4 ก.ค. เวลา 05:00 • ดนตรี เพลง

เจาะวัฒนธรรม “บั้นเด้า” กระบวนท่าเซิ้งสุดดีดของวัยรุ่นชาวอีสาน

ไม่มีอำนาจใดยิ่งใหญ่ไปกว่าหมอลำ... เมื่อใดที่รถแห่วิ่งผ่าน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ จะพากัน “เด้าฯ” เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต
ปราชญ์ชาวอีสานท่านหนึ่ง
เรื่อง “ปราชญ์ชาวอีสาน” ที่ว่ามานี้ผมโม้ทั้งเพ อย่าเพิ่งเชื่อ… แต่เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ คือเพลงหมอลำ ใครได้ฟังก็อยากเซิ้ง เพราะด้วยวัฒนธรรมชาวอีสานที่ถ้าจะสนุก ก็ต้องเอาให้สุดเหวี่ยง เพื่อชดเชยความเครียดแหละเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักมาอย่างยาวนาน
ขณะที่คอนเสิร์ตของชาวร็อกและเมทัล จะมีการเล่น “มอชพิท” (Mosh Pit) ในฐานะกิจกรรมที่ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดง ในการแสดงหมอลำของภาคอีสานเองก็จะมีการวิ่งออกมาเซิ้งรำหน้าฮ้านกันอย่างสนุกสนาน ในบรรดากระบวนท่าหน้าฮ้านที่เราได้เห็นกันบ่อย ๆ เหมือนเป็นท่าพิมพ์นิยม และผู้คนบนโลกออนไลน์รู้จักกันมากที่สุด นั่นก็คือการ “บั้นเด้า” กระบวนท่าเซิ้งหมอลำสุดดีด ที่ทำเอาชาวเน็ตต่างถกเถียงกันว่า มันคือ “วัฒนธรรม” หรือเป็นท่าเต้น “อนาจาร” จากความคะนองของวัยรุ่นกันแน่… และวันนี้ The E World จะมาไขข้อสงสัยกัน
“บั้นเด้า” ถือเป็นท่าเต้นที่ผู้คนบนโลกออนไลน์จดจำกันได้มากที่สุด โดยเฉพาะในยุคโซเชียลช่วงหลัง ๆ ที่ผู้คนผันตัวจากผู้เสพคอนเทนต์ มาเป็นผู้สร้างและเผยแพร่คอนเทนต์เอง สำหรับการเต้นบั้นเด้านั้น เป็นการขยับเอวไปตามจังหวะเพลง โดยชื่อท่า “บั้นเด้า” นั้น โดยรากแล้วหมายถึงอวัยวะส่วน “บั้นเอว” หรือ “เอว” และเมื่อเปลี่ยนบทบาทจากชื่ออวัยวะมาเป็นท่าเต้น มันก็หมายถึงการขยับส่วนเอวนั่นเอง
ส่วนมากแล้ว เรามักเห็นการ “บั้นเด้า” มาจาก “รถแห่” เพลงแนวหมอลำในภาคอีสาน โดยสิ่งที่ทำให้การแสดงหมอลำตามรถแห่นั้นแตกต่างจากการแสดงดนตรีพื้นบ้านของภาคอื่น ๆ นอกจากการเคลื่นวงไปได้ทุกที่ขณะทำการแสดง นั่นก็คือจะไม่มีหางเครื่องเต้นประกอบ แต่จะมีตัวผู้ชมนี่แหละ ที่ผันบทบาทจากคนเสพมาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแสดงแทน
แรกเริ่มเดิมทีมันยังมีแค่การเซิ้งรำทั่ว ๆ ไป จนกระทั่งราวปลาย ๆ ทศวรรษที่ 2007 (พ.ศ. 2550) ก็ได้มีการดัดแปลงการมีส่วนร่วมในดนตรีให้มีความสุดเหวี่ยงตามรสนิยมและความคะนองมากขึ้น ด้วยการใช้ท่าที่มีการสื่อในทางเพศมากขึ้น ด้วยการ “เด้า” ส่วนมากผู้ที่ออกมา “บั้นเด้า” ตามหน้าฮ้านรถแห่นั้น มักจะเป็นวัยรุ่นหญิง และกลุ่ม LGBTQ+ (หรือที่เรียกกันแบบบ้าน ๆ ว่ากะเทย) โดยจุดประสงค์หลักก็คือการดึงความสนใจของผู้ชมรอบนอกมาที่ตัวเอง
ซึ่งถ้าใครออกมาวาดลวดลายการ “เด้า” ได้เด่นที่สุด ก็จะกลายเป็น “ดาวรถแห่” โดยการเต้น “บั้นเด้า” นั้น มีตั้งแต่ยืนเด้งเอวเฉย ๆ, ลงไปนอนเด้งใส่พื้น ไปจนถึงการเล่นท่ายากอย่างการกระโดด, ตีลังกา และปีนป่ายเพื่อ “เด้า” ตามเพลง
การเต้นแบบปลดปล่อยทางเพศนั้น ไม่ได้เพิ่งมามีหรือถูกเพิ่มเข้ามาตามความคะนองของเหล่าวัยรุ่น แต่มันมีอยู่ในประวัติศาสตร์ของหมอลำมานานแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อความสนุกสนาน และไม่ใช่ของแปลกอะไรในวัฒนธรรมอีสานขนาดนั้น อย่างการเป่าแคน ก็จะมีท่าทางที่มือเป่าจะเด้าตามจังหวะเพลงไปด้วย
จนมาถึงยุคโซเชียลที่สามารถกระสายเนื้อหาและข่าวสารไปได้อย่างกว้างขวาง ภาพของการ “บั้นเด้า” ก็ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สายตาชาวเน็ตไทยทุกภูมิภาค ทำให้การ “บั้นเด้า” ดูเป็นของแปลก และเป็นที่ถกเถียง ในมุมมองของคนไทยที่ไม่ได้คุ้นเคยหรือเข้าใจวัฒนธรรมชาวอีสาน
ถึงกระนั้น ชาวอีสานบางคนเองก็ยังมีมุมมองที่ไม่เข้าใจ และไม่เห็นดีด้วยต่อการเต้น “บั้นเด้า” ของวัยรุ่นชาวอีสานกันสักเท่าไหร่ อาจจะด้วยมุมมองทางจารีต ที่มองการแสดงซึ่งมีท่าทางออกไปทางเพศเป็นเรื่องเสื่อมเสีย และความต่างของช่วงวัย ที่สังคมยังคงมองวุฒิภาวะของวัยรุ่นนั้นยังด้อยกว่าผู้ใหญ่…
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ในขณะที่สื่อพื้นบ้านหลาย ๆ แขนง กำลังประสบปัญหาการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม การเต้น “บั้นเด้า” ของวัยรุ่น กลับเป็นวิธีดึงดูดวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะการเต้นบั้นเด้าจะมีการชักชวนมาเข้าเต้นกันเป็นกลุ่มเสมอ ซึ่งมันจะเพิ่มดีกรีความสนุกสนานให้กับการแสดงนั้น ๆ อีกด้วย ในขณะที่รถแห่นั้นก็มีความได้เปรียบตรงที่สามารถเคลื่อนตัวไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้มาก
และเมื่อรถแห่ ได้วิวัฒนาการขึ้นมาเป็น Pop Culture ที่รู้จักในวงกว้าง ก็มีการเรียกความสนใจในวงที่กว้างกว่า ด้วยการเอาเพลงสมัยนิยม หรือเพลงสากลต่าง ๆ มาโคฟเวอร์เป็นเวอร์ชันที่เติมกลิ่นอายของชาวอีสานเข้าไป ทำให้วัฒนธรรมรถแห่และการ “บั้นเด้า” สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นด้วย
ดังนั้น การ “บั้นเด้า” ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการแสดงจุดยืนร่วมกันของคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบ “ประเพณีประดิษฐ์” ตามแนวคิดของ “เอริค ฮอบส์บาวม์” (Eric Hobsbawm) เพื่อต่อรองและต่อต้านการกดทับจากขนมธรรมเนียมที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องทางเพศที่เดิมถูกมองเป็นเรื่องเสื่อมเสีย ก็กลายมาเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกได้ด้วยความสนุกสนานแทน
การที่หมอลำมาถึงจุดที่เห็นวัยรุ่นวิ่งออกมา “เด้า” หน้ารถแห่นั้น ถ้าจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายก็ไม่ผิด เพราะ “หมอลำ” ของชาวอีสานนั้น เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มี “พลวัฒน์” (Dynamic) สูงกว่าภาคอื่น ๆ จาก “หมอลำกลอน” ที่แค่มีเครื่องดนตรีอย่าง “แคน” นักแสดงก็ลำประกอบได้ เริ่มเพิ่มชิ้นเครื่องดนตรี และเรื่องราวมากขึ้น จนมาถึงยุคของ “หมอลำกลอนซิ่ง” ที่ประยุกต์เข้ากับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ เช่น พิณ, เบส, คีย์บอร์ด และกลองชุด
ตามมาด้วยการนำเสนอในขนาดที่ใหญ่ขึ้น อย่าง “หมอลำหมู่” หรือ “หมอลำเพลิน” ซึ่งนอกจากการเพิ่มจำนวนนักแสดงตามตัวละครในท้องเรื่องแล้ว ยังได้ประยุกต์รูปแบบของวงลูกทุ่งที่มีอิทธิพลมากขึ้นในสมัยนั้น เข้ามาเป็นรูปแบบของการนำเสนอด้วย
นั่นจึงอธิบายได้ว่า ทำไมวัฒนธรรม ”หมอลำ” ของภาคอีสาน ยังคงโดดเด่นมากที่สุดในบรรดาวัฒนธรรมพื้นบ้านของแต่ละภาค และยังคงยืนยงท้าทายกาลเวลาตลอดมา ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปขนาดไหน จนมาถึงยุคที่หมอลำไม่จำเป็นต้องเล่นบนเวทีต่อไป และการถือกำเนิดของวัฒนธรรมยุคใหม่อย่างการ “บั้นเด้า” ที่เราได้เห็นกันบนโลกออนไลน์
โฆษณา