10 ก.ค. เวลา 01:08 • ธุรกิจ

ทำเยอะ ทำมาก ไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จ

รู้จัก Law of Diminishing Return ตัวช่วยเร่งประสิทธิภาพเพื่อให้การทำงานออกมาสำเร็จ
Diminishing Returns เป็นหนึ่งในกฎเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเราเรียกกันว่า กฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง (Law of Diminishing Return) ซึ่งถ้าเกิดจะนำกฎนี้มาปรับใช้กับการทำงาน ก็เสมือนว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่มากเกินไปแล้วดีที่สุด และไม่มีอะไรที่น้อยเกินไปแล้วดีที่สุด ตัวอย่างเช่น
1
🤔 เราทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงเที่ยงคืน ติดต่อกัน 7 วันต่อสัปดาห์ เพื่อที่เราจะเก่งขึ้น ก้าวหน้าในการงานมากยิ่งขึ้น แต่ผลที่ได้คือกฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง เพราะเมื่อเราทุ่มเทให้กับการทำงานจนลืมพักผ่อน ร่างกายของเราก็จะอ่อนล้า ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลง และที่สำคัญคุณอาจจะป่วยด้วยก็ได้ เนื่องจากทำงานโดยฝืนธรรมชาติของร่างกายมากจนเกินไป
🤔 หรืออีกเหตุการณ์ของกฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง (Law of Diminishing Return) ที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยพบเจอ คือ ‘การประชุม’ โดยส่วนใหญ่การประชุมใน 30 นาทีแรกจะทำให้ทุกคนในที่ประชุมเกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ในขณะเดียวกันหากการประชุมยืดเยื้อไป 2-3 ชม. พนักงานบางคนก็อาจจะเหนื่อยล้าเกินไป ประสิทธิภาพในการโฟกัสการประชุมก็จะลดลง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการทำงาน
ดังนั้นการที่เราสามารถเข้าใจแนวคิดกฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง (Law of Diminishing Return) ได้จะทำให้เราเป็นคนที่รู้ว่า อะไรควรไปต่อ, อะไรควรจะหยุด และอะไรควรจะยกเลิก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ชีวิต เพราะเรื่องนี้ไม่ได้แค่เกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน
1
รวม 4 เทคนิคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยการใช้ กฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง (Law of Diminishing Return)
1. Law of Diminishing Return คือกฎที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น คงเป็นคำที่หลายคนเคยได้ยิน บางคนก็ทุ่มเทพยายามจนสำเร็จมาได้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ทุ่มเทไปแล้วล้มเหลว บางครั้งการที่เราได้ทุ่มเทอะไรที่มากจนเกินไป ก็มักจะมีประสิทธิภาพตรงข้ามที่จะลดลงไป เช่น ประสิทธิภาพของสมอง ความคิดความอ่านที่ช้าลง หรือร่างกายที่เหนื่อยล้าเกินจะรับไหว ซึ่งกฎ Law of Diminishing Return จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ว่า เราจะทำอย่างไรให้การทำงาน การใช้ชีวิตในทุกวัน สามารถสร้างประสิทธิภาพที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ
2
Law of Diminishing Return แบ่งตัวชี้วัดออกเป็น 3 ช่วง
👉 1.1 Productive Phase (ช่วงเวลาแห่งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล)
คือช่วงเริ่มต้นของการคิดสิ่งใหม่ ทำเรื่องใหม่ ๆ ในจุดนี้จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการสร้างประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งมีระยะเวลา และประสิทธิภาพของแต่ละบุคคลเป็นตัวกำหนด
1
👉 1.2 Diminishing returns (ได้รับผลตอบแทนลดน้อยถอยลง)
คือช่วงที่ถัดจากเราใช้เวลา Productive Phase อย่างเต็มที่ก็จะเข้าสู่ช่วง Diminishing returns ซึ่งจะทำให้ Output ที่เกิดขึ้นช้าลง ประสิทธิภาพในการทำงานจะค่อย ๆ ลดน้อยลง ต่อให้จะเติมไอเดีย พยายามมากสักแค่ไหน ก็ไม่สามารถทนทานต่อความเหนื่อยล้าของร่างกายได้
1
👉 1.3 Negative Returns (ได้รับผลตอบแทนติดลบ)
คือช่วงที่ถัดจากเราใช้เวลา Diminishing returns อย่างเต็มที่ก็จะเข้าสู่ช่วง Negative Returns คือช่วงเวลาที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะการทำงานของเราจะตกลงทันที ไม่เกิดไอเดียใหม่ มีแต่จะสร้างผลเสียและขาดทุนในที่สุด โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องเวลาที่มีค่ามากที่สุด ซึ่งไม่ควรสูญเสียไปในช่วงเวลานี้เด็ดขาด
ตัวอย่าง
🎯 ถ้าวันนี้คุณตัดต่อวิดีโอไปแล้ว 1 ชม. แต่ก็ยังรู้สึกไม่ดีพอ ในจุดนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราไม่ควรดื้อรั้นเพื่อทำต่อ แต่เราควรเพิ่มช่วงเวลา Productive Phase ด้วยการเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก่อน หรือออกไปเดินเล่นพักผ่อนสั้น ๆ สัก 10-15 นาที เพื่อให้อารมณ์ของเราได้ผ่อนคลายจากความเครียด แล้วกลับมาลุยงานที่สำคัญต่อ
1
ดังนั้น Law of Diminishing Return คือการที่จะช่วยให้เราเข้าใจประสิทธิภาพของตัวเอง เพื่อไม่ให้เข้าสู่ภาวะ Diminishing returns และ Negative Returns ดังนั้นมันคือความท้าทายของคนทำงานอย่างเรา ว่าจะรักษาประสิทธิภาพอย่างไรเพื่อให้เกิดภาวะ Productive Phase อยู่เสมอนั่นเอง
1
2. ใช้กฎ Law of Diminishing Return ควบคู่ไปกับ Pomodoro
การบริหารเวลา และการจัดการงานให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่การทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะยิ่งเราทำงานต่อเนื่องมากจนเกินไป ประสิทธิภาพจะส่งผลลบทันที จากเดิมที่จะได้ Productive Phase จะกลายเป็น Negative Returns ทันที
ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้เราโฟกัสงาน และบริหารจัดการได้คือ เทคนิค Pomodoro โดยให้เรา “โฟกัสเพียง 1 เรื่อง” แบ่งเวลาทำงานออกเป็น 30 นาที แล้วให้เราใช้เวลาโฟกัสกับงาน 25 นาที และพักอีก 5 นาที ซึ่งถ้าเรามีงานให้ทำหลายอย่างก็ควรทำทีละอย่างเท่านั้น
3
ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้เราได้รับช่วงเวลา Productive Phase แบบเต็มประสิทธิภาพ คือเราโฟกัสได้สำเร็จตามเป้าหมาย และยังได้รับการพักผ่อน เพื่อไม่ให้จิตใจและร่างกายอ่อนล้าจนเกินไป ตามกฎ Law of Diminishing Return ซึ่งจะลดการเกิดไปสู่ Negative Returns ที่จะทำให้เราเสียประสิทธิภาพโดยเปล่าประโยชน์
3. ใช้กฎ Law of Diminishing Return ควบคู่ไปกับ 80/20
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับกฎ 80/20 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ Law of Diminishing Return ค่อนข้างชัดเจน คือการกระทำ 80% มาจากผลลัพธ์ 20% หรือการทำน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก บางครั้งการทำงานของเราอาจจะจมอยู่กับการแก้ปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น
ลองใช้หลักการ 80/20 วิเคราะห์ให้ดีว่า คุ้มค่าต่อการไปต่อไหม บางคนมีโปรเจกต์ที่ยิ่งใหญ่ แต่กลับแก้แล้วแก้อีก ไม่จบไม่สิ้น เหมือนไร้หนทางไปต่อ แต่ยังฝืนทำ ซึ่งมันทำให้เราเข้าสู่ภาวะ Negative Returns (ได้รับผลตอบแทนติดลบ) ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียทั้งต้นทุนที่เสียไป และร้ายแรงกว่านั้นคือการทำงานที่ไม่เกิดประสิทธิภาพในที่สุด
1
ดังนั้นลองตัดสินใจควบคู่กันไปว่า เราควรโฟกัสเรื่องอะไรที่สำคัญที่สุด ลองหาต้นเหตุของปัญหาให้เจอแล้วแก้ให้ถูกจุด หรือจะปิดโปรเจกต์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า นี่คือการตัดสินใจของผู้นำ เพื่อให้เราจะได้ทำน้อย แต่เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามาก และยังอยู่ในช่วงเวลาของ Productive Phase (ช่วงเวลาแห่งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล) ยิ่งถ้าเรื่องนี้เราทำงานเป็นทีมด้วยแล้ว ผลลัพธ์ที่ดีจะไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเรา หรืองานเพียงอย่างเดียว แต่ลูกทีมก็มีความสุขขึ้น ได้โชว์ไอเดียมากขึ้น เสมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน
4. ใช้สัญชาตญาณได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับ ‘บริบท และเป้าหมาย’
กฎ Law of Diminishing Return ไม่ได้บอกว่าการยิ่งพยายามทุ่มเทให้กับอะไรบางอย่างจะเปล่าประโยชน์เสมอไป แต่มันอยู่ที่เราโฟกัสและทุ่มเทเรื่องเหล่านั้นได้ตรงจุดหรือไม่ หนึ่งในตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพชัดเจนคือเรื่องของคุณ Danny Strong นักเขียนชื่อดังที่เคยเขียนหนังสือซ้ำแล้วซ้ำเล่า แก้ไขไปกว่า 20 ครั้ง ซึ่งการทำงานแบบโหมกระหน่ำ ทำให้ กฎ Law of Diminishing Return เริ่มส่งผลแล้วว่า ถ้าหากฝืนต่อไปประสิทธิภาพจะลดลง และจะเข้าสู่ Negative Returns ในที่สุด
แต่สิ่งที่คุณ Danny Strong ทำคือฝืนทำต่อ เหตุเพราะในบริบทนั้นเขามั่นใจแล้วว่า ถ้าเขาทำสิ่งนี้สำเร็จ มันจะได้ผลกำไรกลับมามากกว่าต้นทุนที่เขาเสียไป มันคุ้มค่าที่จะเสี่ยงเพราะเนื้อหานี้ในช่วงเวลานั้น ในตลาดก็ยังไม่ค่อยมี และเชื่อว่าจะได้ยอมรับจากผู้อ่าน และในที่สุดความพยายามนั้นก็ส่งผลให้ คุณ Danny Strong ได้รับรางวัล emmys awards และรางวัลสมาคมนักเขียนอเมริกา 2 รางวัล โดยในครั้งนั้น คุณ Danny Strong ยังกล่าวไว้ว่า ‘ฉันไม่เคยทำโปรเจกต์ไหนแล้วแก้ไขน้อยกว่า 20 ครั้ง มันมากกว่านั้นเสมอ’
เรื่องนี้กำลังบอกว่า ‘เป้าหมาย’ มีความสำคัญมาก การทำงานของคุณ Danny Strong ไม่ใช่การทุ่มเทหัวใจเกินร้อย แต่มันเป็นการทุ่มเทอย่างมีเหตุ มีผล คือทุ่มเทไปที่ ‘คุณภาพ’ เป็นหลัก และเขาสามารถตอบคำถามของการทุ่มเทลงไปได้ว่าความคุ้มค่าคืออะไร คือการที่เขาจะได้แตกต่างจากคนอื่น, คือชื่อเสียง และเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตในอาชีพ สุดท้ายคนอ่านได้รับเนื้อหาที่ดีที่สุด แม้จะไม่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ แต่มันเป็นการคาดการณ์โดยมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ และต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
เมื่ออ่านจบแล้ว ลองนำกลับไปฝึกใช้ เพราะ กฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง (Law of Diminishing Return) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการฝึกฝนให้เราเป็นคนอ่านสถานการณ์ และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำขึ้น หวังว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจบาลานซ์ชีวิตของตัวเอง และทำให้เกิด Productive Phase ในการทำงาน, ในการใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน 😎 👍 ❤️
✍🏻 เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
🎨 ภาพประกอบ: อลิสา อรุณสิริเลิศ
ที่มา:
• The Law of Diminishing Returns - https://personalexcellence.co/blog/diminishing-returns/
• Hitting the Sweet Spot – Escaping the Efficiency Trap - https://sherpapg.com/articles/diminishing-returns/
• ไขข้อสงสัยเทคนิค Pomodoro ทำไมหลายคนไม่สามารถใช้เทคนิคนี้ได้ - https://creativetalkconference.com/pomodoro-technique-mysteries-why-many-people-cant-use-it/
โฆษณา