30 มิ.ย. เวลา 03:51 • ท่องเที่ยว
นครราชสีมา

สุดทางราชมรรคาที่ "นครราชสีมา"

🌺 อ่านรีวิวยาวๆ ได้ที่ pantip.com ได้เนื้อหา สาระ รูปภาพสวยๆ แบบเต็มๆ 🌺
เส้นทางราชมรรคาเป็นเส้นทางที่เชื่อมระหว่างศูนย์กลางของอาณาจักรขอม พระเจ้าชัยวรมันที่7 ทรงให้บูรณะเส้นทางเชื่อม “พระนคร” กับเมืองต่างๆที่อยู่ภายใต้อำนาจซึ่งเส้นทางเดิมสร้างขึ้นสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 เส้นทางทั้งหมดมี 5 เส้นทาง หนึ่งในเส้นทางนั้นสร้างเชื่อมมาถึง “เมืองพิมาย”
ปราสาทหินพิมาย เริ่มสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 แผนผังเป็นสี่เหลี่ยมมีกำแพงคูน้ำล้อมรอบและประตูเมืองทั้ง 4 ทิศเป็นแบบแผนการสร้างตามแบบขอม แต่ความแปลกคือปราสาทขอมที่ผ่านๆมาเป็นการสร้างตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ส่วนปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นตามความเชื่อในศาสนาพุทธนิกายมหายาน
ปราสาทหินพิมายเป็นปราสาที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี จอดรถเสร็จจ่ายค่าเข้าชมแล้วเดินเข้าด้านในได้เลย จากด้านหน้ามองไม่เห็นปราสาทประธานเลยไม่รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่
ก่อนเข้าสู่ปราสาทด้านใน ด้านซ้ายมือมีอาคารอยู่หลังหนึ่งคาดว่าสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 ไม่มีหลักฐานการใช้งานอย่างชัดเจนว่าเอาไว้ทำอะไร แต่จากการสันนิษฐานคาดว่าจะเป็น “พลับพลาเปลื้องเครื่อง” ซึ่งเป็นที่พักและเลี่ยนเครื่องแต่งกายของกษัตริย์ก่อนเข้าประกอบพิธีกรรมในศาสนสถาน
เดินต่อมาหน้าซุ้มประตูศาสนสถานเป็นสะพานนาคราชยกพื้นสูง ผังเป็นรูปกากบาทราวบันไดเป็นลำตัวนาคราช 7 เศียร แผ่ออกไปทั้งสี่ทิศสื่อถึงการเชื่อมโยงระหว่างโลกและสวรรค์ สะพานนาคราชนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 ศิลปะแบบนครวัด
ถัดจากสะพานนาคราชเป็นซุ้มประตูและระเบียงคด ก่อด้วยหินทรายยกสูงมีห้องตรงกลางและปีกยื่นออกซ้ายขวา เท่าที่ไปปราสาทอื่นๆ ไม่เห็นซุ้มประตูที่ใหนใหญ่โตเท่าที่นี่ เดินผ่านด้านในมีเสาต้นใหญ่ๆให้บรรยากาศที่ขลังมาก
ผ่านซุ้มประตูเข้ามาเจอพื้นที่โล่งๆ มีบ่อสี่บ่อซึ่งจริงๆแล้วตรงนี้เรียกว่า “ชาลาทางเดิน” ซึ่งเป็นทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรแบ่งทางเดินเป็น 3 ช่อง จากหลักฐานคาดว่าแต่เดิมชาลาทางเดินเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้แต่ตอนนี้ไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็นเลย
เดินเข้ามาเจอปราสาทประธานแต่ก่อนจะเข้าปราสาทประธานด้านซ้ายมือมีปรางค์หินแดงซึ่งก็พังไปเยอะ ใกล้กับปรางค์แดงเป็นหอพราหมณ์ ฝั่งตรงข้ามปรางค์แดงมีปรางค์อีกองค์หนึ่งเรียกว่า “ปรางค์พรหมทัต” ภายในประดิษฐานรูปจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ปราสาทประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทขอมอื่นๆที่มักจะหันไปทางทิศตะวันออก ยอดปราสาทหรือเรียกว่า “เรือนยอด” ลดหลั่นจากกว้างไปแคบที่ด้านบนสุดเรียกว่า “ชั้นเชิงบาตร” ยอดเป็นรูปดอกบัว เชื่อว่ายอดปราสาทนี้เป็นต้นแบบของการสร้างยอดปราสาทที่ปราสาทนครวัดในเวลาต่อมา
ไม่ไกลจากปราสาทหินพิมายนักเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายน่าจะมีโบราณวัตถุจากปราสาทขอมมากที่สุดแล้ว การจัดแสดงเป็นแบบเปิดโล่งอากาศไม่ค่อยร้อน ก็พอเดินได้สบายๆ ตรงกลางห้องเป็นรูปปั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากปราสาทหินพิมาย
จริงๆสำหรับเรา โบราณวัตถุควรจะอยู่ตรงโบราณสถานจะดีที่สุดแต่ถ้าเป็นแบบนั้นรับรองว่า “หายเกลี้ยง” แน่นอน เอาไว้ในพิพิธภัณฑ์จะดีที่สุดแล้ว...การเดินชมที่นี่สำหรับก็ดีอยู่นะ แต่อาจจะเพราะเราไปปราสาทต่างๆมาหลายที่ และโบราณวัตถุหลายชิ้นไม่อยู่ในสถานที่จริง พอได้มาเห็นที่นี่เลยทำให้ภาพโบราณสถานสมบูรณ์ขึ้น
ไปต่อที่ปราสาทพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปราสาทนี้ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ
สันนิษฐานว่าปราสาทพนมวันสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 15 เดิมเป็นการสร้างขึ้นเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูเหมือนกับปราสาทขอมอื่นๆ แต่ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ ส่วนการก่อสร้างเดิมสร้างด้วยอิฐต่อมาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 สร้างสิ่งก่อสร้างด้วยหินทับลงไป ลักษณะโดยรวมคล้ายๆปราสาทหินพิมายแต่ขนาดเล็กกว่า
สิ่งที่เหมือนกับปราสาทหินพิมายคือปราสาทประธาน ด้านหน้าของปราสาทประธานเป็นมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วเชื่อมปรางค์ประธานกับมณฑปด้วยมุขกระสัน หรือ อันตราละ เป็นทางเดินที่มีหลังคาคลุม หรือ ฉนวนทางเดินสู่ปราสาท
เข้ามาด้านในปราสาทประธานมีพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยาจำนวน 4 องค์ปางประธานอภัยและปางแสดงธรรม ให้บรรยากาศที่ขลังมาก เราหาข้อมูลไม่ได้ว่าใครสร้างปราสาทพนมวัน หลักศิลาจารึกที่บันทึกไว้ก็ไม่ได้บอกผู้สร้างศาสนสถานแห่งนี้ไว้อย่างชัดเจน รู้แต่เพียงว่ารอบปราสาทในสมัยก่อนน่าจะเป็นเมืองชื่อ “รัตนปุระ” มีความเจริญเป็นอย่างมาก ปราสาทนี้อาจจะเป็นศาสนสถานสำหรับเจ้านายผู้ปกครองเมืองก็ได้
ปราสาทต่อมาชื่อปราสาทเมืองแขก อยู่ใกล้ตัวอำเภอสูงเนิน สภาพของปราสาทปัจจุบันเมื่อเทียบกับปราสาทหินพิมายและพนมวันแล้วที่นี่ทรุดโทรมกว่าเยอะ แทบไม่เห็นภาพความสมบูรณ์ของสถานที่เลย
หากดูจากพื้นที่แล้วปราสาทเมืองแขกมีขนาดใหญ่ใช่เล่นเลยครับ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์คาดว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เพื่อเป็นศาสนสถานตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ศิลปะการสร้างเป็นแบบเกาะแกร์ และ แปรรูป ก่อสร้างด้วยอิฐและหินทราย
ตัวปราสาทประธานมีลักษณะแผนผังคล้ายๆกับปราสาทหินพิมายคือมีมณฑปเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนหน้าด้านหน้า ส่วนสภาพปัจจุบันเหลือแค่ฐานและผนังอาคารบางส่วนเท่านั้น ไม่รู้ว่าเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่การบูรณะทำได้เท่านี้ ชิ้นส่วนหลักๆหลายส่วนน่าจะเสียหายหรือสูญหายไปตามกาลเวลา น่าเสียดาย
ห่างจากปราสาทเมืองแขกประมาณ 500 เมตรมีปราสาทหลังเดี่ยวๆอยู่หลังหนึ่งชื่อ “ปราสาทโนนกู่” ซึ่งอยู่ในอำเภอสูงเนิน เป็นปราสาทหลังเดี่ยวๆสภาพภายนอกพอๆกับปราสาทเมืองแขกที่เพิ่งไปมา
จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่าปราสาทโนนกู่เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู คาดว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 รุ่นเดียวกับปราสาทเมืองแขกนั่นแหละ เป็นปราสาทหลังเดียวตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้ามีวิหารหันหน้าเข้าปราสาทประธาน ปราสาทโนนกู่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนขนาดใหญ่ชื่อ “เมืองโคราฆปุระ” คล้ายๆกับ “เมืองเสนา” ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก
ปราสาทสุดท้ายของทริปนี้ครับ ปราสาทเมืองเก่า ปราสาทนี้อยู่ในพื้นที่วัดครับชื่อวัดปรางค์เมืองเก่า มีปราสาทประธานหลังใหญ่อยู่ 1 หลังแล้วก็มีบรรณาลัยที่เล็กกว่าอีกหลัง
ปราสาทเมืองเก่าทำหน้าที่เป็น “อโรคยาศาล” หรือโรงพยาบาลซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน 102 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงให้สร้างขึ้นตามเส้นทางราชมรรคาเมื่อครั้งบูรณะเส้นทาง ปราสาทประธานยอดพังทลายเหลืออยู่ครึ่งองค์สร้างด้วยศิลาแลงมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ
จบแล้วกับทริปทัวร์ปราสาทขอมตามเส้นทางราชมรรคา ช่างเป็นทริปที่ยาวนานแต่ถือว่าคุ้มค่ามาก ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ขอมในประเทศไทยจากไม่รู้เรื่องเลยเป็นรู้เรื่องขึ้นมาบ้าง จบทริปนี้แล้วอยากจะไปเห็น “พระนคร” กับตาสักครั้งแล้วซิ
⭐️ ถ้าชอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ดูรีวิวเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา