3 ก.ค. เวลา 07:01 • การตลาด

จดด่วน! 14 เคล็ดลับเพิ่มยอดผู้ติดตาม YouTube แบบง่าย ๆ ไม่ต้องพึ่งโฆษณา มือใหม่ก็ทำได้

ไม่ว่าจะเป็นครีเอเตอร์มือใหม่ หรือครีเอเตอร์ที่สร้างช่องมาได้สักพักแล้ว แต่อยากจะเพิ่มยอดผู้ติดตามให้มากขึ้น เทคนิคที่เราจะนำมาแชร์ต่อไปนี้ เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มยอดผู้ติดตามบน YouTube แบบออร์แกนิค (Organic) แต่ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดทุกเทคนิคพร้อมกันก็ได้นะคะ ลองเลือกทำสักหนึ่งวิธีกับวิดีโอใหม่แต่ละคลิป หรือค่อย ๆ ทยอยทำสักหนึ่งถึงสองวิธีต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้วค่ะ ไปดูกันเลย
1. ชวนให้ผู้ชมกดติดตาม
ไม่มีอะไรง่ายไปกว่าวิธีนี้แล้วล่ะค่ะ การเตือนให้ผู้ชมกดติดตามเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี แต่การขอให้กดติดตามอาจจะดูเหมือนพยายามขายของเกินไป ถ้าเราทำบ่อย หรือเร็วเกินไป ดังนั้นต้องทำในจังหวะที่เหมาะสม เช่น การเตือนให้กดติดตามสั้น ๆ ตอนท้ายของวิดีโอ หลังจากที่เราได้มอบเนื้อหาที่มีประโยชน์หรือสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมไปแล้ว
2. ทิ้งท้ายวิดีโอด้วยการเกริ่นเนื้อหาที่เราจะทำต่อไป
การบอกใบ้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในวิดีโอถัดไปจะช่วยกระตุ้นความอยากรู้ของผู้ชม ทำให้เกิดความคาดหวัง และกระตุ้นให้ผู้ชมกดติดตามเพื่อไม่ให้พลาดเนื้อหาใหม่ ๆ
3. สร้างสัมพันธ์และเป็นเพื่อนกับผู้ชม
การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ชมจะทำให้ผู้ชมอยากติดตามผลงานของเรามากขึ้น ด้วยการตอบกลับความคิดเห็น ติดตามช่องของผู้ชมกลับเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน หรือสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ไปจนถึงการโปรโมตซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในส่วนความคิดเห็นยังอาจช่วยให้เราได้รับฟีดแบ็กและไอเดียสำหรับวิดีโอต่อไปอีกด้วย
4. สร้าง Branding ให้กับช่อง
การสร้างแบรนด์เป็นวิธีสำคัญในการบอกให้ผู้ชมรู้ว่าเราเป็นใคร และผู้ชมจะได้อะไรจากช่องของเรา
- ภาพปกช่อง (Banner art)
เป็นการต้อนรับทุกคนที่คลิกเข้ามาที่ช่องของเรา บางทีคนเหล่านี้อาจเพิ่งดูคลิปจบและกำลังหาอะไรดูต่อ หรืออาจเป็นคนที่กำลังจะกดติดตาม ดังนั้นภาพปกช่องควรทำให้ผู้ชมรู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน และทำไมควรอยู่ต่อ ภาพปกจึงต้องดูสะอาดตา สื่อถึงแบรนด์ น่าสนใจ และต้องปรับให้เหมาะกับทุกอุปกรณ์ ที่สำคัญอย่าลืมแปะช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ของเราด้วยนะ
- ไอคอนช่อง (Channel icon)
เป็นเหมือนโลโก้ของเราบน YouTube ดังนั้นควรแสดงตัวตนและแบรนด์ของเราได้อย่างชัดเจน และสามารถจดจำได้ง่ายแม้จะมีขนาดเล็ก
- คำอธิบายช่อง (Channel description)
อย่าลืมใช้พื้นที่ 1,000 ตัวอักษรให้คุ้มค่า โดยการอธิบายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของช่อง และให้เหตุผลว่าทำไมผู้ชมควรติดตาม
5. ปรับแต่งวิดีโอแนะนำ
YouTube มีตัวเลือกให้ปรับแต่งพื้นที่วิดีโอไฮไลท์สำหรับแสดงบนหน้าแรกของช่อง เราสามารถแสดงวิดีโอแนะนำช่องสำหรับคนที่ยังไม่ได้ติดตาม เพื่อแนะนำแบรนด์ และแสดงวิดีโออื่น ๆ สำหรับคนที่ติดตามแล้ว เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างออกไป และมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ชมได้
6. สร้างภาพ Thumbnail ที่โดดเด่น
ภาพหน้าปกวิดีโอ (Thumbnail) เป็นเหมือนโปสเตอร์หนังเล็ก ๆ ที่ช่วยดึงดูดให้คนคลิกเข้ามาดูวิดีโอของเรา การใช้ภาพหน้าปกที่ดูเป็นมืออาชีพ และสม่ำเสมอเป็นอีกส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ให้กับช่องของเรา ควรออกแบบ Thumbnail ให้สื่อถึงแบรนด์ โดยลองใช้ฟอนต์ สี หรือแม้แต่การจัดองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกันในทุก ๆ ภาพหน้าปก เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับช่องดูนะคะ
7. ใช้เครื่องมือกดติดตามแบบคลิกได้ของ YouTube
YouTube รู้ดีว่าเรากำลังหาวิธีเพิ่มจำนวนผู้ติดตามช่อง นั่นเป็นเหตุผลที่ YouTube มีเครื่องมือในตัวหลายอย่างที่ช่วยให้คนกดติดตามช่องของเราได้ง่ายขึ้น เพื่อช่วยเปลี่ยนคนที่ดูวิดีโอให้กลายเป็นผู้ติดตามช่อง ไม่ว่าจะเป็น
- End screen: เป็นภาพนิ่งท้ายวิดีโอที่สามารถใส่ข้อความเตือนให้คนกดติดตาม หรือใส่ลิงก์อื่นๆ ได้ โดยสามารถเพิ่ม End screen ลงในวิดีโอใดก็ได้ในระหว่างการอัปโหลด หากวิดีโอนั้นมีความยาวเกิน 25 วินาที
- ลายน้ำของแบรนด์ (Brand watermark): เป็นปุ่มกดติดตามเพิ่มเติม ที่จะลอยอยู่ที่มุมล่างขวาของวิดีโอ เราสามารถเลือกว่าจะให้ลายน้ำปรากฏตอนไหนก็ได้
8. สร้างเพลย์ลิสต์ (Playlist)
เพลย์ลิสต์เป็นวิธีที่ดีมากในการเพิ่มเวลารับชมให้กับช่อง คล้ายๆ กับซีรีส์ใน Netflix เพลย์ลิสต์ใน YouTube จะเล่นวิดีโอหลาย ๆ คลิปต่อเนื่องกันโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ชมไม่ต้องคลิกเลือกวิดีโอถัดไปเอง แค่นั่งดูสบาย ๆ ปล่อยให้เนื้อหาเล่นไปเรื่อย ๆ
ลองคิดว่าแต่ละเพลย์ลิสต์เป็นเหมือนช่องย่อยหรือซีรีส์ที่ดำเนินอยู่เรื่อย ๆ ถ้าผู้ชมดูวิดีโอติดต่อกันสองสามคลิปแล้วชอบ ก็มีโอกาสสูงที่ผู้ชมจะกดติดตามช่องเพื่อดูวิดีโออื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนั้นการดึงดูดผู้ชมด้วยซีรีส์ที่น่าสนใจเป็นวิธีที่ได้ผลดีมากในการเพิ่มยอดผู้ติดตามฟรี ๆ บน YouTube
9. จัดเรียงเนื้อหาบนหน้าช่องอย่างมีกลยุทธ์
ในแท็บ "Layout" ใน YouTube Studio เราสามารถเพิ่มส่วนต่าง ๆ ได้สูงสุด 12 ส่วนบนหน้าแรกของช่องเพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่ดีที่สุดของเราให้ผู้เข้าชมใหม่ ๆ ได้เห็น และกระตุ้นให้กดติดตาม โดยค่าเริ่มต้นของเลย์เอาต์จะมี 4 ส่วนอยู่แล้ว ได้แก่:
- Short videos (วิดีโอสั้น)
- Uploads (วิดีโอที่อัปโหลด)
- Created playlists (เพลย์ลิสต์ที่สร้างขึ้น)
- Subscriptions you’ve made public (ช่องที่เรากำลังติดตาม)
เราสามารถแก้ไขส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดที่มีอยู่แล้วนี้ หรือจะเพิ่มส่วนใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอเพลย์ลิสต์ที่เราสร้างขึ้นได้อีกด้วย
10. อัปโหลดวิดีโออย่างสม่ำเสมอ
กฎที่ไม่ได้เขียนไว้อย่างเป็นทางการของการเผยแพร่วิดีโอบน YouTube คือ เริ่มจากการโพสต์วิดีโอ 1 คลิปต่อสัปดาห์ และเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 คลิปต่อสัปดาห์เมื่อช่องเริ่มเติบโตขึ้น ว่ากันว่ายิ่งมีวิดีโอมากขึ้น = เวลาชมจากผู้ชมมากขึ้น แต่การเน้นแต่ปริมาณโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพก็มีข้อเสียเหมือนกัน
หากเป้าหมาย คือ อยากเปลี่ยนคนดูให้เป็นผู้ติดตาม เราก็ต้องเน้นที่คุณภาพก่อน แล้วค่อยมาดูความสม่ำเสมอ และเมื่อมีชื่อเสียงที่มั่นคงแล้ว ค่อยให้ความสำคัญกับปริมาณ ถ้าเราอัปโหลดวิดีโออย่างสม่ำเสมอ ผู้ชมจะรู้ว่าจะมีเนื้อหาดี ๆ มาให้ดูเพิ่มอีกแล้ว และผู้ชมก็จะมีแนวโน้มที่จะกดติดตามมากขึ้นได้
11. ดึงผู้ชมจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ มาที่ช่อง
หมายถึงการโปรโมตข้ามแพลตฟอร์มนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น X (Twitter), Instagram, TikTok, Facebook และเว็บไซต์ หรือที่ไหนก็ตามที่เรามีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว อาจทำง่าย ๆ แค่ชวนคนไปดูช่อง YouTube ของเรา เช่น การใส่ลิงก์ช่อง YouTube ใน bio ของ Instagram หรือบน Instagram Stories หรือเพิ่มฟีดวิดีโอในหน้าแรกของเว็บไซต์ รวมถึงการโพสต์ตัวอย่างวิดีโอล่าสุดก็เป็นอีกวิธีที่ดีในการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาที่ช่องจากบัญชีโซเชียลอื่น ๆ ได้ง่าย ๆ
12. ค้นหาคีย์เวิร์ดสำหรับชื่อเรื่อง (Titles) คำอธิบาย (Descriptions) และแฮชแท็ก (Hashtags)
การใช้คำหลักที่เหมาะสมจะช่วยให้วิดีโอติดอันดับในการค้นหาของ YouTube ได้ดีขึ้น และทำให้ผู้ชมที่สนใจเจอวิดีโอง่ายขึ้น
- เครื่องมือ SEO (Search Engine Optimization) อย่าง Google Keyword Planner จะช่วยระบุคำและวลีที่ผู้คนใช้ในการค้นหาข้อมูลที่เรากำลังนำเสนอ เป้าหมายของเรา คือ การค้นหาหัวข้อที่อยู่ในจุดที่พอดี มีการแข่งขันต่ำ แต่มีปริมาณการค้นหาสูง สิ่งนี้จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการทำวิดีโอที่ไม่มีใครค้นหา หรือวิดีโอที่มีชื่อเรื่องที่ไม่มีใครสามารถหาเจอได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้หลีกเลี่ยงการสร้างเนื้อหาในหัวข้อที่มีการแข่งขันสูงในเวลาที่เรายังไม่พร้อมอีกด้วย
- เมื่อเริ่มสร้างช่องแล้ว เราสามารถใช้ YouTube Analytics เพื่อดูว่าคีย์เวิร์ดไหนที่พาผู้คนมาสู่วิดีโอของเราได้บ้าง เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปปรับใช้กับเนื้อหาที่จะสร้างในอนาคต โดยให้คลิกที่เมนู Analytics ทางด้านซ้ายของ YouTube Studio จากนั้นคลิกที่ Traffic Source ในเมนูด้านบน แล้วคลิกที่ YouTube Search เพื่อดูรายการของผลการค้นหายอดนิยมที่พาผู้ชมมาสู่ช่องของเรา
13. ให้ความสำคัญกับข้อมูล
เราสามารถเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าได้จาก YouTube Analytics เช่น ผู้ชมของเราอยู่ที่ไหนเมื่อกดติดตามช่อง ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่ากลยุทธ์ YouTube ของเรามีจุดแข็งตรงไหน นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยเฉพาะจากผู้ติดตามปัจจุบัน เพื่อให้รู้ว่าผู้คนเข้ามาและอยู่เพื่อดูเนื้อหาประเภทไหน
14. ร่วมมือกับครีเอเตอร์คนอื่น
เรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับเคล็ดลับเรื่องการสร้างคอมมูนิตี้ ลองใช้คอนเนคชั่นที่เรามีเพื่อค้นหาครีเอเตอร์คนอื่น ๆ ใน YouTube เพื่อร่วมงานด้วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมของกันและกันได้ เพราะผู้ชมของเราจะเชื่อถือคำแนะนำของเรา และผู้ชมของครีเอเตอร์คนอื่น ๆ ก็จะเชื่อถือคำแนะนำของคนที่พวกเขาติดตามเช่นกัน
เมื่อช่องเราเริ่มมีผู้ติดตามมากขึ้น เราอาจพบว่าผู้ติดตามของเราเสนอไอเดียการร่วมงานกับคนอื่นให้ก็ได้ แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้น ลองสำรวจ YouTube ด้วยตัวเองเพื่อหาคนที่น่าจะร่วมงานด้วยได้ในสายงานของเราดูก่อน ถ้าเจอคนที่ดูน่าสนใจ ก็ลองติดต่อไปเลยค่ะ
เทคนิคเหล่านี้ช่วยให้ครีเอเตอร์เพิ่มยอดผู้ติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องพึ่งโฆษณา เหมาะสำหรับทั้งมือใหม่และครีเอเตอร์ที่ต้องการพัฒนาช่อง การทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะช่วยสร้างฐานผู้ติดตามที่แข็งแกร่ง และเพิ่มโอกาสความสำเร็จบน YouTube ในระยะยาว อย่าลืมว่าการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควบคู่ไปกับการใช้เทคนิคเหล่านี้เพื่อเพิ่มการมองเห็นและการมีส่วนร่วมกับช่องค่ะ
โฆษณา