2 ก.ค. เวลา 11:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

หลานม่า | 9.5/10

ผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้สามเดือนหลังหนังเริ่มออกฉายช่วงงานหนังสือ พลาดมาเรื่อยจนหนังออกจากโรงใกล้บ้าน เหลือแต่โรงหนังใหญ่ๆ ที่ผมไม่ชอบไปเยือน เพราะไม่ชอบสถานที่พลุกพล่าน จนมันกลับมาฉายใหม่ในโรงใกล้บ้าน
ผู้อ่านหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ผมวิจารณ์หนังไทยน้อยมาก เรื่องนี้ย่อมมีเหตุผล ผมดูหนังไทยเหมือนกัน (ยกเว้นหนังผี เพราะเป็นคนกลัวผี) แต่ผมถือหลักปฏิบัติว่า ถ้าไม่ใช่คำชม ก็จะไม่วิจารณ์ ไม่อยากเป็นต้นเหตุให้คนไม่ไปอุดหนุนหนังไทย เดี๋ยวรัฐบาลจะหาว่าไม่สนับสนุน soft power ไทย
ปัญหาของหนังบ้านเราคือขาดแคลนความหลากหลาย หนังไทยจำนวนมากเดินตามสูตรสำเร็จเดิมๆ นายทุนไม่กล้าเสี่ยงกับเรื่องที่ไม่น่าขายได้ เช่น หนังที่มีองค์ประกอบของฮวงซุ้ย เช็งเม้ง วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายจีน และประเด็นคนชรา
นอกจากมีความเสี่ยงที่เรื่องไม่สนุก มันยังทำให้ดียากด้วย
แต่นี่ก็คือแกนกลางของหนังเรื่อง หลานม่า หนังที่เล่าเรื่องที่เราคุ้นตา ความแตกต่างคือหนังกล้าจับประเด็นที่ 'sensitive' นั่นคือการทำดีเพื่อหวังผลตอบแทน ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เท่าที่จำได้ ยังไม่มีเรื่องไหนนำมาเป็นแก่นหลักของเรื่อง
นี่จึงเป็นความสดอย่างหนึ่ง
2
แต่การแต่งเรื่องที่ใช้องค์ประกอบเหล่านี้ให้สนุกและประทับใจไม่ใช่เรื่องง่าย
นานปีมาแล้วผมเขียนเรื่องสั้นขนาดยาว เช็งเม้ง และ รักกันหนึ่งร้อยปี ซึ่งเล่นประเด็นเกี่ยวกับคนไทยเชื้อสายจีน จึงเข้าใจว่าเขียนเรื่องแนวนี้ให้สนุกและมีอารมณ์นั้นยากมาก
หลานม่า จับประเด็นความสัมพันธ์ของชีวิตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ส่วนผสมของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ทั้งวิถีชีวิต ฉาก ชินตาจนเรามองข้ามรากเหง้าของมันไป
หนังเสนอความขัดแย้งของโลกเก่ากับโลกใหม่ โลกทัศน์เก่ากับโลกทัศน์ใหม่ มุมมองเก่ากับมุมมองใหม่
บทเรื่องนี้จัดว่าแน่น รัดกุม เก็บรายละเอียดดี แน่น บรรยากาศเรื่องได้ อารมณ์ได้ หนังยืดไปบ้างบางท่อน แต่โดยรวมจับคนดูอยู่
หลานม่า อาจจะจัดอยู่ในตระกูล tearjerker (หนังน้ำตาท่วมโรง) สูตรของ tearjerker คือสร้างสถานการณ์ของความอยุติธรรม ชะตากรรมเลวร้าย เคราะห์ร้ายซ้ำซาก การถูกกระทำ ฯลฯ ดึงคนดูให้เกิด empathy สงสาร เมื่อนั้น tearjerker ก็จะกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ทำงาน
แต่ tearjerker ก็มีหลายระดับ หนัง tearjerker หลายเรื่องอิงกับความรัก โศกนาฏกรรมของความรัก เช่น Love Story, Up, Ghost มันใช้ชะตากรรมของตัวละครขับเคลื่อนน้ำตาของผู้ชม เพียงเท่านั้น
แต่ยังมี tearjerker อีกประเภทที่ไปไกลกว่าแค่ความเศร้า มันส่งสารลึกกว่าแค่นั้น และเราต้องขบคิดนานหลังจากดูหนังจบ เช่น Titanic พูดเรื่องความแตกต่างของชนชั้น The Joy Luck Club สะท้อนปัญหาชีวิต วัฒนธรรมจีน 1900 หนังที่อาจจัดว่าเป็นหนังปรัชญาชีวิต ฯลฯ
หลานม่า อาจจะจัดอยู่ในตระกูลหลังนี้ มันสะท้อนปัญหาครอบครัวและสังคมที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ทำให้เรามองมันในอีกมิติหนึ่ง
และเมื่อดูจบแล้ว หลายคนอาจจะกลับบ้านไปกอดยาย
1
9.5/10
2
(ยัง)ฉายในโรงภาพยนตร์
1
วินทร์ เลียววาริณ รวมบทรีวิวหนังจำนวนหลายร้อยเรื่องในหนังสือใหม่ บ้าหนัง 1-4 มีจำหน่ายในรูปอีบุ๊คที่เว็บไซต์ winbookclub.com และที่ MEB (คีย์คำว่า วินทร์ เลียววาริณ)
โฆษณา