เอื้องเศวตจูงนาง พรรณไม้หายาก นานนับสิบปี

เอื้องเศวตจูงนาง Thunia pulchra Rchb.f. ว่ากันว่ากล้วยไม้ชนิดนี้ไม่พบเห็นมานานหลายสิบปีจนคิดว่าในธรรมชาติอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยทั่วไปจะพบเห็นตามต้นไม้สูง ในป่าผลัดใบ ป่าดิบแล้งริมลำธาร ตามยอดเขาที่เปิดโล่งในพื้นที่ภูเขาหินทราย ทำให้เก็บข้อมูลหรือศึกษาค้นคว้าค่อนข้างยาก
เมื่อปี 2565 ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอยพบที่แรกในบริเวณป่ารวงผึ้ง โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยได้เดินลาดตระเวนในบริเวณดังกล่าวและบังเอิญพบกล้วยไม้ชนิดนี้ซึ่งแกะอยู่ในกิ่งไม้ที่แห้งตายจากการหักโค่นลงมา จึงได้นำมาเพาะชำไว้บริเวณแหล่งท่องเที่ยวแก่งกะเลา
เมื่อเวลาผ่านไปสองปีกว่า กล้วยไม้ดังกล่าวได้ออกดอกแรกตั้งแต่ที่ได้นำมาเพาะชำ ที่มาของชื่อ "เอื้องเศวตจูงนาง" มาจากคำว่า “เศวต” ที่แปลว่า สีขาว หมายถึงกลีบเลี้ยงและกลีบดอกที่มีสีขาว ส่วนคำว่า “จูงนาง” มาจากลักษณะของกลีบปากของกล้วยไม้ชนิดนี้ที่พบในประเทศไทย มีลักษณะคล้ายกับว่านจูงนาง และนอกจากนี้คำว่า “pulchra” มาจากรากคำในภาษาละติน แปลว่า สวย ทรงคุณค่า เยี่ยมยอด
เอื้องเศวตจูงนาง เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยบนต้นไม้หรือขึ้นบนหิน ลำลูกกล้วยอวบยาว 50-100 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.2 ซม. กลุ่มใบมีจำนวนมาก เรียงสลับ รูปแถบถึงรูปใบหอก กว้าง 2.5-4.5 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม แผ่นใบด้านล่างมีนวล
ช่อดอกออกที่ส่วนปลาย ห้อยลง ยาว 10-15 ซม. มี 6-10 ดอก ก้านดอกยาวเรียว กลีบเลี้ยงรูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลม สีขาว กลีบดอกคล้ายกลีบเลี้ยงแต่ค่อนข้างแคบกว่า กลีบปากสีขาว ด้านในมีสันสีน้ำตาลอมแดงอยู่ตรงกลางหลายสันสลับกับแถบสีเหลืองถึงสีแดง ขอบกลีบหยักซี่ฟันถี่ถึงเป็นคลื่นไม่สม่ำเสมอ
มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา, อุบลราชธานี) และภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ตราด) ต่างประเทศพบที่เมียนมาและเวียดนาม
📸 : อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี
ที่มาข้อมูล : จิรายุทธ บุญปก (อดีตเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย) และเพจหอพรรณไม้ Forest Herbarium-BKF
#อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย #สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่9อุบลราชธานี #อุบลราชธานี #กรมอุทยานแห่งชาติ #เอื้องเศวตจูงนาง #กล้วยไม้
โฆษณา