9 ก.ค. เวลา 02:39 • ท่องเที่ยว

13TH ANNIVERSARY BLEND EP1 : เกษตรกรลูกดอยช้าง

🌄“ดอยช้าง” มีลักษณะพื้นที่เป็นเทือกเขาสูง ตั้งแต่ 1,000 - 1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเลลักษณะดินเป็นดินร่วนที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินและแร่ธาตุ มีอินทรีย์วัตถุสูง การระบายน้ำดี pH ประมาณ 6.0 – 6.5 นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำลำห้วยหลายสาย รวมไปถึงบ่อน้ำธรรมชาติทั้งใหญ่และเล็ก 🌳
หากพูดถึง “พาคามาร่า” (Pacamara) คอกาแฟหลายคนรู้จักกันดี ในฐานะร้านกาแฟ Specialty Coffee ที่มีจุดเริ่มต้นจากร้านกาแฟเล็ก ๆ ในถนนคนเดินเชียงใหม่ ที่ได้เดินทางไปเสาะแสวงหากาแฟชั้นดีของเมืองไทยและจากทั่วทุกมุมโลกมาคั่วอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้คอกาแฟได้ลิ้มลองรสชาติพิเศษของกาแฟที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดย พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์ (Pacamara Coffee Roasters)
ถือเป็นแบรนด์กาแฟสัญชาติไทยที่มี “DNA” ของ Specialty Coffee 100% ที่เกิดขึ้นจากการแลเห็นถึงความพิเศษของ Specialty Coffee ของบริษัท Peaberry Thai ในช่วงที่พาคามาร่าถือกำเนิด เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของเมืองไทย กำลังเริ่มเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม (Third Wave Coffee Culture)
ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น นับเป็นช่วงเวลาที่กาแฟพิเศษยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ทั้งยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และนั่นจึงทำให้ Peaberry Thai กลายเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่มองเห็นความพิเศษของกาแฟชนิดนี้ และพยายามนำ Specialty Coffee เข้ามาสู่ตลาดนักดื่มในเมืองไทยผ่านแบรนด์ Pacamara พร้อมผลักดันคุณภาพโรงคั่วกาแฟ ให้ทัดเทียมระดับสากล ทั้งในด้านคุณภาพและระบบการผลิต เพื่อพัฒนากาแฟไทยให้กลายเป็นเกรด Specialty ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การแปรรูป ไปจนถึงการชง
นับจากการเริ่มต้นในวันนั้น จนถึงวันนี้ “Pacamara Coffee Roasters” ได้กลายเป็นแบรนด์กาแฟที่ได้รับการยอมรับในเรื่อง quality café ที่เน้นในเรื่องความรู้ และความหลากหลายของกาแฟจากหลายแหล่งทั่วไทยและทั่วโลก ที่พร้อมส่งมอบกาแฟพิเศษคุณภาพเยี่ยมให้กับลูกค้าทุกคน และในโอกาสครบรอบ 13 ปี ทางแบรนด์จึงมีความตั้งใจที่จะส่งมอบกาแฟพิเศษคุณภาพเยี่ยม ให้กับคอกาแฟทุกท่าน เพื่อทำให้ทุกวัน เป็นวันพิเศษของลูกค้าทุกคน
โดยใช้เมล็ดกาแฟไทยเกรด Peaberry จาก 5 ดอย 8 เกษตรกร ที่เป็นคู่ค้ากับ Pacamara มาอย่างยาวนาน ซึ่งเมล็ดที่ใช้จะเป็นเมล็ดที่มีความพิเศษ ผ่านการโปรเซสคัดแยกเฉพาะเมล็ด Peaberry Grade จากโรงสีที่เชียงราย (Peaberry Thai Estate) ผ่านการคั่วในระดับ Espresso ในแบบฉบับเฉพาะของ Pacamara เพื่อนำมาเบลนด์ด้วย Profile ที่ Develop ขึ้นมาเป็นพิเศษ ภายใต้แนวคิด ที่ไม่ใช่แค่เบลนด์กาแฟให้อร่อย แต่เป็นการเบลนด์ไอเดียและเอกลักษณ์ของเหล่าเกษตรกรและแหล่งปลูกเอาไว้ด้วยกัน
โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับแต่งรสชาติ ด้วยความตั้งใจในการคัดสรรคุณภาพทุกขั้นตอน และนั่นจึงทำให้พระเอกในงานนี้ไม่ใช่แค่กาแฟในแก้ว แต่ยังเป็นเรื่องราวมากมายในระหว่างการเดินทาง ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูป รวมไปถึงเกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังทุกเมล็ดกาแฟ ที่ Pacamara ได้นำมารังสรรค์ เพื่อสร้าง Coffee Culture ใหม่ ๆ พร้อมขยายตลาดกาแฟ Specialty ให้เติบโต และก้าวไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น
‣ ถิ่นกาแฟคุณภาพ "ดอยช้าง"
หากพูดถึงแหล่งเพาะปลูกกาแฟคุณภาพ เชื่อว่า “ดอยช้าง” คงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ติดอันดับในใจสายกาแฟอย่างแน่นอน ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นเทือกเขาสูง ตั้งแต่ 1,000 - 1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ลักษณะดินเป็นดินร่วนที่เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินและแร่ธาตุ มีอินทรีย์วัตถุสูง การระบายน้ำดี pH ประมาณ 6.0 – 6.5 นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำลำห้วยหลายสาย
รวมไปถึงบ่อน้ำธรรมชาติทั้งใหญ่และเล็ก ที่มีน้ำซึมและไหลตลอดทั้งปี ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรดิน และสภาพอากาศ จึงทำให้พื้นที่นี้ เหมาะแก่การปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิกา และเมื่อมาผนวกรวมกับการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวอย่างพิถีพิถัน และกรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐานของพี่ฆ้อง (ธนิน วิบูลจิตธรรม) จึงทำให้สวนของพี่ฆ้องกลายเป็นแหล่งปลูกอาราบิกาคุณภาพสูง และเป็นหนึ่งในสวนกาแฟที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในหมู่บ้านดอยช้าง
ผมมีความคิดเริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรให้เรามีรายได้ขณะอยู่บนดอย สามารถดูแลครอบครัวได้
“ที่นี่เป็นบ้านเกิดของผม ผมเป็นผู้ชายคนเดียวในครอบครัวที่มีผู้หญิง 8 คน พอเรียนจบ ปวส. แล้วจึงต้องกลับมาที่บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ ซึ่งกาแฟที่ปลูก เป็นของที่พ่อแม่เราปลูกเอาไว้อยู่แล้ว ผมก็เลยมาสานต่อ คือผมมีความคิดเริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรให้เรามีรายได้ขณะอยู่บนดอย สามารถดูแลครอบครัวได้ เพราะไม่อยากไปอยู่ในเมืองที่ต้องมีการแข่งขัน มีค่าใช้จ่ายสูง การอยู่บนดอยสำหรับผมแล้วมันสบายใจกว่า สะดวกกว่า เพียงแต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้รายได้มันเพียงพอกับรายจ่าย”
บ้านดอยช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เดิมเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าม้ง ก่อนที่ชนเผ่าอาข่าจะเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้านในช่วงปี พ.ศ. 2526 โดยชื่อ “บ้านดอยช้าง” ถูกตั้งขึ้นตามลักษณะของภูเขาอันเป็นสถานที่ตั้งของหมู่บ้าน ที่มีรูปร่างเหมือนช้างแม่ลูกสองเชือกหันหน้าไปทางทิศเหนือ
กาแฟได้เริ่มเข้ามาบนดอยช้าง เมื่อราวปี 2512 จากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำริให้เกษตรกรบนพื้นที่ดอยสูงต่าง ๆ ทางภาคเหนือได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงชาวไทยภูเขาบนดอยช้าง ให้มีอาชีพที่ยั่งยืนมั่นคง แก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น นโยบายลดพื้นที่การปลูกฝิ่นเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2526
จากกรมประชาสงเคราะห์โดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ที่ได้นำพันธุ์พืชเมืองหนาวมาให้เกษตรกรปลูกเพื่อทดแทนฝิ่น เช่น แมคคาเดเมีย บ๊วย สาลี่ รวมไปถึงกาแฟอาราบิกาสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการทดลองและวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็นับเวลากว่า 40 ปีแล้ว ที่กาแฟบนดอยช้างถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ จนที่นี่กลายเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกที่สามารถผลิตกาแฟและให้ผลผลิตคุณภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก
ซึ่งรวมไปถึงสวนกาแฟกว่า 20 ไร่ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาสูง 1,200 - 1,300 เมตร ที่พี่ฆ้อง ได้เข้ามาสานต่อ และพัฒนาต่อยอด เพื่อดูแลอาราบิกากว่า 20,000 ต้นที่อยู่ในสวนให้ได้ผลผลิตที่ดีงาม
“ครอบครัวผมก็เหมือนคนอื่นบนดอยช้างที่ได้กล้ากาแฟมาจากกรมประชาสงเคราะห์ ในตอนแรกที่ได้มากาแฟมันยังไม่บูม พอเกษตรกรปลูกแล้วมันก็เลยขายไม่ได้ หลายคนเลยรื้อต้นกาแฟทิ้ง แล้วปลูกมะเขือ ปลูกกะหล่ำแทน ระยะหลังพอกาแฟเริ่มดัง คนจึงเริ่มกลับมาปลูกกาแฟอีกครั้ง แต่บ้านผมไม่รื้อนะ พ่อแม่ผมยังปลูกอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีองค์ความรู้อะไรมาก
คือปลูกเอาไว้แบบนั้น ต้นไหนตายก็ปลูกซ่อม ต้นที่ใช้ปลูกซ่อมก็เอามาจากในสวนของตัวเองนั้นแหละ ต้นไหนดูแข็งแรง เมล็ดดูดี เราก็จะเอาเมล็ดจากต้นนั้นไปเพาะ ต่อมาพอผมเข้ามาดูแลสวนแทน ผมก็เริ่มหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ แล้วพัฒนาการปลูก การแปรรูปกาแฟเรื่อย ๆ เพื่อให้กาแฟที่เรามีอยู่แล้ว มันดีขึ้นไปอีก”
จากการพยายามพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้ในปัจจุบันสวนกาแฟของพี่ฆ้อง กลายเป็นแหล่งปลูกเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงเทียบเท่าเกรด specialty ที่มีเอกลักษณ์ด้านกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว คือมีกลิ่นอายของชา เจือรสเปรี้ยวจากกรดของผลไม้ รสชาติกลมกล่อม ชุ่มคอ การันตีด้วยรางวัล Rank 7 ประเภท Washed Process
การประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟพิเศษไทย ประจำปี 2567 ที่จัดโดย SCATH ด้วย Score ที่สูงถึง 86.98 คะแนน ซึ่งนอกจากการพัฒนากาแฟแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่พี่ฆ้องให้ความสำคัญคือการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“เราจะปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ คือจะมีต้นไม้แซมอยู่ตลอด เพราะเดี๋ยวนี้อากาศมันร้อนขึ้น การมีต้นไม้ปกคลุมต้นกาแฟมันจะทำให้ต้นกาแฟอายุยืน และให้ผลผลิตดีกว่า แล้วเวลาเข้าไปทำงานในสวน คนทำงานจะได้รู้สึกสบาย ไม่ร้อน เพราะมีร่มเงาอยู่
โดยเราจะพยายามไม่ตัดต้นไม้เดิมเลย ถ้าจุดไหนไม่มี เราก็พยายามไปหามาปลูกเพิ่ม โดยพืชที่ปลูกแซมบางต้นจะเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นบ๊วย ต้นมะเขือ ถ้าที่ไหนร้อนและแห้ง เราก็จะหาต้นไม้สูงมาปลูกเพื่อให้มีร่มเงา ส่วนดินก็จะใช้ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดให้กับหน้าดิน แล้วก็พยายามหาขี้วัวมาใส่ เพื่อบำรุงดินให้สมบูรณ์”
นอกจากการพัฒนาสวนกาแฟ และบำรุงดูแลต้นกาแฟแล้ว พี่ฆ้องยังมีการสนับสนุนชาวสวนในพื้นที่ด้วยการรับซื้อเชอร์รีจากลูกสวน ในปัจจุบันพี่ฆ้องมีลูกสวนในการดูแลอยู่ประมาณ 30 – 40 คน โดยพี่ฆ้องจะคอยให้คำแนะนำเรื่องการใส่ปุ๋ย การดูแลสวน การตัดแต่งกิ่ง ไปจนถึงการรับซื้อเชอร์รีเพื่อเอามาแปรรูป
“จุดเริ่มต้นที่พี่มาทำกาแฟมันเป็นเพราะเหตุจำเป็น คือตอนนั้นแม่พี่เสียชีวิต แล้วที่บ้านไม่มีใครอยู่ พี่จึงต้องขึ้นมาทำ เพราะกาแฟเป็นอาชีพหลักของครอบครัวอยู่แล้ว และที่นี่ก็เป็นบ้านเกิดของพี่ ครอบครัวของพี่ปลูกกาแฟมาเกือบ 40 ปีแล้ว ส่วนตัวพี่เพิ่งเริ่มกลับมาทำเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนแรกก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายที่ไหน แต่โชคดีที่มีพี่ฆ้องที่ช่วยรับซื้อ”
ที่นี่ก็เป็นบ้านเกิดของพี่ ครอบครัวของพี่ปลูกกาแฟมาเกือบ 40 ปีแล้ว ส่วนตัวพี่เพิ่งเริ่มกลับมาทำเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนแรกก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก ไม่รู้ว่าจะเอาไปขายที่ไหน แต่โชคดีที่มีพี่ฆ้องที่ช่วยรับซื้อ
พี่เล็ก (ชนาภรณ์ มงคลกุลผ่องใส) หนึ่งในลูกสวนที่ทำงานร่วมกับพี่ฆ้องมานานกว่า 10 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ก้าวเข้ามาอยู่ในวงการกาแฟ โดยพี่เล็กเป็นเจ้าของสวนกาแฟมากถึง 50 ไร่ ซึ่งกาแฟที่ปลูกหลัก ๆ จะเป็นอาราบิกาสายพันธุ์คาร์ติมอร์ ผสมผสานกับสายพันธุ์อื่น ๆ และถือเป็นลูกสวนที่มีสวนกาแฟมากที่สุดในบรรดาลูกสวนทั้งหมด
“พี่ฆ้อง จะเข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการใส่ปุ๋ย ว่าควรใส่ปริมาณเท่าไร ใส่ยังไง สูตรอะไร แล้วพอฤดูเก็บเกี่ยว ก็แนะนำว่าควรเก็บยังไง คัดเมล็ดยังไง แนะนำเรื่องการทำโคนต้นกาแฟ การบำรุงดิน พอถึงฤดูการเก็บเกี่ยว เราก็จะเริ่มคัดเมล็ดตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเลย เราจะคัดเก็บเฉพาะผลที่สุกเต็มที่ ถ้ายังไม่สุกเต็มที่เราจะไม่เก็บ และต้องไม่มีเม็ดดำเลยแม้แต่เม็ดเดียว แล้วก็จะมีการเอาไปลอยน้ำในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเอาไปส่งให้พี่ฆ้องด้วย”
ปัจจุบันพี่เล็กยึดการปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก โดยส่งเชอร์รีที่เก็บเกี่ยวได้ให้พี่ฆ้อง จากนั้นพี่ฆ้องก็จะนำเชอร์รีที่รับซื้อจากลูกสวน รวมกับของสวนตัวเอง มาแปรรูปผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่ง 90 % เป็น Washed Process ก่อนจะนำส่งให้แหล่งที่รับซื้อ โดยหนึ่งในคู่ค้าหลักของพี่ฆ้อง คือ Pacamara Coffee Roasters ที่รับซื้อกาแฟจากพี่ฆ้องในปริมาณมากมาหลายปีในราคาที่ยุติธรรม จนกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่บ้านดอยช้างมาจนถึงทุกวันนี้
เกณฑ์การรับซื้อเมล็ดของ Pacamara ค่อนข้างสูง มีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องความชื้น ทั้ง Defect
‣ จากยอดดอย สู่แบรนด์กาแฟ Specialty
“ผมรู้จักพี่ซานประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมไปอบรมคั่วกาแฟที่เชียงใหม่ ตอนนั้นมีการอบรมประมาณ 2 - 3 วัน ผมเลยมีโอกาสได้ทำความรู้จักแกที่นั้น จากนั้นก็เริ่มติดต่อ และค้าขายกาแฟกัน ตอนแรกก็ไม่เยอะหรอกแค่ 400 – 500 กิโล แต่พอบริษัทเริ่มโตขึ้น ปริมาณที่ซื้อก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ตัวที่ส่งให้ Pacamara จะเป็น Washed Process เพราะส่วนตัวผม ผมคิดว่าการแปรรูปแบบนี้มันสามารถคงเอกลักษณ์และคุณภาพของกาแฟได้ค่อนข้างดี”
พี่ฆ้องพูดถึงจุดเริ่มต้นในการมาทำงานร่วมกับ Pacamara จากการมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับคุณซาน (ชาตรี ตรีเลิศกุล) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Pacamara เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนนำมาสู่การทำงานร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยพี่ฆ้องถือได้ว่าเป็นหนึ่งเกษตรกรที่อยู่เคียงข้าง Pacamara มาอย่างยาวนาน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของแบรนด์เลยก็ว่าได้
“เกณฑ์การรับซื้อเมล็ดของ Pacamara ค่อนข้างสูง มีข้อจำกัดมากมายทั้งเรื่องความชื้น ทั้ง Defect แต่ถามว่าดีไหม คำตอบคือดีมาก เพราะการที่เกณฑ์สูงแบบนี้ มันจะช่วยให้เกษตรกรพยายามพัฒนาและรักษาคุณภาพกาแฟของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กาแฟของเราตกเกณฑ์ที่เขาตั้งเอาไว้”
พี่ฆ้องกล่าวเสริมอีกว่า หนึ่งในเหตุผลที่เขาพยายามพัฒนาและรักษาคุณภาพกาแฟ รวมไปถึงคอยให้คำแนะนำแก่บรรดาลูกสวนที่เขารับซื้อเชอร์รี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องพยายามรักษาคุณภาพกาแฟให้อยู่ในเกณฑ์นี้ ซึ่งในความคิดของพี่ฆ้อง เกณฑ์ของพาคามาร่า เป็นเกณฑ์ที่สูงเทียบเท่ากับการแข่งขันเมล็ดกาแฟเลยทีเดียว
“มันดีมาก ๆ เลย เพราะเราก็ทำผลผลิตให้เขาอย่างเต็มที่ แล้วทั้ง ๆ ที่เขามีตัวเลือกมากมาย แต่เขาก็มาเลือกเรา มันทำให้เรารู้สึกว่า ที่เราพยายามทำอย่างเต็มที่มันคุ้มค่า เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทำให้เรามั่นใจ ว่ากาแฟของเรามีดีไม่แพ้ใคร”
เมล็ดกาแฟ Thai Doi Chang Arabica Washed ของพี่ฆ้อง เป็นหนึ่งในเมล็ดที่ใช้ใน ฮักหม๊ดไจ๋ 13TH ANNIVERSARY BLEND กาแฟพิเศษที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นด้วยความเอาใจใส่และใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อฉลองครบรอบ 13 ปีของ Pacamara โดยเมล็ดกาแฟจากดอยช้าง จะเป็นเมล็ดที่ผ่านกระบวนการ Washed Process เพื่อให้ได้รสชาติที่สะอาด
พร้อมคงคุณสมบัติที่โดดเด่นของเมล็ดกาแฟ เพื่อคงกลิ่นอายของดอยช้างเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานกับเอกลักษณ์ของแหล่งปลูกของทั้ง 5 ดอยได้อย่างลงตัว เพื่อส่งมอบความพิเศษให้แก่ลูกค้าทุกคน ตามคอนเซ็ปต์แบรนด์ที่ว่า “Everyday Specialty – กาแฟสเปเชียลตี้ที่ดื่มได้ทุกวัน”
ฮักหม๊ดไจ๋ 13TH ANNIVERSARY BLEND
Roast Level : Medium Light
Taste Profile : Citrus, Plum, Dark Chocolate, Honey & Hint of Floral
----
สนในผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่ :
Facebook : Pacamaracoffee
Instagram : Pacamara_th
โทร : 09 0902 0378
Coffee Traveler เป็นนิตยสารรายสองเดือน
ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการส่งผ่านความรู้ทางด้านกาแฟ
และเสริมมุมความคิดในด้านธุรกิจกาแฟ
.
สมัครสมาชิกนิตยสารได้ที่ :
IN BOX Facebook : Coffee Traveler
.
ช่องทางการติดตามอื่น ๆ
Youtube : Coffee Traveler
Instagram : coffeetraveler_magazine
Blockdit : I am Coffee Traveler / coffeetravelermag
Tiktok : coffee traveler mag
โฆษณา