สำหรับผู้ที่เพิ่งเข้าสู่เส้นทางธรรมะ ไม่ต้องคิดมากครับ เพราะธรรมะคือคุณนั่นแหละ

หลายคนที่ติดตามอ่านบทความของผู้เขียน ก็คงจะงุนงงกับเรื่องของการทิ้งสังโยชน์ แล้วเป็นอริยบุคคล จะได้ไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีก จะได้ไม่ทุกข์อีก ฟังดูแล้วกว้าง พูดง่ายๆ ส่งๆ? แต่เข้าใจยาก คนที่ไม่มีพื้นฐานมาอ่าน ก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นอะไรที่งมงายไปไหม? ทำไม่ได้จริงหรอกมั้ง? บางคนก็รู้แล้วว่าทำได้จริงถ้าพยายาม แต่ไม่ไหว รู้สึกท้อแล้ว ไม่ทำดีกว่า
อุปสรรคสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคือสับสนมึนงงในคำสอนของแต่ละสำนัก ว่าทำไมมันช่างผิดกัน บางสำนักบอกให้ภาวนาว่ายุบหนอ พองหนอ บางสำนักบอกไม่ต้องภาวนา บางสำนักบอกให้ภาวนาพุท โธ กำกับ ขณะที่หายใจเข้าออก เพื่อมองให้เห็นตัวธรรม?????
พอยิ่งพูดแบบนี้คนฟังก็ยิ่งงง ไหนจะภาษาบาลีที่ใช้กันเยอะมากในแวดวงธรรมะก็ยิ่งทำให้ผู้เริ่มต้นเกิดความมึนงง ไม่เข้าใจ และล้มเลิกในการปฏิบัติธรรมไปก็มีไม่น้อย ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่จริงแล้ว ธรรมะคือของที่อยู่ในตัวเรามาตั้งแต่เกิด
ผู้เขียนอยากจะให้ผู้อ่านที่เพิ่งเริ่มต้นปฏิบัติธรรม วางจิตวางใจใหม่ว่า การปฏิบัติธรรม คือ การกลับมาใช้ชีวิตเหมือนทุกวันนี่เอง แต่ให้คอยเอาสติกำกับมองดูในทุกๆการกระทำ และในทุกขณะอารมณ์ใจ แม้กระทั่งการไอ การเรอ การหาว การผายลม ท้องร้อง การจาม ความง่วง ฯลฯ ก็ให้ใช้สติเข้าไปจับสังเกตดูให้ดี โดยที่ไม่ต้องไปบังคับ แต่ปล่อยให้มันเกิดของมันไป โดยมีจิตของเราคอยตามไปรับรู้ ไปเห็น ไปสัมผัสพิจารณาอย่างไม่ลืมตัว
เช่น แม้จะโกรธ ก็ไม่ต้องไปบังคับตัวเองว่าห้ามโกรธ แต่เฝ้าดูอารมณ์โกรธของตัวเองจนมันดับไป โดยไล่ดูทุกขณะของกระบวนการเกิด คงอยู่ และค่อยๆดับสิ้นลงของโกรธ เช่นกันกับอารมณ์อื่นๆ เช่น อารมณ์ทางเพศ อารมณ์ขัน อารมณ์ปลื้มใจ อารมณ์ดี๊ด๊า อารมณ์โศกเศร้า อารมณ์หวาดกลัว อารมณ์กังวล และอารมณ์อื่นๆ ดูตั้งแต่มันเกิดขึ้น จนดับไป
แท้จริงแล้ว ธรรมะจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ใกล้จนถึงขนาดที่เรียกว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ตัวเราเอง และขอบเขตของธรรมะก็มีเพียงนิดเดียว คือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์
ใจความหลักของธรรมะ ก็คือ อริยสัจ๔ คือการรู้ความทุกข์ รู้ต้นเหตุแห่งทุกข์ รู้วิธีการทำลายทุกข์ และพ้นจากทุกข์ได้ ดังนั้นวิธีการเริ่มจึงเรียบง่ายมาก คือ ไม่วางใจเคร่งเครียด ไม่คิดว่าตัวเองกำลังปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้อริยมรรคสู่พระนิพพาน เพราะการตั้งจิตมุ่งเป้าแบบนั้นเลยตั้งแต่ทีแรกจะเป็นการกดดันอินทรีย์อารมณ์ของตัวเองมากจนเกินไป เพราะมันจะทำให้สมองคิดไปว่าเรากำลังเรียนอะไรยากๆอยู่ อาจทำให้ท้อ-กลางครันได้
เพราะฉะนั้นเอาใหม่ครับ ไม่ต้องไปคาดหวังกับมัน ขอแค่ให้หันมามองใหม่ว่า เรากำลังเรียนรู้กายและจิตของเราใหม่ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นมากขึ้น แทนการมองว่ากำลังตั้งใจทำในสิ่งที่ยาก ก็จะทำให้กำลังใจของเราดี สามารถฝ่าฟันปริศนาธรรมในชีวิตจิตใจจนเกิดดวงตาเห็นธรรมได้จริง
ถ้าทำไปเรื่อยๆ คอยมองดูทุกอารมณ์ สังเกตทุกความรู้สึกทางกายและทางใจที่เกิดขึ้นอยู่ในแต่ละวัน โดยไม่ไปพยายามบังคับควบคุมมัน จนมองเห็นตัวทุกข์ ว่าความทุกข์แต่ละประเภทที่เกิดขึ้น เป็นความทุกข์แบบไหน เกิดแล้วให้ผลอย่างไร เช่น พอหิวแล้วไม่ได้กินก็ฉุนเฉียว พอมีอารมณ์ทางเพศแล้วไม่ได้ปลดปล่อย ก็หงุดหงิดโมโหอยากพาลคนอื่น พอเจ็บป่วยแล้วไม่หายก็อยากอาละวาดเกรี้ยวกราดเพราะมีความเจ็บบีบคั้นกายเนื้ออยู่ ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะแยกออกว่า แท้ที่จริงแล้ว จิต ไม่ใช่สิ่งที่เราบังคับควบคุมได้ กายก็เช่นกัน
ทั้งกายและใจจึงเป็นของที่ดำเนินไปตามปฏิกิริยา ซึ่งเกิดจากการรับรู้ของวิญญาณอันประกอบไปด้วย ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เข้าไปมองเห็นได้ยินได้กลิ่นได้รสและได้จับต้องสัมผัสนั่นเอง ซึ่งการรับรู้ของวิญญาณนี้เองที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆทั้งพอใจและไม่พอใจ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้ารู้เท่าทันธรรมชาติระดับละเอียดนี้ได้ ก็ย่อมดับทุกข์ได้ เพราะไม่ไปยึดมั่นกับมันอีกแล้ว
หัดรู้ทันจิตใจตนเองมากเข้า ไม่นานก็จะทราบด้วยตนเองว่า ความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ความพ้นทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร สภาพที่ไม่ทุกข์เป็นอย่างไร สภาพจิตใจมันจะพัฒนาของมันไปเองทุกอย่าง ไม่ต้องไปคิดเรื่องฌาน เรื่องญาณ หรือเรื่องมรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น
ถึงตรงนี้ แม้จะพูดธรรมะไม่ได้สักคำ แปลศัพท์บาลีไม่ได้สักตัว แต่จิตใจก็พ้นจากความทุกข์ หรือมีความทุกข์ ก็ทุกข์ไม่มาก และไม่นาน
แอดมินเทวะนาคา แห่งเพจเฟ๊ซบุ๊ค ธรรมะแฟนตาซี
โฆษณา