Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ
•
ติดตาม
6 ก.ค. เวลา 14:09 • หนังสือ
ขุ น ห อ คำ
ตอนจบของนิยายไตรภาค
“ขุนหอคำ” เป็นตอนจบของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ล้านนาที่ต่อเนื่องจากสองเรื่องแรกของ กฤษณา อโศกสิน คือ 'เวียงแว่นฟ้า' และ 'หนึ่งฟ้าดินเดียว' ซึ่งเอ่ยถึงเหตุการณ์ในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๔๓๓ ของอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรสยาม ผู้อ่านสามารถคลิกไปอ่านเรื่อง 'เวียงแว่นฟ้า' และ 'หนึ่งฟ้าดินเดียว' ย้อนหลังได้ที่นี่ค่ะ
.
เวียงแว่นฟ้า
https://www.facebook.com/share/p/i61s8LqBXeScPhgo/?mibextid=oFDknk
หนึ่งฟ้าดินเดียว
https://www.facebook.com/share/p/W33osgYizZP5wfZz/?mibextid=oFDknk
.
ในเรื่อง “ขุนหอคำ" ผู้แต่งพาเราเข้าไปสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอาณาจักรไต (อาณาจักรไทใหญ่) ที่เกือบล่มสลายหมดสิ้นเพราะถูกพม่าและอังกฤษรุกราน
.
อาณาจักรของชาวไตกว้างใหญ่และงดงามด้วยขุนเขาต่าง ๆ ดังที่มีคำกล่าวว่า “ดอยสามสิบ ไตสามสิบ” ซึ่งครอบคลุม ๓๖ เมือง แต่ภายใต้ความงามนี้มีความขัดแย้งแทรกซึมมาอย่างยาวนานเพราะแต่ละเมืองต่างไม่ปรองดองกัน และขุนหอคำ (เจ้าฟ้าเมืองไตในเมืองใหญ่) ก็มีความขัดแย้งว่าจะสถาปนาใครเป็นกษัตริย์ของชาวไต ชาวไตจึงแบ่งเป็นสามฝ่ายคือ ฝ่ายที่เข้ากับพม่า ฝ่ายที่เข้ากับอังกฤษหรืออิงกะเล็ต (ภาษาไต) และฝ่ายที่ต่อต้านทั้งพม่าและอังกฤษ
.
หัวเมืองต่างๆ ของไตเกิดกลียุคเป็นเวลานานระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๒๑ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เพราะกองกำลังอังกฤษรุกรานเมืองสำคัญต่าง ๆ ของชาวไตภาคเหนือ เช่นเมืองนาย เมืองแสนหวี เมืองสีป้อ และเมืองล่าเสี้ยว ชาวบ้านนับหมื่นนับพันต่างบรรทุกสัมภาระบนกองเกวียนมุ่งหน้าลงใต้ บ้างรอดชีวิต บ้างถูกปล้นสะดม กว่าจะข้ามแดนเข้าไปอาณาจักรสยามหรือพม่าก็มีผู้รอดชีวิตลดน้อยลงเรื่อย ๆ
.
เรื่องเปิดฉากที่เมืองยองห้วย หนึ่งในเมืองสำคัญของดินแดนไตตอนใต้ ซึ่งมีชายแดนติดภาคเหนือของไทยที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าฟ้าลิ่นปิ่น ผู้นำที่มีเชื้อสายพม่าและเป็นผู้ที่เจ้าฟ้าไตส่วนหนึ่งตั้งใจจะสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรไตยังคงต่อต้านอังกฤษ ขณะที่เหล่าขุนหอคำหลายแห่งคือ ขุนหอคำเวียงนาย ขุนหอคำสีป้อ และขุนหอคำเมืองอื่น ๆ ต่างยอมจำนนต่ออังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๓๐
.
เจ้าฟ้าเมืองยองห้วยนั้นสวามิภักดิ์ต่ออังกฤษตั้งแต่แรก จึงรอดพ้นการบุกโจมตีของกองทหารอังกฤษ แต่ก็เคยถูกกองทหารของเจ้าฟ้าลิ่นปิ่นปิดล้อมนานเกือบปีเพื่อบังคับให้ยอมจำนน ในเวลานั้นเกือบทุกเมืองยอมให้อังกฤษปกครอง มีเพียงรัฐกะฉิ่นภาคเหนือและเมืองกะเรนนี่ภาคใต้ (เมืองยางแดง) ซึ่งมีเจ้าขุนหอคำคือ เจ้าละผ่อที่เป็นผู้นำต่อต้านอังกฤษเพราะต้องการให้อังกฤษจัดการเฉพาะพม่า อย่ามารุกรานชาวไต แต่อังกฤษไม่ยอม
.
