8 ก.ค. เวลา 11:30 • ข่าวรอบโลก

วัดเกม ดอลลาร์ vs หยวน มวยถูกคู่ จริงหรือไม่ เมื่อ ”เงินหยวน” ของจีน ยังห่างไกล สกุลเงินหลักของโลก

อัปเดต สกุลเงินหลักของโลก ระหว่าง เงินดอลลาร์สหรัฐ กับ เงินหยวน ผู้ท้าชิงจากจีน ใครจะอยู่ ใครจะไป? เมื่อหลายชาติทั่วโลก ลดการพึ่งพาดอลลาร์ หันไปซบหยวนแทน และไทยควรบริหารความเสี่ยงอย่างไร
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โลกตื่นตระหนก กับการที่ชาติต่างๆ ลดสำรองเงินดอลลาร์ลง ขณะการทำธุรกรรมการเงินข้ามแดน พบ “เงินหยวน” ของจีน ได้เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัย หลังจากที่ เศรษฐกิจโลกได้เผชิญกับเหตุการณ์สำคัญ ทั้งโรคระบาดและสงคราม
โดยเฉพาะกรณี ประเทศ “อาร์เจนตินา” ประกาศชำระค่าสินค้านำเข้าจากจีน เป็น “เงินหยวน” แทนดอลลาร์ มูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา หรือ ข่าวที่ ประเทศบราซิล ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับ “จีน” ใช้สกุล “เงินหยวน” ทำธุรกรรมกันโดยตรงแทนการใช้ “ดอลลาร์” พร้อมๆ กับภาพขนาดของเศรษฐกิจจีน เติบโตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นรองแค่สหรัฐฯ จนเกิดคำถาม หรือเงินดอลลาร์ สกุลเงินหลักของโลกมาช้านาน กำลังจะเสื่อมมนตร์ขลังแล้วจริงหรือไม่ ?
2
หยวน กับ ดอลลาร์ มวยถูกคู่จริงหรือไม่ ?
ล่าสุด สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ อัปเดตสกุลเงินหลักของโลก ภายใต้ ผู้ท้าชิง จากจีน ช่วยตอบคำถามที่ว่า หยวน กับ ดอลลาร์ เป็นมวยถูกคู่ ในโลกการเงิน จริงหรือไม่?
ข้อมูลระบุ สถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกเปรียบเทียบกับผู้ท้าชิงอย่าง หยวนของจีน ในการขึ้นเป็นสกุลเงินหลักของโลกนั้น ยังห่างไกลมากนัก แม้หลายประเทศทั่วโลก ยังคงมีความพยายาม ที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างต่อเนื่อง
เช่น การผลักดันการใช้เงินสกุลเงินท้องถิ่นแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งมีจีนเป็นสมาชิก อย่างไรก็ดี หาก ไปเจาะข้อมูล ระบบชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT ฉบับล่าสุด ภายใต้ สัดส่วนการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการชำระเงินระหว่างประเทศ ที่เริ่มเห็นการลดลง ตั้งแต่ต้นปี 2022 ในขณะที่เงินหยวนถูกใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่านั้น
เงินดอลลาร์ ยังมีอิทธิพล เหนือเงินหยวน อย่างห่างไกล
แต่ เงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงมีอิทธิพลเหนือกว่าเงินหยวนและมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด โดยคิดเป็นกว่า 80% ของมูลค่าการชำระเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากการค้าโลกโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงตั้งราคาและรับชำระเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนการเข้ามามีบทบาทของเงินหยวนนั้น ยังเป็นการเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนที่ต่ำมาก แม้พิจารณาการชำระเงินเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าของจีน (China Bloc) กลับพบว่า เงินหยวนถูกใช้เพียง 8% ของมูลค่าการชำระเงินทั้งหมดเท่านั้น
ส่วนประเด็น เงินสำรองระหว่างประเทศ ที่พบว่า ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนเงินสำรองที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 60% ของเงินสำรองทั่วโลก คล้ายการบ่งชี้ว่าธนาคารกลางต่าง ๆ เริ่มทยอยลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ และทดแทนด้วยการถือเงินสำรองที่ไม่ใช่ 4 สกุลเงินหลักเพิ่มขึ้น เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา และเงินหยวน ที่เพิ่มขึ้นมามีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการถือเงินสำรองที่ไม่ใช่ 4 สกุลเงินหลัก
เหตุการณ์นี้ นับเป็นการสะท้อนถึงนโยบายส่งเสริมการใช้เงินหยวนในระดับสากลของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรเสีย สัดส่วนเงินหยวนในเงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมาก คือ ไม่ถึง 3% ของมูลค่าเงินสำรองทั่วโลกและสัดส่วนได้ปรับลดลงตั้งแต่ปี 2022
จึงอาจสรุปได้ว่า การลดลงของการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ เกิดขึ้นแค่ในบางประเทศ เช่น ธนาคารกลางของรัสเซีย และธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถ้าไม่รวมรัสเซียและสวิตเซอร์แลนด์
เท่ากับว่าสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐ ในเงินสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะเดียวกัน ก็ยังพบว่า เงินดอลลาร์สหรัฐ ยังมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุดในการกู้และฝากเงินระหว่างประเทศ รวมถึงหนี้สินระหว่างประเทศเช่นกัน
ส่วนสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ แนะว่า ภายใต้ ความพยายาม ลดการพึ่งพาเงินหยวน ที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมืองของโลก ไทยควรบริหารสัดส่วนของสกุลเงินในระบบการเงินและเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเหมาะสม เพื่อรองรับการแบ่งขั้วอำนาจและให้สอดรับกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และทิศทางการค้าการลงทุนโลกที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เป็นต้น
ที่มา : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา