11 ก.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ลงทุนอสังหาฯ แบบ Freehold กับ Leasehold ต่างกันอย่างไร?

นักลงทุนอสังหาฯ มือใหม่ ไม่ว่าจะสนใจลงทุนอสังหาฯ แบบทางตรง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวม เคยเห็นคำว่า Freehold กับ Leasehold ผ่านตากันมาบ้างมั้ย? มีใครเคยสงสัยบ้างว่าทั้ง 2 คำนี้คืออะไร และต่างกันอย่างไร
วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับการลงทุนอสังหา แบบ Freehold กับ Leasehold มีประเด็นไหนที่แตกต่างกันบ้าง และแบบไหนเหมาะกับเรา
ต้องบอกก่อนว่า Freehold กับ Leasehold หลายคนอาจจะเคยเห็นในสื่อโฆษณาซื้อขายคอนโด เลยคิดว่าเป็นประเภทการลงทุนของคอนโดเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วรวมไปถึงการลงทุนในอสังหาทั้งหมดด้วยนะ
Freehold คือ
การซื้อขายอสังหาแบบขายขาด เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ครอบครองในสินทรัพย์นั้นทั้งหมด สามารถปรับปรุง ซ่อมแซม ตกแต่งได้อย่างอิสระ เพื่อนำไปปล่อยเช้าได้ ในอนาคตหากอยากขายต่อก็ขายต่อให้คนอื่นได้ และยังเป็นมรดกส่งต่อให้แก่ลูกหลานได้อีกด้วย
Leasehold คือ
การเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระยะยาวภายในระยะเวลาที่กำหนด (กฎหมายกำหนดไม่เกิน 30 ปี) โดยไม่ได้กรรมสิทธ์ เมื่อครบกำหนดสัญญาจะต้องคืนสิทธิ์ให้เจ้าของ หรือเรียกอีกชื่อได้ว่า “การเซ้ง” นั่นเอง ซึ่งการลงทุนเเบบ Leasehold มักจะพบเห็นในอสังหาที่อยู่บนทำเลดีมากจนเจ้าของไม่ยอมขาย หรือในอสังหาที่ไม่สามารถซื้อขายได้ เพราะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ราชการ และ วัด เป็นต้น
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มคิดว่าลงทุนแบบ Freehold คงจะดีกว่า เพราะเราได้เป็นเจ้าของด้วย สามารถตกแต่งหรือซ่อมแซมปรับปรุงอะไรก็ได้ตามใจตัวเอง แต่ก็ต้องแลกมากับต้นทุนการได้มาที่ค่อนข้างสูงกว่า ในขณะที่ ลงทุนแบบ Leasehold ส่วนใหญ่อาจมีราคาถูกกว่า Freehold ประมาณ 30-40%
ดังนั้น การเลือกรูปแบบการลงทุนในอสังหาจึงไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการและวัตถุประสงค์การลงทุนในครั้งนั้นๆ เราจึงควรเลือกให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของตัวเองดีกว่า
โฆษณา