ใน “ขุนหอคำ” ตัวละครหลักคือ ภูเออหรือเจ้ามาวฟ้าลูกชายวัย ๑๘ ปีของเจ้าม่อนฟ้ากับบัวบุรีจากเรื่อง “เวียงแว่นฟ้า” เขาเดินทางมาจากเวียงนายกับญาติผู้พี่คือเจ้าล่องฟ้า และคนรับใช้ ทั้งหมดปลอมตัวมาที่เมืองยองห้วยเพื่อมาสืบดูลาดเลาความเป็นไประหว่างเมืองไตแต่ละเมือง ที่นี่เขาก็ได้เจอสหายชาวไตจากเมืองยางแดง ที่หลบหนีจากกองทัพของเจ้าละผ่อมาด้วย
.
ก่อนหน้านี้ ทั้งพ่อแม่และย่าของภูเออต่างไม่เห็นด้วยที่เขาจะเดินทางมา แต่ปู่ที่ภูเออรักและเคารพบอกเขาว่า “เจ้าใคร่ไปก็จงไป เกิดเป็นจาย (ชาย)ต้องใจหาญ ปู่ฝึกปรือการงานไว้พร้อมพรัก เชิงมวยก็ฝึกหนัก ดาบแลมีดก็ใช้เป็น ภาษาอิงกะเล็ต (ภาษาอังกฤษ) ก็เขียนได้ ฟังออก อ่านคล่อง ภาษาไตไม่ต้องห่วง มิหนำซ้ำยังมีเพื่อนตาย...เจ้าเกิดเป็นจาย จงใช้ความเป็นจายให้คุ้มเหอะ” (น. ๒๖)
.
เมื่อมาถึงตลาดในเมืองยองห้วย ภูเออก็ได้เจอปู่ปอย ผู้เฝ้าตลาดและต่อมาก็ไปพบ ท้าวขวานแสน ซึ่งมีตำแหน่งพรองเมือง เป็นที่ปรึกษาเจ้าเมือง แม้ภูเออจะแต่งกายมอซอและบอกว่าเขาและญาติมาจากเมืองสีป้อทางเหนือ แต่ภูเออมีบุคลิกหน้าตาดี พูดภาษาอังกฤษและใช้ราชาศัพท์ได้อย่างถูกต้อง จึงทำให้ภรรยาของท้าวขวานแสนดูออกว่าเขาไม่ใช่คนสามัญ และก็ไม่ใช่คนสีป้อ อย่างไรก็ตาม เจ้านางรู้สึกถูกชะตากับภูเออ จึงขอปู่ปอยให้ภูเออและญาติไปทำงานที่บ้านของท้าวขวานแสน
.
ภูเออได้ไปร่วมงานพิธีต่าง ๆ และได้เห็นความงดงามของไตภาคใต้รวมทั้งทะเลสาบอินเล เขาอยู่บ้านพรองเมืองนานจึงเริ่มสนิทกับเจ้านางเกาะหอม หรือเจ้านางอาม ธิดาคนเล็กของพรองเมือง ทั้งคู่ต่างถูกใจกัน ภูเออเขียนจดหมายบอกรักเจ้าอามว่า
.
“ได้ญาพบนางเลา อ่ำ(ไม่) ทันฟ้างเซาตัว ฟาดเต้อหัวใจชาย เหมือนงายได้ของต้อนชูชาภ สายตาภาพอิ่มหวาน อย่าให้ได้ผานใจชอมร่างงามน้อง – เพียงแต่พบนางนาฏ ดั่งถูกฟาดหัวใจ โดยไม่ทันระวังตน พึงใจล้นราวได้ลาภมิ่ง คราน้องยิงสายตามา ขอจงอย่าให้พี่ต้องทรมาน เพราะความงามตระการของน้องเลย” (น. ๑๗๙ เรียงร้อยโดย “แรคำ ประโดยคำ” กวีซีไรต์ พ.ศ. ๒๕๔๑)
.
ท้าวขวานแสนไม่ค่อยสบายใจที่ธิดารักภูเออ และภายหลังแม้จะรู้ว่าภูเออคือเจ้ามาวฟ้า ไม่ใช่ไพร่ก็ยังไม่พอใจนัก เพราะภูเออเป็นคนเวียงนาย ซึ่งเจ้าขุนหอคำเวียงนายเคยร่วมมือกับเจ้าฟ้าลิ่นปิ่นปิดล้อมเมืองยองห้วยนานเกือบปีจนชาวบ้านต้องหิวโหยทุกข์ทรมานก่อนจะยอมจำนนต่ออังกฤษเพื่อความอยู่รอด
.
