ค้นหาจุดแข็งในตัวคุณ เคล็ดลับในการพัฒนาตนเอง

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน .. ฉบับนี้ผู้เขียนอยากแชร์เรื่องราวในการพัฒนาตัวเองในอีกแง่มุมหนึ่งให้ท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ เอาเป็นว่าก่อนเริ่มเรื่อง ผู้เขียนอยากถามทุกท่านว่า หากท่านมีลูก และลูกท่านเอาผลสอบมาให้ท่านดู พบว่าใน 3 วิชาที่ลูกท่านสอบไปนั้น ลูกท่านได้เกรด A, C และ F ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ปกครอง ท่านอยากส่งเสริมหรือพัฒนาวิชาไหนคะ ก่อนท่านจะอ่านในย่อหน้าถัดไป ท่านลองคิดคำตอบในใจก่อนนะคะ
คนส่วนมากตอบวิชาที่ได้ F ค่ะ เพราะในฐานะพ่อแม่ ย่อมอยากให้ลูกสอบผ่านก่อน เนื่องจากระบบการศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกำหนดเกณฑ์มาแบบนั้น อีกทั้งบางสายอาชีพมีเกณฑ์ว่าจะทำอาชีพนี้ได้ อย่างน้อยต้องสอบผ่านวิชาที่กำหนดอีกด้วย .. อันนี้ถือว่าเป็นเหตุผลด้านนึงนะคะ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งเราพบว่า การที่เราจะพัฒนาศักยภาพในตัวเรานั้น
หากเลือกพัฒนาจากสิ่งที่เรามีพรสวรรค์หรือถนัดอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้เราพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว มีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เมื่อพัฒนาการอ่านหนังสือให้กับเด็ก 2 กลุ่ม คือ เด็กที่อ่านหนังสือได้ในอัตราปกติ (90 คำต่อนาที) กับเด็กที่มีพรสวรรค์ในการอ่านหนังสือ (อ่านได้ 350 คำต่อนาที) พบว่าเด็กกลุ่มที่อ่านได้ 90 คำต่อนาที อ่านได้เพิ่มเป็น 150 คำต่อนาที ในขณะที่เด็กที่มีพรสวรรค์ อ่านได้เพิ่มจาก 350 คำถึง 2,900 คำต่อนาที ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด
ดังนั้นหากต้องการพัฒนาลูกคุณให้เก่งยิ่งขึ้น เราควรส่งเสริมวิชาที่ได้เกรด A แต่ที่กล่าวมานี้เฉพาะในกรณีที่ไม่ได้มีเกณฑ์ว่าลูกคุณต้องสอบผ่านให้ได้หมดทุกวิชานะคะ ...
put the man on the right job คือเลือกงานให้เหมาะสมกับจุดแข็งของแต่ละคนไปเลย
ความรู้นี้ยังสามารถนำไปพัฒนาตัวเองได้ในที่ทำงานได้อีกด้วย ดังการศึกษาในอดีตของ Gallup ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง เขาพบว่าเมื่อทำการสำรวจผู้คนจากทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคนในเรื่องความผูกพันที่มีต่อองค์กร โดยใช้คำถามที่ว่า “ในที่ทำงาน ฉันมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ฉันทำได้ดีที่สุดทุกวัน” พบว่ามีเพียงหนึ่งในสามที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความนี้
ในขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วย ไม่มีสักคนที่รู้สึกผูกพันกับองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่ งานวิจัยนี้ยังพบอีกว่า ผู้ที่มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง โดยมุ่งเน้นที่จุดแข็งของตนเองนั้น มีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพชีวิตทั่วไปยอดเยี่ยมถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะผูกพันกับองค์กรมากถึง 6 เท่า
.. ในอดีตเรามุ่งเน้นที่จะพัฒนาจุดอ่อนหรือจุดด้อย เพื่อให้เราได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น แต่จากการศึกษาอีกอันพบว่า หากหัวหน้าองค์กรมุ่งเน้นพัฒนาจุดอ่อนของลูกน้องเพียงอย่างเดียวนั้น โอกาสที่ลูกน้องจะรู้สึกไม่ผูกพันกับองค์กรจะเท่ากับ 22% แต่ถ้าหัวหน้ามุ่งพัฒนาจุดแข็งเป็นหลัก โอกาสที่ลูกน้องจะรู้สึกไม่ผูกพันจะเหลือแค่ 1% เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากหัวหน้าองค์กรเพิกเฉยต่อการพัฒนาของลูกน้อง กรณีนี้มีโอกาสที่ลูกน้องจะรู้สึกไม่ผูกพันกับองค์กรมากถึง 40%
ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาลูกน้องไม่ว่าในด้านจุดแข็งหรือจุดอ่อน ย่อมดีกว่าการเพิกเฉยหรือไม่สนใจจะพัฒนาพวกเขาเลย แต่การเลือกพัฒนาจุดแข็งนั้น พบว่ามีผลดีกว่าการเลือกพัฒนาจุดอ่อนอย่างเห็นได้ชัด การศึกษานี้ทำให้ผู้เขียนและใครอีกหลายคนเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาคนไปเลยทีเดียว
หากเราถามผู้ถูกพัฒนาไม่ว่าจะเป็นลูกเรา หรือเป็นลูกน้องในองค์กร ตัวเขาเองคงมีความสุขที่ได้พัฒนาในสิ่งที่ตัวเองมีพรสววรค์หรือถนัด และคงทำได้ดีมาก ๆ ด้วย ในขณะที่การพัฒนาจุดอ่อนของเขา อาจทำให้ทั้งคนพัฒนาและถูกพัฒนารู้สึกเหนื่อย เสียเวลาและยังได้ประโยชน์น้อยกว่า ... พออ่านมาถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านอาจมีข้อโต้แย้งในใจว่า หากงานที่เขาทำต้องการพัฒนาทักษะด้านนี้ล่ะ เช่น เป็นบริกร แต่การสื่อสารไม่เก่งเอาซะเลย หากไม่พัฒนาน่าจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ..
อันนี้ก็ถูกนะคะ คือ เราสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารของเขาให้ดีขึ้นได้ เพียงแต่พัฒนาแล้วเขาก็อาจไม่ได้ดีเท่ากับคนที่มีพรสวรรค์ด้านการสื่อสารอยู่แล้ว แต่อาจจะดีขึ้นแค่ในระดับพื้นฐาน
.. Dr.Donal O. Clifton บิดาแห่งจิตวิทยาด้านจุดแข็ง ผู้ก่อตั้ง Gallup ได้ค้นพบว่ามนุษย์มีจุดแข็งหรือพรสวรรค์ทั้งหมด 34 แบบ ซึ่งแต่ละคนจะมีจุดแข็งเด่น ๆ แตกต่างกันไป จึงแนะนำว่าหัวหน้าองค์กรควรค้นหาจุดแข็งของลูกน้องแต่ละคน แล้วเลือกพัฒนาด้านนั้น ๆ หรือไม่ก็ put the man on the right job คือเลือกงานให้เหมาะสมกับจุดแข็งของแต่ละคนไปเลย
หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงงานนั้นได้ หรือย้ายไปทำงานอื่นไม่ได้ ก็อาจจะหาคนในทีมที่มีจุดแข็งที่เราต้องการ มาเติมเต็มช่องว่างนั้นแทน ยกตัวอย่างเช่น หากบริกรคนนี้ไม่เก่งเรื่องการสื่อสารเลย แต่จุดเด่นของเขาคือ มีความละเอียดรอบคอบ ในขณะที่เพื่อนอีกคนนึงมีพรสวรรค์ด้านการสื่อสาร แต่ไม่มีความละเอียดรอบคอบ เราอาจย้ายคนที่ไม่เก่งเรื่องการสื่อสารไปอยู่จุดที่เป็นแคชเชียร์เรียกเก็บเงินแทน เพราะเป็นคนละเอียดรอบคอบ ส่วนเพื่อนก็ให้มาอยู่ในจุดที่ต้องรับลูกค้าแทน อย่างนี้เป็นต้นค่ะ
การรู้จุดแข็งนั้น นอกจากประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจตัวเราเองมากขึ้นอีกด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่องราวของคุณบอย โกสิยพงษ์ ผู้ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงชื่อดังของประเทศ คุณบอยเคยเป็นเด็กที่เรียนได้ไม่ดีเลย สอบตกเป็นประจำ จนโรงเรียนต้องเชิญออก ทั้ง ๆ ที่คุณบอยเป็นคนตั้งใจเรียน ไม่เกเร แต่โชคดีที่คุณแม่คุณบอยเข้าใจในตัวลูกชายอย่างดี คุณแม่บอกว่า “โรงเรียนนี้น่าจะไม่เหมาะกับบอยหรอก เดี๋ยวไปหาโรงเรียนที่เหมาะกับบอยดีกว่านะ”
ต่อมาคุณบอยค้นพบว่าตัวเองถนัดด้านดนตรี ไม่ได้ถนัดด้านวิทยาศาสตร์หรือศิลปะดังที่หลักสูตรปัจจุบันมีให้เลือกเรียน คุณบอยเลยบินไปเรียนดนตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฎว่าจากเด็กที่เรียนได้เกรดแค่ 1.04 คุณบอยเรียนวิชาดนตรีได้เกรด A ทั้งหมด คุณบอยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเรียนดนตรีด้วยความรักสุดหัวใจ อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ คุณบอยไม่เคยท่องหนังสือ แต่อ่านจนเข้าใจ และคุณบอยจึงประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้อย่างมาก พอได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบหรือถนัด ก็พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด
หลังจากเรียนจบ คุณบอยได้เปิดค่ายเพลงที่เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนทั้งประเทศ เนื่องจากคนเรามีความถนัดหรือพรสวรรค์ต่างกัน หลักสูตรในปัจจุบันยังไม่รองรับเด็กที่มีความถนัดในด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ จึงทำให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งถูกตีตราว่าเป็นเด็กหลังห้อง ทั้งที่พวกเขาได้พยายามอย่างมากแล้วก็ตาม
