Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยว หา เรื่อง
•
ติดตาม
4 ก.ค. 2024 เวลา 07:33 • ท่องเที่ยว
ศาลเจ้าอิมาโดะ
ไหว้ขอพรที่ญี่ปุ่น - หาคู่ ครองรักยืนนาน ณ ศาลเจ้าอิมาโดะ
วันนี้ จะขอพาท่านผู้อ่านไปเยือนศาลเจ้าที่ขึ้นชื่อว่า เป็นหนึ่งในศาลเจ้ายอดนิยมของย่านอาซากุสะ (Asakusa) ในมหานครโตเกียวกันค่ะ ศาลเจ้าแห่งนี้ เป็นสถานที่ซึ่งคนไร้คู่ก็นิยมมา คนมีคู่แล้ว ก็นิยมมาเหมือนกัน
ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ นั่นก็เพราะความเชื่อกันว่า ถ้ายังไร้คู่ มาขอพรที่นี่ เดี๋ยวก็จะได้คู่ ส่วนคนที่มีคนรักอยู่แล้ว หากได้มาอธิษฐานด้วยกัน ก็จะมีความรักมั่นยืนนาน ประมาณถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร นั่นคือ ศาลเจ้าอิมาโดะ (Imado Jinja Shrine)
ศาลเจ้าแห่งนี้ มีสัญลักษณ์ของความรักที่แตกต่างไปจากศาลเจ้าที่ดังเรื่องรักในที่อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกระต่าย ที่คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นสัตว์บริวารขององค์เทพแห่งความรัก แต่สำหรับศาลเจ้าอิมาโดะแล้ว สัญลักษณ์แห่งรักเป็นแมวกวักค่ะ และรูปประติมากรรมแมวกวักที่ศาลเจ้าแห่งนี้ก็ล้วนแล้วแต่น่ารักน่าชังทั้งนั้น เรียกว่า ทาสแมวต้องใจละลายกันแน่ๆ
แต่ก่อนที่จะเล่าว่า ทำไมศาลเจ้าอิมาโดะถึงได้มีความเกี่ยวพันกับเรื่องความรักจนเป็นที่ขึ้นชื่อ และทำไมต้องเป็นแมวกวักแห่งรัก ก็ต้องขอย้อนเล่าไปถึงประวัติที่มาของศาลเจ้าเสียก่อน นั่นคือ ก่อนที่จะมีศาลเจ้าอิมาโดะ ณ อาซากุสะนี้ แรกเริ่มเดิมที มีศาลเจ้าอิวาชิมิสึ ฮาจิมังกุ (Iwashimizu Hachimangu) ในกรุงเกียวโตที่มีชื่อเสียงอยู่ก่อน ตั้งแต่สมัยเฮอัน (ค.ศ.794-1185)
โดยเป็นศาลเจ้าที่ขึ้นชื่อเรื่องการศึกสงคราม ในช่วงนั้น นายพลมินาโมโตะ โนะ โยริโยชิ (Minamoto no Yoriyoshi) นักรบผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นได้ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ เพื่ออธิษฐานขอให้ประสบความสำเร็จในการต่อสู้ และผลของการรบก็ออกมาได้ชัยชนะอย่างที่หวัง
ครั้นต่อมา ในปี ค.ศ.1063 นายพลมินาโมโตะ โนะ โยริโยชิ ได้มาถึงโตเกียว และรำลึกถึงศาลเจ้าอิวาชิมิสึ ฮาจิมังกุที่นับถือ ประกอบกับได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระจักรพรรดิ โกะเรเซ (Emperor Goreizei) ซึ่งครองราชย์ในช่วง ค.ศ.1045 – 1068 ให้สร้างศาลเจ้าที่โตเกียว ท่านนายพลมินาโมโตะก็เลยริเริ่มให้สร้างสาขาของศาลเจ้าอิวาชิมิสึ ฮาจิมังกุขึ้นในย่านอาซากุสะ ซึ่งก็เป็นตำแหน่งปัจจุบันของศาลเจ้าอิมาโดะที่เรากำลังเล่าถึงนั่นเอง