ภูเออช่วยงานในกองทัพอังกฤษและหาทางไปดูป้อมทหารในเมืองและติดตามเรื่องที่อังกฤษจะตั้งเมืองตองจีเป็นเมืองหลวงใหม่ของไตภาคใต้เพราะอยู่สูงจากน้ำทะเล มีป่าไม้ทึบหนาแน่น และเห็นทิวทัศน์ทะเลสาบด้วย (ตองจีเป็นภาษาพม่า ภาษาไตคือ ‘หลอยโหลง’ แปลว่าภูเขาหลวง)
.
แม้บิดาของเจ้าอามจะไม่ค่อยพอใจแต่เพราะความรักลูก จึงยอมให้ทั้งคู่หมั้นหมายกันไว้ ภูเออจึงเดินทางกลับไปเวียงนายเพื่อให้ปู่มาสู่ขอ แต่เมื่อกลับถึงเวียงนายก็พบว่า เมืองถูกพม่าทำลายเกือบสิ้นจนกลายเป็นเมืองร้าง ทั้งนี้เมืองยองห้วยมีส่วนในการช่วยเหลือขุนหอคำของสีป้อยดพลมาตีเวียงนายจนย่อยยับ... พ่อแม่และย่าของภูเออก็ต้องอพยพหนีตายไปเมืองเชียงตุงกันหมด
.
เมื่ออยู่ที่วียงนายปู่เตือนสติภูเออเรื่องแต่งงานว่า อย่ารีบร้อน “เจ้าอายุเท่าไร ภูเออ ๑๘...ปู่ก็ยังไม่ใคร่ขอเจ้านางให้...เจ้าควรจะทอดเวลาให้ยาวออกไปอีกสักหน้อยได้หา... ยามนี้ก็เป็นยามที่ไม่ควรตั้งหน้าเรือน (แต่งงาน) เจ้าอามก็อายุเพิ่ง ๑๓ เศษๆ ยังเป็นลูกอ่อน ... รู้หรือไม่ว่า ตั้งหน้าเรือนแล้ว เจ้ามีหน้าที่อย่างใด มิใช่เพียงซ้อนผ้าร่วมหมอน (แต่งงาน)... ตั้งหน้าเรือนแล้ว เจ้าจะมีญิงอื่นอีกไม่ได้...ไตเฮาเป็นคนใหญ่ มีธรรมเนียมประเพณี...ต้องมีผัวหนึ่งเมียหนึ่ง มีหลายผัวหลายเมียไม่ได้ ” (น.๒๓๓)
.
ปู่ดูดวงชะตาภูเออแล้วว่าเขาจะต้องมีหญิงในชีวิตมากกว่าหนึ่งคน เขาก็บอกว่าเขาจะไม่รักใครอีก แต่ปู่ก็ย้ำกับเขาว่าอย่าเพิ่งรีบร้อน ปู่ไม่มีทรัพย์สมบัติที่จะใช้เป็นสินสอดทองหมั้นเพราะย่าเป็นผู้เก็บสมบัติต่าง ๆ ไว้ แม้ภูเออไม่พอใจก็จำต้องยอมแต่โดยดี ก่อนจากกันปู่บอกเขาว่า “ภูเออ...นับวันเจ้าจะใหญ่ขึ้น ต้องรู้จักฝืนใจตัวเอง...มึนต๋าแอ่วหลายเมิง เต๋ไล้เฮิงวันหนึ่ง – เปิดตาเที่ยวหลายเมือง จักรุ่งเรืองวันหนึ่ง ” (น.๒๓๕)
.
เมื่อไปเวียงนายไม่นาน ภูเออกับญาติก็เข้าไปทำงานกับกองทหารอังกฤษที่มาสำรวจป่าไม้ทางตอนเหนือของล้านนา โชคชะตาพาให้เขาไปเจออาบองค์ หรือ อี่หน้อย บุตรีของพญาเมืองรามรักษาเขตกับเจ้าระยับเนตร (ตัวเอกจากเรื่อง “หนึ่งฟ้าดินเดียว”) เพราะเป็นจังหวะเดียวกันกับที่พญาเมืองรามฯ ก็เดินทางไปสำรวจชายแดนร่วมกับสยาม และได้พาเจ้านางอาบองค์ ธิดาวัย ๑๓ ปี ไปด้วยโดยให้มุ่นผมไว้บนศีรษะเอาผ้าพันไว้เพื่อปลอมตัวเป็นเด็กหนุ่มเรียกว่า “ไอ่นาย”
.
พญาเมืองรามฯ รู้สึกว่าภูเออมีเค้าหน้าคล้ายคลึงกับใครทึ่เขาคุ้น และไม่ชอบเขาเลย ภูเออก็ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด จนภายหลังภูเออรู้โดยบังเอิญว่า “ไอ่นาย” นั้นแท้จริงเป็นเด็กหญิง ก็คิดว่าคงเป็นเพราะเหตุนี้
.
ภูเออสอนภาษาอังกฤษอาบองค์ และก็ค่อยๆ เข้ากันได้ดี ต่อมาญาติทางฝ่ายเจ้าหญิงระยับเนตรซึ่งมีเชื้อเจ้ามาจากเชียงใหม่แวะมาพักที่บ้านพักของอุปราชเมืองเชียงใหม่ และก็แสดงความดูถูกพญาเมืองรามฯ และอาบองค์ เธอก็เล่าความคับข้องใจให้ภูเออฟังโดยไม่ปิดบังว่า ...
.
“พ่อข้าเป็นไพร่...อยู่ในคุ้มเจ้าหลวงเจียงใหม่...แม่ข้าเป็นเจ้า...แต่เป็นเจ้ากึ่ง ๆ ... เนื่องด้วยเจ้าตาเป็นหลานเจ้าหลวงองค์ก่อนคือพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ แม่อุ๊ยเป็นเพียงไพร่ชาวยอง...แม่ข้าจึงเป็นครึ่งเจ้าครึ่งไพร่...เมื่อมาเอาพ่อข้าเป็นกู้ฝั้น...ญาติวงศ์เจ้านายข้างแม่ก็พากันเกียดกัน...ห่างเหินกันไปนัก...แต่ข้าก็บ่เคยเห็นว่าเปิ้นจักหมางเมินเพียงนี้”
ภูเออปลอบโยนว่า “ไอ่นาย นี่ถ้าไอ่นายไม่ใช่ญิง เก๋าข้า (ข้า) จะกอดไอ่นายไว้ทีเดียว ด้วยเห็นใจหนักหนา บ่ได้ผิดไปจากเก๋าข้าเลยแล...”
“บ่ผิดจะใด”
“พ่อเก๋าข้าเป็นเจ้าเช่นกัน แม่ก็เป็นเพียงไพร่ในคุ้มเจ้าหลวงเจียงใหม่”
“ภูเออ” อาบองค์ตกตะลึง...“สูบ่ได้ลวงข้าแน่เนอ” (น.๔๒๒)
ภูเออเห็นใจไอ่นาย จึงเล่าเรื่องของตนให้อาบองค์ฟังบ้างว่าพ่อแม่เขาเป็นใครและเขาก็เป็น ”ครึ่งเจ้า ครึ่งไพร่”เช่นเดียวกัน เหตุนี้จึงทำให้ทั้งสองยิ่งรู้สึกเข้าใจและผูกพันกันมากยิ่งขึ้น
.
ภูเออทุกข์ใจตัดสินใจไม่ถูกกว่าจะทำอย่างไรดีแต่ก็เคารพเชื่อฟังปู๋ ผู้ย้ำเตือนเขาว่าถ้าใจอยู่ที่ใครก็ควรเลือกคนนั้น แต่ถ้าหมั้นหมายกับใครไว้ก็ต้องเลือกคนที่หมั้นหมายไว้ ไม่ควรมีคนอื่นอีก... เรื่องราวความรักของภูเออและอาบองค์จะลงเอยอย่างไร ขณะที่การสู้รบของไตที่ต่อต้านอังกฤษก็ใกล้สงบลง และนำไปสู่การเจรจาเรื่องเขตแดนระหว่างสยามในพื้นที่ของชาวไตและอังกฤษต่อมา
.
"ขุนหอคำ" ถือเป็นงานประพันธ์ที่มีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาศตร์ วรรณศิลป์ วัฒนธรรม และความบันเทิง อ่านจนจบจึงเข้าใจที่คุณกฤษณา อโศกสินเขียนเล่าไว้ว่า ท่านเกือบจะถอดใจเมื่อเขียนเรื่องนี้เพราะรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาเขียนผสมกับจินตนาการในการสร้างพล็อตจนผู้อ่านเห็นภาพ รู้จัก และเข้าใจอาณาจักรไตดีมากขึ้น
.
เมื่อเปิดอ่านเรื่องนี้ไปไม่กี่บทก็รู้สึกว่าต้องใช้เวลาทำความเข้าใจและลำดับเหตุการณ์พอสมควรเพราะเนื้อหาที่ไม่คุ้น รวมทั้งภาษาไตที่ค่อนข้างยาก แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าภาษาไตมีความไพเราะมีความอ่อนโยนไม่แพ้ภาษาเหนือของไทย เช่น
- เก๋าข้าจะมาไหว้พระบัวเข็มข้าอ้อ
(เก๋าข้า = ฉัน/กู และ ข้าอ้อ= ค่ะ/ครับ)
- ขอให้เจ้านางอยู่ดีกินหวาน (อยู่ดีกินหวาน = มีความสุข)
- หนีเที่ยวจะม่วนเซอใจ (ม่วนเซอใจ= สนุกสนาน)
- ลูกข้าสองคนมันใจหนา (ใจหนา=ดื้อด้าน)
- เจ้าไม่ต้องไหม้ใจ (ไหม้ใจ = ทุกข์ใจ)
-เก๋าข้าคงใคร่ใจถึงพี่นัก (ใคร่ใจถึง= คิดถึง)
.
นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นการต่อต้านทางชนชั้นระหว่างไพร่และเจ้าที่ฝั่งรากลึก แต่ก็ทำให้เห็นความอดทนและการปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องเช่นที่เพญามืองรามฯ สอนอาบองค์และปลอบโยนลูกให้ยับยั้งชั่งใจเมื่อนางไม่พอใจที่เจ้าเชื้อสายเชียงใหม่ไม่พูดจากทักทายพ่อเพราะยังถือว่าพ่อเป็นไพร่มาก่อนว่า
“อี่หน้อย ยังมีงานที่พ่อจะต้องทำอีกนัก...ลูกต้องพักใจเนาะลุก...ต้องหักใจ...ถ้าใคร่ไปกะพ่อ ต้องหักใจ...พ่อเป็นไพร่มาแต่เกิด ทำหยังได้ล่ะลูก...แต่พ่อก็ยินดีนักเน้ออี่หน้อย เกิดเป็นไพร่ก็ได้ทำหลายนักเนอลูก...ได้แป๋งบ้านแป๋งเมือง ได้ดูแลแผ่นดิน...บ่าหินไหลไคลคู้ป้อ . อย่าเอาไม้อ้อไปวัดงาจ้าง -- ก้อนหินไหลตะไคร่ไม่จับ อย่าเอาไม้อ้อไปงัดงาช้าง” (น.๔๒๐)
.
"ขุนหอคำ" ยังสอดแทรกข้อคิดที่น่าประทับใจไม่ว่าเรื่องความรักและกตัญญูต่อชนชาติ ความปรองดองสามัคคี และการอโหสิกรรมต่อศัตรูคู่แค้นที่ผูกใจเจ็บกันมานาน แม้ตัวละครเหล่านี้จะเป็นการแต่งขึ้น ผู้เขียนก็สร้างพล็อตและปมปัญหาให้น่าติดตามและคลี่คลายลงตัวโดยมีประวัติศาสตร์เป็นฉากหลัง
.
ในฐานะนักอ่านขอขอบคุณกฤษณา อโศกสินที่ทุ่มเทเวลาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อประพันธ์นิยายที่มีเนื้อหาเข้มข้นเช่นนี้ให้คนไทยอ่านกัน หากท่านใดมีโอกาส แอดขอแนะนำให้ลองอ่านสักครั้งค่ะ เป็นนิยายชุดอิงประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอีกชิ้นหนึ่ง
.
.
หมายเหตุ
- บทความวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทีมแอดมินเพจ
- หนังสือนี้มิได้รับแจกเป็นบรรณาการจากสำนักพิมพ์ และเพจมิได้รับค่าตอบแทนในบทวิจารณ์แต่อย่างใด
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #กฤษณาอโศกสิน #เวียงแว่นฟ้า #หนึ่งฟ้าดินเดียว
#ขุนหอคำ #นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ #อาณาจักรล้านนา #อาณาจักรไทใหญ่ #ชนชาตไต #เจ้าเมืองเชียงใหม่ #รัชกาลที่๕ #อาณาจักรสยาม #ประเทศไทย #พม่า
หนังสือ
รีวิวหนังสือ
ประวัติศาสตร์
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย