3 ก.ค. เวลา 14:02 • ปรัชญา

การให้อภัย เป็นมากยิ่งกว่าบุญคุณ

สำหรับผู้ศรัทธาแล้ว การให้อภัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขายิ่งกว่าการตอบแทนของคนที่ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะว่าเราคาดหวังการตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์ด้วยกัน
มนุษย์นั้น มักมีความเย่อหยิ่ง ความต้องการทำตามอารมณ์อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “การคิดเป็นบุญคุณ” เมื่อเราให้อภัยกับใครไปครั้งหนึ่ง เรามักจดบันทึกลงในหัวใจ ว่าวันหนึ่ง เขาจะต้องตอบแทนเรา เพราะว่าวันนี้ เรายอมให้อภัยเขา สิ่งนี้ นับเป็นการทวงบุญคุณกับคน ให้อภัยคนอื่น เพียงแค่เพื่อหวังผลประโยชน์ในอนาคตเท่านั้น
สำหรับบางคน ให้อภัย 1 ครั้ง แต่กลับเรียกร้องผลประโยชน์ นับ 10 ครั้ง พอครั้งที่ 11 ไม่ได้อย่างที่ใจคิด ก็จะเกิดการทวงบุญคุณเกิดขึ้น ว่าจำได้ไหม เมื่ออดีต เคยทำอะไรกับฉันไว้ แต่ฉันก็ยังยอมให้อภัยเลยนะ แทนที่จะเกิดความสงบสุขจากการให้อภัย แต่มันอาจเป็นการสร้างความโกรธแค้น ความร้าวฉานภายในหัวใจของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้
พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะห์อันนูร อายะห์ที่ 22 ความว่า [และผู้มีเกียรติและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเจ้าจงอย่าได้สาบานที่จะไม่ให้ (ความช่วยเหลือ) แก่ญาติสนิท แก่คนยากจนและผู้ที่อพยพในหนทางของอัลลอฮ์ และพวกเขาจงอภัย และยกโทษ (ให้แก่เขาเถิด) พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮ์จะทรงอภัยให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ]
โองการนี้ เป็นการเตือนพวกเราทุกคนว่า “พวกเจ้าไม่ชอบหรือ ที่อัลลอฮ์จะทรงอภัยให้แก่พวกเจ้า” สำหรับผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้น เราเชื่ออย่างหมดหัวใจ ว่าเมื่อเราให้อภัยกับใครแล้ว พระองค์อัลลอฮ์จะทรงตอบแทนความดีนี้ให้กับเรา เป็นการให้อภัยเพื่อนมนุษย์ และหวังผลตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น จะไม่มีการทวงบุญคุณ ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ในอนาคต เป็นสังคมที่เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง
และสำหรับผู้ที่อธรรมกับเรานั้น พระองค์ก็จะทรงลงโทษเขา พระองค์ให้กำลังใจเราในกุรอานบ่อยครั้ง ว่า ‘ความสำเร็จเป็นของผู้ที่อดทน’ ‘จงเอาชนะความชั่วด้วยสิ่งที่ดีกว่า’ ‘อย่าทวงบุญคุณ’ และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
อย่าลืมว่าเราทุกคนนั้นต้องตาย และผู้ศรัทธาใช้ชีวิตด้วยการหวังผลตอบแทนหลังความตาย ต่อให้เราโกรธเกลียดกันมากแค่ไหน วันหนึ่งเขาต้องตาย และวันหนึ่งเราเองก็ต้องตายเช่นเดียวกัน เมื่อนั้นเราจะได้รู้ว่า คุ้มค่าแล้ว ที่ได้ให้อภัยกันเมื่อตอนมีชีวิตอยู่
#ศาสนาอิสลาม #ปรัชญาอิสลาม #ศาสนา #สัจธรรม
โฆษณา