4 ก.ค. เวลา 07:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เก็บเงินเกษียณด้วยกฎ 25 มีใช้จ่ายสบายในบั้นปลายชีวิต

หากเอ่ยถึงประโยค “เก็บเงินเพื่อเกษียณ” หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือสามารถเริ่มต้นเมื่ออายุ 45 ปีก็ยังไม่สาย แต่ความจริงแล้วหากไม่รีบเก็บออมตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณอายุ ที่สำคัญเมื่อเริ่มต้นช้าอาจไม่มีเวลาให้แก้ตัวหากผิดพลาดกับการวางแผนการเงิน
ดังนั้น นอกจากจะต้องลงมือเก็บเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็ต้องรู้ว่าเงินที่ต้องการใช้จ่ายในแต่ละปีอยู่ที่เท่าไร อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้แน่ชัดในตัวเลขจึงต้องอาศัยการประมาณการค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้เตรียมเงินและมีเงินพอใช้หลังเกษียณได้
สำหรับวิธีเบื้องต้นและได้รับความนิยมในการทำให้รู้ว่ามีเงินเพียงพอสำหรับเกษียณ คือ กฎการเงิน 25 เท่า (The Rule of 25) ซึ่งเป็นการประมาณการว่าจะต้องเก็บเงินเท่าไรสำหรับการเกษียณ โดยอิงจากค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในช่วงเกษียณ ซึ่งคำนวณจากการหาค่าใช้จ่ายรายปีออกมาว่าเป็นจำนวนเท่าใด เริ่มต้นด้วยการหาค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนว่ามีอะไรบ้าง โดยเพื่อให้สะดวกต่อการคำนวณ ควรจดบันทึกประเภทค่าใช้จ่ายรายเดือนปัจจุบันให้ชัดเจน
ตัวอย่าง
ค่าใช้จ่ายจำเป็น
1. ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เช่น ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าผ่อนและ/เช่าบ้าน
2. ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต
3. ค่าขนส่งและเดินทาง เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมรถ ค่าเดินทาง
4. ค่าแพทย์และการดูแลสุขภาพ เช่น ค่ายา
5. ค่าประกัน เช่น ค่าเบี้ยประกัน
6. ค่าจ่ายหนี้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล
ค่าใช้จ่ายผันแปร
1. ค่าบันเทิง เช่น ค่าทานข้าวนอกบ้าน ค่าเดินทางท่องเที่ยว
2. ค่าสังคม เช่น ค่าบริจาคต่าง ๆ
เมื่อรู้แล้วว่าค่าใช้จ่ายรายเดือนของตัวเองเป็นเท่าใดก็สามารถคูณตัวเลขนั้นด้วย 12 เพื่อให้ได้รายได้ต่อปีที่ต้องการในวัยเกษียณ เช่น ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท แสดงว่าค่าใช้จ่ายต่อปีเท่ากับ 360,000 บาท (30,000 x 12) จากนั้นก็คูณด้วย 25 (กฎการเงิน 25 เท่า) จะเท่า 9,000,000 บาท หมายความ ต้องเก็บเงินให้ได้ก่อนเกษียณประมาณ 9,000,000 บาท สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ
อย่างไรก็ตาม หลักการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน่าจะอยู่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ ดังนั้น จากตัวอย่างหากปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 21,000 บาท (252,000 บาทต่อปี) เมื่อคำนวณด้วยกฎการเงิน 25 เท่า ต้องเก็บเงินให้ได้ก่อนเกษียณประมาณ 6,300,000 บาท
ใช้เงินได้ 30 ปี ด้วยกฎถอนเงิน 4%
คำนวณด้วยกฎการเงิน 25 เท่า มีเงื่อนไขว่าจำนวนเงินที่เตรียมเอาไว้จะสามารถใช้ได้ประมาณ 30 ปีหลังจากเกษียณ เช่น เกษียณอายุ 60 ปี ก็จะใช้ได้ถึงอายุประมาณ 90 ปี และที่สำคัญจะต้องถอนออกมาใช้ต่อปีในอัตราส่วน 4% ของจำนวนเงินทั้งหมด (4% Rule of Thumb) ถึงจะเพียงพอกับแผนการใช้จ่ายที่วางเอาไว้ เช่น ถอนเงิน 4% จากเงิน 6,300,000 บาท จะเท่ากับ 252,000 บาท
อย่างไรก็ตาม โดยความเป็นจริงแล้วทุกคนก็จะนำเงินที่เก็บออมเพื่อเกษียณไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน และเมื่อเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต จึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงสูงเพื่อเป็นการรักษาเงินต้น ส่วนผลตอบแทนเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งคำว่ารองลงมา หมายความว่า ผลตอบแทนที่ได้ต้องเป็นบวก (ไม่ขาดทุน) หากเป็นไปได้ควรให้ผลตอบแทนระยะยาว เช่น 5 ปีขึ้นไปและสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย สินทรัพย์ลงทุนจึงมีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม
ข้อดีของการประมาณจำนวนเงินที่ต้องมีใช้ในวัยเกษียณด้วยกฎ 25 เท่าคือ สะดวกและเข้าใจง่ายต่อการเริ่มต้นการเก็บออมเพื่อการเกษียณ แต่มีข้อจำกัดคือ ยังไม่ได้นำปัจจัยในเรื่องเงินเฟ้อที่จะส่งผลต่ออำนาจซื้อของเงิน ภาวะตลาดการลงทุน และค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่คาดคิดเข้ามาพิจารณาด้วย
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 LINE Official Account https://page.line.me/cfpthailand
📌 Spotify Podcast https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast https://apple.co/3QwZ4UJ
โฆษณา