3 ก.ค. เวลา 12:00 • ความคิดเห็น

เหตุผลที่อินฟลูเอนเซอร์สายเรื้อน ถึงยังเป็นที่สนใจ

ด้วยความสัตย์จริงเลยนะครับมิตรสหายทุกท่าน นี่เป็นหัวข้อที่รบกวนจิตใจผมมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ช่วงเวลาที่ผมได้เพิ่งได้รู้สึกถึงความเอนจอยกับอินเทอร์เน็ตอยู่ กับพฤติกรรมชวนตั้งคำถามของคนบางกลุ่มบนโลกออนไลน์ ในยุคที่ใครก็สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ขอแค่มีไอเดียในการสร้างคอนเทนต์ดึงดูดความสนใจ ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าชุมชนและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นจุดรวมของคนร้อยพ่อพันแม่… ถ้าคนดี ๆ สามารถเป็นคนดังได้ คนเชี่ย ๆ ก็เช่นกัน
และเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีกระแสดราม่าขึ้นมาบนสื่อโซเชียล จากการที่มีอินฟลูเอนเซอร์รายหนึ่ง ถ่ายคลิป Montage ของตัวเองตอนลงไปนอนร้องเป็นเด็กทารกขณะที่ไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดการถกเถียงกับการทำอะไรแบบนี้ในที่สาธารณะ เพราะที่ผ่านมามันเคยมีกรณีที่นักท่องเที่ยว และ Tiktoker ชาวไทย เคยไปก่อพฤติกรรมงามหน้าจนถูกเพ่งเล็งมาก่อนแล้ว ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์รายแรกที่หากินกับการโชว์พฤติกรรมชวนตั้งคำถามผ่านหน้ากล้อง และจากยอดวิวและ Engagement ที่ได้ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลย…
นั่นเลยเกิดคำถามว่า “ทำไมอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำตัวแย่ ๆ มันถึงดังและได้รับความสนใจเยอะนัก”
ในช่วงที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาในไทยใหม่ ๆ นั่นเป็นยุคที่บรรดาแบรนด์, ธุรกิจ โดยเฉพาะเหล่า Creator ต่าง ๆ เห็นถึงศักยภาพในการเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก รวมถึงความอิสระในการสร้างผลงานจากไอเดียที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน จนกลายมาเป็นเพจดัง, แชนแนล และอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งกลายมาเป็นความทรงจำดี ๆ ของชาวเน็ตในยุคนั้นกันไม่น้อย
และแน่นอนว่าใคร ๆ ก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ ซึ่งนั่นก็รวมถึงคนบางกลุ่มที่ไม่ค่อยสนใจอะไรนอกจากการสนองความคึกคะนองของตัวเอง เริ่มจากการทำคอนเทนต์ห่าม ๆ จนข้ามเส้นความเหมาะสม สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นไปทั่ว ไล่ตั้งแต่ก่อกวนคนที่ผ่านไปมาแบบสุ่ม, สร้างความอับอายให้กับคนอื่นโดยอาศัยความที่อีกฝ่ายไม่รู้ภาษา ไปจนถึงสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินสาธารณะและส่วนบุคคล
ยกตัวอย่างในปี 2018 ที่มี Youtuber วัยรุ่นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “oslat.” ถ่ายคลิปปีนรถกลางไฟแดงแยกอโศก และหลังคาทางลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่บ้านแล้วรู้สึกเครียด ๆ เศร้าๆ จึงได้หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด อยากให้ตำรวจวิ่งไล่ และก็โดนตำรวจเล่นสมใจ โดนข้อหา “ก่อความเดือดร้อนรำคาญต่อหน้าธารกำนัล” ไปเน้น ๆ ทั้งนี้ผู้ที่ก่อเรื่องและเจ้าของไอเดียพิเรนทร์นี้เป็นเพียงสมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มเท่านั้น
หรือจะในปี 2022 ที่ “แจ็ก แปปโฮ” Youtuber สายตลก ที่ปีนขึ้นโต๊ะครัวในร้านอาหารญี่ปุ่นแบบโอมากาเสะร้านหนึ่ง ที่กลายมาเป็นดราม่าใหญ่โต เพราะด้วยความที่โต๊ะดังกล่าวเป็นโต๊ะสำหรับประกอบอาหาร ซึ่งร้านจะต้องใช้ทำให้ลูกค้าคิวอื่นต่อ ประกอบกับการกระทำที่มันไม่ควรทำในร้านอาหารมาตั้งแต่แรก และท่าทีของ Youtuber รายดังกล่าวที่พยายามแก้ต่างและปฏิเสธข้อกล่าวหาให้ตัวเอง จนในที่สุดต้องออกมายอมรับผิดตามตรง (ซึ่งตรงนี้ถ้าทำแต่แรกก็จบแล้ว แต่ทำไมไม่ยอมทำกันน้อ?)
