30 มิ.ย. เวลา 23:03 • สุขภาพ

งีบกลางวันบ่อย เสี่ยงอัลไซเมอร์จริงหรือ?

ผมเป็นคนหนึ่งที่ถ้าพอมีเวลาว่างช่วงบ่าย จะพยายามหาเวลางีบสักแปบนึง รู้สึกว่ามันได้ชาร์จแบตระหว่างวัน แล้วทำให้หลับได้ดีขึ้นในตอนกลางคืน อาจฟังดูแปลกๆหน่อย แต่เหมือนกับมันไม่ได้ปล่อยให้ร่างกายสะสมความเหนื่อยไปจนถึงช่วงกลางคืน
แต่ก็มีหลายการศึกษาเหมือนกัน ที่สะท้อนให้เห็นว่า การงีบช่วงกลางวันไม่ได้มีแต่ข้อดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงีบที่นานและบ่อยจนเกินไป อาจทำให้มีผลกระทบกับร่างกายบางอย่างเกิดขึ้นตามมา
ล่าสุดมีการศึกษาจาก Alzheimer’s Disease Center and University of California, San Francisco. โดยทำการศึกษาการนอนหลับและภาวะสมองของอาสาสมัคร 1,401 คน นาน 14 ปี จากการศึกษาพบว่า อาสาสมัครที่มีภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ จะมีอัตราการงีบหลับเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยร่วม 2 เท่า โดยในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักงีบเฉลี่ยวันละ 11 - 24 นาที ผู้เป็นอัลไซเมอร์จะงีบนานขึ้นเฉลี่ยวันละ 68 นาที
ทั้งนี้ในการศึกษาไม่ได้มีการแยกปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความรุนแรงของตัวโรค อาหารการกิน รวมถึงผลข้างเคียงจากยา เนื่องจากยาที่เกี่ยวข้องกับการปรับสารสื่อประสาทในสมองก็ทำให้เกิดอาการง่วงซึมและทำให้คนไข้อยากนอนหลับระหว่างวันได้เช่นกัน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงโรคสมองเสื่อม ว่ามีความสัมพันธ์กับการนอนนานในช่วงกลางวัน
พบว่าเมื่อถึงระดับสมองเสื่อมแล้ว ร่างกายจะงีบหลับกลางวันนานถึง 69 นาทีต่อวัน หากงีบหลับมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงพัฒนาเป็น โรคสมองเสื่อม มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ชายสูงอายุที่งีบหลับกลางวัน 2 ชั่วโมง จะมีสติปัญญาเสื่อมถอยมากกว่าคนที่งีบน้อยกว่า 30 นาทีต่อวัน
แม้ว่าการหลับพักผ่อนเป็นสิ่งที่ดี แต่อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ทำให้เกิดผลดีเหมือนกัน การงีบช่วงกลางวันที่ดีที่สุดไม่ควรเกิน 10-15 นาที จะทำให้ร่างกายสดชื่น หากมากกว่านี้จะทำให้มีอาการเวียนศีรษะ งุนงง และไม่สดชื่น
อ้างอิง
โฆษณา