7 ก.ค. เวลา 14:30 • ไลฟ์สไตล์

เทรนด์ใหม่ “ออมล้างแค้น”

เมื่อ Gen Z ชาวจีนรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย เลิกซื้อของแบรนด์ ออมเงินแบบฉ่ำ แม้ Gen Z ที่อื่นเลือกใช้เงินและก่อหนี้กันไม่หยุด
5
หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 คนจำนวนมากก็หันมาใช้จ่ายอย่างเมามันเพื่อตอบสนองความต้องการที่เหมือนถูกกดทับและกักเก็บมานาน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 'Revenge Spending' หรือ ‘การใช้จ่ายล้างแค้น’ (ซึ่งเทรนด์นี้ยังคงดำเนินอยู่ในหลายๆ ประเทศ)
1
แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังสนุกกับการชอปปิง ที่ประเทศจีนกลับเกิดกระแสตรงกันข้ามที่เรียกว่า 'Revenge Saving' หรือ ‘การออมล้างแค้น’ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญความยากลำบากท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซาในเวลานี้
บนโลกออนไลน์ของจีน แฮชแท็ก 'Revenge Saving' ได้รับความนิยมอย่างมาก
มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากมาแชร์เป้าหมายการออมสุดเข้มข้นของตัวเองให้คนอื่นๆ ดูด้วย อย่างเช่น สาวน้อยวัย 26 ปีที่ใช้ชื่อว่า 'Little Zhai Zhai' ที่ท้าทายตัวเองให้ใช้เงินแค่เดือนละ 300 หยวน (ประมาณ 1,400 บาท) โดยพยายามลดค่าอาหารต่อวันเหลือเพียง 10 หยวน (ประมาณ 46 บาท)
1
หลายคนที่มีเป้าหมายในการออมเงินอย่างเข้มข้นแบบนี้ยังหาคู่หูออมเงิน (Saving Partner) บนโลกออนไลน์ด้วย คอยให้กำลังใจและกระตุ้นกันและกัน ให้มีความรับผิดชอบกับการใช้จ่ายเงิน หรือบางคนเลือกไปกินข้าวที่โรงอาหารชุมชนราคาถูก เพื่อประหยัดค่าครองชีพก็มี
1
'Shaun Rein' ผู้บริหารของ China Market Research Group ให้ความเห็นว่า "คนหนุ่มสาวจีนมีทัศนคติแบบออมเงินล้างแค้น ต่างจากวัยรุ่นในยุค 2010 ที่มักใช้เงินเกินตัวและกู้หนี้ยืมสินมาซื้อของแบรนด์เนม แต่ตอนนี้พวกเขาหันมาเน้นการออมมากขึ้น"
1
นอกจากนี้ ยังมีคำพูดใหม่ๆ ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมประหยัดของคนรุ่นใหม่ในจีน เช่น "การบริโภคย้อนศร" (reverse consumption) ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจังในการลดค่าใช้จ่าย และ "เศรษฐกิจขี้เหนียว" (stingy economy) ที่หมายถึงการเสาะหาส่วนลดและข้อเสนอพิเศษในการจับจ่ายซื้อของ
2
ตรงนี้อาจจะเป็นภาพที่ตรงข้ามกับพฤติกรรมของ Gen Z (คนที่เกิดระหว่างปี 1997-2012) ในประเทศอื่นๆ ที่มักใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย กู้เงินมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขระยะสั้น อย่างในสหรัฐอเมริกา รายงานจาก Intuit (บริษัทซอฟต์แวร์ธุรกิจข้ามชาติสัญชาติอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ทางการเงิน) พบว่า Gen Z กว่า 73% บอกว่าพวกเขาเลือกที่จะมีคุณภาพชีวิตดีๆ มากกว่าการมีเงินเก็บในธนาคาร
แล้วอะไรกันที่ทำให้วัยรุ่นจีนต้องรัดเข็มขัดขนาดนี้? 'Christopher Beddor' นักวิเคราะห์จาก Gavekal Dragonomics ชี้ว่า น่าจะเป็นเพราะพวกเขาตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ถึงแม้จีนจะฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดในช่วงต้นปี แต่ก็ยังคงมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ล่าสุด IMF ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จีนในปี 2025 เหลือเพียง 4.5% เท่านั้น
1
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว 'Jia Miao' อาจารย์ผู้ช่วยจาก NYU Shanghai อธิบายว่า "การที่คนไม่กล้าใช้เงินกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่นี่ สำหรับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มันเป็นเพราะว่าพวกเขาหางานลำบากหรือหาเงินได้ยากขึ้น พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง"
1
จากตัวเลขในเดือนพฤษภาคมของประเทศจีนพบว่า คนว่างงานในกลุ่มอายุ 16-24 ปี อยู่ที่ระดับ 14.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศซึ่งอยู่ที่ 5% อย่างมาก
1
งานวิจัยระบุว่าในปี 2023 รายได้เฉลี่ยของบัณฑิตจบใหม่อยู่ที่ราว 6,050 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 28,000 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียง 1% เท่านั้น
2
ลองหันมาดูทางบ้านเรากันบ้าง
2
ในขณะที่คนรุ่นใหม่ในจีนกำลังหันมาออมอย่างขะมักเขม้นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ของ Gen Z ไทยดูเหมือนจะไม่ค่อยสู้ดีสักเท่าไหร่
ในภาพรวมแล้วตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าตอนนี้
- ประชากรไทยกว่า 37% เป็นหนี้ (ประมาณ 1/3) และสัดส่วนคนที่มีหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
1
- 57% ของคนไทยที่มีหนี้ มีหนี้เกิน 100,000 บาท
- คนไทยที่มีหนี้ มีหนี้โดยเฉลี่ย 3 บัญชีต่อคนและ 32% มีหนี้ 4 บัญชีขึ้นไป
- สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของบ้านเราสูงกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market economies) อื่น ๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
- สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยก็สูงพอ ๆ กับประเทศพัฒนาแล้ว (advanced economies) เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
- สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยยังขยายตัวเร็วกว่าหลายประเทศอย่างชัดเจน โดยเพิ่มขึ้นถึง 55% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
- 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทยอาจเป็นสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล 39% และ บัตรเครดิต 29%)
- คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานมีหนี้เร็วขึ้น และเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนมีหนี้เสียสูงที่สุด คนไทยมีปัญหาหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุด และมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4 (ประมาณ 24%)
1
- เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มต่าง ๆ พบว่า เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย เป็นสองกลุ่มผู้กู้ที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูง โดยเฉลี่ย 12 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ 34% และ 41% ตามลำดับ (หมายความว่า หากมีรายได้ 100 บาท ต้องจ่ายหนี้ 34 บาท และ 41 บาท ทำให้เหลือเงินเก็บและใช้จ่ายน้อยลง) ซึ่งแสดงว่าหนี้ที่มีอาจเกินกำลังจะจ่ายไหว ทำให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเป็นสองกลุ่มสำคัญที่ปัญหาหนี้อยู่ในระดับที่น่ากังวล
- หนี้ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ และไปอยู่กับกลุ่มผู้กู้ที่มีปัญหาด้านความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ เช่น เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กู้ที่มีจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีหนี้เร็วและมีปัญหาตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนในอนาคตทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมในระยะยาว
1
ข้อมูลจาก เครดิตบูโร พบว่าก้อนหนี้ของกลุ่ม Gen Z ในปี 2020 อยู่ที่ราวๆ 25,000 ล้านบาท แต่พอมาถึงปี 2023 ก้อนหนี้ตรงนี้โตขึ้นเป็น 230,000 ล้านบาท หรือโตขึ้นกว่า 820%!!! และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อรายได้นั่นแหละคือปัญหาใหญ่
1
[ แน่นอนว่ากลุ่มอื่นๆ ก็เพิ่ม แต่ก็เพิ่มในสัดส่วนที่ต่ำกว่ามาก เช่น Boomer เพิ่มขึ้น 8%, Gen X เพิ่มขึ้น 11% และ Gen Y เพิ่มขึ้น 45% ]
หากเทียบกับคนหนุ่มสาวจีนที่พากันเน้นออมเป็นชีวิตจิตใจเพื่อให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว วัยรุ่นไทยจำนวนไม่น้อยกลับกำลังติดอยู่ใน "วังวนหนี้" และต้องพึ่งพาการกู้ยืมเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้
นี่เป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ครอบครัว และคนรุ่นใหม่ๆ เอง จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินที่กำลังคุกคามอนาคตของคนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างวินัยการเงินที่ดีตั้งแต่วันนี้ เพื่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
หากคุณเป็น Gen Z ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน สิ่งสำคัญคือต้องระวังหลุมพรางที่อาจนำไปสู่การเป็นหนี้บริโภคโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของเพราะมีโปรโมชันลดราคาแรงๆ การอยากได้ของเพราะเพื่อนๆ มี การอยากตามเทรนด์แฟชั่น หรือการตัดสินใจซื้อเพราะมีโปรผ่อน 0% โดยไม่ได้คำนวณให้ดีว่ารวมกับยอดผ่อนที่มีอยู่แล้วจะเกินกำลังจ่ายหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้คุณใช้เงินเกินตัวจนเดือดร้อนได้
วิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงหากยังไม่ชำนาญเรื่องการบริหารเงินให้ลองทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด โดยแยกแยะระหว่างรายได้ประจำกับรายได้เสริมให้ชัดเจน และในด้านรายจ่าย ให้จดบันทึกทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน จัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายให้ดี
ทำไปสักสองสามเดือนจะเริ่มเห็นว่ามีรายการไหนที่ซื้อมากเกินความจำเป็นหรือไม่ แล้วก็ค่อยๆ ปรับลดให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม
1
[ถ้าเป็นหนี้อยู่ตอนนี้ลองเข้าไปดูเทคนิคการจัดการหนี้แบบหิมะถล่มกับก้อนหิมะกลิ้งลงเขาได้ในลิงก์อ้างอิงครับ น่าจะพอช่วยได้ หรือลงปรึกษาคลีนิกแก้หนี้ก็ได้เช่นกัน]
1
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว วัยรุ่นจีนเลือกที่จะรัดเข็มขัด ใช้ชีวิตแบบไม่ฟู่ฟ่าและออมเงินให้มากที่สุด ในทางตรงกันข้าม วัยรุ่นไทยจำนวนมากยังพึ่งพาการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นหนี้แบบไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ กลายเป็นความเปราะบางทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย สะท้อนให้เห็นความท้าทายร่วมของสังคมในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
5
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#MakeRichGeneration #RevengeSaving #ออมล้างแค้น #การงินส่วนบุคคล #หนี้ #หนี้คนไทย #RevengeSpending
โฆษณา