1 ก.ค. เวลา 12:00

จิบชายามบ่าย คุยเรื่องกลยุทธ์ UK ทำยังไงถึงขึ้นแท่นผู้นำในด้าน Soft Power

พอพูดถึง “Soft Power” หลายคนมักจะคิดถึงประเทศญี่ปุ่นไม่ก็เกาหลีขึ้นมาก่อน แต่หากดูจากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2024 จะพบว่าประเทศที่โดดเด่น จนขึ้นแท่นเบอร์ 2 ในการเป็นแหล่งผลิต Cultural Superpower ของโลกก็คือ “สหราชอาณาจักร”
👉 ตัวอย่าง Soft Power ของประเทศที่ถูกนิยามว่าเป็นเมืองผู้ดีนั้นมีสารพัดอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลพรีเมียร์ลีก วรรณกรรม สำนักข่าว และเรื่องราวของราชวงศ์ ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมด จริงๆ แล้วมีภาครัฐที่คอยเป็นผู้ผลักดันอยู่
⚽ อย่างเช่นการผลักดันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก สหราชอาณาจักรได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ตั้งกองทุนให้สโมสรมีงบประมาณสำหรับปรับปรุงสนามให้ได้มาตรฐาน รองรับผู้ชมจากนานาประเทศ ทั้งยังมีการออกกฎที่เอื้อให้มีการเซ็นสัญญากับนักแข่งต่างชาติ ซึ่งกลายเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ชมที่เฝ้ารอศึกการแข่งขันที่เข้มข้นและน่าติดตาม
📚 หรือแม้แต่ Soft Power ด้านวรรณกรรม ที่ไม่ว่าจะเป็นเชคสเปียร์หรือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มีฐานแฟนคลับกระจายอยู่ทั่วโลก ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมด้วยการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม แม้จะเป็นแค่การยืมคืนหนังสือในห้องสมุดก็ตาม
หรือสื่อทรงพลังอย่าง BBC ภาครัฐเองก็มีส่วนสนับสนุนงบประมาณเพื่อการสร้างสรรค์ แต่ยังให้อิสระในการนำเสนอประเด็นต่างๆ โดยไม่มีกรอบบังคับ และอีกตัวอย่างที่ไม่หยิบยกมาก็คงจะไม่ได้คือ เรื่องราวของราชวงศ์ ก็ถูกนำเสนอโดยผสานความเป็น Pop Culture สร้างภาพจำผ่านซีรีส์และสื่อ จนกลายเป็น Icon ที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับภาคการท่องเที่ยวและบันเทิง
💂‍♀️ แม้จะมีต้นทุนและการส่งเสริมที่ดี แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้ Soft Power ของสหราชอาณาจักรครองใจคนทั้งโลก ทะยานสู่การเป็นผู้นำอันดับต้นๆ ในผลการจัดอันดับ เพื่อให้เข้าใจที่มาของผลลัพธ์ จึงต้องมาทำความเข้าใจตัวชี้วัดในการประเมินกันก่อนว่ามีอะไรบ้าง !
📊 การจัดอันดับ Global Soft Power Index ที่จัดทำโดย Brand Finance นั้น จะพิจารณาตัวชี้วัดทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน คือ ความคุ้นเคย (Familiarity) ชื่อเสียง (Reputation) และอิทธิพลที่มีต่อประเทศอื่น (Influence) ร่วมกับคะแนนปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 8 ด้าน คือธุรกิจและการค้า การปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรมและมรดก สื่อและการสื่อสารการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ประชาชนและค่านิยม และสุดท้ายคืออนาคตแห่งความยั่งยืน
🎓 ในการส่งเสริม Soft Power ที่มีอยู่ให้ทั่วโลกยอมรับ สหราชอาณาจักร จึงมีกลยุทธ์ในการผลักดันผ่านภาพลักษณ์ที่ดี และการสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อประเทศอื่นๆ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการมีหน่วยงานที่ชื่อว่า British Council ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ผ่านการสอนและมอบทุนการศึกษา กลายเป็นช่องทางที่ช่วยให้คนเข้าถึงความรู้และซึมซับวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวาง
💉 นอกจากนั้นในสถานการณ์วิกฤตสำคัญ สหราชอาณาจักรยังเป็นประเทศที่พร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลือ อย่างเช่น ช่วงวิกฤตโรคระบาด สหราชอาณาจักรก็ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งโครงการ COVAX พร้อมกับระดมทุนให้กับประเทศที่ขาดแคลน
และอย่างประเด็นด้านสภาพแวดล้อม ก็ได้เป็นหนึ่งประเทศที่คอยเป็นปากเป็นเสียงให้ทุกคนร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งไทยเองก็ได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการ UK Pack จำนวน 6 ล้านปอนด์ หรือราว 275 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนภาคการคมนาคมที่ยั่งยืน การเงินสีเขียว และการกำหนดราคาคาร์บอนในประเทศไทย
🤝 เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดแล้วจะเห็นว่า ในการส่งเสริม Soft Power ของประเทศผู้ดีอย่างสหราชอาณาจักร ที่แม้จะมีวัฒนธรรม และการสื่อสารที่ทรงพลังอยู่แล้ว ก็ยังเสริมขุมพลังให้แข็งแกร่งด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผ่านการมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับต่อประชาคมโลกควบคู่กัน
📈 และในอนาคต “สหราชอาณาจักร” ก็จะมีเป้าหมายในการยกระดับส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
ตามรายงานที่ชื่อว่า “Creative industries sector vision: a joint plan to drive growth, build talent and develop skills” ได้บอกถึงเป้าหมาย 3 ด้านในการพัฒนา คือการสร้างพนักงานที่มีทักษะสูง การขยายศักยภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการเพิ่มผลกระทบเชิงบวกของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และจุดยืนบนเวทีโลก จึงเป็นที่น่าจับตาต่อไปว่าในการจัดอันดับครั้งต่อไป สหราชอาณาจักร จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้หรือไม่
โฆษณา