ในสองกรณีข้างต้นนี้ เป็นเคสที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและตำหนิกัน แต่มันก็มีบางกรณีที่เป็นที่ถกเถียงกัน และบางเรื่องแม้จะผิดเต็มประตู แต่ก็ยังมีแฟนคลับหลับหูหลับตาออกหน้าเถียงแทน… เช่นในปี 2017 ที่ Youtuber ต่างชาติอย่าง “My Mate Nate” เอาเหรียญไปวางบนรางรถไฟ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ออกมายืนยันว่ามันสามารถทำรถไฟตกราง อีกทั้งสร้างความเสียหายกับล้อและรางได้ แต่มันก็ยังมีแฟนคลับของช่อง พากันออกมาปกป้องและแก้ต่างให้อย่างไม่ลืมหูลืมตา แม้จะมีการยืนยันโดยผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้แล้วก็ตาม…
อีกทั้งในปีเดียวกัน ก็ยังมีดราม่าเรื่องทำคลิปทดสอบสังคม โดยการแกล้งพูดจาแย่ ๆ หรือคำถามแปลก ๆ เป็นภาษาอังกฤษ กับคนที่ภาษาไม่แข็งแรง และตัดเอาแต่ส่วนที่ทำให้คนถูกถามดูแย่มาลง จนถูกวิจารณ์เป็นอย่างหนักว่าคอนเทนต์ดังกล่าวทำมาเพื่อเหยียดหยามคนไทย แน่นอนว่าก็มีคนออกมาเบลมว่าคนเหล่านี้ไม่ตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษเอง… แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ Youtuber รายนี้ก็ยังคงมีคนดูและแฟนคลับมาตลอด ไม่ว่าคอนเทนต์ที่ทำจะบ้งขนาดไหนก็ตาม เพราะเมื่อคลิปไหนมีปัญหา ก็แค่ลบคลิปแล้วออกมาขอโทษ
อีกกรณีที่สร้างข้อถกเถียงกันมากมายเลยก็คือเรื่องของ “ไฮโซปิง” หรือที่ชาวเว็ปพันทิปราว ๆ 10 กว่าปีก่อนจะคุ้นหูในชื่อ “ตัวประกอบปิงปิง” ที่ในปี 2022 ได้ทำคอนเทนต์โดยเรียกตัวเองว่า “นักเคลื่อนไหวเสรีภาพทางร่างกาย” ถอดเสื้อเดินห้างสรรพสินค้า พร้อมแคะจมูกโชว์ แม้จะมีเสียงที่ไม่โอเคก็ตาม แต่มันก็มีบางกลุ่มที่มองว่าเป็นสิทธิ์ทางร่างกายที่จะทำแบบนี้
ซึ่งประจวบเหมาะกับกระแสการเรียกร้อง “เสรีภาพทางกาย” และการต่อต้าน “Beauty Standard” ในเวลานั้น ซึ่งยังคงถกเถียงกันอยู่ระว่าง “เสรีภาพ” กับ “การไม่ดูแลตัวเอง (เรียกง่าย ๆ คือซกมก)”... ซึ่งเคสนี้อาจจะต้องแยกกับกรณีการนั่งบุฟเฟ่ต์กินแต่หน้าซูชิและทิ้งข้าว เพราะอันนี้ขัดกับนโยบายร้านชัดเจน
และเคสล่าสุดที่กำลังเป็นถกเถียงกัน ที่ลงไปนอนร้องเหมือนเด็กทารกกลางถนนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกิดประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ ถึงความเหมาะสมและกาลเทศะในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเวลาไปต่างประเทศ และจากที่ไปส่องมายังไม่เจอความเห็นที่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทำ (แต่ถ้าเจอก็ฝากบอกด้วยก็ดี )
แต่สิ่งที่เห็นในคลิปนี้ก็ยังอยู่ในโซน “ตั้งคำถาม” อยู่ดี จากการสอบถามกับมิตรสหายท่านหนึ่งที่ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นมานาน ถ้ามองในมุมของชาวญี่ปุ่นที่ค่อนข้างติดความเป็น Introvert อยู่ประมาณหนึ่ง ไม่ว่าไฮโซปิงทำอะไร แล้วคนที่นั่นจะชอบใจหรือไม่ชอบก็ตาม ตราบใดที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนกับบุคคลใด ๆ หรือทรัพย์สินของใครโดยตรง ก็จะไม่มีใครเข้าไปยุ่ง
แต่ถ้ามีใครไปแจ้งตำรวจหรือมีตำรวจเดินมาเจอเอง อันนี้ก็สามารถโดนเชิญไปคุยที่ป้อมตำรวจตามขั้นตอนของเขาแน่นอน เผื่อมีคนถามเรื่องการถ่ายคลิปแล้วติดหน้าคนที่นั่น ตามกฎหมายบ้านเขา ถ้าคนที่ติดอยู่คลิปไม่รู้สึกว่าเดือดร้อน ก็ยังถือว่าเซฟอยู่
