เกลือแร่ แบบไหน กินยังไง

มาทำความรู้จักเกลือแร่กันก่อน เกลือแร่คือ แร่ธาตุที่ช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มพลังงาน เพิ่มแร่ธาตุ และน้ำในร่างกาย เมื่อมีอาการท้องเสีย ร่างกายจะสูญเสียน้ำพร้อมเกลือแร่ปริมาณมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและเสียชีวิตได้ หากไม่ทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไป โดยทั่วไปเกลือแร่ในที่มีในท้องตลาดแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
เกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย จะเป็นชนิดผงน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่า ORS (Oral Rehydration Salt) การเสียน้ำจากอาการท้องเสียเป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ในทันที ร่างกายจึงต้องการน้ำและเกลือแร่มาทดแทน ซึ่งแตกต่างจากการเสียน้ำหรือเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ที่ร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะเสียเกลือแร่ในปริมาณที่น้อยมาก
วิธีการผสม ORS : ทำได้โดยเทผงเกลือแร่ทั้งซอง ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้วหรือน้ำดื่มสะอาดจากขวดที่เพิ่งเปิดใหม่ ปริมาตร 150-250 มิลลิลิตร หรือตามที่ฉลากข้างซองระบุ จิบเกลือแร่ช้า ๆ ตลอดวันแทนน้ำ เมื่อเริ่มมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ผสม ORS กับน้ำแล้วไม่ควรเก็บไว้เกิน 24 ชั่วโมง
เกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกาย เรียกว่า ORT (Oral Rehydration Therapy) เป็นวิธีการรักษาอาการขาดน้ำและเกลือแร่ที่เกิดจากการเสียเหงื่อ จะมีปริมาณของน้ำตาลที่มากกว่า ORS เช่น การออกกำลังกาย การทำงานหนัก หรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่ง ORT จะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติจากภาวะดังกล่าว
สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีอาการท้องเสียดื่มเกลือแร่ทดแทนสำหรับการออกกำลังกาย (ORT) เนื่องจากเมื่อมีน้ำตาลปริมาณสูงในทางเดินอาหาร จะเกิดการดึงน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหารมากขึ้น ส่งผลให้อาจท้องเสียหรืออาเจียนมากกว่าเดิม ร่างกายจึงสูญเสียน้ำและแร่ธาตุอย่างฉับพลัน เป็นเหตุให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะขาดน้ำจนเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำกัดปริมาณน้ำตาลใน ORS ให้ไม่เกิน 111 mEq (มิลลิอิควิวาเลนต์) ที่จะไม่ส่งผลให้เกิดปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ORS จึงสามารถใช้ในผู้ที่ท้องเสียได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก :
Manual for Procurement & Supply of Quality-Assured MNCH Commodities. Oral rehydration [Online]. USAID. 2019. https://www.ghsupplychain.org/sites/default/files/2019-02/MNCH%20Commodi...
ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง. น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2563. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/529/น้ำเกลือแร่-ท้องเสีย/
พัชรี บอนคำ. “เกลือแร่” เลือกให้ดี ดื่มให้เป็น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. 2560. https://www.thaihealth.or.th/?p=230948
โฆษณา