9 ก.ค. เวลา 12:37 • หุ้น & เศรษฐกิจ

⚠️ ทำไม World Bank ถึงมองเหมือนคนอื่นๆ (ยกเว้นรัฐบาล) ว่า Digital Wallet ได้ไม่คุ้มเสีย

นิคกี้เชื่อว่าเพื่อนๆที่ติดตามเพจคงเห็นข่าวกันบ้างแล้วค่ะว่า World Bank ได้กลายเป็นสถาบันรายล่าสุดที่ออกมาตำหนิว่าโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาลไทยนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วเหตุผลต่างๆที่ World Bank เล่ามานั้นก็คล้ายๆกับคนอื่นๆค่ะ แต่ World Bank มีการลงรายละเอียดและมีกรณีที่เกิดขึ้นจริงของโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาให้ดูด้วยค่ะ ดังนั้นวันนี้นิคกี้จะสรุปมาให้อ่านกันค่ะ
‼️ ทั้งหมดนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาจาก World Bank ล้วนๆ ไม่ได้เป็นความเห็นของนิคกี้ ถ้าใครอยากรู้ความเห็นของนิคกี้ สามารถไปอ่านโพสต์ย้อนหลังได้ค่ะ แต่ความเห็นก็จะไม่ได้แตกต่างกับของ World Bank ค่ะ
ที่มาของ Digital Wallet: รัฐบาลไทยได้ประกาศโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ให้กับประชาชน 50 ล้านคน คนละ 10,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจโดยรวม
แหล่งที่มาของเงินทุน: งบประมาณจะมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 และอาจมาจากแหล่งเงินกึ่งรัฐวิสาหกิจผ่านการกู้ยืมโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ
✅ ข้อดี:
* กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น: World Bank คาดว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้ 0.5 - 1.6% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะช่วยกระตุ้น GDP ให้เติบโตได้ 2.8% ในปี 2567 และ 3.4% ในปี 2568
* ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล: ช่วยให้ประชาชนคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์และสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
* ลดความเหลื่อมล้ำ: เป็นการแจกเงินที่เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่
❌ ข้อเสีย:
* ความไม่แน่นอนทางกฎหมาย: การกู้ยืมโดย ธ.ก.ส. อาจมีปัญหาเรื่องความถูกต้องตามกฎหมาย
* แรงกดดันด้านการใช้จ่ายภาครัฐ: โครงการนี้มีค่าใช้จ่ายสูง อาจทำให้เกิดแรงกดดันในการใช้จ่ายของรัฐบาล
* ความยั่งยืนทางการคลัง: หากไม่ได้รับการจัดการที่ดี โครงการนี้อาจส่งผลกระทบทางลบต่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว เนื่องจากมีต้นทุนสูงและอาจทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
* เงินเฟ้อ: การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอาจทำให้เกิดแรงกดดันด้านราคาและทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
* ผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ: หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.3% ของ GDP ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2568
⚠️ ข้อสำคัญคือ โครงการ Digital Wallet กระตุ้น GDP ได้ 0.5-1.6% เท่านั้น แต่มีต้นทุนสูงถึง 2.7% ของ GDP
ประเด็นนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ต้นทุนของโครงการ กับผลกระทบต่อ GDP
ในส่วนของต้นทุนต่อ GDP
World Bank คาดว่าต้นทุนของโครงการ Digital Wallet คาดว่าจะอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2.7% ของ GDP (อันนี้ตัวเลขตายตัว) อย่างไรก็ตาม World Bank ระบุว่า ต้นทุนจริงอาจสูงกว่าที่คาดการณ์หาก ธ.ก.ส. ประสบปัญหาขาดทุนจากการปล่อยกู้ ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลจะเข้ามาต้องรับผิดชอบภาระหนี้ และทำให้ต้นทุนที่แท้จริงของโครงการสูงขึ้นไปอีก
ในส่วนของหนี้สาธารณะที่มีโอกาสเพิ่มมากกว่าคาด แม้รัฐบาลจะกู้ผ่าน ธ.ก.ส. ก็ตามนั้น World Bank ระบุว่า การกู้ยืมผ่าน ธ.ก.ส. แม้ว่าจะถือเป็นหนี้กึ่งรัฐวิสาหกิจ และทำให้ยอดหนี้ดังกล่าวไม่ถูกนับรวมในหนี้สาธารณะในทันที แต่ในอนาคต หาก ธ.ก.ส. ประสบปัญหาขาดทุน
รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบชดเชยความเสียหายเหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้หนี้กึ่งรัฐวิสาหกิจกลายเป็นหนี้สาธารณะที่แท้จริงในที่สุด นอกจากนี้เองโครงการ Digital Wallet ยังอาจทำให้รัฐบาลมีแรงกดดันในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวอีกเช่นกัน
⚠️ ในส่วนผลกระทบต่อ GDP (ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าแจกเงิน 5 แสนล้าน GDP ก็ต้องเพิ่มขึ้นเท่ากับ 5 แสนล้านซิ)
ประเด็นที่ World bank ระบุคือเรื่องของ Fiscal Multiplier ซึ่งก็คือ ตัวเลขที่ใช้วัดผลกระทบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีต่อ GDP โดย fiscal multiplier ที่น้อยกว่า 1 หมายความว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลแต่ละบาทจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1 บาท ขณะที่ตัวเลข fiscal multiplier ที่มากกว่า 1 ก็จะหมายความว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลแต่ละบาทจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 บาท
โดย Fiscal Multiplier ของมารตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีไม่เท่ากันค่ะ ขึ้นอยู่กับลักษณะของมาตรการ ผลกระทบลูกโซ่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยการศึกษาข้อมูลในอดีตที่ี World Bank ยกมาจะสามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อได้ดังนี้ค่ะ
1. Government Consumption (การบริโภคภาครัฐ)
2. Public Investment (การลงทุนสาธารณะ)
3. Tax cuts (ลดภาษี)
4. Government purchases (ภาครัฐรับซื้อของ)
5. Government transfers (ภาครัฐแจกเงิน)
6. Cash transfers (แจกเงิน)
7. Total spending (การใช้จ่ายหลายๆอย่างรวมกัน)
ซึ่งมาตรการ Digital Wallet ของไทยจะเข้าข่ายของ Government Transfers ค่ะ ซึ่ง World Bank ระบุว่าจากการศึกษาในต่างประเทศ คาดว่า fiscal multiplier ของโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 0.3 - 0.6 ซึ่งหมายความว่า GDP จะเพิ่มขึ้น 0.3 - 0.6 บาท สำหรับทุกๆ 1 บาทที่ใช้ในโครงการ (เท่ากับว่าใช้จ่าย 5 แสนล้าน จะส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นเพียง 1.5 - 3.0 แสนล้านบาทเท่านั้นค่ะ)
📌 ตารางเต็มๆแปะให้ในคอมเม้นค่ะ
นอกจากนี้เอง World Bank ยังยกกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกับมาตรการ Digital Wallet ของไทย และเป็นมาตรการที่พึ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆมาให้ดูเช่นกัน ซึ่งก็คือ โครงการ Korean Economic Impact Payment (KEIP) ซึ่งจะเป็นการโอนเงินครั้งเดียวจำนวน 1,000,000 วอน (ประมาณ 880 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับทุกครัวเรือน และจำกัดไว้ให้ใช้เฉพาะกับร้านค้าออฟไลน์และต้องใช้ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2020 โดยโครงการดังกล่าวมี fiscal multiplier อยู่ที่ 0.5 เท่านั้นค่ะ
🎯 ทำไม Fiscal Multiplier จากการแจกเงินถึงน้อยกว่าแบบอื่นๆ
* ข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่: เงินดิจิทัลวอลเล็ตมีข้อจำกัดในการใช้จ่าย ทั้งในแง่ของเวลา (ต้องใช้ภายใน 6 เดือน) และสถานที่ (ต้องใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กิโลเมตรจากบ้าน) ซึ่งอาจทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้เต็มที่
* การทดแทนการใช้จ่าย: ประชาชนบางส่วนอาจใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อทดแทนการใช้จ่ายที่พวกเขาตั้งใจจะซื้ออยู่แล้ว ทำให้ผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวมลดลง (เช่น ตั้งใจจะซื้อโซฟาใหม่ด้วยเงินตัวเองอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆก็ได้เงินมาฟรีๆ เลยไม่ต้องตังเอง ส่วนเงินตัวเองก็เอาไปเก็บไว้เหมือนเดิม ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น)
1
* ปัญหาในการเข้าถึงร้านค้า: หากร้านค้าจำนวนมากไม่เข้าร่วมโครงการ หรือร้านค้าที่เข้าร่วมส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการได้เต็มที่
* ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ: ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ประชาชนอาจเลือกที่จะออมเงินมากกว่าใช้จ่าย ทำให้ fiscal multiplier ต่ำลง
📌 ความคล้ายคลึงระหว่างโครงการ Digital Wallet ของไทยและเกาหลีใต้
* การแจกเงินแบบครอบคลุม: ทั้งสองโครงการแจกเงินให้กับประชาชนจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ
* ข้อจำกัดในการใช้จ่าย: ทั้งสองโครงการมีข้อจำกัดในการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้เม็ดเงินถูกใช้จ่ายในประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
* วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ: ทั้งสองโครงการมีเป้าหมายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว
2
อย่างไรก็ตาม มีข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างสองโครงการนี้ เช่น ขนาดของเงินที่แจก และช่วงเวลาในการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและ fiscal multiplier ที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว Fiscal Multiplier จะมีค่าสูงกว่าในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากประชาชนมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินที่ได้รับมากกว่าที่จะออมเงิน
ซึ่งในเอกสารอ้างอิงถึงโครงการ Korean Economic Impact Payment (KEIP) ของเกาหลีใต้นั้นเป็นการดำเนินการในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่เป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย ทำให้โครงการนี้มี Fiscal Multiplier อยู่ที่ 0.5 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ในทางกลับกัน โครงการ Digital Wallet ของไทยไม่ได้อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประชาชนอาจมีแนวโน้มที่จะออมเงินมากกว่าการใช้จ่าย ทำให้ Fiscal Multiplier ของโครงการนี้อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
🎯 สุดท้ายแล้ว World Bank ยังทิ้งท้ายไว้ว่าการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรพิจารณาทางเลือก วัตถุประสงค์ และข้อดีข้อเสีย ใครครบถ้วน เพื่อดูว่าทางเลือกไหนมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม Digital Wallet ไม่สามารถมีส่วนสนับสนุนการเติบโตและความยั่งยืนในระยะยาวได้
ในทางกลับกัน การศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนภาครัฐสามารถส่งผลต่อการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ การทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องต้นทุนเสียโอกาส เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรจะถูกใช้โดยที่พวกเขาให้ผลประโยชน์สูงสุดในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
🇹🇭FYI: เสริมให้นิดนึงนะคะ รัฐบาลมองว่า fiscal multiplier จาก Digital Wallet ของไทยจะอยู่ที่ 1.2 - 1.4 เลยมองว่าคุ้มค่าค่ะ (นิคกี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐบาลไปเอาความมั่นใจอันนี้มาจากไหนนะคะ 😅)
1
โฆษณา