัตว์ชนิดอื่น อย่างเสือดาว หมูป่า กระทิง ที่พร้อมมอบความตายกับเหยื่อและสร้างความบันเทิงต่อผู้ชมในสนาม
การกวาดล้างชาวคริสต์ของโรมันมีทั้งใช้ความรุนแรง และวิธีการอย่างเนรเทศและบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการบังคับให้ชาวคริสต์ละทิ้งความเชื่อ อย่างเช่นในปี 250 จักรพรรดิเดซิอุส (Decius) ออกคำสั่งให้ชาวโรมันทุกคนทำพิธีบูชาเทพเจ้าโรมัน และออกใบรับรองให้กับคนที่ปฏิบัติตาม
คำสั่งนี้เกิดขึ้นจากความกลัวต่อการรุกรานของอนารยชนที่มีต่อโรมันตอนนั้น เพราะเดซิอุสเชื่อว่า การแสดงออกถึงความภักดีต่อเทพเจ้า จะช่วยให้จักรวรรดิรอดพ้นจากภัย แต่ปรากฎว่าปีถัดมา จักรพรรดิเดซิอุสก็สิ้นชีพในการรบต่อชาวกอธ (Goth)
แต่การบังคับนี้ก็ไม่ได้จบลง เพราะในปี 257 จักรพรรดิวาเลเรียน (Valerian) ได้ออกคำสั่งอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เจาะจงเฉพาะชาวคริสต์และคนที่มีความเชื่อแบบอื่น เพราะถือว่าใครไม่ทำตามถือว่าไม่ใช่ชาวโรมัน ซึ่งสุดท้ายวาเลเรียนก็ถูกเปอร์เซียจับตัวในสนามรบและหายตัวไป นักเขียนคริสเตียนยุคหลังจึงเชื่อว่า นี่คือบทลงโทษจากสวรรค์ที่มีต่อวาเลเรียน ก่อนที่จักรพรรดิแกลเลียนัส (Gallienus) โอรสของวาเลเรียนจะยกเลิกคำสั่ง และให้เสรีในการนับถือความเชื่อ
หลังจากนั้นเป็นเวลา 40 กว่าปี ที่โรมันไม่ได้มีการกวาดล้างชาวคริสต์อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งในปี 303 ที่ตรงกับยุคจตุราธิปไตย (Tetrarchy) หรือยุคที่จักรวรรดิโรมันแบ่งดินแดนและอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิ 4 คน จักรพรรดิดิโอคลีเชียน (Diocletian) และจักรพรรดิกาเลริอุส (Galerius) ที่ร่วมปกครองซีกตะวันออกของจักรวรรดิ ได้กวาดล้างชาวคริสต์ครั้งใหญ่ (The Great Persecution) นับเป็นยุคมืดที่ชาวคริสต์ต้องเผชิญ
แต่ก็ไม่ใช่จักรพรรดิทุกองค์ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ในปี 305 จักรพรรดิคอนสแตนติอุส คลอรุส (Constantius Chlorus) ที่ปกครองซีกตะวันตกของจักรวรรดิ บริเวณดินแดนกอล สเปน และอังกฤษ ปฏิเสธที่จะลงโทษใด ๆ กับชาวคริสต์ที่อยู่ใต้การปกครองของพระองค์
และในปี 313 จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 (Constantine I) หรือที่ต่อมาคือคอนสแตนตินมหาราช โอรสของจักรพรรดิคอนสแตนติอุส ได้ร่วมกับจักรพรรดิร่วมลิซินีอุส (Licinius) ส่งจดหมายไปถึงจักรพรรดิที่ปกครองซีกตะวันออก เพื่อยุติการกวาดล้างชาวคริสต์ ยอมรับในความเชื่อ และให้อิสระในการนับถือศาสนา
ภายหลังจดหมายฉบับนี้รู้จักในชื่อพระราชกฤษฎีกามิลาน (Edict of Milan) ที่มีส่วนสำคัญทำให้ศาสนาคริสต์ได้รับการยอมรับจนเป็นศาสนาประจำชาติของโรมันในที่สุด
อ้างอิง
• The Conversation. Mythbusting Ancient Rome – throwing Christians to the lions. https://theconversation.com/mythbusting-ancient-rome-throwing-christians-to-the-lions-67365
• The Collector. The Early Christian Martyrs: Persecutions in the Roman Empire. https://www.thecollector.com/early-christian-martyrs/
#HistofunDeluxe
โฆษณา