Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
FutureTales LAB by MQDC
•
ติดตาม
3 ก.ค. เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม
Futures of Sustainability in Thailand 2030: ความยั่งยืนของสังคมไทยในอนาคต
[#Sustain] [#Thailand] คุณภาพชีวิตเราเชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นที่ต้องการไม่สิ้นสุดและมีแต่จะหมดไป โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเราต่างถูกท้าทายให้จัดการปัญหาด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์ย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชัน จํากัด (FutureTales Lab by MQDC) ร่วมกับสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต่อยอดโครงการวิจัยคาดการณ์อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ.2573 (Futures and Beyond: Navigating Thailand toward 2030) ในมิติของความยั่งยืนในบริบทประเทศไทยปี พ.ศ.2573 (Futures of Sustainability in Thailand 2030)
โดยการพัฒนาเนื้อหา ข้อมูลสถิติสําคัญ บทวิเคราะห์สถานการณ์ สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ฉากทัศน์อนาคต รวมถึงข้อเสนอสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ให้กับประเทศไทย
Scenario 1 : INFERNO ON THE GROUND
ผู้คนเผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต สุขภาวะและคุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ สังคมไทยเผชิญวิกฤติด้านความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ขาดแคลนทรัพยากร การรับมือกับภัยพิบัติและปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากขาดแคลนแผนรับมือที่บูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง เกิดความไม่สงบในหลายพื้นที่
ประเทศไทยถูกกดดันจากนานาประเทศอย่างหนักให้จัดการกับปัญหาด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้น เกิดการถดถอยรุนแรงต่อการพัฒนาประเทศทุกด้าน
Society สังคม
สังคมเต็มไปด้วยความหวาดกลัวจากผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงทรัพยากรสำหรับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพที่ขาดแคลนอย่างรุนแรง ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง ผู้คนออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้น เกิดความไม่สงบในสังคมอย่างต่อเนื่อง ผู้คนเกิดการย้ายถิ่นฐานเพื่อหาทางรอดจากปัญหาสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
Technology เทคโนโลยี
ประเทศไทยขาดการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากรรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ ติดตาม และควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ
Environment สภาพแวดล้อม
เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเกินจะควบคุม พื้นที่ธรรมชาติถูกทำลายจากการกระทำของมนุษย์และภัยพิบัติธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง สัตว์และพืชหลายชนิดสูญพันธุ์ เกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งรุนแรง คุณภาพอากาศอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้คน
Economy เศรษฐกิจ
ประเทศไทยถูกจัดอันดับโลกในการเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติต่ำ การดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมอยู่ในระดับต่ำ การดำเนินธุรกิจขององค์กรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สร้างมลพิษและเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ถูกกีดกันทางการค้าและการดำเนินการร่วมกับต่างประเทศ
Policy นโยบาย
ประเทศขาดกลไกขับเคลื่อนและแผนการบริหารจัดการในประเทศอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถผลักดันนโยบายและบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลลัพธ์ได้ในเชิงปฏิบัติ มีการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าการมุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขาดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน
Values คุณค่า
ผู้คนขาดความตระหนักรู้และความเข้าใจรื่องความยั่งยืน ทั้งมิติของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการคำนึงถึงความยั่งยืนของสังคม คนส่วนมากนึกถึงประโยชน์ส่วนตน พยายามทุกทางเพื่อให้ตนเองมีทางรอด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม
Scenario 2 : STUCK IN LOW GEAR
ผู้คนส่วนมากประสบปัญหาด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ใช้ชีวิตด้วยความกังวล ต้องพยายามปรับตัวต่อสภาพสังคมที่มีปัญหาด้านความยั่งยืนทั้งในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำสูง ปัญหาสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น แม้จะมีความพยายามในการบริหารจัดการ แต่ยังเป็นเพียงนโยบายการแก้ไขปัญหาเชิงรับ ขาดแผนรับมืออย่างบูรณาการที่มีประสิทธิภาพล่วงหน้า ประเทศไทยเข้าใกล้แต่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน (SDGs) และไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้
Society สังคม
สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นผู้ด้อยโอกาสและชนชั้นกลางที่ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ในสภาพแวดล้อมที่ขาดความยั่งยืนและคุณภาพชีวิต ผู้คนส่วนมากมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมด้านวิกฤติสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติมีความวิตกกังวลสูง และมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น
Technology เทคโนโลยี
มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในบางส่วน แต่ขาดการบูรณาการและการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วน ทำให้ความก้าวหน้าในการดำเนินการเกิดเพียงในบางพื้นที่และบางธุรกิจ
Environment สภาพแวดล้อม
การพัฒนาของเมืองทำให้พื้นที่ธรรมชาติถูกทำลาย มีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามในการกระจายความเจริญทางด้านการจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐานออกไปสู่ชนบท แต่การพัฒนาส่วนมากยังจำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่และหัวเมืองทางเศรษฐกิจ
