Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองข้างทาง
•
ติดตาม
5 ก.ค. เวลา 07:00 • หนังสือ
ชื่ออำเภอ
๑. ในประเทศไทย พื้นที่นอกกรุงเทพมหานครจะเป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยแบ่งเขตการปกครองและบริหารราชการออกเป็น ๗๖ จังหวัด ในแต่ละจังหวัดจะแบ่งพื้นที่เขตการปกครองและบริหารราชการเป็น “อำเภอ” โดยในกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินบัญญัติไว้ว่า ในจังหวัดหนึ่งให้มีหน่วยราชการบริหารรองจากจังหวัดเรียกอำเภอ
อำเภอจะเป็นเขตการปกครองและบริหารราชการลำดับสุดท้ายที่จะมีข้าราชการไปประจำอยู่ ส่วนเขตการปกครองในลำดับรองลงไปได้แก่ ตำบล หมู่บ้านจะเป็นการจัดการปกครองท้องที่ ไม่ได้เป็นหน่วยราชการบริหารและไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ ทั้งนี้ หลายอาจเคยได้ยินคำว่า ปลัดอำเภอประจำตำบล พัฒนากรตำบล ฯลฯ ตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งอยู่ที่อำเภอแต่มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันเป็นตำบลเท่านั้น
๒. ในแต่ละอำเภอ จะมี “นายอำเภอ” เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาในอำเภอและรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ โดยมีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอเป็นผู้ช่วยเหลือ
คนมักคิดว่านายอำเภอมีส่วนราชการและจำนวนคนที่อยู่ในบังคับบัญชาอยู่จำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วนายอำเภอจะมีส่วนราชการและจำนวนคนในบังคับบัญชาตามกฎหมายไม่มากเท่าใดนัก เพราะส่วนราชการฝ่ายพลเรือนที่จะอยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของนายอำเภอโดยตรงตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คือ ส่วนราชการประจำอำเภอและข้าราชการที่เรียกว่า “ราชการส่วนภูมิภาค” โดยปัจจุบันมีส่วนราชการที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนภูมิภาคในระดับอำเภอแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑.ส่วนราชการประจำอำเภอที่มีในทุกอำเภอ ได้แก่ ที่ทำการปกครองอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ
๒.ส่วนราชการประจำอำเภอที่มีในบางอำเภอ คือ จะมีในอำเภอใดให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ ประกาศกำหนด ได้แก่ สำนักงานที่ดินอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานประมงอำเภอ เรือนจำอำเภอ
นอกจากส่วนราชการประจำอำเภอแล้ว จะมีส่วนราชการที่มีการจัดตั้งตามกฎหมายอื่นหรือจัดตั้งเป็นการภายในแล้วมอบหมายหรือมอบอำนาจการปกครองบังคับบัญชาให้นายอำเภอ ได้แก่ หน่วยสัสดีอำเภอ และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ
๓. ปัจจุบันประเทศไทยมีอำเภอทั้งหมด ๘๗๘ อำเภอ ลองมาดูเกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับชื่ออำเภอทั้ง ๘๗๘ อำเภอ โดยอำเภอที่จัดตั้งเป็นลำดับล่าสุด คือ อำเภอกัลยาณิวัฒนา เชียงใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๒
ปกติทุกจังหวัด อำเภอที่ตั้งตัวจังหวัดจะมีชื่อเรียกว่า อำเภอเมืองตามด้วยชื่อจังหวัด เช่น อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอเมืองมหาสารคาม แต่จะมีอยู่เพียงจังหวัดเดียวที่ไม่มีอำเภอเมืองในลักษณะนี้ คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเป็นชื่อ อำเภอพระนครศรีอยุธยา
และถ้าตัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยาออกไป ควรจะมีอำเภอที่ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าเมือง ๗๕ อำเภอ แต่ปรากฎว่าจะมีอำเภอที่ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าเมืองทั้งหมด ๗๙ แห่ง เพิ่มมา ๔ แห่งได้ อำเภอเมืองสรวง ร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยาง นครราชสีมา อำเภอเมืองปาน ลำปาง และอำเภอเมืองจันทร์ ศรีสะเกษ
ใน ๘๗๘ อำเภอ จะมีอำเภอที่ตั้งชื่อตามพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งหมด ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอวชิรบารมี พิจิตร อำเภอสิรินธร อุบลราชธานี อำเภอจุฬาภรณ์ นครศรีธรรมราช อำเภออุบลรัตน์ ขอนแก่น อำเภอศรีนครินทร์ พัทลุง อำเภอกัลยาณิวัฒนา เชียงใหม่ และอำเภอแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
และยังมีอำเภอที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี (พ.ศ.๒๕๓๙) โดยมีการตั้งชื่ออำเภอว่า อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ชื่อเดียวกันใน ๕ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บุรีรัมย์ สระบุรี
สำหรับจำนวนอำเภอในจังหวัด นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุด ๓๒ อำเภอ และ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีอำเภอน้อยที่สุด ๓ อำเภอ
อำเภอที่มีประชากรมากและน้อยสุด ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ ๕๔๑,๑๗๐ คน น้อยสุด อำเภอเกาะกูด (ตราด) ๒,๗๓๗ คน
มีอำเภอที่มีพื้นที่ติดประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า ๑ ประเทศ ๒ อำเภอ คือ อำเภอเชียงแสน เชียงราย ติดกับเมียนมาร์ และ สปป.ลาว และอำเภอน้ำยืน อุบลราชธานี ติดกับ สปป.ลาวและกัมพูชา สำหรับอำเภอที่มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านมีทั้งหมด ๑๒๙ อำเภอ และมีอำเภอที่อยู่ติดทะเล มีทั้งหมด ๒๕๗ อำเภอ แยกเป็นฝั่งอ่าวไทย ๒๑๖ อำเภอ ฝั่งอันดามัน ๔๑ อำเภอ
๔.เกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับชื่ออำเภอ
ลองเอาชื่ออำเภอทั้งหมดมาพิจารณา มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชื่ออำเภอดังนี้
๑.อำเภอที่มีชื่อเดียวกัน มี ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บุรีรัมย์ สระบุรี
๒.อำเภอที่ชื่ออำเภอมีตัวอักษรมากและน้อยสุด คือ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ มี ๒๐ ตัวอักษร แต่ถ้าไม่นับอำเภอที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าอำเภอเมืองแล้ว อำเภอที่มีตัวอักษรมากที่สุด มี ๑๕ ตัวอักษร ได้แก่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง (พิจิตร) เฉลิมพระเกียรติ (นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บุรีรัมย์ สระบุรี) ประจักษ์ศิลปาคม (อุดรธานี) พระนครศรีอยุธยา (พระนครศรีอยุธยา) บ้านใหม่ไชยพจน์ (บุรีรัมย์)
ส่วนอำเภอที่ตัวอักษรน้อยสุด ๒ ตัวอักษร คือ คง (นครราชสีมา) ปง (พะเยา) พล (ขอนแก่น)
๓.อำเภอที่มีพยางค์มากและน้อยสุด มี ๘ พยางค์ คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา และ อำเภอขาณุวรลักษบุรี (กำแพงเพชร) มี ๗ พยางค์ คือ อำเภอกัลป์ยาณิวัฒนา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองนครราชสีมา เมืองอุบลราชธานี
ส่วนอำเภอที่พยางค์น้อยสุด มีพยางค์เดียว มี ๒๐ อำเภอ ได้แก่ อำเภอคง (นครราชสีมา) ปง และจุน(พะเยา) พล (ขอนแก่น) ลี้ (ลำพูน) ลอง และ สอง (แพร่) ปัว (น่าน) ฝาง และฮอด (เชียงใหม่) งาว และเถิน (ลำปาง) พาน และ เทิง (เชียงราย) ปาย (แม่ฮ่องสอน) แว้ง (นราธิวาส) ตรอน (อุตรดิตถ์) ขลุง (จันทบุรี) แกลง (ระยอง) เพ็ญ (อุดรธานี)
๔ คำขึ้นต้นของชื่ออำเภอที่เหมือนกันมากสุด คือ ขึ้นด้วยคำว่า “บ้าน” ๓๗ อำเภอ
ที่ คำขึ้นต้น จำนวน
๑ บ้าน ๓๗
๒ หนอง ๓๒
๓ บาง ๒๘
๔ นา ๒๕
๕ แม่ ๒๔
๖ ท่า ๒๓
๗ ศรี ๒๑
๘ วัง ๑๗
๙ ทุ่ง / ภู ๑๑
๑๐โนน ๑๐
๕. อำเภอที่มีคำว่าเกาะนำหน้า มีทั้ง ๙ อำเภอ โดยเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่บนเกาะจริงๆ ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกาะสีชัง (ชลบุรี) อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน (สุราษฎร์ธานี) อำเภอเกาะลันตา (กระบี่) อำเภอเกาะยาว (พังงา) อำเภอเกาะช้างและอำเภอเกาะกูด (ตราด) ส่วนอีก ๒ อำเภอแม้จะมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าเกาะแต่ไม่ได้อยู่บนเกาะในทะเล ได้แก่ อำเภอเกาะคา (ลำปาง) และอำเภอเกาะจันทร์ (ชลบุรี)
๖. ประเภทสัตว์ที่มีปรากฎอยู่ในชื่ออำเภอ มากที่สุด คือ ช้าง มีอยู่ใน ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง (พิจิตร) เกาะช้าง (ตราด) ท่าช้าง (สิงห์บุรี) ทุ่งหัวช้าง (ลำพูน) ทุ่งช้าง (น่าน) ด่านช้าง (สุพรรณบุรี) และ ช้างกลาง (นครศรีธรรมราช)
๗.ตัวเลขที่มีปรากฎอยู่ในชื่ออำเภอ มากที่สุด คือเลข ๓ มีทั้งหมด ๘ อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามโคก (ปทุมธานี) สามโก้ (อ่างทอง) สามเงา (ตาก) สามพราน (นครปฐม) สามชุก (สุพรรณบุรี) สามชัย (กาฬสินธุ์) สามง่าม (พิจิตร) วังสามหมอ (อุดรธานี)
นอกจากนี้ยังมีตัวเลขอื่นๆ ในชื่ออำเภอ เรียงตามค่าของตัวเลข ดังนี้ เลข ๒ มีอำเภอสอง (แพร่) สองแคว (น่าน) สองพี่น้อง (สุพรรณบุรี) หนองสองห้อง (ขอนแก่น) ท่าสองยาง (ตาก) เลข ๙ เก้าเลี้ยว (นครสวรรค์) เลข ๓๐ ม่วงสามสิบ (อุบลราชธานี) เลข ๑๐๑ เมืองร้อยเอ็ด (ร้อยเอ็ด) เลข ๓๐๐ สามร้อยยอด (ประจวบคีรีขันธ์) เลข ๓,๐๐๐ บึงสามพัน (เพชรบูรณ์)
Bt
ติดตามอ่านเพิ่มเติม
https://www.blockdit.com/bntham
๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗
เรื่องเล่า
ความรู้รอบตัว
บันทึก
4
2
4
4
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย