Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PD Okhun
•
ติดตาม
3 ก.ค. เวลา 12:00 • การ์ตูน
Hibike! Euphonium 3: บทสรุปของวงโยธวาทิตแห่งคิตะอุจิ
Hibike! Euphonium นับเป็นอนิเมะในดวงใจของผม และติด Top 5 Anime ตลอดกาลของผมด้วย ผมมีความรู้สึกและประสบการณ์มากมายต่ออนิเมะซีรีส์นี้ แต่ผมคิดว่าจะนำมากล่าวถึงในตอนนี้ทั้งหมดก็คงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เวลา 9 ปี กับอนิเมะ 3 ซีซั่น ภาพยนตร์ 5 เรื่อง กับ 3 Specials ผ่านไป Hibike! Euphonium มาถึงบทสรุป และผมยิ้มเหมือนคนบ้าเมื่อได้เห็นหน้าตัวละครที่ผมติดตามมานานอีกครั้ง
Hibike! Euphonium Season 3 เป็นหนึ่งในอนิเมะที่ผมตั้งหน้าตั้งตารอชมมากที่สุดในปีนี้ (พอ ๆ กับ Monogatari ภาคใหม่) และผมไม่ได้นั่งดูรายสัปดาห์ แต่รอให้ทั้งซีซั่นฉายจับแล้วนั่งดูรวดเดียว ดูจบแล้ว ในใจผมมีแต่ความรู้สึกมากมายอย่างบอกไม่ถูก เลยคิดว่าอย่างน้อย ๆ ควรจะเขียนอะไรสักหน่อย เหมือนเป็น Closure ให้ตัวเอง
หากจะสรุปโดยเร็ว ผมคิดว่า ธีมของซีซั่นนี้คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในเรื่องของอนาคต แน่นอนว่าคุมิโกะ ตัวละครเอกของเรา อยู่ชั้นปีที่สาม นั่นคือช่วงเวลาที่หลาย ๆ อย่างจะแปรผันและไม่แน่นอน เธอในปัจจุบันเองก็ยังไม่รู้ว่าเธอจะทำอะไรในอนาคต และในเรื่องปัจจุบัน คือการมองตัวเองที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงจากอดีต โดยที่ความมุ่งหมายยังเหมือนเดิม ส่วนในเรื่องในอดีต ผมจะพูดถึงในส่วนสปอยเนื้อหาครับ
โอมาเอะ คุมิโกะ
โอมาเอะ คุมิโกะ เป็นตัวละครเอกยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง การพัฒนาตัวละครนับว่าชั้นยอด โดยที่คุมิโกะเปลี่ยนไปมากจากซีซั่นหนึ่ง แต่นิสัยใจคอของเธอยังบ่งบอกว่า เธอยังเป็นเธออยู่ เราดำเนินเนื้อเรื่องผ่านมุมมองของเธอ จากเด็กสาวที่จืดชืด ปมในเรื่องแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเธอเลย อย่างที่อาซึกะกล่าวไว้ เธอเป็น Support เป็น “เด็กที่เหมือนยูโฟเนี่ยมสุด ๆ” จนมาตอนนี้ ทุกอย่างหมุนรอบตัวเธอ ทั้งผู้คน ความฝัน แต่จุดมุ่งหมาย คุมิโกะเป็นส่วนสำคัญในฐานะประธานชมรม
ในฐานะประธานชมรม คุมิโกะไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ผมมองว่า เธอเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของเธอ ในฐานะประธานชมรม เธอไม่ได้เป็นจุดเด่น ไม่ได้พิเศษอยู่ภายใต้แสงสี แต่เป็น Support ที่แท้จริง เป็นตัวเกื้อหนุนให้ทีมไปถึงจุดมุ่งหมาย คุมิโกะไม่เพียงแต่เหมือนยูโฟเนี่ยม เธอมีจิตวิญญาณเป็นยูโฟเนี่ยม เธอแสดงออกและทำหน้าที่นั้น จนมีฉากหนึ่งที่ทำให้ผมหลุดปากพูดออกมาอย่างไม่รู้ตัว พูดออกมาก่อนที่ตัวละครในเรื่องจะพูด “ดีจังเลยนะ ที่ชมรมนี้มีคุมิโกะเป็นประธานชมรม”
