10 ก.ค. เวลา 11:25 • ข่าวรอบโลก

ปลากำลังขาดอากาศหายใจ วิกฤตโลกเดือดทำให้เกิด ‘Dead Zone’ ทั่วมหาสมุทรแบบผิดธรรมชาติ

เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กุเตอเรส ได้ออกมาแถลงถึงสถานะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์เอาไว้ว่า
ณ ตอนนี้มันไม่ต่างอะไรกับการขับรถอยู่บนทางด่วนที่กำลังมุ่งหน้าสู่ขุมนรก โดยมีหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในแถลงนั้นได้อ้างถึง ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อุณหภูมิของโลกใบนี้ได้อยู่ในจุดที่เดือดที่สุด
ความร้อนได้ทำลายสถิติในอดีตยาวนานติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน นับตั้งมิถุนายน 2023 จนถึงพฤษภาคม 2024
ร้อนทั้งอุณหภูมิพื้นผิวโลก และในมหาสมุทร
โดยเฉพาะพื้นที่หลัง ไม่ใช่เพียงแค่ร้อน แต่ยังทำให้สัตว์น้ำเริ่มขาดอากาศหายใจ
ปัจจุบันมีรายงานถึงความเข้มข้นของออกซิเจนในมหาสมุทรที่กำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ
อ้างอิงจากศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Center for Atmospheric Research)
แถมยังเป็น “ภาวะสูญเสียออกซิเจนในอัตราเร็วที่แบบผิดธรรมชาติ”
โดยปกติออกซิเจนที่ละลายในน้ำได้มาจากบรรยากาศและการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชน้ำ
แต่จะแปรผกผันกับอุณหภูมิ และความเข้มข้นของแร่ธาตุที่ละลายในน้ำ
ถ้าหากอุณหภูมิและความเข้มข้นของแร่ธาตุในน้ำสูง จะทำให้ออกซิเจนจะละลายในน้ำได้น้อยลง
สัตว์น้ำก็ไม่ต่างจากสัตว์บกที่ต้องพึ่งพาออกซิเจนในการหายใจ
ปลาจะหายใจด้วยเหงือก (gills) ที่ตั้งอยู่สองข้างของตัวปลาที่บริเวณส่วนท้ายของหัว
เมื่อเราแง้มหรือเปิดกระพุ้งแก้มของปลา จะเห็นอวัยวะสำหรับใช้ในการหายใจ
มีลักษณะเป็นเส้นคล้ายขนนก หรือหวีเรียงกันเป็นแผงเป็นระเบียบ และมีสีแดงจัด อวัยวะดังกล่าวคือเหงือกนั่นเอง
ที่เหงือกจะมีมีเส้นโลหิตฝอยเป็นจำนวนมากมาหล่อเลี้ยงอยู่ ก๊าซออกซิเจนที่ละลายปนอยู่ในน้ำ จะถูกเหงือกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด
และเลือดที่มีออกซิเจนนี้จะไหลผ่านออกจากเหงือกไป เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
หากในมหาสมุทรส่วนไหนมีออกซิเจนลดน้อยลง ปลาที่อาศัยอยู่แถบนั้นอาจมีพฤติกรรมว่ายน้ำเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย หนีขึ้นมาว่ายอยู่บริเวณผิวน้ำ และโผล่ปากขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อฮุบอากาศ (เสี่ยงต่อการถูกชาวประมงจับได้ง่ายขึ้น)
ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นดังกล่าวอธิบายสถานะการลดลงของออกซิเจนในมหาสมุทร ว่าเป็นการลดลงในรูปแบบที่ ‘ไม่อาจฟื้นฟูได้’
และเหตุการณ์นี้ได้ทยอยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2021 ในความลึกระดับกลาง (200-1,000 เมตร) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศสูง
และปลาที่อาศัยอยู่ในความลึกระดับนั้น ส่วนใหญ่เป็นปลาเศรษฐกิจที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ ขึ้นตรงต่ออุตสาหกรรมประมงทั่วโลก และอาหารการกินของคนเรา
ตามที่ศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา คาดการณ์ จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในปัจจุบันจะทำให้ภาวะขาดออกซิเจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างภายในปี ค.ศ. 2080
หรือก็คือ สัตว์ในมหาสมุทรทั้งหมดจะเหลือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับอาศัยเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ใน ค.ศ. 2080
ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ จะกลายเป็น ‘เขตมรณะ’ (Dead Zone) ไปหมด
แต่หากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่ลดลง หรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เวลาที่สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรจะขาดอากาศหายใจก็อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์
และที่อยู่อาศัยก็อาจเหลือน้อยลงไปอีก
ตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น บริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งทางเหนือของกรุงวอชิงตันและผ่านโอเรกอน
ในปี 2021 ชาวประมงคว้าได้แต่ซากปูที่ตายแล้ว และพบสัตว์น้ำเกยตื้นเต็มหาด ซึ่งได้รับคำยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ว่า พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็น ‘เขตมรณะ’ ไปแล้วเกือบ 2,000 ตารางกิโลเมตร
เหตุการณ์นี้ ค่อนข้างสร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์ด้ายสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก
เพราะยังไม่พบหลักฐานใดที่แสดงว่า พื้นที่ Dead Zone จะกลับมาเป็นปกติได้หลังจากเสียหายไปแล้ว
นั่นหมายความว่า ต่อให้เราหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในทันที ก็ยังหาทางกู้ชีพส่วนที่เสียไปไม่ได้
และด้วยสถานะที่ยังไม่สามารถหยุดก๊าซเรือนกระจกลงได้ พื้นที่ Dead Zone ก็มีแต่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ปัจจุบัน พบพื้นที่มหาสมุทรประมาณ 700 แห่ง มีปริมาณออกซิเจนอยู่ในระดับต่ำจนอันตราย เมื่อเทียบกับอีก 45 แห่งในช่วงทศวรรษ 1960
 
อ้างอิง
UN chief says world is on ‘highway to climate hell’ as planet endures 12 straight months of unprecedented heat https://shorturl.asia/jWmxs
Science Daily. Climate change has likely begun to suffocate the world’s fisheries. https://bit.ly/3rTlDGr
The Washington Post. Dead zones, a ‘horseman’ of climate change, could suffocate crabs in the West, scientists say. https://wapo.st/3sIv4aR
โฆษณา