4 ก.ค. เวลา 00:01 • หุ้น & เศรษฐกิจ

🏦 รายงานการประชุมเฟดเผย กรรมการเฟดเห็นไม่ลงรอยกัน

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐกล่าวว่า พวกเขากำลังรอหลักฐานเพิ่มเติมว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง และมีความเห็นต่างกันว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงนานแค่ไหนในการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุด
รายงานการประชุม 2 วันจาก FOMC ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 12 มิถุนายน แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่คิดว่าการลดต้นทุนการกู้ยืมจะเหมาะสม จนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมปรากฏขึ้น เพื่อทำให้พวกเขามีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังอยู่บนเส้นทางไปสู่เป้าหมาย 2%
โดยเฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วงเป้าหมาย 5.25% ถึง 5.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษ นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
นอกจากนี้ในการประชุมครั้งล่าสุด เจ้าหน้าที่เฟดได้ถอยกลับจำนวนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ให้เหลือเพียง 1 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบาย 4 รายคาดว่าจะไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ 8 รายคาดการณ์ว่าจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง
“ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และระยะเวลาที่เหมาะสมในการรักษาจุดยืนทางนโยบายที่เข้มงวด” ตามรายงานการประชุมที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่กรุงวอชิงตัน
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ “บางคน” เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการอดทน แต่อีก “หลายคน” เน้นย้ำเป็นพิเศษว่าอุปสงค์ที่อ่อนแอลงอีกอาจทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากขึ้น ขณะที่ก็ยังมีผู้กำหนดนโยบายหลายรายยังคงเต็มใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2024 ที่บ่งชี้ว่าการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อกำลังหยุดชะงัก (หมายถึงเงินเฟ้อ 3 เดือนแรกที่ออกมาสูงกว่าคาด) ภาพรวมก็เริ่มดีขึ้นโดยมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เฟดให้ความสนใจ ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (Core PCE) ขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 6 เดือนในเดือนพฤษภาคม
ขณะที่ประธานเจอโรม พาวเวลล์ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังกลับมาอยู่ในทิศทางขาลง แต่ผู้กำหนดนโยบายเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมก่อนที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย
🦺 ตลาดแรงงาน
รายงานการประชุมแสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับตลาดแรงงาน เนื่องจากความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานของเฟดและอัตราเงินเฟ้อได้เข้าสู่สมดุลที่ดีขึ้น
ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มการจ้างงานในอัตราที่มั่นคง แต่อัตราการว่างงานกลับสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยทางด้าน แมรี ดาลี ประธานเฟดซานฟรานซิสโกเตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าตลาดแรงงานกำลังใกล้ถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งการชะลอตัวลงอีกอาจทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น
“ผู้เข้าประชุมหลายรายเน้นย้ำเป็นพิเศษว่าเมื่อตลาดแรงงานกลับสู่ภาวะปกติ อุปสงค์ที่อ่อนตัวลงอีกอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการว่างงานมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ที่ความต้องการแรงงานลดลงนั้นมาจากการเปิดรับงานน้อยลงเป็นหลัก” รายงานการประชุมระบุ
🎯 อันนี้หมายความว่า ก่อนหน้านี้ที่ตลาดแรงงานแข็งแกร่งมากๆ ต่อให้ความต้องการแรงงานจะลดลง ก็ไม่ค่อยส่งผลอะไรต่ออัตราการว่างงานค่ะ แต่ในตอนนี้ที่ตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลงมาแล้ว ถ้าความต้องการแรงงานลดลง ผลกระทบต่ออัตราการว่างงานจะมีความรุนแรงมากขึ้นนั่นเองค่ะ
ทั้งนี้ รายงานการจ้างงานที่จะประกาศในวันศุกร์คาดว่า จะแสดงให้เห็นว่านายจ้างเพิ่มการจ้างงาน 190,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน (Nonfarm Payroll) และอัตราการว่างงานทรงตัว ซึ่งนั่นจะถือเป็นการชะลอตัวลงจากเดือนพฤษภาคมที่ตัวเลขการจ้างงานออกมาสูงกว่าคาด