Economy เศรษฐกิจ
มีแนวโน้มและความพยายามเอนเอียงไปในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ยังขาดการดำเนินการที่จริงจัง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ การดำเนินการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมขาดความเข้มงวด ประเทศไทยไม่สามารถก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ อีกทั้งยังมีความสามารถทางการแข่งขันต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก
Policy นโยบาย
การทำงานเพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนและการจัดตั้งแผนการบริหารจัดการ ด้านความยั่งยืนเป็นแบบแยกส่วนและเชิงรับเป็นหลัก มีมาตรการแก้ไขที่ดีเมื่อเกิดปัญหาหรือได้รับการร้องเรียน ทำให้สามารถบรรเทาวิกฤติที่มีรูปแบบซ้ำเดิมได้ แต่ไม่มีการวางแผนป้องกันและยับยั้งที่มีประสิทธิภาพ กฎหมายขาดการบังคับใช้อย่างเด็ดขาด
Values คุณค่า
ผู้คนที่มีการศึกษาที่ดี เข้าใจ ตระหนักรู้ และรณรงค์ให้เกิดการรับรู้เรื่องความยั่งยืนในวงกว้าง พยายามเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมและการดำรงชีวิตที่คำนึงถึงทุกสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ แต่ผู้คนจำนวนมากยังไม่สนใจและไม่เข้าใจความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากต้องต่อสู้เพื่อการมีชีวิตรอดจากปัญหาความเหลี่ยมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
Scenario 3 : EUPHORIA FOR ALL
ผู้คนมีความสุขจากการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี มีการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง ทุกภาคส่วนคำนึงถึงเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างความยั่งยืนของทุกสิ่งมีชีวิตอย่างสมัครใจและจริงจัง สังคมไทยประสบความสำเร็จด้านการบรรลุเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน (SDGs) ในทุกมิติ มีการดำเนินการป้องกันเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างดี สังคมมีความเสมอภาคจากการใช้เทคโนโลยีและรูปแบบนโยบายบริหารจัดการแบบองค์รวมที่มีการบูรณาการหน่วยงาน บุคลากร และจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประเทศมีความสามารถทางการแข่งขันสูง
Society สังคม
สังคมไทยประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SDGs) สังคมมีความเสมอภาคสูง มีการกระจายทรัพยากรสำหรับการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพอย่างทั่วถึง ผู้คนมีสุขภาวะและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นใจในการใช้ชีวิต สังคมมีการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนในทุกรูปแบบ ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างดีเยี่ยม
Technology เทคโนโลยี
เกิดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีถูกประยุกต์ใช้เพื่อติดตาม ป้องกัน และคาดการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ โครงสร้างพื้นฐานได้รับการออกแบบให้สามารถอำนวยความสะดวกและตอบรับกับความต้องการของผู้คนทุกกลุ่มโดยไม่รบกวนสมดุลของระบบนิเวศ
Environment สภาพแวดล้อม
มีการดำเนินการป้องกันเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างดีจากเทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้ปรับตัวรับมือกับความท้าทายทางธรรมชาติล่วงหน้าได้อย่างรัดกุม พื้นที่ป่าและระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ มีอากาศและน้ำสะอาด มีความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และทรัพยากรสูง
Economy เศรษฐกิจ
ประเทศไทยถูกจัดอันดับโลกด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมอยู่ในระดับดีมาก ส่งผลให้นานาประเทศให้การยอมรับ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น มีการจัดเก็บภาษีด้านต่าง ๆ รวมถึงนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
Policy นโยบาย
มีการกำหนดนโยบายและบูรณาการการทำงาน รวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที มีกลไกขับเคลื่อนและแผนบริหารจัดการประเทศที่ดี สอดคล้องทั้งในและระหว่างหน่วยงาน ส่งผลให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน มีระบบการทำงานที่ดีทั้งระบบ
Values คุณค่า
ผู้คนในสังคมมีความเข้าใจและตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนทั้งมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย ผ่านการศึกษาและการให้ความรู้อย่างเข้มข้นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้มีจิตสาธารณะ นึกถึงผู้อื่น และประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเป็นที่ตั้งเสมอ มีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ เลือกสนับสนุนแนวคิดเพื่อความยั่งยืนเป็น
Scenario 4 : TOGETHER WITH THE PLANET
ผู้คนมีความสุขจากการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีจากการที่สังคมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) และเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนประเทศเพื่อความยั่งยืนยุคใหม่ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยให้ยึดสุขภาวะของโลกเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา (Planet-oriented development)
มีการรับรองธรรมชาติเป็นนิติบุคคลประเภทใหม่ (Environmental personhood) ภาครัฐใช้กลไกการควบคุมตรวจสอบที่เข้มงวด ส่งผลให้ภาคเอกชนเกิดการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย เพื่อตอบรับกับการฟื้นฟูระบบนิเวศในธรรมชาติและการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่แท้จริงของสังคม
Society สังคม
สังคมมีความเสมอภาคสูง ทุกพื้นที่สามารถดำรงอยู่ด้วยทรัพยากรของตนเองได้ ผู้คนมีความสุขจากการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตดีเยี่ยม มุ่งเน้นด้านการพัฒนาสังคมด้วยความโปร่งใสเป็นหลัก เพื่อให้มั่นใจว่าทุกสิ่งมีชีวิตในทุกพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
Technology เทคโนโลยี
เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสร้าง Country Dashboard เพื่อติดตามข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างทันท่วงทีเทียบกับเวลาคาดการณ์ในอนาคต โดยมีมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับประชาชน มีการสร้างสรรค์ ต่อยอด ถ่ายโอน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนวัตกรรมสู่ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ จากความร่วมมือแบบบูรณาการหลายระดับระหว่างองค์กรรัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมทุกระดับทั้งในและต่างประเทศอย่างจริงจัง
Environment สภาพแวดล้อม
มีการดำเนินการป้องกันเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศ การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมอย่างเข้มงวด ทำให้สามารถปรับตัวและรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนได้อย่างดีเยี่ยม ปัญหาภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อมลดลงต่อเนื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ทางธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ วิจัย และพัฒนา มีอากาศและน้ำสะอาด ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และทรัพยากรสูง
Economy เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมประเภทต่าง ๆ อย่างจริงจัง เหมาะสม และเข้มงวด ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ชี้นำ และควบคุมภาคธุรกิจให้ดำเนินการตามหลักความยั่งยืนเป็นประการหลักอย่างเข้มงวดและโปร่งใส
Policy นโยบาย
นโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกใช้อย่างแพร่หลายในภาครัฐและเอกชน วิถีชีวิตของผู้คนได้รับการออกแบบให้รองรับการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ เช่น การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการจัดการของเสีย เป็นต้น สิ่งมีชีวิตและธรรมชาติได้รับการรับรองให้เป็นนิติบุคคล มีสถานะเท่าเทียมมนุษย์ในการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อจัดการกับผู้ละเมิดหรือคุกคามธรรมชาติอย่างจริงจัง (Environmental personhood)
Values คุณค่า
ผู้คนทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลของการกระทำของตนต่อความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและปลูกฝังแนวคิดความเชื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ด้านความยั่งยืน ส่งผลให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนเป็นการยึดความเป็นอยู่ของโลกเป็นศูนย์กลางการพัฒนา (Planet-oriented development)
GUIDE TO ACTION
ข้อเสนอสู่การปฏิบัติ
ภาครัฐ
1. พัฒนาและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ความยั่งยืนระดับชาติ โดยกำหนดเป้าหมายและแผนงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
2. บังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม สร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้อย่างจริงจัง
3. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนและแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
4. เพิ่มความตระหนักและการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรมที่ส่งเสริมยั่งยืน
5. สนับสนุนการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมด้านความยั่งยืนทั้งในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม
6. ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการเดินทางที่มีความรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น
ภาคเอกชน
1. ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรสูงสุด
2. ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในองค์กรใช้ พิจารณาการลดของเสีย การใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนและนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
3. พิจารณาลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและนำไปสู่อนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืน
4. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เช่น การใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างเหมาะสม การนำหลักการออกแบบอาคารสีเขียว การใช้ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะหรือการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร
5. ร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนานโยบายและความคิดริเริ่มที่ยั่งยืนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
6. ส่งเสริมการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชมอย่างแท้จริง
ชุมชน
1. พัฒนาและดำเนินการตามแผนความยั่งยืนที่ให้ความสำคัญในมิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมในชุมชน
2. ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์และนโยบายด้านความยั่งยืนระดับชาติ โดยปรับเหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น
3. พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรรัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมนโยบายและความคิดริเริ่มที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น
4. สนับสนุนธุรกิจ นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการในท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน
5. สนับสนุนโครงการและความคิดริเริ่มในการลดขยะและการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
6. เพิ่มความตระหนักและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนปรับพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น
ประชาชน
1. ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์และนโยบายด้านความยั่งยืนระดับชาติ โดยร่วมเสนอแนะแนวทางเพื่อยกระดับวิถีชีวิตเพื่อความยั่งยืนในชุมชน
2. ให้ความสำคัญและมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม
3. สนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืน นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน
4. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก
www.futuretaleslab.com
และ
https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofSustainability #FuturesandBeyond #WellBeing #MQDC
สิ่งแวดล้อม
การใช้ชีวิต
sustainability
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย