12 ก.ค. เวลา 23:13 • สิ่งแวดล้อม

แม่น้ำเจ้าพระยา "สายธารแห่งการปนเปื้อนยา?"

ในช่วงเวลาที่โควิด 19 กำลังแผลงฤทธิ์ไปทั่วโลก ทุกอย่างบนโลกแทบหยุดชะงัก ตลอด 2 ปีแห่งความสับสนวุ่นวายบนโลก แต่สิ่งที่ไม่เคยหยุดเลยคือความต้องการใช้ยาที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ และเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานั้น
ช่วงนี้เองที่คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในสหราชอาณาจักร ทำการตรวจสอบคุณภาพแม่น้ำโดยใช้ตัวอย่างน้ำจาก 1,052 จุด ที่เก็บจากแม่น้ำทั้งหมด 258 สาย ใน 104 ประเทศ เช่น แม่น้ำดานูบในออสเตรีย แม่น้ำแซนของฝรั่งเศส , แม่น้ำเธมส์ของอังกฤษ แน่นอนว่ารวมถึงแม่น้ำโขง และแม่น้ำเจ้าพระยาของเราด้วย
จากการวิจับพบว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำทั้งหมด มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนในอัตราที่สูง โดยที่พบมากที่สุดอยู่ที่บังคลาเทศ มียาปฏิชีวนะเจอจนอยู่ในน้ำ มากกว่าระดับที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ถึง 300 เท่า รองลงมาได้แก่ เคนยา ปากีสถานและไนจีเรีย ยาปฏิชีวนะที่นักวิจัยทดสอบมี 14 ชนิด
ยาที่พบมากที่สุดคือ ยา Trimethoprim ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อแกรมลบ พบใน 43% ของแม่น้ำทั้งหมด(ซึ่งถึอว่าอันตรายมาก เนื่องจากเชื้อแกรมลบมีรายงานการดื้อยาค่อนข้างสูง) ส่วนยา Ciprofloxacin เป็นยาที่พบในปริมาณเกินระดับความปลอดภัยมากที่สุด โดยมี 51 แห่งที่มียาตัวนี้เกินระดับความปลอดภัย
มีรายงานในหลายพื้นที่ว่า ยาที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำอย่างมีนัยสำคัญ ปลาบางประเทศมีลักษณะการว่ายน้ำที่เปลี่ยนไปในแหล่งน้ำที่มียาปนเปื้อนในระดับสูง แหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนยาต้านซึมเศร้าทำให้ปลามีปฏิกริยาการเอาตัวรอดน้อยลง ทำให้ตกเป็นเหยื่อของนักล่าได้ง่าย หรือบางพื้นที่พบว่าแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนยาคุมกำเนิดทำให้เกิดการเปลี่ยนเพศของปลา ทำให้การผสมพันธุ์ปลาไม่มีประสิทธิภาพ และเสี่ยงต่อการศูนย์พันธุ์
แม่น้ำเจ้าพระยาของเราเองก็ใช่จะปลอดภัย จากการศึกษาดังกล่าวพบว่าแม้น้ำเจ้าพระยามีสารตกค้างหลายชนิด แต่ที่พบมากที่สุดคือ ยาต้านจุลชีพ ยาต้านแบคทีเรีย และเชื้อดื้อยา ส่วนหนึ่งมาจากอุปนิสัยการใช้ยาของคนไทยอย่างไม่เหมาะสม และอุตสาหกรรมยาที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ในปี 2593 คาดการณ์การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน ส่วนในไทยเองการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
1
จากรายงานของศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ปี 2555 พบว่าในสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีการกระจายของยีนส์ดื้อยาชนิด MCR-1 โดยพบในเชื้อโรคหลายชนิดเช่น Salmonella, Escherichia coli, Enterobacteriaceae, Providencia alcalifacien, Raoultella planticola เมื่อเชื้อเหล่านี้ได้รับยีนส์ดังกล่าวจะทำให้มีอัตราการพัฒนาตนเองและมีกลไกการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ทำให้เชื้อไวต่อยาปฏิชีวนะลดลง หรือก็คือฆ่าตายยากขึ้น
ยีนส์ของเชื้อดื้อยาชนิด MCR-1 พบกระจายอยู่ในหลายแหล่งทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือ แม่น้ำสายหลัก ลำคลอง หนองบึง ทะเลทราบต่างๆ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้การบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย แม้จะฟังดูเป็นเรื่องของยา แต่มีความจำเป็นต้องใช้หลักการจัดการความปลอดภัยทางอุตสาหกรรม การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทั้งต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ จึงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนได้
อ้างอิง
โฆษณา