ถ้าในเคสระดับโลก ก็ต้องเป็นกรณีของ “Johnny Somali” Streamer สาย IRL ที่ถูกคนในหลาย ๆ ประเทศจองกฐิณ ทั้งชาวญี่ปุ่น, ไทย และอเมริกัน การพฤติกรรมการ Live Stream ก่อความวุ่นวายและพูดจาเหยียดคนในประเทศนั้น ๆ
แม้เขาจะถูกแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Twitch แบนมาแล้ว แถมยังถูกประชิดตัวหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีทีท่าจะสำนึก ย้ายมาไลฟ์แพลตฟอร์มใหม่ ๆ และยังตามไป Stream Snipe ก่อกวน Streamer สาย IRL คนอื่นด้วย จนกระทั่งถูกตำรวจล้อมและจับสวมกุญแจมือคาไลฟ์ในที่สุด ล่าสุดถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว แต่ยังทำตัวแบบเดิมต่อ แค่เปลี่ยนประเทศที่ก่อเรื่อง
ปกติแล้วเราจะถูกสอนให้คิดดี ทำดี ไม่ก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น และสนับสนุนคนดี ๆ ยกเว้นอินฟลูเอนเซอร์และผู้ชมเหล่านี้ ซึ่งเลือกที่จะทำตรงกันข้าม แต่ทำไมพวกเขากลับมีชื่อเสียง, เป็นที่รู้จัก และได้รับการสนับสุนไม่แพ้อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคอนเทนต์ดี ๆ กันเลย?
ในส่วนของคอนเทนต์ที่อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ทำนั้น มันจะแบ่งได้ออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ หมวดแรกก็คือ
1. "เน้นคะนองเอามันส์" : เป็นคอนเทนต์ที่มุ่งเป้าในการสร้างความสนุกสนานจากการทำให้ใครสักคนอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้คนเสพรู้สึกตลกขบขัน เช่นการหลอกคนมาแกล้ง หรือการกระทำแบบสุดโต่งเพื่อความสะใจ โดยที่ไม่ต้องใช้สมองในการย่อยสาระเยอะ เช่นการเอาเหรียญไปวางบนรางรถไฟ หรือจับลูกแมวมาสู้กับแมงป่อง
2. "เน้นเรื่องที่เป็นที่ถกเถียง" : ส่วนนี้จะอาศัยความเหลี่ยมและไอเดีย อย่างเคส “ไฮโซปิง” เล่นกับประเด็น “เสรีภาพทางกาย” ด้วยการถอดเสื้อเดินห้างสรรพสินค้า อาศัยความที่ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันในสังคม บางประเด็นนั้นถือเป็นเกราะป้องกันในตัว เพราะมันอยู่ในโซนที่ก้ำกึ่ง ไม่สามารถฟันธงได้ว่ามันถูกหรือผิด
โดยหลัก ๆ แล้ว สาเหตุที่อินฟลูเอนเซอร์พวกนี้ได้ยังรับความสนใจ ทั้งที่หลาย ๆ วีรกรรมที่พวกเขาทำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี หรือไม่ใช่เรื่องที่สังคมยอมรับได้ มันสามารถจำแนกได้ 7 ข้อ ได้แก่…
1. เพราะโลดโผน : พฤติกรรมอื้อฉาวที่นำไปสู่ดราม่า หรือดราม่าที่เกิดขึ้นแล้ว สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้ง่าย เหมือนเวลามีแม่ค้าในตลาดตบกัน เราก็มักจะหยุดเพื่อมุงดูก่อนโดยไม่รู้ตัว
2. คุณค่าจากความตระหนก : สิ่งที่ก่อให้เกิดความตระหนกย่อมมีความโดดเด่นและดึงดูดสายตาเสมอ เพราะมันก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ผิดจากความปกติในชีวิตประจำวัน และความตระหนกตกใจพวกนี้ ก็รวมถึงการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญด้วย
3. ความอยากรู้อยากเห็น : ความขี้เผือกนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเมื่อเรารับรู้ถึงวีรกรรมเกรียน ๆ ของอินฟลูเอนเซอร์รายนั้นแล้ว มันก็กระตุ้นให้เราจับตาดู ด้วยความที่อยากรู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าอยากเผือกทำไง? ก็เปิดวาร์ปไปเลยจ้าาา!
4. อัลกอริธึมของสื่อโซเชียล : แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมักใช้อัลกอริธึมที่จัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาที่สร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงการถูกใจ ความคิดเห็น และการแชร์ แม้แต่ความสนใจและการโต้เถียงเชิงลบก็สามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมได้
5. การแบ่งขั้วทางสังคม : เมื่อสิ่งอินฟลูเอนเซอร์ได้ก่อเรื่องไว้ถูกเผยแพร่ออกไป ชาวโซเชียลก็จะเกิดการแบ่งฝักฝ่ายขึ้น โดยฝั่งหนึ่งเข้ามาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่อีกฝั่งก็จะมีคนที่ติดตามเพื่อสนับสนุนการกระทำของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งไม่ว่าจะฝั่งไหน ก็ช่วยเพิ่มการมองเห็นให้กับคอนเทนต์นั้น ๆ ทั้งสิ้น
6. ขายได้เพราะอื้อฉาว : เรื่องราวเชิงลบมักเป็นที่สนใจของผู้คนเสมอ และมันเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ยุคก่อนการมาของสื่อสังคมออนไลน์แล้ว และเมื่อได้รับคขวามสนใจหรือถูกพูดถึงมาก อินฟลูเอนเซอร์คนนั้นก็ได้ชื่อเสียงมากขึ้น… และคนพวกนี้มองว่า ไม่ว่าจะชื่อเสียงแง่ไหน ชื่อเสียงก็คือชื่อเสียง
7. เห็นคนพลาดแล้วฟิน : มันจะมีคนจำพวกหนึ่งที่มักมีความสุขกับความทุกข์ของชาวบ้าน เอนจอยเวลามีคนเจออะไรแย่ ๆ ในชีวิต เช่นการมีคนเจ็บตัวหรือถูกแกล้ง และนี่แหละ… คือจุดขายในคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์พวกนี้ ซึ่งเราอาจจะต้องแยกแยะกันก่อนว่าอินฟลูเอนเซอร์สายแกล้งบางราย จะเน้นเล่นกันเองในกลุ่ม และจะไม่เล่นอะไรห่าม ๆ ในที่สาธารณะเพื่อกันของเข้าตัว
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ได้การทำคอนเทนต์ทำนองนี้ คือ “ความสนใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะการเข้าถึงคนเป็นจำนวนมาก ๆ นั้น จะหมายถึงการรับประกันว่าแบรนด์และสินค้าต่าง ๆ จะยอมจ่ายเงินเพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้โปรโมทผลิตภัณฑ์ของพวกเขา
ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าฝ่ายการตลาดจะแคร์เรื่องภาพลักษณ์แบรนด์ตัวเองขนาดไหน อย่างกรณีของร้านสุกี้หม่าล่าเจ้าหนึ่ง ที่ใช้ "เกื้อ เพียวพังก์" มาโฆษณาแบรนด์ให้ตนเอง และอินฟลูเอนเซอร์รายนี้ก็ปีนขึ้นไปเหยียบบนโต๊ะสายพาน จนถูกตั้งคำถามถึงเรื่องสุขอนามัย และการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่ได้ตรงกับภาพลักษณ์ของแบรนด์
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น “ชื่อเสียงและการเข้าถึง” ไม่ว่าจะเป็นในแง่ไหนมันก็มีค่าเท่ากัน มันสามารถสร้างมูลค่าและเงินได้เหมือนกัน ยิ่งทำให้เกิดการถกเถียงได้ยิ่งดี เพราะถือว่าคนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับคอนเทนต์แล้ว หรือถ้าให้พูดแบบเบียว ๆ… พวกนายเข้ามาอยู่ในระยะ Stand ของชั้นแล้วยังไงล่ะ! รวมถึงการที่พวกนายคอมเม้นต์เพราะไม่พอใจหรือเห็นแย้งกับบทความนี้ก็ด้วย!
ในยุคสมัยนี่ใคร ๆ ก็สร้างคอนเทนต์ได้ ทำให้ผู้เสพคอนเทนต์ต่าง ๆ ต้องใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก อาจจะเพราะความที่โลกออนไลน์มีอิสระสูง, การควบคุมทำได้ยาก และไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ทุกคนจะได้เรียนรู้เรื่องของจรรยาบรรณสื่อมาก่อน
สิ่งที่เราพอจะทำได้ และเรามักจะบอกอยู่เสมอ ก็คือการใช้วิจารณญาณในการแยกแยะถูกผิดและรู้เท่าทันคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ เพราะถ้าเราเสพสื่อกันอย่างไม่มีสติ เราก็อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับครีเอเตอร์บ้ง ๆ ที่ชอบทำเรื่องไม่สร้างสรรค์เพื่อยอดผู้ชมเหล่านี้โดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้
โฆษณา