Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนุ่มยอง ท่องโลก
•
ติดตาม
1 ก.ค. 2024 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
เกาหลีใต้
ชีวิตเยาวชนเกาหลีใต้ ภายใต้เงาอำนาจนายจ้าง ไร้สวัสดิการ ไร้หลักประกัน ติดวังวนงานชั่วคราว
จากข้อมูลการสำรวจประชากรวัยแรงงานรายเดือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ พบว่าในเดือนที่ผ่านมา จำนวนคนหนุ่มสาวที่ทำงานน้อยกว่า 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น และได้ทำสถิติสูงสุดถึง 450,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 17% จาก 382,300 คนในปีก่อนหน้า และเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในเดือนมกราคม ปี 2000
สถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปของเกาหลีใต้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก จึงพยายามลดต้นทุนด้วยการจ้างพนักงานแบบชั่วคราวหรือพาร์ทไทม์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน เช่น ค่าทำงานวันหยุด วันลาที่ได้รับค่าจ้าง และเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ตกอยู่กับคนหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังเช่นกรณีของ “ลี” นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 21 ปี ที่ทำงานพาร์ทไทม์ในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงโซล เพื่อหารายได้จ่ายค่าเล่าเรียน โดยทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ 19.00 น. ถึง 22.00 น. ซึ่งรวมเวลาทำงานเพียง 3 ชั่วโมงต่อกะ และไม่รวมว่าต้องเสียเวลาเดินทางอีก 2 ชั่วโมง
เมื่อลีขอเพิ่มชั่วโมงทำงาน เจ้าของร้านกลับบอกว่าไม่สามารถจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานวันหยุดตามกฎหมายได้ ลีอธิบายว่า “มีงานพาร์ทไทม์ให้เลือกน้อยมาก และฉันถูกปฏิเสธหลายที่หลังการสัมภาษณ์เพราะไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน ร้านกาแฟที่ฉันทำอยู่ตอนนี้รับฉันทำงานทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ แม้ชั่วโมงทำงานจะไม่เพียงพอ แต่ฉันไม่มีทางเลือกอื่น”
การจ้างงานลักษณะนี้ไม่เพียงทำให้คนหนุ่มสาวขาดรายได้และหลักประกันในระยะยาว แต่ยังอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพและความก้าวหน้าในอาชีพอีกด้วย ศาสตราจารย์ ฮา จุน-กยอง จากมหาวิทยาลัยฮันยาง ได้ให้ความเห็นว่า “หากคนหนุ่มสาวต้องเปลี่ยนงานระยะสั้นไปเรื่อยๆ ในช่วงเวลาที่ควรพัฒนาทักษะและยกระดับความสามารถของบุคคล พวกเขามีแนวโน้มที่จะยังคงต้องทำงานที่ใช้ทักษะต่ำ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อรายได้ตลอดชีพ”
1
แนวโน้มและปัญหาการจ้างงานข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเกาหลีใต้เพียงเท่านั้น ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกัน ในขณะที่งานที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากขาดแคลนผู้สนใจ จนต้องเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน เช่น งานบริการหน้าร้านต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็เริ่มจะไม่เห็นคนไทยแล้ว
ทั้งนี้ นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ทั้งภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันหาทางออกในระยะยาว ทั้งการส่งเสริมให้มีการสร้างงานคุณภาพทุกระดับ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาใช้อย่างเหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยเพิ่มกำลังผลิต ยกระดับคุณค่าของงาน และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน
อ้างอิง
The Dong-A Ilbo. (2024, June 28). Rising trend of part-time youth employment. The Dong-A Ilbo.
https://www.donga.com/en/article/all/20240628/5029300/1
ข่าวรอบโลก
เศรษฐกิจ
แนวคิด
3 บันทึก
7
1
3
7
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย