2 ก.ค. เวลา 01:00 • ธุรกิจ

อยากเห็นทีมเติบโต ต้องให้พวกเขาได้ลงสังเวียน

5 เทคนิคช่วยให้ลูกทีมค้นหาตัวเองเจอ
“พี่ครับผมอยากเก่งขึ้นต้องทำไง”
“หัวหน้าคะ ถ้าฉันอยากเป็นเมเนเจอร์ต้องเรียนรู้สกิลไหน”
สารพัดคำถามที่เข้ามาหาเรา ในวันที่ลูกทีมพร้อมจะก้าวเพื่อเติบโต ซึ่งแน่นอนว่าในโลกการทำงานนั้น สิ่งต่าง ๆ มักรอไม่ได้ อีกไม่กี่ปี Gen Z จะกลายเป็นลีดเดอร์ที่ต้องนำคนรุ่นใหม่ และ Gen Y เองก็จะขยับไปเป็นผู้บริหารที่ขับเคลื่อนองค์กร
แต่แน่นอนว่าก่อนที่จูเนียร์เหล่านี้จะเติบโตขึ้นได้ พวกเขาล้วนต้องการวิธีไกด์ทางที่ดีเพื่อค้นหาตัวเองให้เจอ เพราะแม้ว่าพนักงานรุ่นใหม่จะเต็มไปด้วยความสดใหม่ และมีของที่อยากโชว์มากแค่ไหน แต่พวกเขาหลายคนก็ยังไม่สามารถค้นพบวิธีหาตัวเองให้เจอ และ 5 เทคนิคนี้จะช่วยให้เราสามารถโค้ชพนักงานจูเนียร์ เพื่อให้ปั้นพวกเขาจนสามารถค้นหาตัวเองให้เจอได้
💥 1. ให้จูเนียร์ได้เผชิญงานยากตั้งแต่วันแรก
เพราะหัวหน้าที่ยอดเยี่ยมจะให้อำนาจคนรุ่นใหม่ค้นหาตัวเอง จากการทำงานยาก อย่างน้อย 1 โปรเจกต์โดยมีเรื่องเล่าว่าผู้ก่อตั้ง Silicon Valley ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง สามารถทำให้ทุกคนในบริษัทของเขากลายเป็น ‘CEO’ ในบางโปรเจกต์ได้ และนั่นอาจเป็นวิธีพัฒนาที่ดี
หากลูกทีมไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ให้ไกด์ทางพวกเขาให้คิดออก เพราะการให้ลูกทีมเผชิญงานยาก จะทำให้พวกเขารู้ว่าตนเหมาะกับงานนี้ไหม ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง เพื่อจะค้นหาตัวเองให้เจอ ซึ่งถ้าเราไม่ทำสิ่งนี้ คนที่หงุดหงิดอาจเป็นหัวหน้าอย่างเราแทน เพราะพูดตามตรงเราคงทนไม่ไหวที่เห็นลูกทีมทำงานไม่ได้ในระยะยาว ซึ่งหากปล่อยให้พวกเขาแก้ปัญหาด้วยตนเองอาจเกิดความผิดพลาดได้
ฉะนั้นแล้ว ให้ลองโยนโปรเจกต์ใหญ่ให้ลูกทีมตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงาน เพื่อให้เขาประเมินดูว่าจะทำมันได้ไหม และควรมีโปรเจกต์สำรองไว้ หากลูกทีมทำสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะการโยนงานยากให้ลูกทีมตั้งแต่วันแรก ไม่ได้ทำให้พวกเขาเก่งขึ้นทันที แต่มันจะเป็นวิธีค้นหาตัวเองที่ดี เพื่อเร่งกระบวนการเรียนรู้ของพวกเขา
3
🌟 2. ภารกิจฟ้าคว้าทักษะลับ
เจนนี่ ฟอน พอดเดอวิลส์ (Jenny von Podewils) ผู้บริหารร่วมของบริษัท Leapsome เคยกล่าวไว้ว่า บริษัทจำเป็นต้องสร้างกระบวนการพัฒนาพนักงานรุ่นใหม่ เพราะแผนพัฒนาพนักงาน จะช่วยให้บุคลากรของเราสามารถทำงานได้ดีที่สุดในตำแหน่งปัจจุบัน รวมไปถึงสามารถเตรียมตัวสำหรับโอกาสใหม่ ๆ ภายในองค์กรได้ ซึ่งเราสามารถทำได้โดยใช้บริการวัดระดับจุดแข็ง หรือให้ลูกทีมได้ทำแบบทดสอบความถนัดทางอาชีพอีกครั้ง เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ลูกทีมสามารถค้นหาตัวเองเจอได้เร็วขึ้น