ผมไปรู้มาว่า จริง ๆ แล้วผู้เขียน Hibike! Euphonium อย่างคุณทาเคดะ อายาโนะ เดิมทีจะให้เรย์นะเป็นตัวเอกของเรื่อง แต่เปลี่ยนให้คุมิโกะเป็นตัวเอก ผมคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมครับ เพราะเราได้เห็นการเติบโตของตัวละคร และอินไปกับมัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดก็คือ คุมิโกะไม่ได้เปลี่ยนไป เธอเป็นแบบนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือบทบาทหน้าที่ และความกล้าของเธอ ที่จะพูดในสิ่งที่เธอคิด
เรย์นะ ต้นเรื่องซีซั่น 1
อย่างตอนที่เธอหลุดปากพูดกับเรย์นะในตอนเริ่มเรื่องซีซั่นหนึ่ง เธอพูดจากใจ แต่อาจจะเพราะประสบการณ์นั้นทำให้เธอพยายามไม่รู้จากใจของเธอ จึงเหมือนว่าเธอหลุดปาก แต่เมื่อเธอกล้าหาญ และยอมรับความรู้สึกตัวเอง ไม่ปิดกั้นความคิดของตัวเอง คุมิโกะก็คือคุมิโกะที่แท้จริง
เธอเหมือนยูโฟเนี่ยมเพราะเธอเกื้อหนุนคนอื่น แต่ในซีซั่นก่อน ๆ ที่ปมของเรื่องไม่เกี่ยวกับเธอเลย เธอมักจะถ่อยห่างออกมาเป็นเพียงแค่ผู้ชม แม้ท้ายที่สุดแล้วเธอจะทำหน้าที่นั้นอย่างช่วยไม่ได้ แต่ในตอนนี้ ในฐานะประธานชมรม เธอเอาตัวเองเข้าไปพัวพันกับปมปัญหาของคนอื่น ๆ แต่ทำหน้าที่นั้นด้วยตัวเธอเอง
Hibike! Euphonium เป็นอนิเมะที่ได้รับความรักและความเอาใจใส่จากค่าย Kyoto Animation ที่ทำภาพออกมาได้อย่างสวยงาม Hibike! Euphonium (ร่วมกับ Violet Evergarden) เป็นอนิเมะเรื่องแรกที่ผมคิดได้ว่า อนิเมะมันสามารถสวยได้ขนาดนี้เลยเหรอ และซีซั่นนี้ก็ทำออกมาได้อย่างเกินความคาดหมายไปมากครับ
ความสวยงามส่งตรางจากค่าย Kyoto Animation
สิ่งน่าชื่มชมอีกอย่างหนึ่งคือการใช้ภาษากายและการกำกับภาพ แน่นอนว่าปมปัญหาบางอย่างเราสามารถรับรู้ได้จากสีหน้าหรือบทพูด แต่ค่ายนี้สามารถเล่าเรื่องโดยการใช้ภาพให้เป็นประโยชน์ บางทีตัวละครในเรื่องไม่ต้องพูดอะไรเลย แต่เรากลับรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ต้องแสดงสีหน้าของตัวละครเลย เพียงแต่หยุดภาพไว้นานกว่าปกติสักเฟรมหนึ่ง หรือตัดไปที่ฉากหลังแวบเดียว เราก็รู้ได้ทันทีว่ามันจะต้องมีอะไรผิดปกติแน่ ๆ
