9 ก.ค. เวลา 03:23 • สุขภาพ

อย่าปล่อยให้ “โรคร้ายแรง” เซอร์ไพรส์เงินเก็บของคุณ

โดย ชัญญาพัชญ์ อัครกิจวณิชย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT
เมื่อพูดถึง “โรคร้ายแรง” หลายคนมักนึกถึง “โรคมะเร็ง” เป็นลำดับแรก ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง และคนส่วนใหญ่ก็ยังคงคิดว่า ตัวเองแข็งแรง ไม่มีทางเจ็บป่วยและคงไม่โชคร้ายป่วยเป็นโรคร้ายแรงขนาดนั้นแน่ ๆ
แต่จากข้อมูลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ มีประมาณ 140,000 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 83,000 คนต่อปี ที่สำคัญยังพบว่ามีอัตราการเกิดโรคมะเร็งในกลุ่มคนที่อายุน้อยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมาจากพฤติกรรมการกินและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ด้วย
ความเสี่ยงด้านโรคมะเร็งจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หากเป็นแล้วจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะต้องใช้เงินและใช้เวลาในการรักษาเท่าไหร่ เนื่องจากโรคมะเร็ง ต้องมีการรักษาต่อเนื่องจนกว่าอาการจะบรรเทาลง ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา ซึ่งบางครั้งต้องใช้วิธีการร่วมกัน ทั้งการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะของร่างกายแต่ละคนอีกด้วย
ประมาณการค่าฉายรังสีในเวลาราชการ สำหรับโรคมะเร็งที่พบบ่อย
  • มะเร็งศีรษะและลำคอ 130,100 – 186,600 บาท
  • มะเร็งเต้านม 69,300 – 84,500 บาท
  • มะเร็งปอด 141,100 – 197,600 บาท
  • มะเร็งปากมดลูก 144,400 บาท
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก 182,400 บาท
  • มะเร็งสมอง 164,800 บาท
  • มะเร็งหลอดอาหาร 150,800 บาท
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ 103,000 บาท
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 110,000 บาท
ที่มา : สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
จากตารางพบว่า เฉพาะค่าฉายรังสียังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ถือเป็นค่ารักษาที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว การเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงสำหรับค่าใช้จ่ายด้านโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ไม่กระทบกับแผนการเงินในปัจจุบันและหลังเกษียณของเรา
ตัวอย่าง
คนที่ 1 อายุ 35 ปี ตรวจพบมะเร็ง ระยะที่ 2 ทำการรักษาโดยการผ่าตัด ทำเคมีบำบัด และฉายรังสี ตามแนวทางการรักษา โดยใช้สิทธิประกันสังคม ในระหว่างการรักษามีค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายหลังรักษาตัว ที่ต้องใช้ฟื้นฟูร่างกาย เคสนี้ไม่ได้ทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงเอาไว้ จึงไม่มีวงเงินสำหรับใช้จ่ายนอกบิลค่ารักษา จากการเคลมประกันโรคร้ายแรง
หากสามารถกลับมาทำงานได้และพอมีรายได้นำมาใช้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายนอกบิลก้อนนี้ แต่ถ้าหากวันหน้าหากกลับมาป่วยและทำงานไม่ไหว ก็ต้องใช้เงินเก็บที่มี เป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตัวเอง และยังต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในอนาคตซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องใช้เงินอีกเป็นจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง
คนที่ 2 อายุ 38 ปี ตรวจพบมะเร็งระยะที่ 3 รับการรักษาแบบใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เนื่องจากมีการวางแผนทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงไว้แล้ว จึงสามารถเข้าถึงวิธีการรักษาที่ทันสมัยได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลถึงค่าใช้จ่ายหลักและ ค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ ที่ต้องใช้ระหว่างการรักษา และไม่ต้องห่วงว่าจะกระทบกับแผนการเงินในปัจจุบันและหลังเกษียณอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 เคสดังกล่าว ถึงแม้จะสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคม หรือจากประกันสุขภาพโรคร้ายแรง หากมีวงเงินค่ารักษาที่เพียงพอก็จะมีความสบายใจและมีกำลังใจในระหว่างการรักษา เพราะกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญเปรียบเสมือนยาวิเศษที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจของผู้ป่วยให้มีกำลังในการต่อสู้ฟื้นฟูร่างกาย ให้กลับมาแข็งแรงใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง
ดังนั้น การวางแผนจัดการความเสี่ยงด้านประกันสุขภาพและโรคร้ายแต่เนิ่น ๆ เพื่อรองรับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ หากเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก็จะไม่มีโอกาสในการทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงได้อีก หากเตรียมเงินเก็บไว้ไม่เพียงพออาจจะต้องถึงกับขายทรัพย์สินที่มีทั้งหมด เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรงเพียงครั้งเดียวก็ได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ “โรคร้ายแรง” มาเซอร์ไพรส์เงินเก็บของตัวเอง
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 LINE Official Account https://page.line.me/cfpthailand
📌 Spotify Podcast https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast https://apple.co/3QwZ4UJ
โฆษณา