ถ้าเปรียบเทียบการสอนในปัจจุบันเสมือนโรงเรียนสอนสัตว์ป่า หากโรงเรียนสอนเรื่องปีนต้นไม้เพียงอย่างเดียว นักเรียนที่เป็นลิง แมว กระรอก คงเป็นนักเรียนแถวหน้า ส่วนนักเรียนที่เป็นปลา น่าจะเป็นเด็กหลังห้องที่สอบตก เพราะไม่สามารถปีนต้นไม้ได้ แต่หากนักเรียนปลาไปเรียนในโรงเรียนที่สอนให้ว่ายน้ำ
เขาก็คงได้เป็นนักเรียนแถวหน้าเหมือนกัน เพราะการสอนและการประเมินในปัจจุบันไม่ได้ปรับตามความถนัดของนักเรียน ท่านผู้อ่านล่ะคะ เคยไหมที่จะถามลูกหรือลูกน้องของเราว่า ถ้าให้ไปเรียนหรือพัฒนาด้านที่เป็นจุดอ่อนของตัวเอง เขารู้สึกมีความสุขไหม? เขาอาจตอบว่า ไม่เลย เรียนด้วยความผะอืดผะอม เพราะต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัด และเครียดเพราะทำได้ไม่ดีอีกต่างหาก
การรู้จุดแข็งนั้น นอกจากประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจตัวเราเองมากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนเคยคิดว่าตัวเองเป็นพวกบ้างาน หรือ workaholic ถึงแม้จะเป็นวันหยุดก็ต้องลุกขึ้นมาทำงานสักอย่าง หากไม่ทำจะรู้สึกแย่มาก เหมือนปล่อยเวลาไปเปล่า ๆ ผู้เขียนได้ทำแบบทดสอบของ Gallup และค้นพบว่าจุดแข็งอันหนึ่งของผู้เขียนคือ “ผู้บรรลุเป้าหมาย” (achiever)
ซึ่ง Gallup ได้อธิบายว่า ผู้บรรลุเป้าหมายเป็นผู้ที่มีความรู้สึกว่าต้องทำอะไรให้เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่างในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นวันทำงาน วันหยุดราชการ วันหยุดพักผ่อน ถ้าวันนั้นผ่านไปโดยที่คุณไม่ได้ทำอะไรให้สำเร็จเลยคุณจะรู้สึกไม่พอใจ .. ซึ่งข้อนี้ตรงกับผู้เขียนอย่างมาก พอผู้เขียนรู้แล้วว่าจุดแข็งข้อนี้มันเติบโตมาพร้อมกับธรรมชาติของเรา ผู้เขียนก็เข้าใจตัวเองมากขึ้น รู้แล้วว่าต้องไปพัฒนาด้านไหนต่อไปเพื่อนำจุดแข็งนี้ไปใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากเรารู้ด้วยว่าคนที่ทำงานกับเรามีจุดแข็งด้านใดบ้าง เราสามารถนำจุดแข็งเหล่านั้นมาเติมเต็มให้กันได้ จะทำให้การทำงานเป็นทีมนั้นดียิ่งขึ้น คนทำงานมีความสุขมากขึ้นที่ได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองถนัด ทำให้มีความผูกพันกับองค์กรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้งานที่ได้มีผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเข้าใจเพื่อนร่วมงานมากขึ้นอีกด้วย ... ท่านผู้อ่านละคะมีจุดแข็งด้านไหนบ้าง?
อ้างอิง:
• Rath, Tom. StrengthsFinder 2.0. Gallup Press, 2007
• เก้า มีนานนท์. “บอย โกสิยพงษ์ จากเด็กโข่งหัวทึบของชั้นเรียน สู่นักแต่งเพลงรักที่ยอดเยี่ยมที่สุด”. [Online]. https://thestandard.co/boyd-kosiyabong/
อ่านกันค่ะ
โฆษณา