9 ก.ค. เวลา 14:28 • ท่องเที่ยว
เขตพระนคร

เที่ยวบางลำพู ดูนิทรรศการเอกสารล้ำค่าจารึกสยาม

เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ช่วงนี้กรมศิลป์จัดนิทรรศการนำเอกสารโบราณมาแสดงให้ประชาชนได้เข้าชม ล้วนแต่เป็นเอกสารและหนังสือสำคัญที่เป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ชั้นดี โดยในงานจะแบ่งเอกสารจัดแสดงออกเป็น 6 หัวข้อ ดังนี้
- “จารจารึกบันทึกสยาม” ภาพรัฐจารีตถึงรัฐสมัยใหม่ก่อนปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕
- "แผนภูมิของแผ่นดิน” การจัดทำแผนที่ยุคต่างๆ และสัญลักษณ์ของเมือง
- “นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย” เรื่องกระบวนการยุติธรรมและการต่างประเทศ
- “เมื่อแรกมีการพิมพ์” การเข้ามาของเทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตก
- “ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม” การออกแบบก่อสร้างอาคารสมัยใหม่
- “ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึง” ย้อนระลึกถึงวันวานกับของสะสมในความทรงจำ
(ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมศิลป์ https://www.finearts.go.th/promotion/view/48069)
*** ขยายเวลาจัดแสดงถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ***
เรารู้เรื่องนิทรรศการนี้ค่อนข้างช้า คือมารู้เอาตอนครึ่งหลังของเดือนมิถุนา โชคดีมีคนสนใจเข้าชมมาก เขาเลยขยายเวลาจัดแสดงไปอีกเดือน พอดีมีเพื่อนอยากไปดูเหมือนกัน เลยนัดกันไปดูเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยนัดกันว่าจะเดินตะล้อกต๊อกแต๊กเที่ยวบางลำพูก่อน
ไปถึงบางลำพูราวเก้าโมงครึ่ง จอดรถไว้ที่อาคารรับฝากรถของกทม. ในตรอกไกรสีห์ ไม่รู้วันธรรมดาเป็นไง แต่เสาร์-อาทิตย์เช้าๆ เราเอารถไปจอดทีไรก็มีที่ว่างตลอด จุดหมายแรกของเราคือมัสยิดจักรพงษ์ อยู่บนถนนจักรพงษ์ ทางเข้าอยู่ตรงข้ามห้างตั้งฮั่วเส็ง เป็นตรอกเล็กๆ ให้เดินเข้าไป กลางตรอกมีร้านกาแฟโบราณ แต่เราไม่ได้อุดหนุน เพราะมื้อเช้ามีเป้าหมายอยู่แล้ว
ตัวมัสยิดเป็นอาคารสีเหลืองตัดกับหน้าต่างเขียว มีช่องแสงสีขาวศิลปะเปอร์เซีย วันที่ไปท้องฟ้าเป็นใจ ถ่ายรูปออกมาสวยมาก ตรงข้ามมัสยิดเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนกับโรงเรียน
ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์เป็นหนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของบางลำพู ในอดีตคนในชุมชนประกอบอาชีพทำทอง ฝีมือดีจนบางคนได้เป็นช่างทองหลวง ปัจจุบันน่าจะไม่เหลือแล้ว
จากมัสยิดเราเดินย้อนกลับเข้าตรอกไกรสีห์ไปออกถนนสิบสามห้างเพื่อไปวัดบวรนิเวศวิหาร ตรงนี้เขากำลังปิดเลนถนนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกันอยู่เลย ข้ามถนนยากนิดหน่อย
ก่อนข้ามไปวัดบวรก็แวะกินก๋วยเตี๋ยวนายง้ำ เย็นตาโฟธรรมดาราคา 55 บาท น้ำมะตูม 10 บาท เย็นตาโฟอร่อย ให้เยอะพอประมาณ ไม่อิ่มเกินไปสำหรับมื้อเช้า ส่วนน้ำมะตูมเฉยๆ
สักสองปีก่อนเราเคยมาเที่ยววัดบวรทีแล้ว มาเสาร์-อาทิตย์เหมือนกัน ตอนนั้นไม่ได้เข้าไปไหว้และถ่ายรูปในพระอุโบสถเพราะจัดงาน รอบนี้หมายมั่นปั้นมือจะเข้าไปชมจิตรกรรมฝาผนังของขรัวอินโข่ง ปรากฏว่าก็เข้าไม่ได้เพราะจัดงานเช่นกัน จะไปชมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กในวิหารเก๋งจีนด้านหลัง วิหารก็ปิดบูรณะอีก ^^’ กะว่าไว้ช่วงปลายปีจะลองไปใหม่อีกรอบในวันธรรมดา
รอบนี้ถ่ายรูปได้แค่กรุบกริบ เลยเอารูปที่ถ่ายจากรอบก่อนมารวมด้วย ใครไม่เคยแวะเข้ามาชมอยากให้ลองแวะ เป็นวัดที่สวยงามมากจริงๆ
จากวัดบวรเราชวนกันข้ามคลองบางลำพู เดินเลียบริมคลองไปวัดสังเวชวิศยาราม ชุมชนริมคลองนี่ก็คงเป็นชุมชนเก่าแก่เช่นกัน สังเกตจากตรอกซอยเป็นทางเดินเท้าแคบๆ ชนิดถ้ามอเตอร์ไซค์แล่นผ่านจะต้องหลบมอเตอร์ไซค์ก่อน บรรยากาศค่อนข้างร่มรื่น เต็มไปด้วยเกสต์เฮาส์สำหรับนักท่องเที่ยว น้ำในคลองสะอาดพอใช้ มีบ้านไม้รุ่นเก่าให้เห็นเป็นระยะ
เดินชมคลองอยู่ไม่นานก็ถึงวัดสังเวชซึ่งมีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ขนาดไม่ใหญ่มาก ไฮไลท์ที่นี่คือเจดีย์ทรงพระปรางค์อันเป็นรูปแบบเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยา ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าวัดนี้มีมาก่อนกรุงเทพ เจดีย์ทรงพระปรางค์ของวัดสังเวชอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นกลุ่มเจดีย์ 9 องค์ ตรงกลางเป็นเจดีย์ประธาน มีเจดีย์ทิศรายรอบ ฐานเจดีย์บรรจุอัฐิบุคคลสำคัญ
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเรียบง่ายไม่หวือหวา เป็นลายประแจจีนกับดอกไม้ร่วง (คิดเอาเองว่าน่าจะดอกพุดตาน?)
เราออกจากวัดสังเวช ข้ามสะพานฮงอุทิศ ด้านหน้าคือถนนพระสุเมรุ ด้านซ้ายมือคือพิพิธบางลำพู ด้านขวามือคือป้อมพระสุเมรุ สวนสันติชัยปราการ ถัดไปอีกนิดคือท่าพระอาทิตย์ ใครมาเที่ยวแถบบางลำพู-พระนครทางเรือด่วนเจ้าพระยาก็มาขึ้นที่ท่านี้
พิพิธบางลำพูก็อยู่ในแพลนเช่นกัน แต่เราไปชมป้อมพระสุเมรุกันก่อน มองไกลๆ เหมือนป้อมเป็นสีขาว แต่พอดูในระยะใกล้จะเห็นว่าเป็นสีชมพูอ่อน
บริเวณรอบป้อมพระสุเมรุคือสวนสาธารณะเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อสวนสันติชัยปราการ มีไฮไลท์คือพระที่นั่งสันติชัยปราการ สามารถนั่งชมวิวสะพานพระราม 8 ได้จากสวน บางวันเราเห็นฝรั่งมานั่งอาบแดดอ่านหนังสือกันเพียบ สำหรับคนไทยเรา วันไหนอากาศดีๆ ได้มานั่งตอนเช้าๆ หรือช่วงแดดร่มลมตกคงฟินน่าดู
ริมน้ำปลายสวนตรงที่เชื่อมกับท่าพระอาทิตย์มีดงต้นลำพูอยู่ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง มีหมายเลขติดไว้ด้วย พอไปชมพิพิธบางลำพูเราก็ได้ข้อมูลว่าต้นลำพูเหล่านี้ปลูกขึ้นใหม่ ทดแทนลำพูต้นสุดท้ายของย่านบางลำพูที่มีอายุร้อยกว่าปี เพิ่งตายไปหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 (ต้นลำพูชอบน้ำ แต่ถ้าน้ำสูงจนท่วมรากอากาศแล้วแช่นานๆ ก็ไม่รอด)
ด้านหนึ่งของสวนมีประติมากรรมปูนปั้น บอกเล่าวิถีชีวิตผู้คนย่านบางลำพู