การระบุจุดแข็ง จะช่วยให้ลูกทีมค้นหาตัวเองเจอ และรู้ว่าตนจะทำอย่างไรเพื่อให้กลายเป็นทาเลนต์ที่มีคุณค่าต่อองค์กร ดังนั้นแล้วขั้นตอนแรกของลีดเดอร์อย่างเรา จึงเป็นการสร้างแผนการพัฒนาที่ชัดเจนแบบรายบุคคล ควบคู่ไปกับโปรแกรมการเรียนรู้ที่จะการพัฒนาทั้งองค์กร
🔥 3. รู้ตัวเอง ตั้งชื่ออารมณ์เมื่อไม่สบายใจ
เวลาไม่สบายใจหรืออึดอัดใจ ให้เราตั้งชื่ออารมณ์นั้นเพื่อรู้ว่าตัวเองจะมีอาการแบบนี้ตอนไหน ซึ่งนักจิตวิทยา ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้กล่าวไว้ว่าการรู้ว่าตัวเองไม่สบายใจ จะช่วยให้เราสามารถตอบสนองกับลูกทีมด้วยความยืดหยุ่นได้ โดยถ้าหากลูกทีมทำผิดพลาด แล้วเรารู้สึกหงุดหงิดใจ ให้ระลึกไว้ว่า มันเป็นเรื่องปกติ เพราะนี่คือช่วงเวลาในการที่ลูกทีมจะค้นหาตัวเองเพื่อเติบโต ดังนั้นแล้วจงมั่นใจว่าเราเองก็ควรยืดหยุ่น เพื่อให้ลูกทีมได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา
✨ 4. ให้รางวัล และโอกาสต่อหน้าคนอื่น
ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ และคนที่ทำดีก็สมควรได้รับคำชม ซึ่งการชมคนที่สามารถทำงานได้ดีต่อหน้าผู้อาวุโสในองค์กร เป็นหนึ่งในวิธีดั้งเดิมที่ช่วยให้ลูกทีมหลายคนได้รับการยอมรับ
ทว่านอกจากนั้นแล้วอีกวิธีที่ดี แต่หัวหน้าหลายคนไม่ค่อยได้ทำก็คือการถามลูกทีมในห้องประชุม ว่าพวกเขาคิดยังไงกับไอเดียเหล่านี้ โดยเฉพาะการประชุมที่มีแต่หัวหน้าระดับสูงนั่นแหละยิ่งดี เพราะหลายครั้งคำตอบที่ดีจากลูกทีม อาจช่วยให้พวกเขาค้นหาตัวเอง จนสามารถเติบโตในองค์กรได้ เพราะมันจะยกระดับมุมมองที่เพื่อนร่วมงานมองลูกทีม ให้ดีขึ้นไปมากกว่าเดิม
🎯 5. เรียนรู้ว่าเราทุกคนล้วนทำผิดพลาดได้
กระบวนการลองผิดลองถูก คือสนามฝึกซ้อมให้ทุกคนได้เติบโต ซึ่งนอกจากเราจะให้โอกาสตัวเอง และให้โอกาสพวกเขาแล้ว จงอย่าลืมว่าทุกงานสามารถเกิดข้อผิดพลาดได้เสมอ ซึ่งความผิดพลาดเป็นสิ่งสำคัญที่ลีดเดอร์อย่างเรา ๆ ควรเผื่อใจไว้ ว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะมันคือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ลูกทีมสามารถเติบโต เป็นโอกาสในการค้นหาตัวเอง และสร้างกระบวนการพัฒนาจากข้อผิดพลาดเพื่อเติบโตในระยะยาว
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ภาพประกอบ: พิษณุ ชารีพันธ์
โฆษณา