ผมเห็นคอมเมนต์มาบ้าง ที่ว่าซีซั่นนี้เร่งไปหน่อย ผมคิดว่า หากอยากเห็นที่มันเร่งจริง ๆ เอาภาพยนตร์ภาคสามไปดู อันนั้นเล่าเรื่องคุมิโกะในชั้นปีสองทั้งหมดภายในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง ส่วนตัวผมคิดว่าจังหวะของซีซั่นสามกำลังพอดีครับ แม้ว่าผมจะคิดว่ามีเนื้อหาบางอย่างที่น่าจะปรากฏอยู่ในเรื่องบ้าง แต่ก็คิดว่า หากจะให้ดำเนินเรื่องแบบซีซั่นหนึ่ง ประเด็นหลายอย่างมันก็จะซ้ำ ๆ กัน แบบนั้นไม่น่าเบื่อมากกว่าเหรอ (แต่ถ้าจะทำเป็น 26 ตอน ผมก็ไม่มีปัญหาครับ)
Hibike! Euphonium เป็นอนิเมะที่มีความเป็นมนุษย์มาก เพราะมันเป็นอนิเมะที่เกี่ยวกับคน เนื้อเรื่องดำเนินโดยผู้คน และแน่นอนว่าเราดูเรื่องนี้เหมือนเราติดตามชีวิตและการเติบโตของตัวละครไปด้วย ไม่เพียงแต่ตัวเอกอย่างคุมิโกะ แต่ตัวละครอื่น ๆ ด้วย การที่ได้เห็นตัวละครอื่น ๆ ในซีซั่นก่อนหน้านี้กลับมาอีกครั้ง เป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ ครับ
คุโรเอะ มายู
นอกจากนี้ การนำเสนอตัวละครทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ เพราะเมื่อผมดูตัวอย่างซีซั่นสามเมื่อนานมาแล้ว ผมฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่เมื่อตัดมาที่มายู ตัวละครใหม่ของเรื่อง ผมรู้ได้ทันทีว่าเธอคือ Final Boss ตัวใหม่ของซีซั่นนี้ เด็กสาวที่เล่นยูโฟเนี่ยม กับอารมณ์ที่ชวนทำให้นึกถึงคุมิโกะอย่างบอกไม่ถูก เธอไม่ไช่อาซึกะ อารมณ์มันต่างกัน แต่กลับทำให้รู้สึกว่ามันมีบางอย่างผิดแปลกไป แม้ว่าในใบหน้านั้นของมายูจะไม่ได้แสดงออกถึงเจตนาร้ายแต่อย่างใด
ต่อจากนี้ผมอยากจะพูดถึงเนื้อหาบางส่วน โดยมีการสปอยครับ (อนิเมะบางเรื่องผมก็สปอยไปเลย อย่าง Monogatari เพราะคิดว่าคนที่มาอ่านเกี่ยวกับ Monogatari ต้องเคยดูมาก่อนแล้ว แต่บางเรื่องผมก็แค่อยากจะเขียนอะไรสักอย่าง เหมือนเป็นการแนะนำไปในตัวด้วยเท่านั้นเอง) ดังนั้น ใครที่ยังไม่ได้ดู Hibike! Euphonium ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมแนะนำว่าไปดูเถอะครับ
Precious Kumiko
- มีสปอยต่อจากนี้ -
ผมมีความรู้สึกคุ้นชินกับมายูอย่างประหลาดครับ แน่นอนว่าในตัวอย่าง เราได้เห็นเธอกันไปแล้ว แต่ผมคิดว่า การชะลอให้เธอปรากฏตัวท้ายตอนที่หนึ่งมันดึงความรู้สึกไม่ชอบมาพากลในความหมายที่ดีที่สุด นอกจากคุมิโกะแล้ว มายูเป็นหญิงสาวที่เหมือนยูโฟเนี่ยมอีกคนหนึ่ง ทั้งการออกแบบตัวละคร สีหน้าท่าทาง น้ำเสียงและการพูด เธอเหมือนยูโฟเนี่ยม
คุมิโกะและมายู
และเมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่แทบจะไม่เกิดขึ้นใน Hibike! Euphonium ก็เกิดขึ้น นั่นคือ ปมปัญหาของเรื่องตกเป็นของคุมิโกะโดยตรง เพราะอย่างที่ผมบอกไว้แล้ว เธอนั่งเบาะหลังตลอดในปมปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคก่อน ๆ เธอเป็นเหมือนตัวประกอบในเรื่องราวของคนอื่น เป็นตัวละครสมทบ เป็น Support ไม่ใช่ Carry แต่การปรากฏตัวของมายูทำให้เธอต้องสวมบทบาทเป็นนางเอกในเรื่องราวของเธอเอง
