30 มิ.ย. เวลา 05:22 • ความคิดเห็น

ภาพรวมของ Gen Z ทั่วโลก

ผมชอบฟังเวลาน้องแนตตี้ กัญญาณัฐ เล่าถึงความคิดและข้อมูลของคนเจนใหม่ๆ มาก เพราะนอกจากแนตตี้จะเข้าอกเข้าใจและกล้าพูดตรงๆกับคนรุ่นดึกดำบรรพ์แบบผมแล้ว ข้อมูลของแนตตี้ก็แน่นปึ้ก ด้วยเพราะแนตตี้เป็นอดีตคน google และ facebook และปัจจุบันทำงานบริษัทระดับโลกแห่งหนึ่งที่มีลูกค้าหลาย generation โดยเฉพาะ gen Z
3
ล่าสุดแนตตี้มาแชร์ข้อมูลจากงานวิจัยทั่วโลกในเรื่องของเพศและแนวโน้มของ Gen Z ได้อย่างน่าคิด โดยเฉพาะเราที่เป็นผู้ใหญ่และกำลังจะส่งมอบโลกใบนี้ให้เขาต่อไป..
2
อายุช่วงไหนถึงเรียกว่าเป็น Gen Z กันแน่ ถ้าเอาแบบแบ่งกันตามมาตรฐานก็คือน้องๆที่เกิดระหว่างปี 1996 ถึงปี 2008 ซึ่งลูกสาวผมทั้งสองคนก็เกิดในวัยนี้ หลายคนกำลังเริ่มทำงานบ้าง กำลังจะเรียนจบบ้าง เป็นยุคที่เกิดมาพร้อมมือถือและโซเชียลมีเดีย เกิดมาพร้อมความหลากหลายทางเพศ และดูโตเร็ว รู้อะไรเยอะ ดูจะมีความกบฏ ความอยากเปลี่ยนแปลงอะไรอยู่เยอะ ในสายตาผู้ใหญ่
โปรเฟสเซอร์ สก๊อตต์ กัลโลเวย์ (Scott Galloway) อาจารย์การตลาดและนักลงทุนผู้โด่งดังเล่าถึงสถานะของ GenZ ในสหรัฐใน ted talk ซึ่งหลายเรื่องน่าจะเทียบเคียงกับไทยได้อยู่เหมือนกัน ผมลองดึงบางประเด็นมาสรุปดู
3
โปรเฟสเซอร์สก๊อตต์บอกว่า เราทุกคนรักและเป็นห่วงลูกหลานกันแน่ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าลูกหลานเราหรือ Gen Z นั้นพอเริ่มทำงานแล้วทำเงินได้น้อยกว่ายุคเรามากถ้าเอาเงินเฟ้อมาปรับ (อันนี้เป็นความจริงแต่เจ็บปวดในไทยเช่นกันเพราะสมัยผมเริ่มงานจบปริญญาโทได้เงินเดือนหมื่นแปด ตอนนี้น้องๆก็ยังได้กันไม่ได้ห่างจากนี้มากนักหลังจาก 30 ปีผ่านไป) ต้นทุนการมีบ้านหรือจะเรียนต่อนั้นสูงขึ้น กำลังซื้อต่ำลงมาก
2
โปรเฟสเซอร์สก๊อตต์บอกว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐที่คนอายุ 30 จะมีคุณภาพชีวิตแย่กว่าคนอายุ 30 ในรุ่นก่อนหน้า ซึ่งด้วยเหตุนี้คนรุ่นใหม่ถึงมีแต่ความเกรี้ยวกราดและกดดัน ซึ่งทำให้เวลาทำแบบสอบถาม คนอายุ 55 ถึงรู้สึกดีกับประเทศแต่คนรุ่นใหม่จะรู้สึกแย่ โมโหที่ไม่ได้มีชีวิตที่พ่อแม่เคยมี
8
ตัวเลขหนึ่งที่บอกได้ชัดก็คือค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐจงใจกดให้ต่ำเพื่อให้ต้นทุนถูกแต่ดัชนีราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นมาก ราคาเฉลี่ยบ้านพุ่งจากเกือบสามแสนเหรียญเป็นสี่แสนกว่าเหรียญในเวลาไม่กี่ปี ความมั่งคั่งตกอยู่กับคนรุ่นเก่าและนโยบายรัฐก็ยิ่งสนับสนุนให้คนรุ่นเก่ามั่งคั่งมากขึ้นไปอีก นักการเมืองตำแหน่งสำคัญๆของสหรัฐเป็นรุ่นปู่ย่ากันหมดแล้วจะเข้าใจความคิดหรือปัญหาของเด็กอายุสิบเจ็ดที่ถูกโซเชียลปั่นหัวได้อย่างไร หรือจะเข้าใจแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุ 27 ปีได้อย่างไร
5
แม้กระทั่งตอนที่โควิดมา รัฐก็ปั๊มเงินเข้าระบบจำนวนมหาศาลเพื่อที่จะพยุงดัชนีหุ้นและความมั่งคั่งของคนรุ่นเก่า ซึ่งยิ่งทำให้หลังโควิดคนรุ่นเก่ายิ่งมั่งคั่งมากขึ้นไปอีก (ในสหรัฐ) แต่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ประโยชน์จากราคาหุ้นกลับจนด้วยหนี้ท่วมหัว ซึ่งพอสถานการณ์เป็นแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันของคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญก็คืออัตราการทำร้ายตัวเองสูงขึ้นและสูงขึ้นมากหลังยุคโซเชียล วัยรุ่นเป็นซึมเศร้ามากขึ้นมาก คนไม่อยากมีเซ็กส์ ไม่อยากมีลูก ตอนนี้ที่สหรัฐ คนรุ่นใหม่แค่ 27% อยากมีลูกเท่านั้น