📈 ข้อถกเถียงเรื่องอัตราดอกเบี้ยระยะยาว
รายงานการประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการถกเถียงอย่างต่อเนื่องในหมู่เจ้าหน้าที่เฟดว่านโยบายของเฟดมีความตึงตัวมากแค่ไหนต่อเศรษฐกิจ
“บางคนตั้งข้อสังเกตว่าความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจตลอดจนปัจจัยอื่นๆ อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยดุลยภาพในระยะยาวสูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งในกรณีนี้ทั้งจุดยืนของนโยบายการเงิน และสภาวะทางการเงินโดยรวมอาจมีความตึงตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น” รายงานการประชุมแสดงให้เห็น
โดยผู้กำหนดนโยบายคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนว่า อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางในระยะยาว (อัตราดอกเบี้ยที่ไม่กระตุ้นหรือกดดันการเติบโตเศรษฐกิจ) ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.8%
🎯 ความเห็นส่วนตัว
เราจะเห็นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ากรรมการเฟดมีความเห็นไม่ลงรอยกันแล้ว โดยสิ่งที่เพิ่มเติมมาจากครั้งก่อนๆคือ มีกรรมการจำนวนมากขึ้นเริ่มกังวลว่า ตลาดแรงงานอาจมีการชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วหากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนานเกินไปค่ะ
อันนี้จะสอดคล้องกับที่นิคกี้บอกเสมอๆว่า ตัวเลขภาคแรงงานส่วนใหญ่มีสัญญาณชะลอตัวลงหมดแล้ว ยกเว้นแค่ Nonfarm ตัวเดียว ซึ่งอย่างที่เคยเล่าไปว่า Nonfarm มีปัญหาการนับซ้ำอยู่นั่นเองค่ะ
นอกจากนี้เองพออัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมมีการประกาศออกมาหลังการประชุมเฟดเสร็จสิ้น ก็ยังทำให้ผลการประชุมเฟดในเดือนที่แล้วไร้ความหมายอยู่ดีค่ะ และรายงานการประชุมก็บอกเช่นนั้น เพราะไม่ได้มีการกล่าวถึงเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ออกมาต่ำมากๆนั่นเองค่ะ
ดังนั้นแล้วหากตัวเลขแรงงานวันศุกร์นี้ออกมาต่ำกว่าคาด และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนยังออกมาต่ำอีก เราจะได้เห็นเฟดออกตัวล้อฟรี และต้องรีบยูเทิร์นในการประชุมสิ้นเดือนนี้แน่นอนค่ะ
ส่วนตัวยังมองว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้อยู่ โดยครั้งแรกอาจเกิดขึ้นในเดือนกันยายนค่ะ
📌 ความรู้เพิ่มเติม
หลายคนเข้าใจผิดว่า เฟดจะต้องรอให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ก่อน ถึงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจริงๆแล้วเป็นหลักการที่ผิดค่ะ
ความตึงตัวของนโยบายการเงินจะขึ้นอยู่กับ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ real interest rate ซึ่งก็คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราเงินเฟ้อค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.5% แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% ส่วนต่างจะเท่ากับ 1.5% >> อันนี้จะเป็นตัวบอกระดับความตึงตัวได้ค่ะ
ในเวลาต่อมา อัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวลงเรื่อยจาก 4% มาเป็น 3.5% ส่วนต่างก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2% (5.5 - 3.5) >> นโยบายตึงตัวมากขึ้น
ดังนั้นแล้ว เราจะเห็นว่าต่อให้เฟดจะไม่ทำอะไรเลย นโยบายการเงินก็จะตึงตัวขึ้นมาได้เองหากเงินเฟ้อค่อยๆปรับตัวลงค่ะ
ด้วยเหตุผลนี้ นิคกี้จึงตัดการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดออกไปได้เลย เพราะนโยบายมันค่อยๆตึงขึ้นเรื่อยๆค่ะ ถ้าเฟดดันไปขึ้นดอกเบี้ยสวนซ้ำเข้าไป นโยบายมันจะยิ่งตึงจัดๆเลยค่ะ
หากใครนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงเวลาเราขับรถแล้วจะเบรกไปหยุดที่ไฟแดงค่ะ และความตึงตัวก็คือน้ำหนักในการกดเบรกนั่นเอง
ในช่วงแรกๆ เราก็จะกดเบรกหนักๆหน่อย (อัตราดอกเบี้ย) เพราะรถยังมีความเร็วอยู่ (อัตราเงินเฟ้อ) ก่อนจะค่อยๆผ่อนเบรกเมื่อรถชะลอตัวลง และใกล้ถึงไฟแดง (เป้าหมายของเฟด)
หากผ่อนเบรกเร็วเกินไป >> รถหยุดไม่ทันไฟแดง หรือผ่าไฟแดง (อัตราเงินเฟ้อไม่ลง)
หากผ่อนเบรกช้าเกินไป >> รถหยุดก่อนถึงไฟแดง (อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย เศรษฐกิจชะลอตัว)
หากเหยีบเบรกเพิ่ม (ขึ้นดอกเบี้ยสวน) >> หัวทิ่มค่ะ (อัตราเงินเฟ้อร่วง เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ)
หวังว่าเพื่อนๆน่าจะพอเห็นภาพนะคะว่าทำไมเฟดจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือผ่อนเบรก ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะแตะ 2% อย่างแน่นอนค่ะ
Source: Bloomberg
โฆษณา