แต่ในช่วงแรกของการสร้างศาลเจ้านั้น เคยใช้ชื่อว่า ศาลเจ้าอิมาโดะ ฮาจิมังกุ (Imado Hachimangu) มาก่อน
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกๆ ศาลเจ้าอิมาโดะ ฮาจิมังกุยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก พูดง่ายๆ คือ คนไม่ค่อย “ขึ้น” ก็เลยทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา แถมในช่วงเวลานั้น ประเทศญี่ปุ่นมีศึกสงครามภายในอยู่เนืองๆ วัดวาอาราม ศาลเจ้าต่างๆ ก็เลยไม่ค่อยจะได้รับการดูแลมากนัก
จนกระทั่งปี ค.ศ.1081 ลูกชายของท่านนายพลมินาโมโตะ โนะ โยริโยชิ คือ มินาโมโตะ โนะ โยชิอิเอะ (Minamoto no Yoshiie) ซึ่งกำลังเป็นผู้นำทางการทหารอยู่ที่ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku Region) ได้รุกไล่ศัตรูจนผ่านมาถึงอาซากุสะ ก็เลยได้โอกาสมาสักการะศาลเจ้าอิมาโดะ ฮาจิมังกุที่ท่านบิดาได้สร้างเอาไว้
และก็เหมือนท่านพ่อค่ะ มินาโมโตะ โนะ โยชิอิเอะ ผู้บุตรชายได้อธิษฐานขอพรว่า ขอให้ชนะการศึก แล้วก็ได้ชัยมาจริงๆ ดังนั้น หลังเสร็จสงครามรบรันพันตูแล้ว ก็เลยกลับมาปรุงปรุงศาลเจ้าให้ดีกว่าเก่า และพลอยทำให้ประชาชนมา “ขึ้น” จนศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่นิยมของชาวอาซากุสะด้วย
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ญี่ปุ่นยังไม่พ้นจากสงครามกลางเมือง ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้เสียหายไปอีกหลายหน แต่ก็มีผู้บูรณะใหม่เรื่อยมาในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงของโชกุนในยุคเอโดะ ท่านโทกูงาวะ อิเอมิตสึ (Tokugawa Iemitsu) โชกุนลำดับที่ ๓ ผู้มีชื่อเสียงได้สั่งการให้บูรณะศาลเจ้าอิมาโดะ ฮาจิมังกุจนสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ.1636
แต่เคราะห์กรรมก็ยังไม่หมดสิ้น ในปี ค.ศ.1920 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ศาลเจ้าก็เลยถูกทำลายไปอีก และอาจจะเป็นเพราะการที่ต้องสร้างใหม่กันหลายๆ หน ประกอบกับมีศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่งอยู่ข้างๆ คือ ศาลเจ้าฮาคุซัง (Hakusan Shrine) ดังนั้นพอบูรณะไปบูรณะมา ก็เลยมีการรวมศาลเจ้าทั้งสองแห่งเข้าด้วยกันเสียเลยเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.1939
และนับแต่นั้น ศาลเจ้าแห่งนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ศาลเจ้าอิมาโดะ มาจนปัจจุบัน ทว่าในเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการทิ้งระเบิดถล่มโตเกียวจำนวนมาก ทำให้ศาลเจ้าอิมาโดะถูกทำลายลงไปอีก แต่ด้วยจิตศรัทธาของประชาชน ก็ได้รวบรวมเงินบริจาคกันเพื่อบูรณะครั้งใหญ่อีกหน จนสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้
