5 ก.ค. เวลา 11:49 • สิ่งแวดล้อม

กระทรวงการต่างประเทศกับกิจกรรมปลูกต้นไม้เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

หลายท่านคงเคยนั่งรถหรือขับรถผ่านถนนศรีอยุธยาใช่ไหมคะ หากท่านขับเลยกระทรวงการต่างประเทศไป 1 แยกไฟแดง ท่านจะสังเกตเห็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ณ บริเวณที่เคยเป็นสนามม้านางเลิ้ง ทราบหรือไม่ว่า โครงการแห่งนี้คือ “อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ค่ะ
อุทยานฯ แห่งนี้เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวทางพระราชดำริเกี่ยวกับ “ป่าและน้ำ” ที่เป็นต้นกำเนิดและส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต และอุทยานฯ จะเป็นพื้นสีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยจัดกิจกรรมจิตอาสาปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ อุทยานฯ แห่งนี้ โดยได้เชิญคณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยทั้งหมด 79 ประเทศและผู้แทนหน่วยงานสหประชาชาติ (UNESCAP) ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกระทรวงการต่งประเทศ
นำโดยท่านรัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้บริหารบริษัทในพระปรมาภิไธย 12 บริษัท มาร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ ถือเป็นการเสริมสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานไทยและต่างประเทศ และยังเป็นการร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
(ภาพจากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงในโอกาสกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ)
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 279 ไร่ ออกแบบตามแนวคิดสมัยใหม่ (Modern Park) สะท้อนให้เห็นถึงถึงความทันสมัยของกรุงเทพฯ และเน้นประโยชน์ใช้สอย อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอุทยานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนรำลึกและตระหนักถึงพระราชดำริเกี่ยวกับ “ป่าและน้ำ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนั้น การออกแบบจึงมีความเกี่ยวข้องกับเลข 9 และสอดแทรกองค์ความรู้เกี่ยวกับป่าไม้และน้ำในทุกส่วนของอุทยานฯ นำเสนอการบริหารจัดการน้ำโดยเริ่มจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
โดยจะมีการสร้างพื้นที่รองรับน้ำเป็นรูปเลข ‘๙’) เพื่อเป็นแก้มลิงรองรับน้ำฝน และมีการนำแนวคิดป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างมาประยุกต์ใช้ในการปลูกพันธุ์ไม้ในอุทยานนี้ด้วย จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่นำต้นไม้ประจำแต่ละจังหวัดในประเทศไทยมาปลูกในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้
นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในทุกทั่วจังหวัดประเทศแล้ว ต้นไม้จากแต่ละจังหวัดยังมีความสำคัญแตกต่างกันไป เช่น ต้นตาล ต้นหว้า เป็นไม้กินได้ ต้นมะหาด ต้นสะเดาเทียม เป็นไม้ใช้สอย หรือต้นสัก ต้นพะยูง ที่เป็นไม้เศรษฐกิจ ที่ยังสื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของพืชพรรณในแผ่นดินของเราอีกด้วย
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ในวันนั้น กิจกรรมปลูกต้นไม้ฯ จัดขึ้นบริเวณโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยแบ่งพื้นที่การปลูกต้นไม้ออกเป็นทั้งหมด 7 โซน ตามพื้นที่ในแต่ละภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ 1 โซน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 โซน ภาคตะวันออก 1 โซน ภาคกลาง 2 โซน และภาคใต้ 2 โซน
ต้นไม้ที่นำมาปลูก คือต้นไม้ประจำจังหวัดต่าง ๆ เช่น ไทรย้อยใบแหลม ของกรุงเทพมหานคร มะหาดของกาฬสินธุ์ กัลปพฤกษ์จากขอนแก่น กาสะลองคำจากเชียงราย, บุนนาค ของที่พิจิตร, ต้นปีบจากพิษณุโลก, ตะแบกจากสระบุรี ต้นสักของอุตรดิตถ์ ยางนาจากอุบลราชธานี, ต้นหว้าจากเพชรบุรี ต้นตาลจังหวัดสุโขทัย พะยูงประจำจังหวัดหนองบัวลำภู และสะเดาเทียมของ สงขลา เป็นต้น
หลังเสร็จงาน กรมป่าไม้ได้มอบกล้าไม้มงคลให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน เพื่อเป็นที่ระลึกให้นำกลับไปปลูกต่อไปด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับสังคมแล้ว ยังส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อสร้างความตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของพื้นที่สีเขียวต่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ฯ ในครั้งนี้ จึงถือว่าได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับเลยค่ะ
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
การปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นกิจกรรมจิตอาสาแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตัวเมือง ณ ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้พระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะในเรื่องป่าและน้ำ
ซึ่งสะท้อนถึงพระราชปณิธานในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพระอัจฉริยภาพและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการส่งเสริมความตระหนักรู้ของสังคมในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปลูกต้นไม้ และการลดมลภาวะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
โฆษณา