10 ก.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สิงคโปร์ติด Top10 ผลิตและส่งออกชิปของโลก

สิงคโปร์ดึงดูดอุตสาหกรรมไมโครชิปมาตั้งโรงงาน
จนติดอันดับท็อป 10 ผู้ผลิตและส่งออกชิปของโลก
แม้ประเทศเล็ก ค่าแรงแพง แต่แรงงานฉลาด คุณภาพสูง
หลายประเทศทั่วโลกกำลังใช้ความพยายามอย่างสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคยุคใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไมโครชิปและเซมิคอนดักเตอร์ ที่นับว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง มีมูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการสูงในขณะนี้และอนาคต ตามการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจ และชีวิตประจำวัน
ซึ่งภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นแหล่งผลิตชิปของโลก เพราะบริษัทที่เป็นผู้นำและครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ก็คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co., Ltd. (TSMC) จากไต้หวันซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และกำลังเร่งขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียน เพื่อหลีกหนีเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย่งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์กับจีนแผ่นดินใหญ่
1
นอกจากนี้อาเซียนยังเนื้อหอมไม่หยุด เพราะเหล่าบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ต่างเริ่มปักหมุดประกาศการลงทุนในประเทศต่างๆ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนนาม รวมทั้งสิงคโปร์ ที่แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่กลับดึงดูดการลงทุนในอุตสหกรรมระดับสูงได้ไม่น้อย จนคู่แข่งหลายชาติรู้สึกบัลลังก์สั่นคลอนในการเป็นหัวแถวของภูมิภาค
ความเป็นประเทศจิ๋วแต่เจ๋งของสิงคโปร์ กำลังเป็นคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อในอุตสาหกรรมการผลิตชิประดับโลก ล่าสุดได้ดึง NXP Semiconductors และ Vanguard International Semiconductor Corporation สัญชาติเนเธอแลนด์ เตรียมก่อสร้างโรงงานมูลค่า 7,800 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 286,611 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามูลค่าการลงทุนอยู่ในระดับสูง ทั้งที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ ครึ่งหนึ่ง แถมค่าที่ดิน ค่าแรงก็อยู่ในระดับที่แพงระยับติดอันดับโลก
แต่บริษัทมูลค่าสูงเหล่านี้ยังเลือกปักหลักที่สิงคโปร์ เพราะด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม งานวิจัยด้านนวัตกรรมที่มาจากสถาบันที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลกก็มีอยู่มากมาย อีกทั้งคุณภาพประชากร ทั้งด้านการศึกษา และทักษะฝีมือแรงงานที่อยู่ในระดับสูงโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และการเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และโลจิสติกส์ ที่กลบความแพงของสิงคโปร์จนไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอุปสรรค์ต่อการลงทุน
1
ในขณะที่ไต้หวันครองการผลิตชิประดับไฮเอนด์ สิงคโปร์ได้ครองห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีทั่วโลกทําให้ชิประดับกลางถึงล่างที่มีความสําคัญต่อรถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
การที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและการผลิตที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดี ช่วยเพิ่มการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็น 7% ของ GDP อีกทั้งรัฐบาลยังสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ผ่านนโยบายที่เป็นมิตรและการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
🔵 มาเลเซีย คู่แข่งตัวจริงที่ท้าทายบัลลังก์ศูนย์กลางผู้ผลิตชิป
สิงคโปร์เป็นผู้ผลิตชิปและส่งออกติดอันดับท็อป 10 ของโลก และเป็นท็อป 5 ของการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ อีกทั้งประเทศนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐอเมริกา สําหรับบริษัทเทคฯ สัญชาติอเมริกัน
นั่นทําให้สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสําหรับการร่วมทุนของ NXP และ Vanguard โรงงานแห่งใหม่จะผลิตชิป 130 นาโนเมตรถึง 40 นาโนเมตรโดยใช้สถาปัตยกรรมเทคโนโลยี TSMC ที่พัฒนาขึ้นเมื่อ​ 2 ทศวรรษที่แล้ว
แต่ด้วยข้อเสียเปรียบคือต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเพื่อบ้านอย่างมาเลเซีย ทั้งค่าแรง ราคาเชื้อเพลิง และไฟฟ้า นับว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่ามาเลเซียเกือบ 15% กำลังทำให้มาเลเซียก้าวเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งนี้ด้วยความทะเยอทะยาน ที่ต้องการเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ที่สําคัญสําหรับบรรจุภัณฑ์ การประกอบ และการทดสอบ และกําลังมองหาโอกาสในการผลิต การออกแบบ และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง
เนื่องจากบริษัทระดับโลกกระจายห่วงโซ่อุปทานในเอเชียจากจีน และไต้หวัน อีกทั้งมาเลเซียยังมีพื้นที่มากกว่าสิงคโปร์ถึง 450 เท่า และเริ่มดึงดูดการลงทุนของบริษัทเทคฯ เหล่านี้เข้ามาแล้วเช่นกัน เช่น Infineon Technologies ของเยอรมนี ที่ปี 2023 ลงทุน 5,000 ล้านยูโร หรือราว 198,423 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานที่มีอยู่อย่างมีนัยสําคัญ
ส่วน Nvidai ผู้จัดจําหน่าย Kinsus Interconnect Technolog ก็กําลังสร้างโรงงานในปีนังอีกด้วย
นับว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่างมีเส่นห์ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีระดับสูง มูลค่าสูง และเป็นอนาคตของโลกเข้าไปลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการลงทุนจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นแค่แผนในกระดาษ หรือกำลังสนใจว่าจะลงทุน แต่มีตัวเลือกประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพเทียบเท่าหรือสูงกว่าเป็นคู่แข่ง
ในขณะที่สินค้าเทคโนโยลีที่ผลิตจากในไทย กำลังถูกลดบทบาทในตลาดโลกลงอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัย และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงงานในไทยที่มีต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะผลิตสินค้าเหล่านี้ และต่างทยอยปิดโรงงานย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำ และคุ้มค่ากว่า ค่าแรงและต้นทุนการผลิตในไทยที่สูงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถยกระดับสู่การเป็นผู้เล่นในตลาดนวัตกรรมระดับสูงได้
โฆษณา