อาคารหลักของศาลเจ้า
และดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า ศาลเจ้าอิมาโดะมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่บรรดานักรบได้มาไหว้ขอพร นั่นก็ต้องย้อนไปว่า เป็นเพราะเชื่อกันว่าศาลเจ้าแห่งนี้มีจิตวิญญาณของสมเด็จพระจักรพรรดิโอจิง (Emperor Ojin) ประดิษฐานอยู่ พระองค์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ (ในตำนาน) องค์ที่ ๑๕ ของญี่ปุ่น ครองราชย์ ค.ศ. 270–310 และได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพแห่งสงคราม ชัยชนะ
ดังนั้น นับแต่อดีตหลายร้อยปีจนมาถึงปัจจุบัน ผู้คนก็เลยนิยมมาไหว้ศาลเจ้าอิมาโดะ เพื่อขอพรให้ประสบความสำเร็จในเรื่องการต่อสู้ การขอชัยชนะ และความสำเร็จเรื่องการงานตามฤทธีของสมเด็จพระจักรพรรดิโอจิงนั่นเอง
แต่..ดังได้โปรยหัวมาเบื้องต้นแล้วว่า จุดเด่นของศาลเจ้าอิมาโดะ คือ เรื่องของความรัก แล้วเล่ามาตั้งเยอะ ความรักมาตอนไหนล่ะ ก็จะมาตอนนี้แล้วล่ะค่ะ นั่นคือ นอกจากจิตวิญญาณของสมเด็จพระจักรพรรดิโอจินแล้ว ในศาลเจ้าอิมาโดะ ยังมีองค์เทพที่ใหญ่ “บิ๊กเบิ้ม” กว่านั้น คือ เทพที่ได้ชื่อว่า เป็นมหาเทพบิดร และเทพีมารดาแห่งญี่ปุ่น คือ เทพอิซานากิ โนะ มิโกโตะ (Izanagi no Mikoto) และอิซานามิ โนะ มิโกโตะ (Izanami no Mikoto)
ทั้งสองพระองค์เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้าง ถือว่าเป็นเทพและเทพีที่สร้างประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ เมื่อทั้งสองพระองค์ได้อภิเษกสมรสกันแล้ว ก็ได้ให้กำเนิดเทพจำนวนมาก ซึ่งภายหลังเทพต่างๆ ก็มีลูกหลานเป็นชาวญี่ปุ่นสืบมา ไม่เพียงเท่านั้น มหาเทพบิดร และเทพีมารดายังเป็นองค์ผู้ให้กำเนิดภูเขา ทะเล พืชพรรณต่างๆ ด้วย
นี่ไงคะ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความรักเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เมื่อศาลเจ้าอิมาโดะ เป็นที่สถิตย์ของเทพอิซานากิ โนะ มิโกโตะ และอิซานามิ โนะ มิโกโตะ ซึ่งถือว่าเป็นสองมหาเทพที่เป็น “คู่ชื่น” ก็เลยทำให้ผู้คนนิยมมาไหว้สักการะ เพื่อขอชีวิตสมรสที่ดี การครองคู่ที่ยืนยาว มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง
และเมื่อครั้นคนมีคู่นิยมมาขอพรให้ชีวิตคู่ยั่งยืนแล้ว คนไร้คู่ก็เลยคิดว่า ถ้ายังหาคู่ไม่ได้ ก็มาขอพรทั้งสองพระองค์ท่านได้ด้วยเหมือนกัน เพื่อจะได้สมหวังให้เรื่องการหาคู่เสียที ทำไปทำมา ก็เลยมีคนมาขอคู่ที่ศาลเจ้าอิมาโดะกันคับคั่ง
คับคั่งขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่า สำนักงานศาลเจ้าถึงกับเปิดให้บริการจัดงานหาคู่เลยทีเดียว เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาของคนญี่ปุ่น ที่มักจะทำแต่งาน จนไม่มีเวลาไปมองหาหนุ่มสาวที่ไหน จนเกิดเป็นบริษัทจัดหาคู่ขึ้นมาจำนวนมาก ที่คอยจัดงานเพื่อให้คนโสดได้โอกาสมาเจอกัน โดยบริษัทเหล่านี้จะทำหน้าที่คัดสรรเบื้องต้น ว่าคนที่จะเข้าร่วมงาน “นัดบอด” นี้ ต้องโสด มีหน้าที่การงานที่เหมาะสมกับคนที่จะเข้าร่วมงาน
แต่สำหรับบริการของศาลเจ้าอิมาโดะนี้ แม้ว่าศาลเจ้าจะจัดให้มีพิธีการนัดดูตัว แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัด หรือตรวจสอบเหมือนอย่างที่บริษัทจัดคู่ทำ คือใครที่สนใจ ก็แค่เข้าไปดูตารางเวลาจัดงานในเว็บไซต์ของศาลเจ้า แล้วสมัครเข้าร่วมงานได้เลย เมื่อสมัครและได้การตอบรับทางไปรษณียบัตรแล้ว ก็เข้าร่วมงานตามวันเวลาที่กำหนด ซึ่งศาลเจ้าย้ำแล้วย้ำอีกว่า นี่เป็นเพียงบริการของศาลเจ้า ไม่ใช่ธุรกิจจัดหาคู่แบบเอกชน จึงไม่ได้มีการตรวจสอบผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียดก่อน
เช่นว่า คนที่มาโสดหรือหนีเมียมา จึงเตือนว่า คนที่จะมา จะต้องรับผิดชอบตัวเอง และหากเจอคนถูกใจ จะสานต่อความสัมพันธ์กันอย่างไรก็แล้วแต่ ทางศาลเจ้าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องอีก ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากคนที่อยากมีคู่กันเนืองแน่น
ความรักมาแล้ว แล้ว “แมว” ล่ะ มาตอนไหน ก็ถึงเวลาเล่าเรื่องแมวที่เป็นจุดเด่นของศาลเจ้าอิมาโดะกันแล้วล่ะค่ะ เรื่องของเรื่องก็คือ ในยุคเอโดะ ช่วงประมาณ ค.ศ.1603 – 1868 นั้น บริเวณอิมาโดะนี้ มีบรรดาผู้ประกอบการช่างเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก แม้ปัจจุบันนี้จะมีผู้ประกอบการลดน้อยลง แต่ก็ยังถือว่าเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียง และเรียกขานเครื่องปั้นดินเผาของแหล่งนี้ว่า อิมาโดะยากิ
ทีนี้ มาถึงตำนานแมวกวักของเรา มีเรื่องเล่าว่า ในปี ค.ศ.1852 มีหญิงยากจนคนหนึ่ง เธอขัดสน และไม่มีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงแมวของเธอ เพราะขนาดจะเลี้ยงตัวเองก็ยังแทบจะไม่รอด เลยต้องตัดใจทอดทิ้งเจ้าเหมียวแสนรัก แต่ในคืนนั้นเอง เมื่อเธอนอนหลับ ก็ฝันถึงแมวที่มาบอกว่า ให้ทำตุ๊กตารูปแมวไปขายซิ แล้วจะนำความร่ำรวยมาให้
พอตกใจตื่นขึ้น นึกถึงฝันที่เหมือนเป็นความจริงได้ สาวเจ้าก็เลยทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปตุ๊กตาแมวกวักขึ้น ด้วยสไตล์อิมาโดะยากิ ที่เน้นผลิตเครื่องปั้นดินเผาให้เป็นสีดำ แมวกวักคู่แรกก็เลยเป็นสีดำ ว่าแล้ว เธอก็เอาแมวกวักคู่ไปวางขายที่หน้าประตูศาลเจ้า และเดินเร่ขายในย่านอาซากุสะด้วย แล้วก็เป็นไปดั่งในฝัน ตุ๊กตาแมวกวักของเธอขายดิบขายดี ยิ่งกว่าเทน้ำเทท่า จนทำให้สตรียากจนผู้นี้กลายเป็นคนมีฐานะ และแมวกวักก็ได้รับความนิยม
จนเวลาผ่านไป ศาลเจ้าอิมาโดะที่ขึ้นชื่อเรื่องความรัก และการจับคู่ บวกเข้ากับความนิยมในแมวกวักคู่ ก็ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้ก็ได้รับความนิยมว่าเป็น “จุดรวมพลัง” เกี่ยวกับการหาคู่ครอง ใครที่มาขอพรจากองค์เทพหลักทั้งสอง ก็จะได้คู่ชีวิตที่ดี ส่วนแมวกวักก็กลายเป็น “เครื่องราง” ประจำศาลเจ้าที่ขายดีสืบเนื่องมานาน โดยจะขายเป็นคู่เสมอ
แมวกวักในวัด
อันว่าแมวกวักในลักษณะแบบนี้ มีชื่อเรียกว่า มาเนกิ เนโกะ (Maneki-neko) ค่ะ และนอกจากที่ศาลเจ้าอิมาโดะที่แมวกวักแห่งรักเป็นที่ขึ้นชื่อแล้ว ยังมี มาเนกิ เนโกะ อีกแห่งหนึ่งที่โด่งดังสุดๆ เหมือนกัน คือ ที่วัดโกโตคุจิ (Gotokuji) ซึ่งเป็นแมวกวักที่คนนิยมไปขอพรเรื่องธุรกิจ ซึ่งจะขอนำมาเล่าในคราวหน้า
ย้อนไปที่ มาเนกิ เนโกะ ของศาลเจ้าอิมาโดะ จากที่เล่าว่าแรกๆ เน้นกันเฉพาะ มาเนกิ เนโกะสีดำ ครั้นพอกาลเวลาล่วงเลยมา ก็มีการพัฒนา เกิดมาเนกิ เนโกะสีอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามสมัยนิยม โดยเฉพาะสีขาว และสีหวานๆ ที่หนุ่มสาวนิยมกันมาก
แล้วถ้าจะไปไหว้ขอคู่ ไปหาแมวคู่ไหนดี เพราะที่ศาลเจ้าอิมาโดะนี้ มีแมวกวักแห่งรักมากมายเหลือเกิน ผู้เขียนไปเยือนมาแล้ว เดาๆ เอาว่า น่าจะมีแมวกวักอยู่ในวัดเป็นพันๆ ตัว แต่จะ “มู” ทั้งที ต้องไปหาแมวกวักรักที่เป็นพลังเด่นค่ะ ซึ่งมีอยู่ ๒ จุดหลัก
แผ่นไม้ขอพรในวัด
นั่นคือ ที่อาคารศาลเจ้าใหญ่ ซึ่งเป็นอาคารแบบญี่ปุ่น เมื่อขึ้นบันไดไป จะเห็นแมวสีขาวประดับอยู่ ๒ ข้างประตูซ้ายขวา ในอาคารนี้ เป็นที่สถิตย์ขององค์เทพบิดร และเทพีมารดาด้วย เมื่อรวมกับแมวกวักรักคู่ที่หน้าประตูแล้ว จะมีจุดไหนขอพรได้ดีกว่านี้เล่า คนมีคู่ หรือคนหาคู่ มาไหว้กันตรงนี้ไม่ขาดสาย
ยังไม่หมดค่ะ มีอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ คือ มีประติมากรรมรูปสลักแมวกวักคู่ที่ทำจากหินอ่อนสีเทาก้อนใหญ่ เชื่อกันว่า หากใครมาไหว้สักการะที่วัดนี้ แล้วถ่ายรูปแมวกวักคู่นี้ไป แล้วเอาไปเป็นหน้าจอโทรศัพท์ก็จะมีโชค รับทรัพย์ปังๆ ตลอด จุดนี้เลยมีคนมาเข้าแถวรอถ่ายรูปกันเยอะเป็นพิเศษ รวมทั้งเชื่อว่า หากได้ลูบที่แมวกวักคู่นี้แล้วจะโชคดีด้วย
ประติมากรรมรูปสลักแมวกวักคู่ที่ทำจากหินอ่อน
เอ้า พูดถึงความรักเอย ชัยชนะสงครามเอย อยู่ดีๆ แล้วโชคดีมาจากไหนอีกล่ะ ก็แหม ที่ศาลเจ้าอิมาโดะแห่งนี้ รวบรวมความปังเอาไว้หลายอย่างค่ะ นั่นคือ ที่นี่ยังมีเทพอีกองค์หนึ่ง คือ เทพฟูคูโระคูจู (Fukurokuju) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพเจ้าแห่งความโชคดีทั้งเจ็ดของญี่ปุ่น ว่ากันว่า การสักการะองค์เทพนี้ จะสามารถขอความสำเร็จด้านธุรกิจ และอายุยืนนานได้
สารพันแมวในวัด
ย้อนไปที่ย่านอาซากุสะ ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของศาลเจ้าอิมาโดะ ในอาซากุสะนี้ คนญี่ปุ่นมักจะมาจาริกแสวงบุญกันมากในช่วงปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมาตะลอนหาองค์เทพแห่งความโชคดีทั้งเจ็ด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือที่ศาลเจ้าอิมาโดะดังกล่าว โดยลักษณะของเทพฟูคูโระคูจู มักจะสร้างเป็นผู้ชราผมสีเทา แต่ใบหน้าเยาว์วัย และสำหรับการจาริกแสวงบุญเพื่อขอโชคดีในย่านอาซากุสะนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 ก่อนจะหยุดไปช่วงสงคราม และกลับมาแสวงบุญกันทุกปีใหม่อีกตั้งแต่ ค.ศ.1978 จนปัจจุบัน
ศาลเจ้าอิมาโดะ จึงเป็นศาลเจ้าสำคัญที่มีให้ขอพรแทบทุกอย่าง แต่เรื่องความรักเป็นเรื่องหลัก และแมวกวักรัก ก็เป็นจุดเด่นที่สุดที่ “สายมู” ห้ามพลาดค่ะ
การเดินทาง : เดิน ๑๕ นาที จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอาซากุสะ (Asakusa Station) โดยเดินเลียบแม่น้ำขึ้นไปประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร ซึ่งผู้เขียนต้องเตือนเอาไว้ก่อนเลยว่า เดินยากหน่อยค่ะ เพราะมีทางเลี้ยว ทางแยกมากเหลือเกิน ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องใช้โทรศัพท์มือถือเปิดแผนที่กูเกิลเอาไว้ตลอดเวลา แล้วเดินตามช้าๆ ถ้าพลาดทางแยกไหนแล้ว จะพลาดไปไกลทีเดียวค่ะ
ค่าเข้าชม : ฟรี
เวลาทำการ 9.00 - 16.00 น.
สิ่งที่ควรมาขอ : ความรัก การครองชีวิตคู่ โชคลาภ การประสบความสำเร็จในธุรกิจ การได้รับชัยชนะ
• ย่านอาซากุสะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของมหานครโตเกียว มีร้านค้าให้ช้อปปิ้ง และร้านอาหารอร่อยมากมาย
• ของที่ระลึก หรือเครื่องรางจากศาลเจ้าอิมาโดะ เป็นรูปแมวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากซื้อแมวกวักคู่กลับบ้านไปแล้ว ยังสามารถซื้อแผ่นไม้บูชารูปแมวกวักคู่ เพื่อเขียนคำขออธิษฐาน แล้วนำไปแขวนที่ต้นไม้ในวัดได้ด้วย
• ทางเดินจากสถานีอาซากุสะไปถึงศาลเจ้าอิมาโดะ จะมีต้นไม้ ดอกไม้สวยๆ ที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาล รวมถึงเมื่อเดินเลียบแม่น้ำสุมิดะ (Sumida River) มาแล้ว ยังจะผ่านจุดแวะชมหอคอยโตเกียว สกายทรี และชมความงามของแม่น้ำได้ด้วย
ท่องเที่ยว
ความรู้
เที่ยวต่างประเทศ
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามรอยอาทิตย์อุทัย
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย