1 ก.ค. 2024 เวลา 08:16 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเอกชัย

โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากอะไร ?

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นภาวะหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ที่พบมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด เกิดจากการที่สมองมีการสร้างโปรตีน เบตา-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) และ เทาโปรตีน (Tau) ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง สูญเสียการทำงาน ความทรงจำเสียหาย และทำลายสมองส่วนอื่นๆ จนเกิดความผิดปกติทางความคิด ภาษา พฤติกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน
📝 ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ มีอะไรบ้าง ? 📝
💬 อายุที่เพิ่มมากขึ้น มักพบในช่วงวัยอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
💬 เพศหญิง มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย
💬 สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
💬 ผู้ที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมจำนวนมาก จะพบภาวะโรคอัลไซเมอร์ร่วมด้วย
💬 ภาวะหูตึง เพราะประสาทหูที่เสื่อม สามารถทำให้สมองถูกกระตุ้นลดลง
💬 การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง เช่น เกิดอุบัติเหตุทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน สลบหรือไม่รู้ตัว
💬 มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และไม่ได้รับการรักษาควบคุมให้ดี
💬 ภาวะอ้วนในวัยกลางคนซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงเมื่อมีอายุมากขึ้น
💬 ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย
💬 การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
💬 การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ชอบเก็บตัวตามลำพัง
💬 ผู้ที่ชอบอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ขาดการออกกำลังกาย
💬 สัมผัสมลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5 ในปริมาณสูง
💬 การไม่ได้ทำงาน หรือไม่ได้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมอง
🌟 โรคอัลไซเมอร์ อาการเป็นอย่างไร ? 🌟
อาการของโรคอัลไซเมอร์ สามารถแบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้
1️⃣ ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการขี้ลืม ความจำถดถอย ลืมเรื่องที่พึ่งพูดไปหรือเรื่องราวที่พึ่งเกิดขึ้น มีการถามคำถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ มีอาการลังเล สับสนทิศทาง เริ่มมีความวิตกกังวลมากขึ้น แต่ยังสามารถสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้
2️⃣ หากละเลยอาการแสดงในระยะแรกไป ผู้ป่วยจะมีอาการอัลไซเมอร์ชัดเจนมากขึ้น มีปัญหาความจำแย่ลง ไม่สามารถจำชื่อคนรู้จัก ไม่สามารถลำดับเครือญาติได้ ลืมวัน-เวลา ที่พบได้บ่อยคือ หลงทาง ไม่สามารถจำทางกลับบ้านได้ พฤติกรรมเปลี่ยนไปมากขึ้น
สำหรับความรุนแรงของระยะนี้คือ ทำให้ผู้ป่วยอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย อาจเกิดภาวะซึมเศร้า เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลับกลายเป็นคนขี้หงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรไม่ถูกต้อง เป็นต้น
3️⃣ ผู้ป่วยจะอาการแย่ลง อาจเกิดภาพหลอน การตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ซึ่งมักจะนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด
🚑 วิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ทำอย่างไร ? 🚑
สำหรับโรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ยาบางตัวสามารถลดอาการของผู้ป่วยได้ การรักษาแบ่งออกเป็น ดังนี้
💉 รักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าเกิดจากเนื้องอกในสมอง อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น
💊 รักษาเรื่องความจำเสื่อม โดยการใช้ยา ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ในผู้ป่วยระยะแรก แต่ยาไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายขาด เพียงแต่สามารถชะลอการดำเนินโรคให้ไม่เปลี่ยนแปลงเร็ว
🏥 รักษาปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมจากโรค เช่น ก้าวร้าว โวยวาย เป็นต้น โดยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลผู้ป่วย หรือบางรายอาจต้องใช้ยาเพื่อลดอาการ
👍 ให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้ป่วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ :
ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเอกชัย 🏥 ☎️โทร.034-417999 หรือ 1715 ต่อ 110, 111
โฆษณา