จากสวนสันติชัยปราการ เราย้อนกลับไปพิพิธบางลำพู ก่อนหน้านี้ที่นี่เคยเป็นโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ต่อมาเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้จัดเป็นแหล่งเรียนรู้และห้องสมุดประชาชน แต่ด้านล่างอาคารไม้ยังมีเครื่องมืองานพิมพ์โบราณและฐานตั้งแท่นพิมพ์หลงเหลือให้เห็น นอกจากนั้นยังมีคาเฟ่เล็กๆ สไตล์ร้านกาแฟโบราณตั้งอยู่ริมคลองด้วย (ดูเวลาทำการพิพิธบางลำพูได้ที่ FB : พิพิธบางลำพู)
ในส่วนพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างจัดแสดงแบบจำลองแนวกำแพงเมือง ป้อมพระสุเมรุ ประตูเมือง และแผนผังรวมทั้งประตูเมืองรอบพระนครชั้นใน (ลืมบอกว่าที่นี่ต้องถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตูทางเข้านะคะ)
ส่วนชั้นบนจัดแสดงนิทรรศการ แบ่งเป็นสองส่วน คือนิทรรศการบอกเล่าบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ และนิทรรศการวิถีชุมชนต่างๆ ในอดีตของย่านบางลำพู ซึ่งแต่ละชุมชนประกอบอาชีพแตกต่างกัน ชั้นบนนี้ต้องมีไกด์นำชมเป็นรอบ ใช้เวลารอบละประมาณหนึ่งชั่วโมง เสียค่าเข้าชมคนละ 30 บาท ถ้ามีเวลาก็แนะนำให้ขึ้นชมชั้นบนด้วย เพราะเขาจัดทำไว้อย่างดี ค่าเข้าชม 30 บาทไม่แพงเลย
ในห้องลงทะเบียนชั้นหนึ่งมีของที่ระลึกขายด้วย ทั้งของที่ระลึกจากชุมชนบางลำพู (เข็มกลัด กระเป๋า ฯลฯ) และของที่ระลึกของกรมธนารักษ์ (เหรียญสะสมต่างๆ) ไม่ได้ถ่ายรูปมาเลย เพราะแบตมือถือใกล้หมดอีกแล้ว ต้องถนอมแบตไว้ถ่ายรูปที่งานเอกสารล้ำค่าฯ ยังไม่มีเงินซื้อมือถือใหม่ สงสัยต้องยอมซื้อพาวเวอร์แบงค์มาพกไปพลางๆ ก่อน ^^’
มื้อกลางวันกินกันที่ครัวนพรัตน์ อยู่ตรงข้ามสวนสันติฯ เดิมร้านนี้เป็นร้านตัดเสื้อผู้ชายชั้นดี ต่อมาตัดเย็บเครื่องแบบนักเรียนสำเร็จรูปขายเป็นเจ้าแรก ปัจจุบันทายาททำเป็นห้องอาหาร ถัดจากนั้นเราเดินย่อยไปสเวนเซนส์เพื่อกินเมนูชาไทย ระหว่างทางแวะซื้อข้าวตังแม่ชิตกับขนมเบื้องแม่ประภา(ลืมถ่ายรูป) ถ้าเงยหน้ามองป้ายหน้าร้านขนมเบื้อง จะเห็นป้ายเขียนว่าห้าง ต.เง็กชวน ในอดีตทำกิจการจำหน่ายหีบเสียงและแผ่นเสียงตรากระต่าย ทั้งยังเป็นสตูดิโออัดเสียงอีกด้วย ปัจจุบันกลายเป็นร้านขายขนมเบื้องเจ้าดังอย่างที่เห็น
ซื้อขนมเสร็จก็แวะเอาไปเก็บที่รถซะก่อน จากนั้นเดินออกจากตรอกไกรสีห์มาฝั่งถนนสิบสามห้างเหมือนเมื่อเช้า มองไปทางขวามือก็เห็นสเวนเซนส์แล้ว เราสั่งเมนูคากิโกริกินกันสองคน ทั้งตัวคากิโกริกับไอติมกลิ่นชาชัดเจนดี แต่เพื่อนบอกว่าไอติมหวานไปหน่อย
กว่าจะกินครบถ้วนกระบวนความมาถึงตอนนี้ก็บ่ายสองโมงเข้าไปแล้ว ดันลืมดูเวลาว่านิทรรศการให้เข้าชมได้ถึงแค่สี่โมงเย็น นั่งแท็กซี่ไปพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร ค่ารถ 40 บาท คนไทยซื้อบัตรเข้าชมคนละ 30 บาท ต่างชาติ 100 บาท วันที่เราไปมีต่างชาติเยอะกว่าที่คิด โดยเฉพาะชาวจีน
พอย่างเท้าเข้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เจ้าหน้าที่ก็แจกโปสการ์ดให้คนละใบ ด้านหน้าพิมพ์ตรา ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ มีช่อง 6 ช่องให้สะสมตราประทับตามเอกสารหกหัวข้อที่จัดแสดง
‘จารจารึกบันทึกสยาม’ โซนนี้มีศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงตั้งเด่นเป็นสง่า นอกจากนั้นยังมีเอกสารสำคัญและวรรณกรรมโบราณบันทึกบนใบลาน มีหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาถิ่นสุโขทัย ใช้ชื่อว่า ‘ขุนน้อย’ โซนนี้ใครอ่านลายสือไทออกจะได้ใช้ทักษะกันอย่างสนุกสนาน ส่วนคนที่อ่านไม่ออกอย่างเราพยายามลองแกะอ่านได้เป็นคำๆ ก็เพลินไม่ใช่น้อย นอกจากงานเขียนภาษาไทยแล้ว ยังมีงานเขียนภาษาต่างประเทศอย่างคัมภีร์อัลกุรอานโบราณด้วย
‘แผนภูมิของแผ่นดิน’ จัดแสดงแผนที่ในอดีตของมณฑลและจังหวัดต่างๆ รวมทั้งเอกสารการกำหนดตราประจำจังหวัด ที่เด่นคือแผนที่สมัยอยุธยา ซึ่งยุคนั้นได้รับอิทธิพลจากแผนภูมิจักรวาลไตรภูมิพระร่วง วางอยุธยาเป็นจุดศูนย์กลางเหมือนเขาพระสุเมรุ มีเมืองต่างๆ รายล้อม ไม่ได้ไล่จากเหนือลงใต้และใช้สัดส่วนตามจริงอย่างแผนที่ยุคหลัง กับอีกแผ่นเป็นแผนที่วัดทางภาคใต้ นอกจากนั้นก็มีแผนที่พระนครชั้นใน ปี 2430 กับแผนที่สำเพ็งที่เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่จนนำมาสู่การตัดถนนทรงวาดเพื่อลดความแออัด บอกโดยละเอียดว่ามีบ้านใครโดนไฟไหม้บ้าง
‘นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย’ เอกสารเด่นของโซนนี้คือร่างพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 สนธิสัญญาเบาว์ริง และพระราชสาส์นจักรพรรดิเต้ากวงส่งถึงรัชกาลที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการตอบก้อง
‘เมื่อแรกมีการพิมพ์’ 3 โซนหลังมาจะอยู่ข้างล่าง บนผนังมีภาพบ้านเมืองสมัยก่อนให้ชมไปตามทาง โซนนี้แสดงวิวัฒนาการการพิมพ์ในสยาม มีตัวอย่างบล็อกตะกั่วโบราณและการเรียงพิมพ์ให้ดู รวมถึงหนังสือต่างๆ ที่พิมพ์ขึ้นในยุคแรก เช่น ดรุโณวาทที่เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย สังเกตดีๆ อักษรศิลป์โลโก้ ‘ดรุโณวาท’ เป็นรูปเด็กๆ กับการละเล่นต่างๆ
‘ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม’ แสดงแปลนก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สะพานพุทธฯ มีแผนที่เวนคืนที่ดินซึ่งบอกอย่างละเอียดเช่นกันว่าแต่เดิมเป็นบ้านใครบ้าง นอกจากนั้นยังมีแบบห้องและเครื่องเรือนในพระที่นั่งกับวังต่างๆ
‘ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึง’ โซนสุดท้าย ใกล้ทางออกแล้ว โซนนี้แสดงพวกของสะสม อย่างโปสการ์ดเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป รูปยาซิกาแรตที่เด็กสมัยก่อนชอบสะสมมาเล่นร่อนรูปกัน ฉลากน้ำหอม ฉลากและกล่องไม้ขีด ฯลฯ
เดินมาถึงตรงนี้ก็สี่โมงเย็นพอดี เจ้าหน้าที่เริ่มต้อนคนออกแล้ว จะเห็นตู้ไปรษณีย์โบราณสีแดงตั้งเด่นก่อนถึงประตูทางออก ใครอยากส่งโปสการ์ดในมือก็เขียนที่อยู่ส่งได้เลย เขาติดสแตมป์ไว้ให้เรียบร้อย ส่วนเราเก็บกลับบ้าน เสียดายที่ไม่ได้ดูเวลาปิดให้ดี เลยไม่ได้แวะดูโกลเดนบอยกับตำหนักแดง
ขากลับเราเดินจากพิพิธภัณฑสถานกลับบางลำพู กว่าจะมาถึงอาคารจอดรถก็ราวบ่ายสี่ครึ่ง เสียค่าจอดรถทั้งหมด 215 บาท (7 ชั่วโมง 6 นาที) เดินทั้งวันร่วม 9,000 ก้าว เดย์ทริปวันนี้ฟินพอควร ถือเป็นการเริ่มต้นครึ่งปีหลังที่ดี
เขียนยาวกว่าที่คิดเยอะมากเลย ที่จริงตั้งใจจะแนะนำสตรีทฟู้ดร้านอร่อยในบางลำพูที่กินรอบก่อนๆ ด้วย แต่มันยาวไปมากแล้ว ไว้โอกาสหน้าแล้วกัน
โฆษณา