3 ก.ค. 2024 เวลา 15:55 • ศิลปะ & ออกแบบ

มงกุฎสัญชาติฝรั่งเศสที่ได้รับแรงบันดาลใจ จากภาพคลื่นยักษ์อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น

ART&CULTURE: ‘มงคลื่นยักษ์’
ชวนส่อง ‘The Boucheron Wave Tiara’
มงกุฎสัญชาติฝรั่งเศสที่ได้รับแรงบันดาลใจ
จากภาพคลื่นยักษ์อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น
.
หากจะกล่าวถึง ‘The Great Wave Off Kanagawa’ อาจจะไม่ใช่ชื่อที่พวกเราคุ้นหูสักเท่าไหร่นัก แต่ถ้าพูดว่ามันเป็นภาพคลื่นยักษ์ที่กำลังม้วนตัวลงทะเลสไตล์ญี่ปุ่นแล้วหลายคนน่าจะร้องอ๋อกันอยู่บ้าง
.
ก็คงจะนึกภาพตามได้ทันที เพราะภาพนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวแทนของความเป็นญี่ปุ่น ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเจ้าภาพคลื่นยักษ์นี้มีชื่อเต็มๆว่า ‘คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ’ เป็นผลงานของศิลปินชาวญี่ปุ่นนามว่า ‘Katsushika Hokusai’ ที่รังสรรค์ภาพนี้ขึ้นในช่วงปี 1830
.
โดยผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างด้วยการใช้เทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ ที่เริ่มต้นจากการแกะสลักไม้เป็นลวดลาย ทาทับด้วยหมึกสีต่างๆ ก่อนจะนำไปกดทับลงบนพื้นผิวที่ต้องการ
แน่นอนว่าด้วยความงามของเกลียวคลื่นที่ดูสมจริง ก็ทำให้ผลงานชิ้นนี้จับใจชาวยุโรปเพียงชั่วพริบตาเห็น ด้วยคลื่นยักษ์ที่ดูงดงามและอยู่เหนือจินตนาการในรูปแบบที่งานของยุโรปไม่สามารถทำได้
จนเกิดเป็นกระแส ‘เจเปนฟีเวอร์’ ที่บรรดาศิลปินยุโรปต่างแข่งกันสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพคลื่นยักษ์ชิ้นนี้กันเลยทีเดียว และหนึ่งในนั้นก็คือ
.
‘The Boucheron Wave Tiara’ มงกุฎรูปเกลียวคลื่นที่สร้างขึ้นในปี 1910 โดยช่างชาวฝรั่งเศส ตัวฐานของมงกุฎทำจากแพลตตินัม ส่วนตัวคลื่นนั้นทำมาจากเพชรที่เรียงซ้อนกัน โดยใช้เพชรขนาดใหญ่บนยอด และมงกุฎนี้ถูกทำขึ้นโดยใช้เทคนิคที่หลากหลาย
เช่น Millegrain (การนำลูกปัดหรือเพชรมาปิดขอบของเครื่องประดับ) หรือ การ Tremblant (เป็นการซ่อนกลไกที่จะทำให้เครื่องประดับเคลื่อนไหวได้ในขณะที่สวมใส่) ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ช่วยเพิ่มมิติการเล่นแสงและความสมจริงของคลื่นให้กับตัวมงกุฎ
อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อมูลที่ระบุว่าทำขึ้นในปี ค.ศ. 1910 แล้วผลงานชิ้นนี้กลับไม่พบประวัติเจ้าของ หรือตำแหน่งแห่งที่ของมันเลย ทำให้เราไม่สามารถรู้ความเป็นมาของมงกุฎชิ้นนี้ได้ว่า ณ ขณะนี้มันอยู่ที่ไหน พัง หรือหายสาบสูญไปแล้วหรือเปล่า นั่นทำให้มงกุฎชิ้นนี้ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีใครสามารถรู้ได้ในปัจจุบัน
.
แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือ มงกุฎชิ้นนี้ได้สะท้อนช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นเริ่มการค้าขายกับฝั่งยุโรปมากขึ้น จนทำให้ความเป็นญี่ปุ่นไหลเข้าไปสู่โลกตะวันตก
จนทำให้ภาพของศิลปินตะวันตกในยุคศตวรรษที่ 19 หลายคนก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น ภาพ ‘Water Lilies and Japanese Bridge’ ของ โคลด โมเนต์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘Under Mannen Bridge at Fukagawa’ (มาจากผู้สร้างและเซ็ตภาพเดียวกับ The Great Off Kanagawa) เป็นต้น
โดยในช่วงนั้นภาพพิมพ์แกะไม้ เป็นงานศิลปะที่ได้รับความนิยมในยุโรปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฝรั่งเศส เนื่องจากสามารถบอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดคตินิยมศิลปะญี่ปุ่น (Japonism) ที่ผสมผสานศิลปะจากญี่ปุ่นและชาติตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน
#ARTandCULTURE #BrandThink #CreativeChange
#Empowering #Diversity #PositiveImpact
อ้างอิง:
The century-old tiara inspired by Hokusai's 'Great Wave off Kanagawa'. https://tinyurl.com/bdfzhnad
The Great Wave คลื่นทะเลตะวันออก สู่อิทธิพลงานศิลป์ตะวันตก. https://tinyurl.com/2xv92cus
THE BOUCHERON WAVE TIARA 1910. https://tinyurl.com/yc6zxsx5
“คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ” แค่รูปคลื่นนอกชายฝั่ง ทำไมถึงดังนักหนา?. https://tinyurl.com/2s3erytk
Secret Story | Great Art : Van Gogh & Japan อิทธิพลสุดล้ำลึกของญี่ปุ่นต่อศิลปะตะวันตก. https://tinyurl.com/4af4tm49
โฆษณา