คุมิโกะไม่ได้เผชิญหน้ากับคนอื่น Hibike! Euphonium นำเสนอเรื่องของการพัฒนาตัวละครอย่างเด่นชัดที่สุด และชัดเจนมากในตัวของมายู เพราะในตอนนี้คุมิโกะเติบโตออกมาจากตัวตนในอดีตมาเป็นเธอในปัจจุบัน เธอต้องเผชิญหน้ากับเธอในอดีต ในรูปแบบของมายู
Final Boss
สิ่งที่ผมว่ามันเจ๋งมากของการเขียนเรื่องนี้คือปมทั้งหมดของมายูครับ จริง ๆ พอเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ มายูก็มาพูดกับคุมิโกะในเรื่องเดิม ๆ ผมคิดว่ามันน่ารำคาญมาก และท่าทีของคุมิโกะ แม้ว่าจะต้องปิดบังไว้ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเธอเองก็รำคาญ ผมเริ่มมีความรู้สึกว่ามันซ้ำซาก แต่เมื่อคานาเดะพูดว่า มายูจงใจพูดเรื่องเดิม ๆ เพราะอะไร มันก็กระจ่าง และมันตอบความเบื่อหน่ายตรงนั้นของผมอย่างตรงจุด และมันเวิร์ก
ซีซั่นสาม แม้ว่าจะเร่งในหลายจุดก็จริง แต่มันก็ยังเป็นบทสรุปที่ยอดเยี่ยมของเรื่องราวตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะเพียงตอนจบของเรื่อง แต่เพราะปมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคนี้ สะท้อนปมที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นในอีกมุมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดที่อยากจะเก่งมากขึ้นในซีซั่นหนึ่ง ข้อความที่ว่าอย่าตัดสินใจทำในสิ่งที่จะทำให้เสียใจภายหลังอย่างในซีซั่นสอง ความเหินห่างระหว่างเพื่อนสนิทอย่างใน Liz and the Blue Bird และการพูดในฐานะตัวเองไม่ใช่ “คนอื่น ๆ”
กอดด้วยความรัก แบบมิซุเระกับโนโซมิ
สิ่งที่กลับมาเป็นปมทุกครั้งก็คือเรื่องของออกออดิชั่น คนที่ได้เล่นคือคนที่เก่งและเหมาะสมในวง ไม่เกี่ยงว่าใครมาก่อนหลัง เป็นหลังการของวงคิตะอุจิ และเป็นความเชื่อมั่นของคุมิโกะ ความรู้สึกของคุมิโกะที่กลัวว่าตัวเองจะทำให้คนอื่นโกรธเพราะได้รับเลือกที่จะเล่น กลายเป็นความกังวลของมายู แต่อย่างที่รู้กัน แม้ว่ามายูจะกังวลแบบนั้น แต่มันเป็นคนละเรื่องกับความต้องการของเธอ เธอเองก็อยากจะเล่น ไม่เช่นนั้นเธอคงไม่ตามมาคุยกับคุมิโกะตลอดแบบนั้น
ปมเดิมกลับมาอีกครั้ง กับการดวลเพื่อบทโซลี่ แต่ไม่ใช่บทของทรัมเป็ต แต่เป็นยูโฟเนี่ยม ภาพจำเดิม ๆ กลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะเราอินกับบทบาทของคุมิโกะมากขึ้น และการดวลกันก็พัฒนาจากเดิม เพราะพวกเธอมีอุดมการณ์เดียวกันว่า คนที่เก่งกว่าจะได้เล่น ไม่สนใจว่าจะเป็นใคร จึงเป็น Blind Audition แทน
อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ แม้ว่าทั้งสองจะเล่นดีทั้งคู่ แบบผลต่างกันคะแนนเดียว แต่ผมคิดว่าคนที่สองเล่นดีกว่า ตอนแรกผมคิดว่าอันนั้นคือมายูด้วยซ้ำ เพราะผมโดนสปอยว่าคุมิโกะแพ้ เลยคิดว่า เรย์นะจะตัดสินเลือกเบอร์สองด้วยซ้ำ แต่เธอเลือกเบอร์หนึ่ง และปรากฏว่าคุมิโกะเป็นเบอร์สอง ซึ่งเท่ากับว่า ผมคิดว่าคุมิโกะเล่นดีกว่าโดยที่ไม่ได้คิดว่านั่นคือคุมิโกะเล่น
อันนี้ผมได้ยินมาทีหลังว่ามันแตกต่างจากในเวอร์ชั่นนิยาย ในนิยาย คุมิโกะจะได้เล่นโซลี่กับเรย์นะ ซึ่งมันก็น่าพึงพอใจครับ เพื่อนสนิทสองคนที่เราติดตามกันมาได้เล่นด้วยกันในตอนจบและได้เหรียญทอง แต่กลับพลิกเป็นว่าคุมิโกะแพ้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่น่าพึงพอใจเหมือนในเวอร์ชั่นนิยาย ผมกลับมองว่ามันเหมาะสมและเวิร์กมากกว่า เพราะปมประเด็นคือ หลักการที่เราเชื่อมั่นกับสิ่งที่เราต้องการ เป็นปมปัญหาที่น่าสนใจอย่างมากครับ
Call Back
คุมิโกะและผองเพื่อนเชื่อมั่นอย่างมากว่าคนที่เก่งและเหมาะสมที่สุดจะได้เล่น และเธอเองก็อยากจะเล่นเหมือนกัน จะทำอย่างไรเมื่อผลลัพธ์ของสองสิ่งนี้มันขัดกัน เราจะสู้เพื่อสิ่งที่เราต้องการ หรือเราจะยืนหยัดต่อสิ่งที่เราเชื่อ คุมิโกะแพ้ แต่ยิ้มรับผล และขึ้นมาแสดงความเป็นผู้นำของเธอ แม้ว่าในใจลึก ๆ จะเจ็บใจและเสียใจอย่างมาก
แต่คนที่เจ็บใจไม่แพ้กันคือเรย์นะ เพราะผลที่เสมอกัน เรย์นะกลายเป็นคนที่ต้องตัดสินใจ เธอกลับเลือกมายู เราตัดมาอีกทีเห็นเรย์นะร้องไห้อยู่ ซึ่งมันไม่น่าแปลกใจครับ แต่ที่ผมคิดว่าเจ๋งก็คือ เรย์นะพูดว่า “คิดว่าเธอไม่รู้เหรอว่าเสียงยูโฟ ฯ ของคุมิโกะเป็นอย่างไร” มันแสดงให้เห็นว่า เรย์นะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าจะรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่คุมิโกะ
มันเป็นความน่าเจ็บใจนะครับ มันไม่ใช่แค่เลือกว่าเสียงไหนดีกว่ากัน หรือเลือกว่าใครจะได้เล่นท่อนโซลี่ แต่มันเป็นการเลือกระหว่าง จะทำตามหลักการที่เรายึดมั่น หรือจะทำเลือกในสิ่งที่เราต้องการเป็นการส่วนตัว (แน่นอนว่าผมสามารถนำไปพูดเรื่องปรัญชาศีลธรรมได้อีกในเรื่อง Deontology แต่มันจะยาวแน่ ๆ) ผมคิดว่าพวกเธอควรจะภูมิใจในตัวเลือกของพวกเธอ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เจ็บจนร้องไห้
แม้จะเจ็บใจจนต้องร้องไห้
และนั่นทำให้ผมเคารพคุมิโกะมาก เธอเป็นคนจริงแท้ และวงคิตะอุจิน่าอิจฉามาก ๆ ที่ได้เธอเป็นผู้นำ เป็นบุคคลที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง อย่างที่อาจารย์ทาคิตอบคุมิโกะ “คนจริงในความหมายที่แท้จริงของมัน คือคนที่เที่ยงธรรมกับทุกคน” คุมิโกะอยากจะเป็นคนแบบนั้น และเธอก็เป็นคนแบบนั้น
แม้ว่าจะรู้ว่าตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของซีซั่นสุดท้าย แม้ว่าจะกึ่ง ๆ โดนสปอยมาว่าพวกเธอชนะทองสักที แต่เมื่อฉากนั้นมาถึง วันที่ได้ยินว่าพวกเธอชนะการแข่งขันระดับชาติหลังจากผ่านมา 9 ปี ผมก็อดใจที่จะโห่ร้องด้วยความยินดีดีใจไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกภูมิใจแปลก ๆ อาจจะเพราะผมติดตามพวกเธอมาอย่างยาวนาน เห็นความพยายาม พัฒนาการ ความล้มเหลว ความเจ็บใจของวงดนตรีระดับมัธยมนี้ อย่างที่เรย์นะกล่าวไว้ว่า:
ดีใจจนตายได้เลย
เรย์นะ
ตอนสุดท้ายเริ่มจากการนับถอยหลังไปจนวันแข่ง มันเหมือนการนับถอยหลังจุดจบของซีรีส์ชั้นยอดนี้ ผมเห็นแล้วใจหาย กับการแสดงครั้งสุดท้ายของคุมิโกะและผองเพื่อน กับเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามาทำให้พวกเธอเติบโต มันเป็นบทสรุปที่รวบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดในอดีต ความพยายามในปัจจุบัน และความไม่แน่นอนแต่จะไม่เสียใจภายหลังในอนาคต
ขอบคุณในความพยายาม วงโยธวาทิตแห่งโรงเรียนคิตะอุจิ
ผมผ่านไปเห็นข้อความมากมายของคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ไม่ว่าจะด้วยเพราะเหตุผลอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเพราะว่ามันมี Yuri Bait หรือเพราะว่าสุดท้ายมันไม่ยูริ ซึ่งผมไม่ได้สนใจแม้แต่น้อยไม่ว่าจะก่อน ระหว่างหรือหลังดู หรือเพราะเหตุผลอคติอื่น ๆ มากมาย ผมเพียงแต่คิดว่า มันน่าเสียดายมาก ๆ นะครับ ที่อคติเหล่านั้นทำให้พวกเขาไม่ได้ประสบรับชมอนิเมะคุณภาพชิ้นนี้
Hibike! Euphonium ซีซั่น 3 นำเรื่องราวถึงบทสรุปที่กลมกล่อม ไม่ผิดหวัง และเกินความคาดหมาย มันยกระดับผลงานอนิเมะเรื่องนี้จากค่ายตำนานอย่าง Kyoto Animation กับการเล่าเรื่องที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังและสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวโดยใช้องค์ประกอบของอนิเมชั่นทั้งหมดตั้งแต่ ภาพ แสง สี เสียง ดนตรี การพากษ์ การเคลื่อนไหวอย่างเชี่ยวชาญ Hibike! Euphonium ควรค่าต่อการขึ้นหิ้งเป็นผลงานระดับปรมจารย์ เป็นผลงานระดับ Masterpiece
คุณโอมาเอะ
น่าเสียดายนิดหน่อยตรงที่ไม่มีฉากคุมิโกะส่งทอดบทเพลง “Hibike! Euphonium” ที่ได้รับจากอาซึกะให้คานาเดะ แต่การที่ได้เห็นคุมิโกะตอนโตในฐานะผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษา มันก็ซาบซึ้งใจแล้วครับ Precious Kumiko!
อนิเมะ
การ์ตูน
มังงะ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย