10 ก.ค. เวลา 11:59 • ข่าว
กรุงเทพมหานคร

เสนอแก้กฎหมาย “เงินนอกระบบ” หลังพบ 3 เหล่าทัพ มีเงินนอกระบบถึง 1.8 หมื่นล้าน

“วิโรจน์” เสนอแก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ยกเลิกข้อตกลงกองทัพไม่ต้องส่งเงินนอกงบประมาณคืนคลัง บังคับรัฐบาลเปิดข้อมูลภาระชดเชยค่าใช้จ่าย-สถานะหนี้สาธารณะให้ประชาชนทราบทุกปี ดักคอหลังมีข่าวรัฐบาลอาจอุ้มไปศึกษา 60 วัน แต่สุดท้าย รัฐบาลก็อุ้มไปอยู่ดี
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเสนอโดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยมีหลักการสำคัญคือการบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น
นายวิโรจน์ อภิปรายว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปี 2563 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมาธิการทุกชุด ได้ตั้งข้อสังเกตถึงเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานรัฐต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพ ซึ่งหากรัฐสภาและรัฐบาลได้รับรู้ข้อมูลและตรวจสอบเงินนอกงบประมาณเหล่านี้อย่างโปร่งใส ก็จะสามารถวางแผนงบประมาณแต่ละปีได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น
กล่าวคือ หากกองทัพ หรือหน่วยงานใดมีขีดความสามารถในการหารายได้ สามารถพึ่งพาแหล่งรายได้ของตัวเองได้แล้ว รัฐบาลก็สามารถจัดสรรงบประมาณแบบย่อมเยาให้หน่วยงานนั้น เพื่อนำงบประมาณไปให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน หรือทำโครงการฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ผลประโยชน์ก็จะเกิดกับประชาชน
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทุกคนต่างรู้ดีว่าเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่มีความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้องตามหลักการบัญชี การวางแผนงบประมาณทั้งหมดจึงขาดประสิทธิภาพ นี่คือเหตุผลสำคัญที่ตนเสนอแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
1. มาตรา 28 เดิมระบุไว้โดยสังเขปว่า ในการดำเนินโครงการของรัฐบาล ที่รัฐบาลต้องรับภาระชดเชยค่าใช้จ่าย หรือต้องยอมรับการสูญเสียรายได้ในการดำเนินนโยบายนั้น ให้กระทำได้ในเฉพาะที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกฎหมาย เพื่อฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือช่วยเหลือฟื้นฟูประชาชนที่ประสบผลกระทบจากสาธารณภัยและวินาศกรรม
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาภาระทางการคลัง ที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายต้องมียอดคงค้างไม่เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังกำหนด
ถึงแม้กฎหมายจะเขียนไว้อย่างรัดกุมมาก ให้การดำเนินนโยบายต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น แต่คนที่ควรรู้ที่สุดไม่ใช่คณะรัฐมนตรี แต่เป็นประชาชนที่เป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระ เสียภาษี และเป็นเจ้าของเงินแผ่นดิน หนี้สาธารณะที่ประชาชนแบกรับต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดในการพัฒนาประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงสวัสดิการ
ด้วยเหตุนี้ ร่างแก้ไขฉบับนี้จึงเสนอให้เพิ่มประโยคในวรรคที่ 3 ว่า “ให้รายงานยอดคงค้างดังกล่าวต่อสาธารณะผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและกำกับติดตามการดำเนินการนโยบายของรัฐบาล” โดยย้ำว่า การเปิดเผยยอดคงค้างและภาระทางการคลังต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบร่วมด้วยย่อมไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะสร้างภาระทางการคลังอย่างมหาศาล ประชาชนควรต้องรับทราบถึงภาระทางการคลังที่อาจจะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตด้วย
2. มาตรา 61 วรรค 2 เกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานรัฐ แต่เดิมระบุไว้โดยสังเขปว่า เงินนอกงบประมาณให้มี “เท่าที่จำเป็น” เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของการมีเงินนอกงบประมาณนั้น โดยเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐให้นำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายหรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังไว้เป็นอย่างอื่น
วิโรจน์ กล่าวว่า เมื่อสำรวจถึงเงินนอกงบประมาณของกองทัพทั้ง 3 เหล่า จะพบว่ามีสูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 8 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหม จึงเป็นงบที่ถูกตั้งข้อสังเกตจากคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ มาโดยตลอด ทั้งนี้ กองทัพได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังไว้แล้วว่า ไม่ต้องนำเงินนอกงบประมาณไปฝากไว้ที่กระทรวงฯ โดยอ้างเหตุผลเรื่อง “ความสะดวก” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลย เพราะนี่คือเงินของแผ่นดิน จะเอาความสะดวกเข้าว่าไม่ได้ ต้องเอาความโปร่งใสและตรวจสอบได้เป็นที่ตั้ง
“สิ่งนี้ทำให้ธุรกิจของกองทัพอยู่ในแดนสนธยา และบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกองทัพไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ว่าการที่กองทัพมาทำมาหากินกลายเป็นเรื่องความมั่นคงไปได้อย่างไร หรือเป็นความมั่นคงในกระเป๋าของนายพลคนใดกันแน่ ทำไมต้องลับ หรือที่ลับจริงๆ คือ ‘ลับๆ ล่อๆ’” วิโรจน์กล่าว
ด้วยเหตุนี้ ตนจึงเสนอแก้ไขให้การจัดการเงินนอกงบประมาณโดยที่ไม่ต้องนำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง ต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำกับเท่านั้น สำหรับข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับกระทรวงการคลังที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ พ.ร.บ.นี้จะบังคับใช้ ให้ข้อตกลงนั้นสิ้นผลไป และให้นำเงินนอกงบประมาณนั้นไปฝากที่กระทรวงการคลัง
3. มาตรา 76 มีแนวคิดเช่นเดียวกันกับมาตรา 28 คือ เดิมกฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลังต้องจัดทำรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลังในวันสิ้นปีงบประมาณ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ โดยเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานแล้วก็ถือเป็นอันสิ้นสุดขั้นตอน ตนจึงเสนอให้ปรับแก้ว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ต้องเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการคลังด้วย
วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในเมื่อสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ได้ติติงเรื่องเงินนอกงบประมาณ โดยเฉพาะของกองทัพเรื่อยมา มีการระบุไว้ในรายงานข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณทุกปี ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะช่วยกันโหวตรับในวาระที่ 1 ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม ตนได้ยินมาว่ารัฐบาลจะอุ้มกฎหมายนี้ไปศึกษา 60 วัน ซึ่งตนขอถามว่าจะศึกษาอะไรอีก ถ้าอ่านรายงานข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ มาทุกปีเราต่างก็รู้ปัญหาดี ดังนั้น สส.ควรจะต้องโหวตรับและเร่งแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อให้เงินนอกงบประมาณโดยเฉพาะของกองทัพมีความโปร่งใส และถูกใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง.
โฆษณา