2
คนรุ่นใหม่ถูกปั่นด้วยโฆษณาจากอุตสาหกรรมอาหาร โรคอ้วน โรคเบาหวานสูงขึ้น และ death of despair การตายที่เกิดจากความสิ้นหวังสูงขึ้นโดยดูจาก overdose death หรือการเสพยาเกินขนาด เป็นเหตุว่าทำไมงานวิจัยถึงออกมาว่าคนอายุเยอะ อายุหกสิบดูจะมีความสุขกับชีวิต แต่คนรุ่นอายุ 30 นั้นไม่เลย…
4
น้องแนตตี้ มาเล่าเทรนด์ Gen Z ที่สำคัญมากๆอีกเรื่อง เป็นข้อมูล Gen Z จากทั่วโลกนอกจากเรื่อง gender fluid ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนรุ่นใหม่แล้ว ก็มาคอนเฟิร์มโปรเฟสเซอร์สก๊อตต์ด้วยว่าคนรุ่นนี้ไม่อยากมีเซ็กส์และไม่อยากมีลูก จนเรียกว่า sex recession ได้เลยด้วยซ้ำ คน Gen Z เกิดมาแบบพ่อแม่ตั้งใจให้เกิด (born with intention ) ถูกเลี้ยงดูมาแบบมีความคาดหวัง (raised with expectation) แต่ตอนนี้อยู่ด้วยความซึมเศร้า (living with depression)
4
ข้อมูลชุดนึงที่ฟังแล้วไม่น่าเชื่อแต่พอคิดตามก็ดูเหมือนจะเป็นจริงตามนั้นก็คือ เด็กอายุสิบแปดในยุคนี้ยังไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นเลยเมื่อเทียบกับยุคพ่อแม่หรือก่อนหน้า ข้อมูลสำรวจชี้ชัดว่าเด็ก Gen Z ยังขับรถไม่เป็นซะเยอะ ยังไม่เคยลองแอล ยังไม่เคยทำงานแบบมีรายได้ มีเซกส์น้อย และมีเดทน้อย เมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้า แนตตี้ถามผู้ใหญ่ที่ฟังอยู่ด้วยกันว่าตอนสิบหกสิบเจ็ดนี่ซ่าแค่ไหน ทุกคนก็ดูจะเคยลองแอล บางคนก็เที่ยวแล้ว ขับรถ โหนรถเมล์กัน ผจญภัยกันสนุกสนานตั้งแต่ยังไม่สิบแปดกันแทบทุกคน
5
แนตตี้บอกว่าสิบแปดยุคนี้ใช้ชีวิตเหมือนสิบสี่ในยุคก่อน มีบทสัมภาษณ์ gen Z ที่สิงคโปร์คนหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวแทน Gen Z ได้ดีก็คือ น้องเขาพยายามที่จะไม่ตกหลุมรักใครที่โรงเรียนเพราะไม่อยากมารบกวนจิตใจที่ต้องเตรียมสอบและเตรียมที่จะมีอาชีพที่ดี เป็นต้น
1
Gen Z ในบทวิจัยนี้เลยเป็นเจนที่ถูกเลื่อนการเป็นผู้ใหญ่ออกไปพอสมควร (delayed adulthood) ซึ่งยังผลให้มีความรู้สึกถูกทอดทิ้งและโดดเดี่ยว ยิ่งบวกด้วยโลกโซเชียลที่ทำให้เร่งความเปลี่ยวเหงาและอยู่กับมือถือไปอีก ยิ่งทำให้ความรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ถูก ไม่สนุกกับชีวิต และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีประโยชน์นั้นสูงขึ้นกว่าเจนก่อนๆ เมื่อมาอ่านคู่กับสิ่งที่โปรเฟสเซอร์สก๊อตต์เล่าเรื่องสภาพการเงินและกำลังซื้อ ความมั่งคั่งที่คนรุ่นก่อนถือครองไปหมด ก็ยิ่งเห็นภาพว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงดูจะโมโหกับสังคมไปหมด
4
เป็นภาพของ Gen Z ทั้งโลกนะครับ ไม่ใช่เมืองไทย แต่ถ้าจะพอมีประโยชน์อะไรได้ก็น่าจะทำให้เราผู้ใหญ่เห็นอกเห็นใจและมีเมตตากับ Gen Z มากขึ้นในแว่นสายตาที่ไม่ใช้ความสุขสบายและความมั่งคั่งของยุคตัวเองตัดสินใจเขานะครับ…..
3
โฆษณา