3 ความเชื่อเกี่ยวกับตะคริว 🦵

ตะคริวเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน จึงมีความเชื่อที่มักจะถูกแชร์ต่อ ๆ กันมาความเชื่อเหล่านี้เรื่องไหนจริงหรือหลอก ?
🦵 เป็นตะคริวบ่อยมีความเสี่ยงหลอดเลือดแดงแข็ง ?
ความเชื่อนี้จริงบางส่วน เพราะตะคริวเกิดขึ้นได้ จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความเมื่อยล้า หรือบ่งบอกว่ามีโรคซ่อนอยู่ก็ได้ เช่น หลอดเลือดแดงแข็งตัว ไทรอยด์ หลอดเลือดสมอง โรคปอด เอ็นประสาทอักเสบ อย่างไรก็ตาม อาการปวดจากตะคริวมีความแตกต่างจากอาการปวดจากโรคที่ซ่อนอยู่ หากเป็นตะคริว กล้ามเนื้อจะเกร็ง เมื่อพักแล้วจะดีขึ้น แต่หากปวดจากโรคอื่น
เช่น หลอดเลือดแดงแข็งตัว คนไข้จะรู้สึกเย็นและชาร่วมด้วย เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ จะปวดมากขึ้น แต่เมื่อพักแล้วอาการจะหายไป
🦵 เป็นตะคริวตอนนอน เพราะดื่มน้ำไม่พอ ?
ความเชื่อนี้จริงบางส่วน การสูญเสียน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเป็นตะคริว สังเกตได้ว่านักกีฬาส่วนมากมักเป็นตะคริวจากการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเมื่อร่างกายเสียน้ำมาก และไม่ได้มีการยืดเหยียดร่วมด้วย ในคนทั่วไปที่ออกกำลังกายหรือเดินมาก และดื่มน้ำไม่เพียงพอก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้ ฉะนั้น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอและยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ในวันที่ออกกำลังกายหรือเดินเยอะ อาจยืนบนแท่นยืดเหยียดเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อด้วยก็ได้
🦵 เป็นตะคริวให้กินของเค็ม เพราะร่างกายขาดเกลือแร่ ?
ความเชื่อนี้ไม่จริง หลายคนเชื่อว่ากินเค็มแล้วจะไม่เป็นตะคริวเพราะสับสนว่าเกลือแร่กับของเค็มเป็นเรื่องเดียวกัน หากร่างกายขาดเกลือแร่จนเกิดตะคริว แนะนำให้รับประทานแมกนีเซียมเสริม หรืออาหารที่มีแคลเซียมเพื่อป้องกันการเกิดตะคริว ซึ่งอาหารที่มีเกลือแร่หรือแมกนีเซียมพบได้ในเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ และกล้วย
🦵 ทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว
ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หากเป็นที่น่องให้กระดกขาขึ้นค้างเอาไว้สักพัก กล้ามเนื้อที่เกร็งจะค่อย ๆ คลายตัวลง นวดเบา ๆ แต่ไม่ควรกด เพราะจะยิ่งเจ็บ หากประคบเย็นตรงที่มีอาการปวด จะช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยทั่วไปเมื่อพักแล้วตะคริวจะหายได้เองใน 5 นาที หรือภายหลังการยืดเหยียด 2-3 นาที
โฆษณา